รายงาน : เมื่อแรงงานไทยร่วม "สมานฉันท์" ปกป้องสิทธิแรงงานข้ามชาติ

ถามใจผู้ร่วมกับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและเครือข่ายพันธมิตรแรงงานข้ามชาติ รวมกันยื่นหนังสือต่อรัฐบาลเสนอมาตรการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ เมื่อ 18 ธันวาคม ที่ผ่านมาที่ทำเนียบรัฐบาล พร้อมข้อตอบโต้ปลัดกระทรวงแรงงานที่ "ไม่ปลื้ม" กับข้อเสนอตั้งสหภาพแรงงานของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งผู้ใช้แรงงานและเจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนจะ "อธิบาย" ให้ "ปลัด" ฟังถึงความสำคัญของข้อเรียกร้องเพื่อคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติ!
 

 

 
เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2549 ที่ผ่านมา คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและเครือข่ายพันธมิตรแรงงานข้ามชาติ นำโดย น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และนายอภัย จันทนจุลกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นข้อเสนอเรื่องการคุ้มครองสิทธิแรงงาน เนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากล โดยมีตัวแทนจากกองรับเรื่องร้องเรียนทำเนียบรัฐบาลมารับหนังสือแทนนายกฯ
 
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและเครือข่ายพันธมิตรแรงงานข้ามชาติรวมตัวหน้าทำเนียบเพื่อยื่นข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลเพื่อปกป้องสิทธิแรงงานข้ามชาติเมื่อวันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา
 
 
น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กำลังอ่านข้อเรียกร้อง
 
 
ตัวแทนจากกองรับเรื่องร้องเรียนทำเนียบรัฐบาลมารับหนังสือแทนนายกรัฐมนตรี ในขณะที่ภายในทำเนียบกำลังเตรียมต้อนรับผู้นำประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
 

เอื้อเฟื้อภาพโดยอดิศร เกิดมงคล
 
เรียกร้องคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ
น.ส.วิไลวรรณ กล่าวว่า จากสภาพปัญหาของแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ส่วนใหญ่ไม่ได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม อีกทั้งยังไม่ได้รับสวัสดิการสังคมอื่นๆ อาทิ ค่าล่วงเวลา ค่ารักษาพยาบาล นอกจากนี้ ยังถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจจากนายจ้าง รวมถึงมีการล่วงละเมิดทางเพศในสถานประกอบการ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไขเนื่องจากติดปัญหาเพราะขั้นตอนการร้องเรียนเรื่องสิทธิแรงงานตามกฎหมายยังมีข้อจำกัดต่อตัวแรงงานข้ามชาติ ที่มีปัญหาเรื่องการสื่อสาร อีกทั้งเมื่อร้องเรียนแล้วมักจะใช้เวลานาน หรือถ้าเกิดข้อพิพาทขึ้นมักจะส่งแรงงานที่เป็นปัญหากลับประเทศในทันที ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีนโยบายในการจัดการบริหารแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นรูปธรรม
 
พร้อมกันนี้ยังเรียกร้องขอให้รัฐบาลจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติให้สอดคล้องกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริง และขอให้เปิดโอกาสจดทะเบียนได้ตลอดทั้งปี พร้อมระบุว่ากรมการจัดหางานควรทำหน้าที่เป็นคนกลางในการจ้างงาน ในรูปแบบศูนย์จัดจ้างแรงงานข้ามชาติ และขอให้ยกเลิกระบบประกันตัวเพื่อลดทอนอำนาจการต่อรอง ในการคุ้มครองสิทธิและศักดิ์ความเป็นมนุษย์ของแรงงานข้ามชาติ ส่วนในระยะยาวนั้นรัฐบาลควรมีนโยบายที่เป็นแผนแม่บทในการคุ้มครองแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติที่ชัดเจน เพื่อเกิดผลต่อการคุ้มรองแรงงานอย่างจริงจังในระดับปฏิบัติ
 
