Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

[1] อ่าวพังงามีความสวยงามเป็นอ่าวใหญ่ที่สุดในฝั่งทะเลอันดามัน มีอาณาเขตครอบคลุม ๓ จังหวัด คือ กระบี่ พังงา ภูเก็ต มีเนื้อที่ถึง ๑,๒๒๕,๐๐๐ ไร่ ประกอบด้วยภูเขา แม่น้ำลำคลอง ชายหาด อ่าวน้อยใหญ่ และเกาะแก่งหินปูน มีระบบนิเวศที่เชื่อมโยงกัน คือทั้งป่าปกบนภูเขา ป่าชายเลน แนวปะการัง หญ้าทะเล มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของฝั่งทะเลอันดามัน ได้ถูกประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติถึง ๔ แห่ง เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งชาติลำดับที่ ๑๐ ของประเทศ และลำดับที่ ๑,๑๘๕ ของโลก


 


ประชากรในพื้นที่อ่าวพังงาอาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่งติดแผ่นดินใหญ่และอยู่ตามเกาะ มี ๒๙๙ หมู่บ้าน ๔๘ ตำบล ๑๑ อำเภอ รวม ๙๐๓,๖๒๑ คน (มนูโอมะคุปต์ ๒๕๔๗) อยู่ในกระบี่ ๓๘๔,๔๑๖ คน ,ภูเก็ต ๒๗๘,๔๘๐ คน และพังงา ๒๔๐,๗๒๕ คน มีอาชีพหลักแต่ดั้งเดิมคือประมงพื้นบ้านที่ใช้เครื่องมือประมงขนาดเล็ก การเกษตร การท่องเที่ยว ค้าขาย รับจ้าง และบริการ


 


ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่งของอ่าวพังงามีความอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมากเป็นฐานการผลิตและการประกอบอาชีพของประชากร ประกอบด้วย ป่าชายเลน ๓๔๕,๘๒๐ ไร่ แหล่งหญ้าทะเล ๒๔,๙๙๕ ไร่ ปะการัง ๑๓,๗๕๐ ไร่ ซึ่งจังหวัดกระบี่มีแหล่งหญ้าทะเลและปะการัง


มากที่สุด รองลงมา คือพังงา และภูเก็ต


 


ทรัพยากรสัตว์น้ำ มูลค่าจับได้ปีละ ๓,๐๖๖ ล้านบาท หรือ ๕๑,๐๐๐ ตันต่อปี แต่การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในอ่าวพังงาที่ผ่านมา เป็นไปอย่างไร้ทิศทาง ขาดการจัดการ ขาดมาตรการในการควบคุม การบังคับใช้กฎหมาย ขาดสมดุล ก่อให้เกิดผลกระทบ คือความเสื่อมโทรมและลดลงของทรัพยากรธรรมชาติ เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ที่หลากหลาย เช่น  ระหว่างชาวประมงพื้นบ้านกับประมงพาณิชย์ ระหว่างอาชีพประมงกับอาชีพท่องเที่ยว  ทั้งยังเกิดปัญหามลพิษ  เช่น ขยะ  เสียง  อันมาจากนโยบายการพัฒนาของรัฐที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการและวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่


 


แนวคิดในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในพื้นที่อ่าวพังงาให้เกิดความยั่งยืนตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน กับวิถีชีวิตและสภาพพื้นที่ เพื่อรักษาสมดุลของระบบนิเวศ ลดความขัดแย้ง  จึงเป็นความเห็นพ้องต้องกันของทุกฝ่าย ผ่านเวทีประชุมสัมมนาของเครือข่ายองค์กรชุมชน ๓ จังหวัดในอ่าวพังงาที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดให้ประกาศเขตพื้นที่เศรษฐกิจพอเพียงในอ่าวพังงา เป็นยุทธศาสตร์พื้นที่อันเกิดจากองค์กรเครือข่ายชุมชนและเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวพังงา


 


มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าฯ ได้เชิญให้ดิฉันไปร่วมเป็นวิทยากรเสวนาเรื่อง "แนวทางการพัฒนา พื้นที่ชายฝั่งทะเลเพื่อการจัดการทรัพยากรชายฝั่งที่ยั่งยืนและแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง" ในค่ำวันอังคารที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๙  อันเป็นส่วนหนึ่งของการสัมมนาเชิงปฏิบัติการการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐ  เอกชน  องค์กรพัฒนาเอกชน  และชุมชนชายฝั่งในการจัดการทรัพยากรชายฝั่งอ่าวพังงา ครั้งที่ ๙  วันที่ ๒๗-๒๙  พฤศจิกายน ๒๕๔๙


 


