Skip to main content
sharethis


 


ประชาไท - 28 ธ.ค.49 เวลา 18.00น. วันที่ 27 ธ.ค. นางมรกต (เจวจินดา) ไมยเออร์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒม ประสานมิตร ผู้เขียนหนังสือ "ภาพลักษณ์ปรีดี พนมยงค์ กับการเมืองไทย พ.ศ. 2475-2526" เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาจาก ร.ต.ท.ชัยณรงค์ พูนดี พนักงานสอบสวน ที่สถานีตำรวจนครบาลบางเขน ในความผิดทางอาญา ฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ซึ่งมีคุณหญิงนงเยาว์ ชัยเสรี อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้กล่าวหา


 


จากกรณีหนังสือภาพลักษณ์ปรีดีฯ มีข้อความซึ่งอยู่ในหน้า 327-328 ว่า "ศาสตราจารย์นงเยาว์ ชัยเสรี อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ในทำนองว่าอาจารย์ปรีดี เป็นเพียงแค่ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ต่อมาในระยะหลังก็มิได้มีความผูกพันใดๆ กับทางมหาวิทยาลัย คำให้สัมภาษณ์...ดูจะสร้างความคลางแคลงใจให้กับนักศึกษาต่อท่าทีของผู้ฝ่ายบริหารเป็นอย่างมาก และการโยนเรื่องต่างๆ ให้รัฐบาล เช่น การขอกลับมาจัดการพิธีศพในเมืองไทยหรือการจัดสร้างอนุสาวรีย์ว่าแล้วแต่คำสั่งรัฐบาลทำให้นักศึกษาไม่อาจมองเป็นอย่างอื่นไปได้ นอกจากเห็นว่านี่เป็นการปัดความรับผิดชอบไปให้พ้นๆ ตัว"  โดยระบุอ้างอิงแหล่งที่มาจาก หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2526


 


ทั้งนี้คุณหญิงนงเยาว์ ได้ตั้งข้อกล่าวหาระบุว่า ได้รับความเสียหาย เนื่องจากหากบุคคลอื่นอ่านข้อความดังกล่าวแล้วเข้าใจผิดว่าเป็นความจริง จะทำให้ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง เสียชื่อเสียง ขณะที่นางมรกต ได้ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาข้างต้น


 


สำหรับขั้นตอนการดำเนินคดีต่อไป พนักงานสอบสวนจะส่งหมายเรียกมาให้ปากคำ ไปยังคณะผู้จัดทำหนังสือ ซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการอาทิเช่น นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร  นางสาววรรณี สำราญเวทย์ นางวนิดา จันทนทัศน์


 


สำหรับบรรยากาศการรับฟังข้อกล่าวหา มีนักศึกษาธรรมศาสตร์ และนักวิชาการไปให้กำลังใจเป็นจำนวนมาก อาทิเช่น นายธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรม  มหาวิทยาลัยรังสิต นายธิบดี บัวคำศรี อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายอัครพงษ์ ค่ำคูณ อาจารย์คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


ทั้งนี้ นายธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ กล่าวว่า "เหตุการณ์นี้น่าจะเป็นหลักหมายของการทำลายเสรีภาพทางวิชาการที่อำนาจทางการเมืองในสังคมไทยมุ่งกระทำมาตลอด 4-5 ทศวรรษ นี่คือจุดเริ่มต้นของอาณาจักรแห่งความกลัวในโลกวิชาการของไทย"


 


สำหรับคุณหญิง นงเยาว์ ชัยเสรี นอกจากเคยได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง อธิการบดีแล้ว ยังเคยดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นผู้วางรากฐาน การขยายการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปศูนย์รังสิต



000


ในส่วนหนังสือภาพลักษณ์ปรีดี พนมยงค์ กับการเมืองไทย พ.ศ. 2475-2526(The Images of Pridi Banomyong and Thai Politics, 1932-1983) ดัดแปลงมาจากวิทยานิพนธ์ ระดับปริญญาโท คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีพ.ศ. 2537 และได้รับการตีพิมพ์เป็นเล่มเมื่อเดือนกันยายน 2543 ในโครงการเฉลิมฉลองบุคคลสำคัญของไทยที่มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ คณะอนุกรรมการฝ่ายนิทรรศการ คณะกรรมการจัดงาน100 ปี รัฐบุรุษอาวุโส ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ 2543


เนื้อหาในหนังสือแบ่งเป็น 4 บท ได้แก่


1) ระบอบใหม่กับภาพลักษณ์นายปรีดี พนมยงค์ 2475-2488


2) การสร้างตำนานปิศาจทางการเมือง


3) ความคลี่คลายและการเสื่อมพลังของตำนานปิศาจทางการเมือง


4) ปัญญาชนไทยกับการสร้างนายปรีดี พนมยงค์ ให้เป็นสัญลักษณ์ ซึ่งกล่าวถึง ความแปรเปลี่ยนจากบุคคลต้องห้าม มาเป็นสัญลักษณ์ของเสรีนิยม


 


ส่วนหนึ่งที่ผู้เขียนได้เกริ่น ไว้ในหนังสือ ระบุว่า


"การหมดอำนาจทางการเมืองนายปรีดี พนมยงค์ มิได้ทำให้เขาหมดความสำคัญไปจากสังคมการเมืองไทย แนวความคิดของเขาได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านจากพลังเก่าในสังคมการเมืองสยาม ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และภาพลักษณ์ของเขา ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการต่อรองอำนาจทางการเมืองระหว่างคณะราษฎรและสถาบันกษัตริย์มาตั้งแต่ต้น ต่อมามีการสร้างเรื่องราวของเขาให้เป็นตำนานทางการเมืองเพื่อประโยชน์ในทางการเมืองของรัฐบาลทหารและกลุ่มอนุรักษ์นิยม-กษัตริย์นิยม ตั้งแต่ทศวรรษ 2490..."


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net