"ความอาย" ของทำเนียบขิงแก่
แต่ก่อนที่จะมีการยื่นหนังสือนั้น คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ได้ใช้เครื่องเสียงปราศรัยทำความเข้าใจกับประชาชนที่สัญจรผ่านไปมาบริเวณถนนพิษณุโลก หน้าทำเนียบรัฐบาล ทำให้หน่วยรักษาความปลอดภัยประจำนายกรัฐมนตรีเข้ามาขอร้องให้คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ งดใช้เครื่องเสียงและงดการปราศรัย เพราะเกรงว่าจะเสียภาพลักษณ์ของประเทศ เนื่องจากภายในทำเนียบรัฐบาลได้มีการจัดงานต้อนรับนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่เดินทางมาเยี่ยมคารวะ พล.อ.สุรยุทธ์ ที่ตึกสันติไมตรี จึงทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมทำการปราศรัยไม่นานแล้วก็สลายตัวไป จากเดิมที่กำหนดไว้ว่าจะปราศรัยจนกว่านายกรัฐมนตรีจะออกมารับหนังสือ
 
"ผมก็โมโหนะ ผมก็ขึ้นเวทีไปบอกว่า เวลามีคนมาประท้วงหน้าทำเนียบพูดเรื่องจริงทำไมต้องอาย" นายอดิศร เกิดมงคล เจ้าหน้าที่จากคณะกรรมการณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.) และ กรรมการเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ หนึ่งในบรรดานักกิจกรรมที่ไปยื่นหนังสือในวันนั้น แสดงความเห็นต่อกรณีทำเนียบรัฐบาล "อาย"สั่งเบรก "ม็อบ" เพราะกลัวเสียภาพพจน์ระหว่างมีผู้นำต่างประเทศมาเยือน
 
"รัฐบาลไทยปล่อยให้มีการละเมิดสิทธิแรงงาน เอารัดเอาเปรียบแรงงานข้ามชาติ ดังที่มีในรายงานขององค์กรต่างๆ กลับไม่อาย เรื่องนี้ต่างหากที่รัฐบาลควรอายและเร่งแก้ปัญหา" นักกิจกรรมทางสังคมรายเดิมกล่าว
 
ปลัดแรงงานปัดข้อเสนอตั้งสหภาพแรงงานข้ามชาติ เกรงคนงานสไตร์ค
นอกจากนี้นายจุฑาธวัช อินทรสุขศรี ปลัดกระทรวงแรงงานยังได้ปฏิเสธที่จะพิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ที่เสนอให้แก้ไขกฎหมายอนุญาตให้แรงงานพม่า 2 ล้านคนที่ทำงานในประเทศไทยสามารถจัดตั้งสหภาพแรงงาน เพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับนายจ้างไม่ให้ถูกกดขี่ด้านแรงงานดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่ากฎหมายไทยในปัจจุบัน ยังไม่เปิดช่องให้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายที่ได้รับการผ่อนผันให้ทำงานปีต่อปี สามารถจัดตั้งสหภาพได้ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ เพราะเกรงว่าหากแรงงานพม่าจำนวนนับล้านคนรวมตัวกัน สไตร์คหยุดงาน ลางาน เพื่อประท้วงนายจ้างเป็นเวลาหลายวัน จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม
 
นายจุฑาธวัช กล่าวเพิ่มเติมว่าการเรียกร้องของแรงงานต่างด้าวจะต้องดูเหตุผลและขอบเขตของกฎหมายประกอบไปด้วย ไม่ใช่อ้างเพียงแต่เรื่องสิทธิมนุษยชน และถามกลับว่าถ้าไทยขอตั้งสหภาพแรงงานในสหรัฐบ้าง สหรัฐอเมริกายอมหรือไม่ คำตอบก็น่าจะบอกว่าไม่ เพราะแม้แต่ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยใหญ่ๆ ยังไม่ยอมกันเลย
 