ดิฉันขอลงพื้นที่ในวันจันทร์ที่ ๒๗ พฤศจิกายน ซึ่งน้องปุ๋ม (บุศรินทร์ ประดิษฐ์) และคุณรูญ (อภินันท์ จิเหล่า)  เจ้าหน้าที่มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้พาไปบ้านย่าหมี ตำบลเกาะยาวใหญ่ อำเภอเกาะยาว เดินทางจากสนามบินภูเก็ตไปลงเรือที่บางโรง มีผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ ๓ บ้านย่าหมี ตำบลเกาะยาวใหญ่เอาเรือมารับ


 



 


ระหว่างนั่งเรือผ่านเกาะต่าง ๆ ได้เห็นรีสอร์ท โรงแรม เกิดขึ้นหลายแห่ง เห็นการสร้างกำแพงกันคลื่นริมหาดทราย เห็นการฝังตอม่อใหญ่เป็นแนวเพื่อสร้างท่าเทียบเรือ ทำช่องให้เรือยอร์จ เข้ามาจอด ซึ่งการก่อสร้างเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดทัศนะอุจาด ทำลายความงามตามธรรมชาติของอ่าวพังงาอย่างไร้รสนิยม


 


ผู้ใหญ่บ้านและน้องปุ๋มให้ข้อมูลว่า บางเกาะและบางหาดถูกซื้อไปแล้ว ชาวบ้านในพื้นที่ไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์จากพื้นที่ที่เคยอยู่มาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตาทวดได้ มีป้ายติดไว้ว่า ที่ส่วนบุคคล ห้ามเข้า (ดิฉันเพิ่งได้เห็นว่าแผนที่เกาะภูเก็ตที่โรงแรมแจกให้คือการโฆษณาของภูเก็ต เรียล เอสเตท ที่แสดงพื้นที่และคู่มือการซื้อที่ดิน หมู่บ้าน บ้าน และคอนโดอย่างชัดเจน


 


เมื่อมาถึงหาดคลองสนหน้าหมู่บ้านย่าหมี กรรมการหมู่บ้านมารออยู่หลายคน เล่าว่าชาวบ้านในตำบลเกาะยาวใหญ่และตำบลพรุใน อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา ได้ร่วมกันต่อสู้เพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติและวิถีชีวิตชุมชนสำเร็จมาแล้ว ๒ ยุค ยุคแรกช่วง พ.ศ.๒๕๒๑ คือ ต่อสู้กับการให้สัมปทานป่าชายเลน ได้ป่าชายเลนกลับคืนมา ๒,๘๐๐ ไร่ มีระบบการจัดการที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างดีจนได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวของ ปตท.


 


ยุคที่สอง คือการต่อสู้กับเรือประมงอวนรุน อวนลาก ที่ใช้เครื่องมือทำลายทรัพยากรทางทะเล โดยร่วมกับสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านภาคใต้ ช่วง พ.ศ.๒๕๓๘ อย่างต่อเนื่องจนเรืออวนรุน อวนลากหมดไปจากอ่าวพังงา


 



 


ขณะนี้ชาวบ้านได้ทำโครงการอนุรักษ์หญ้าทะเล เพื่อให้เป็นแหล่งอาหารของเต่าทะเล ปลาพะยูน ปลิงทะเล และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ที่อยู่ของตัวอ่อนสัตว์น้ำชนิดต่าง ๆ


 


แต่ปัญหาใหม่ที่ชาวบ้านย่าหมีกำลังเผชิญ คือโครงการท่าเรือมารีน่าในเกาะยาวใหญ่  อันจะประกอบด้วยเขื่อนกันคลื่นยาว ๓๔๐ เมตร กว้าง ๑๑ เมตร  สะพานยาว ๘.๕ เมตร  กว้าง ๕ เมตร ช่องจอดเรือยอร์จ (พอนทูน) สำหรับเรือ ๘๕ ลำ โดยขออนุญาตดูดทราย ๖๕๐,๐๐๐  ลูกบาศก์เมตร  ทำให้หาดทรายกลายเป็นพื้นที่ลึก ๓ เมตรขึ้นไป  เพื่อให้เรือยอร์ชเข้าจอดได้


 


โครงการมารีน่าจะก่อผลกระทบต่อระบบนิเวศทั้งหมด  พื้นที่หญ้าทะเลจะเสียหาย  เขื่อนกันคลื่นจะปิดบังชายหาด ทำให้เต่าทะเลเข้ามาวางไข่ไม่ได้ เรือประมงเข้ามาจอดไม่ได้ ชาวประมงพื้นบ้านเดือดร้อน ฯลฯ  โดยที่การทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) การทำประชาพิจารณ์ก่อนอนุมัติโครงการไม่ทำตามขั้นตอนที่ชุมชนต้องมีส่วนร่วมรับรู้ข้อมูลทั้งหมดอย่างรอบด้านและร่วมตัดสินใจ  ขอให้รัฐบาลระงับโครงการมารีน่าในอ่าวพังงา  และศึกษาผลกระทบใหม่โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน


ปัญหาใหญ่อีกหนึ่งเรื่องคือ การออกโฉนดที่ดินให้นายทุน    แปลง  รวม ๑๐๐ กว่าไร่  จากเดิมเป็นที่ สด.๑ เจ้าของใช้ทำสวนยางแค่ ๓๐%  ที่เหลือเป็นที่รกร้าง แต่กลับขอขยายพื้นที่ครอบครอง ทำ สด.๑ เป็น นส.๓  นส.๓ก.  จนจะออกโฉนดได้  เป็นผลให้พื้นที่ชายหาดและทะเลติดกับชายหาดกลายเป็นของนายทุน  เป็นของบุคคล  แทนที่จะเป็นของสาธารณะ


 


ชาวบ้านขอให้รัฐบาลช่วยยับยั้งการออกโฉนดและตรวจสอบสิทธิในที่ดินของนายทุนกลุ่มนี้ด้วย  เพราะชาวบ้านย่าหมีเดือดร้อนมาก  พื้นที่อื่นๆในอ่าวพังงาก็พบปัญหาเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ทางการออกให้นายทุนง่ายๆ เหมือนกัน


 


ผู้ใหญ่บ้านพาไปกินข้าวในหมู่บ้านทำด้วยปลาและผักที่หาเอง  ปลูกเอง  เสร็จแล้วกลุ่มแม่บ้านพาไปดูวิถีชีวิตชาวบ้านที่สงบสุข  ได้เยี่ยมหญิงเพิ่งคลอดลูกที่อยู่ไฟโดยใช้ฟืนจากไม้โกงกาง สุมให้ความอบอุ่นตลอด    เดือน  โดยไม่ให้ดับไฟ  ใช้ก้อนหินห่อด้วยใบยอและหุ้มผ้าอีกชั้น  นวดหน้าท้องเพื่อให้มดลูกเข้าอู่ง่าย ทั้งความอบอุ่นในจิตใจที่เพื่อนบ้านพากันมาเยี่ยม  มาอยู่เป็นเพื่อนเป็นกำลังใจ (ซึ่งผู้หญิงในเมืองไม่มีโอกาสรักษาตัวหลังคลอดแบบพื้นบ้านเช่นนี้ จึงเกิดปัญหาสุขภาพตามมาภายหลัง)


 


ชาวบ้านย่าหมีทำสวนยางและทำนาข้าวด้วย จึงมีอาชีพที่ครบวงจร มีข้าวกิน มีปลาจากทะเล มีรายได้จากสวนยาง และมีอาหารจากป่าบนภูเขา เป็นชีวิตที่พึ่งธรรมชาติอย่างสมบูรณ์


 


 


 


คืนวันจันทร์ คุณโชติ (วิโชติ ไกรเทพ) และคุณหนุ่ย (สิรินี ยมนา) พาไปเยี่ยมชุมชนชาวเล (อูรักลาโว้ย) ที่หาดราไวย์ ได้เดินดูรอบชุมชนและแวะคุยกับหลายบ้านพบปัญหาที่ชาวเลถูกสังคมภายนอกมองอย่างมีอคติ ถูกนายทุนเบียดเบียนอ้างเอกสารสิทธิความเป็นเจ้าของที่ดิน ทั้งๆที่ชาวเลอยู่มาก่อนนับร้อยๆปี ถูกปิดทางเข้าไปใช้พื้นที่เพื่อประโยชน์สาธารณะไม่ได้ เช่นพื้นที่สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (บาไลย) พื้นที่เล่นกีฬา ปิดเส้นทางเข้าบ่อน้ำของชุมชน


 



 


ชุมชนหาดราไวย์ไม่มีบริการสาธารณูปโภค ไม่มีไฟต้องต่อจากบ้านคนที่มีมิเตอร์แล้ว จึงต้องจ่ายค่าไฟแพงเดือนละหลายร้อยบาท บางส่วนต้องใช้แสงเทียนแทนไฟฟ้า ไม่มีระบบน้ำประปาบริการ ห้องน้ำห้องส้วมมีแค่ ๓๐% เพราะพื้นที่จำกัด ต้องไปถ่ายที่ชายหาดในยามเช้ามืด ชุมชนอยู่อย่างแออัด ไม่มีทางระบายน้ำ น้ำจึงขังอยู่เฉอะแฉะกลายเป็นปัญหาเน่าเหม็น


 


ชาวเลที่มีอาชีพประมงพื้นบ้านมีฐานะยากจน หาดทรายที่ใช้เป็นที่จอดเรือ เก็บเรือ จากฤดูมรสุม กำลังถูกโครงการท่าเรือมารีน่าคุกคาม กำแพงกั้นทรายถูกสร้างแล้ว รถแบคโฮว์กำลังขุดทรายฝั่ง ฝังตอม่อ วิถีชีวิตกำลังถูกรุกรานอีก