ปลัดยันแรงงานข้ามชาติได้รับการคุ้มครองหากเข้าเมืองถูกกฎหมาย
นอกจากนั้น ยังกล่าวว่านโยบายของกระทรวงแรงงานมีความชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานชาติไหน หากเข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมาย จะต้องได้รับการคุ้มครองเท่ากับแรงงานไทย ซึ่งประเทศไทยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะแรงงานชาติใดเข้ามาทำงานแล้วมีปัญหาขอให้ติดต่อมายังกระทรวงแรงงานได้ ซึ่งกระทรวงฯ พยายามทำงานร่วมกับองค์กรเอกชน เพื่อประสานข้อมูลร่วมกัน ว่าแรงงานข้ามชาติอยู่จุดใดบ้าง
 
อย่างไรก็ตาม แรงงานต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายกระทรวงฯ เข้าไปดูแลไม่ได้ และหากพบจะจับกุมและส่งกลับประเทศ ซึ่งในกลุ่มนี้อยากให้เข้าใจว่าประเทศไทยต้องคำนึงถึงความมั่นคงด้วย ดังนั้น ขอให้เข้ามาอย่างถูกกฎหมาย โดยเฉพาะแรงงาน 3 สัญชาติ คือ ลาว พม่า และกัมพูชา ซึ่งแรงงานข้ามชาติในรายที่มีฝีมือดี บางคนก็จะได้เงินเดือนสูงกว่าแรงงานไทย ปลัดกระทรวงแรงงานกล่าวในที่สุด
 
แรงงานรัฐวิสาหกิจชี้ทัศนะปลัดแรงงานเป็นทัศนะส่วนตัว แต่คิดแบบนี้สะเทือนรัฐบาล
"เรื่องปลัดกระทรวงนั้นเป็นทัศนะส่วนตัวของท่าน เพราะท่านรัฐมนตรียังไม่พูดชัดเจนใดๆ มากนัก" นายสาวิทย์ แก้วหวาน รองเลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ให้ความเห็นต่อทัศนะของ
ปลัดกระทรวงแรงงานที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอตั้งสหภาพแรงงานของคนงานข้ามชาติ โดยนายสาวิทย์ แก้วหวาน ยังกล่าวอีกว่าหลังการยื่นหนังสือเมื่อวันที่ 18 ธันวาคมนั้น ได้รับการแจ้งจากกระทรวงแรงงานว่าจะได้เข้าไปพบหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานภายใน 15 วัน ซึ่งเขาจะเรียกทางเครือข่ายสมานฉันท์แรงงานไทยไปคุยในรายละเอียดอีกที
 
"สิทธิในการรวมตัวเป็นสิทธิมนุษยชน คิดว่าถ้าทางปลัดมีทัศนะแบบนี้คงสะเทือนถึงรัฐบาลเหมือนกัน" นายสาวิทย์กล่าว
 
เจ้าหน้าที่ กรพ. ตอก "ปลัดไม่ใช่เพื่อนคนงาน"
เช่นเดียวกับที่นายจารุวัฒน์ เกยูรวรรณ เจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.) แสดงความไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นของปลัดกระทรวงแรงงานที่ปฏิเสธข้อเสนอตั้งสหภาพแรงงานของแรงงานข้ามชาติว่า "ขอพูดตรงๆ ว่าปลัดแรงงานไม่ใช่เพื่อนของคนงานแต่เป็นเพื่อนของนายทุน"
 
"การที่ปลัดแรงงานอ้างก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่าการตั้งสหภาพเป็นปัญหาความมั่นคง ก็คือเป็นความมั่นคงของนายทุนเพราะเขากลัวแรงงานหยุดงาน ซึ่งผมคิดว่าไม่มีใครอยากหยุดงานหรอกถ้าไม่โดนกดขี่จริงๆ ไม่ว่าแรงงานไทยหรือข้ามชาติ นี่จึงเป็นปัญหาความมั่นคงของนายทุนน่ะ"
 
ต่อเรื่องที่ปลัดกระทรวงแรงงานที่กล่าวว่าแรงงานข้ามชาติถ้าเข้ามาอย่างถูกกฎหมายย่อมได้รับความคุ้มครองนั้น นายจารุวัฒน์กล่าวว่า "เห็นได้ชัดว่าเป็นคำพูดที่โกหกว่าแรงงานข้ามชาติถูกปฏิบัติอย่างดี ใครก็รู้ว่าแรงงานข้ามชาติได้รับค่าจ้างที่ต่ำมากๆ ไม่สามารถเข้าถึงสวัสดีการได้และก็ไม่มีสหภาพแรงงาน ก็ยิ่งต่อรองค่าจ้างไม่ได้เลย ข้อมูลวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่แสดงให้เห็นว่าแรงงานข้ามชาติทำงานหนักได้ค่าจ้างน้อย" นายจารุวัฒน์กล่าว
 
ไม่ว่าคุณจะเป็นใครต้องได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย
เช่นเดียวกับนายอดิศร เกิดมงคล เจ้าหน้าที่จากคณะกรรมการณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.) และ กรรมการเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ ที่เห็นว่าการที่ "ปลัดกระทรวงแรงงานเชื่อว่า ถ้าแรงงานเข้ามาถูกต้องจะได้รับการคุ้มครองคือ การปัดความรับผิดชอบ"
 
"ในข้อเท็จจริง ตามกฎหมายมันระบุชัดว่า ถ้าคุณเป็นแรงงานไม่ว่าคุณจะเป็นใคร เข้าเมืองผิดกฎหมายหรือถูกกฎหมายคุณต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายหมด" นายอดิศร เกิดมงคลกล่าว
 
ภาคสิ่งทอแนะรัฐรับรองอนุสัญญา ILO 87 และ 98
ในขณะที่ นางสาวจิตรา คชเดช เลขาธิการสหพันธ์สิ่งทอ ตัดเย็บเสื้อผ้าและเครื่องหนังแห่งประเทศไทย มองว่า "ถ้าปลัดแรงงานไม่ยอมให้ตั้งสหภาพแรงงานของแรงงานข้ามชาติ ตนถือเป็นการละเมิดสิทธิคนงานมาก" โดยจิตรามองถึงข้อจำกัดด้านมาตรการคุ้มครองสิทธิแรงงานในไทย ซึ่งเกิดจากการที่ประเทศไทยไม่ยอมลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศบางฉบับว่า "ทั้งนี้ประเทศไทยไม่ยอมลงนามในอนุสัญญา ILO (องค์กรแรงงานสากล) ฉบับที่ 87และฉบับที่ 98 ที่รับรองคนงานมีสิทธิรวมตัวเพื่อจัดตั้งสหภาพแรงงาน ซึ่งแล้วจริงๆ แล้วประเทศไทยน่ารับรองอนุสัญญาฉบับนี้"
 
กรณีที่ปลัดกระทรวงแรงงานมุมมองว่าแรงงานข้ามชาติเป็นปัญหาด้านความมั่นคงนั้น จิตรามองอีกมุมหนึ่งว่าจริงๆ แล้วแรงงานข้ามชาติก็เข้ามาสร้างเศรษฐกิจไทยให้ดีขึ้นเหมือนกัน เพราะแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในงานที่คนไทยไม่ทำ ถือเป็นการเสริมสร้าง ไม่ใช่การทำลายเศรษฐกิจไทย อยากให้พิจารณากรณีคนงานไทยไปทำงานต่างประเทศ สภาพก็ไม่ต่างจากแรงงานข้ามชาติอื่นๆ แล้วคุณจะให้คำตอบด้านสวัสดิภาพการทำงานแก่คนไทยได้อย่างไร
 
คือแรงงานข้ามชาตินั้นไม่มีความต่างกัน คนงานไทยไปทำงานในฝั่งมาเลเซีย ก็ได้รับการปฏิบัติไม่ต่างจากคนงานพม่ามาในไทย คนไทยที่ไปทำงานมาเลเซีย ในรัฐเคดาห์ ก็ถูกตำรวจตรวจค้นเหมือนกัน ดังนั้นตนคิดว่าประเทศไทยต้องรับรองสิทธิคนงานตามอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ได้แล้ว
 