 



 


เช้าวันอังคารที่ 28 ดิฉันได้ออกเรือกับชาวเลที่จะไปวางไซดักปลาในทะเลโดยคุณโชติและคุณหนุ่ยกรุณาพาไปพบคณะกรรมการชุมชน ได้ประจักษ์ภูมิปัญญาที่รู้จักทะเลอย่างดี ได้เห็นเป็นครั้งแรกว่าคลื่นที่เป็นริ้ว ๆ ในทะเลนั้น คือ ปลาฝูงใหญ่ โดยที่ชาวเลไม่ได้จับมาขาย ปล่อยให้ฝูงปลาอยู่คู่กับทะเลต่อไป ได้เห็นการลงดำน้ำด้วยเครื่องช่วยหายใจอย่างง่ายๆ ได้เห็นการกู้ไซจากทะเล เมื่อได้ปลาที่ขนาดเล็กหรือปลาสวยงามก็ปล่อยคืนไปสู่ทะเล


 


ชาวเลเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์  ก่อนออกเรือจะคารวะขอพรให้ได้ปลามาขายเลี้ยงลูกเมีย  เมื่อได้ปลามากก็จะบูชาเจ้าที่ด้วยเครื่องไหว้คือ ไก่ต้ม  ก่อนกินอาหารในเรือ (ใส่ปิ่นโตเอามาจากบ้าน) ก็จัดอาหารถวายเจ้าที่ไว้ที่ข้างเรือเพื่อความเป็นสิริมงคล


 


ประชากรชาวเลในประเทศไทยมักอยู่ฝั่งทะเลอันดามันจากสตูล กระบี่ พังงา ภูเก็ต  ระนอง รวมทั้งหมดประมาณหมื่นคน (จากงานวิจัยของ ดร.นฤมล  อรุโณทัย  สถาบันวิจัยสังคมคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ประสบปัญหารุมเร้าหลายด้าน แม้ในช่วงเกิดคลื่นยักษ์สึนามิพื้นที่สื่อจะเปิดประเด็นเรื่องของชาวเล  หรือไทยใหม่ (อูรักลาโว้ย มอแกน มอแกลน) ให้สังคมได้รับรู้ว่าพวกเขามีตัวตนอยู่ในประเทศนี้ แต่การแก้ปัญหาของเขาก็ยังไม่คืบหน้า ปัญหาหลักคือ ไม่มีสิทธิในที่อยู่อาศัยต้องเผชิญปัญหาถูกผู้ที่มีเอกสารสิทธิเหนือที่ดินซึ่งพวกเขาเคยอยู่มาก่อน กดดันขับไล่ ปัญหาการไม่มีสัญชาติ ปัญหาการไม่มีส่วนร่วมทำหน้าที่ในองค์กรปกครองท้องถิ่น ไม่มีตัวแทนเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. เด็กมักถูกเลือกปฏิบัติจากครู  เพื่อน  จึงมีการศึกษาน้อยแค่ภาคบังคับ การขาดสุขลักษณะในชุมชนที่อยู่อย่างแออัด  การทำมาหากินลำบาก  ต้องใช้ความชำนาญเฉพาะตัว  ดำน้ำหาปลา  ตกปลา  หาปู หอย เลี้ยงครอบครัวไปวันๆ พื้นที่ที่ใช้หากินทางทะเลถูกจัดเป็นแหล่งธุรกิจท่องเที่ยว  เป็นพื้นที่อนุรักษ์ ชาวเลถูกจับกุม ถูกปรับ โดยไม่มีโอกาสทวงสิทธิของตน


 


อ่าวพังงา-อันดามันที่งดงามเลื่องชื่อไปทั่วโลก กำลังถูกฆ่าด้วยนโยบายท่องเที่ยว ที่มองข้ามวิถีชีวิตชุมชน ยังไม่สายเกินไปที่จะฟื้นฟูด้วยการประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ เพื่อให้ความสงบสุขและความเคารพที่ผู้คนมีต่อธรรมชาติได้ฟื้นคืนมา  แทนปริมาณนักท่องเที่ยว  และเงินที่เคยเป็นเป้าหมายหลัก ขอให้ทุกฝ่ายมีพลังใจ  พลังปัญญาที่จะร่วมมือกันสู่ความสำเร็จนะคะ


 


*ขอขอบคุณองค์กร  CHARM ที่สนับสนุนการเดินทางไปประชุม มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่า ฯ ประสานการลงพื้นที่ คุณวิโชติ ไกรเทพ เอื้อเฟื้อภาพ และคุณหนุ่ย สิรินี ยมนา พัฒนากรที่ให้กำลังใจ






[1] ข้อมูลจากศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ ๔ จังหวัดภูเก็ต และมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net