แฉแรงงานข้ามชาติ ถูกรอนสิทธิ ค่าจ้างไม่ถึง 100 จ่ายโอทีเป็นบะหมี่!
ไม่ว่ากระทรวงแรงงานจะรับข้อเสนอคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยหรือไม่ สถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อแรงงานข้ามชาติก็ยังดำเนินต่อไป โดยนางจรรยา ยิ้มประเสริฐ ผู้ประสานงานโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย ได้ระหว่างงานเสวนาเนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 18 ธันวาคม ของทุกปีว่า ขณะนี้การละเมิดสิทธิและไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานที่มีต่อแรงงานต่างชาติเกิดขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะแรงงานพม่าที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยกว่า 2 ล้านคน ถูกนายจ้างกดขี่จ่ายค่าจ้างต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดวันละไม่ถึง 100 บาท หลายรายได้รับค่าโอทีเป็นบะหมี่สำเร็จรูป 1 ซอง วันหยุดวันลาป่วยก็ไม่มี ทำให้ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก มีแรงงานพม่าลุกขึ้นต่อสู้ฟ้องร้องดำเนินคดีนายจ้างกันไม่น้อย!
 
รัฐต้องดูแลให้คนงานกับนายจ้างพึ่งพากัน ไม่ใช่ขูดรีด!
ด้วยเหตุนี้ หลายฝ่ายในขบวนการแรงงานจึงเห็นว่า การทำให้คนงานข้ามชาติรวมตัวกันจึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะประกันสิทธิของคนงานข้ามชาตินี้ โดยนายสาวิทย์ แก้วหวาน รองเลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) มองว่า "การเรียกร้องสิทธิการรวมกลุ่มของแรงงานซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน รัฐต้องดูแลให้คนงานกับนายจ้างพึ่งพากัน ไม่ใช่ขูดรีดคนงานใช่ไหมครับ คือคนงานและนายจ้างต่างฝ่ายต้องอาศัยกัน เคารพสิทธิกัน ลูกจ้างมีหน้าที่ทำงานให้อยู่แล้ว ส่วนนายจ้างก็ต้องให้ความเป็นธรรม มีสวัสดิการ มีค่าจ้าง รวมถึงความปลอดภัยให้ลูกจ้างด้วย"
 
นายสาวิทย์ยังกล่าวต่อว่า "ซึ่งเราเรียกร้องให้ทั้งแรงงานข้ามชาติและแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศด้วย คือสิทธิการรวมกลุ่ม เป็นปฏิญญาสากลที่ทุกประเทศต้องให้การยอมรับ และการรวมตัวก่อตั้งสหภาพแรงงานของแรงงานข้ามชาตินั้นหลายๆ ประเทศเขาทำกันทั้งสิงคโปร์ มาเลเซีย"
 
"ตนเห็นว่าสิทธิการรวมตัวดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญ ยิ่งรัฐบาลภายใต้รัฐประหาร มีอำนาจเบ็ดเสร็จ กลัวจะควบคุมอะไรไม่ได้มันก็ไม่น่าจะใช่ เพราะอย่างไรรัฐก็มีกลไกตรวจสอบดูแลเรื่องนี้"
 
แรงานชาติไหน ก็คือแรงงานเหมือนกัน
ในขณะที่นายจารุวัฒน์ เกยูรวรรณ มองว่ากฎหมายแรงงานตามตัวบทกฎหมายก็คุ้มครองพอสมควร แต่การปฏิบัติกลับตรงกันข้าม เพราะฉะนั้นวิธีเดียวที่แรงงานจะคุ้มครองตนเองได้ก็คือต้องมีสหภาพแรงงานทั้งแรงงานไทย แรงงานข้ามชาติ ก็เป็นแรงงานเฉกเช่นเดียวกัน และการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติของรัฐก็มีปัญหาด้วยเพราะไม่สามารถคุ้มครองแรงงานเหล่านี้ได้
 
"ผมสนับสนุนให้แรงงานข้ามชาติเข้าไปเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานไทยด้วยเพราะการตั้งสหภาพมันเป็นเรื่องชนชั้น ไม่เกี่ยวเชื้อชาติ สหภาพมีเป้าหมายชัดเจนเพื่อต่อรองกับนายจ้าง ไม่ว่าจะเป็นนายจ้างเชื้อชาติใด" จารุวัฒน์กล่าวถึงข้อเสนอเพื่อเป็นหลักประกันสิทธิมนุษยชนและศักดิศรีของคนงานไม่ว่าจะเป็นคนงานชาติใด
 
มาตรการทาง "วัฒนธรรม" คุ้มครองแรงงานข้ามชาติ
นอกจากข้อเสนอให้มีการคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติทางกฎหมายแล้ว นายอดิศร เกิดมงคล เจ้าหน้าที่จากคณะกรรมการณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.) และ กรรมการเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ ยังมีข้อเสนอในทางสังคม เพื่อคุ้มครองแรงงานข้ามชาติซึ่งเป็นผู้ที่มาจากอีก "วัฒนธรรม" หนึ่งแต่ต้องเข้ามาเผชิญกับ"ความเป็นไทย" อีกด้วย
 
"ปัญหาจริง ๆ คือ คุณไม่สามารถสร้างกลไกในการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติที่มีความต่างในเชิงวัฒนธรรม เพราะกลไกการคุ้มครองแรงงานมันถูกออกแบบมาเพื่อใช้กับแรงงานไทย ต่อให้คุณเข้าเมืองถูกกฎหมาย แต่กลไกมันไม่เอื้ออำนวยมันก็ไม่สามารถเข้าถึงการคุ้มรองได้ ฉะนั้นปัญหาที่กระทรวงแรงงานต้องยอมรับคือ ต้องสร้างกลไกการคุ้มครองแรงงานที่สอดคล้องกับข้อจำกัดของแรงงานข้ามชาติ เช่นมีล่ามให้ มีเอกสารที่เป็นภาษาของแรงงาน มีสิทธิในการอยู่อาศัยในประเทศไทยหลังเกิดข้อพิพาท มีมาตรการการลงโทษกับนายจ้างที่ยึดบัตรแรงงานข้ามชาติ"
 
แรงงานข้ามชาติกับสังคมไทย เรารู้จักกันดีแค่ไหน?
สังคมไทยรู้จักแรงงานข้ามชาติอย่างไร บางทีผลสำรวจนี้อาจให้คำตอบอะไรบางอย่าง
 
เมื่อวันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดผลสำรวจ "ความคิดเห็นเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติ/แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานรับจ้าง/ใช้แรงงานในประเทศไทย: กรณีศึกษาคนไทยใน 11 จังหวัดทุกภาคของประเทศ" จากประชาชนทั่วไปที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปจาก 11 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 4,148 ตัวอย่าง โดยการสำรวจครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ และ กองทุนเพื่อพัฒนาสตรีแห่งสหประชาชาติ
 
ผลสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างไม่เห็นด้วยที่จะให้แรงงานข้ามชาติ/ต่างด้าว สามารถสมัครทำงานทุกประเภทในประเทศไทยได้ ร้อยละ 67.3 และไม่เห็นด้วยที่แรงงานข้ามชาติ/ต่างด้าว ได้รับอนุญาตให้ แสดงออกทางความคิดอย่างเป็นอิสระ ร้อยละ 59.7 และไม่เห็นด้วยที่แรงงานข้ามชาติ/ต่างด้าวมีลักษณะการทำงานภายใต้เงื่อนไข และค่าตอบแทนเดียวกันกับแรงงานไทย ร้อยละ 50.3
 
กลุ่มตัวอย่างเห็นว่าสิ่งที่แรงงานข้ามชาติ/ต่างด้าวควรจะได้รับเหมือนกับแรงงานไทย มากที่สุดคือ ชั่วโมงการทำงานที่ควรเท่ากับแรงงานไทย ร้อยละ 79.9 รองลงมาคือ จำนวนวันหยุด ร้อยละ 75.9 และประกันสังคม ร้อยละ 52.7 ขณะเดียวกัน ผลการสำรวจยังพบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 58.6 คิดว่ายังไม่ควรเปิดเสรีเพื่อรับแรงงานข้ามชาติ/ต่างด้าวเข้ามาทำงานเพิ่มขึ้น ขณะที่มีเพียงร้อยละ 9.7 ที่เห็นว่าควรเปิดเสรี และร้อยละ 31.7 ไม่มีความเห็นในประเด็นดังกล่าว
 
โดยผู้ตอบแบบสอบถาม ร้อยละ 82.5 ระบุว่าจะมีผลกระทบต่อแรงงานไทย ถ้าหากรัฐบาลไทยเปิดเสรีเพื่อรับแรงงานข้ามชาติ/ต่างด้าวเข้ามาทำงานมากขึ้น โดยให้เหตุผลว่าจะทำให้แรงงานไทยหางานยากขึ้น ทำให้นายจ้างให้ความสำคัญต่อแรงงานไทยน้อยลง และค่าแรงค่าจ้างลดลง
 
สร้างบทสนทนา : ทางออกเชิงวัฒนธรรม
จากผลการสำรวจความเห็นดังกล่าว อดิศร เกิดมงคล เห็นว่าปัญหาต้นตอสำคัญที่สังคมไทยมีความรับรู้ผิดๆ และแรงงานข้ามชาติถูกละเมิดสิทธิอยู่ทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนไทยไม่รู้จักพี่น้องแรงงานข้ามชาติดีพอ
 
"คือรู้จัก แต่รู้จักในแง่มุมเดียว และยังมีมายาคติต่อแรงงานข้ามชาติ ทั้งนี้เนื่องจากรับรู้ผ่านสื่อ ไม่ได้รับรู้จากการปะทะสังสรรค์แบบคนต่อคน คือสังคมไทยรับรู้เรื่องแรงงานข้ามชาติผ่านทัศคติที่เป็นลบตั้งแต่ต้น เป็นประสบการณ์ที่เรามีเพียงด้านเดียว เมื่อมองปัญหามันก็มีประสบการณ์เดิมเอามาวิเคราะห์"
 
"เราขาดบทสนทนาระหว่างคนที่เราอยู่ร่วมกัน" อดิศร เกิดมงคล ฟันธง
 
ท้ายที่สุดของการสนทนา อดิศร เกิดมงคล มองทางออก "เชิงวัฒนธรรม" ของเรื่องแรงงานข้ามชาติว่า "วันนี้สิ่งที่สำคัญผมมองว่าประเด็นเรื่องแรงงานข้ามชาติเรามีมุมมองที่หลากหลายนะ รัฐมีมุมมองหนึ่ง นายจ้างมีมุมมองหนึ่ง แรงงานมีมุมมองหนึ่ง นักวิชาการมีมุมมองหนึ่ง เอ็นจีโอก็อีกมุมมองหนึ่ง"
 
"แต่มุมมองต่างๆ มันไม่เคยถูกนำมามองอย่างจริงจัง มันมีเพียงไม่กี่มุมที่ถูกนำเสนอ เราคงต้องทำให้ทุกมุมมองได้ถูกนำเสนอและมาหาทางออกร่วมกัน คือรัฐต้องเปิดพื้นที่ให้เกิดการมีส่วนร่วมในการนำเสนอนโยบายต่อเรื่องนี้ให้มากขึ้น รวมถึงการเปิดพื้นที่ให้ข้อมูลต่างๆ เพื่อให้สังคมไทยมีแง่มุมที่รับรู้มากขึ้น เพราะอย่างไรสังคมไทยไม่อาจจะปฏิเสธการอยู่ร่วมกับแรงงานข้ามชาติ เราควรจะรับรู้เขาในแง่มุมต่างๆ และเปิดโอกาสให้เขาพูดมากขึ้น"
 
ข่าวประชาไทย้อนหลัง

เอกสารประกอบ

ข้อเสนอเรื่อง การคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติเนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากล ๑๘ ธันวาคม ๒๕๔๙ : โดย ค

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท