Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 27 ธ.ค.2549 พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. ว่า คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังที่เป็นหญิงมีครรภ์ ให้มีการผ่อนผันวิธีการขังหรือจำคุก ตามข้อเสนอของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และจะนำความคิดเห็นของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมาประกอบร่าง พ.ร.บ.ที่จะแก้ไข และจะปรับปรุงการทุเลา การบังคับลงโทษจำคุก หรือโทษประหารชีวิตแก่หญิงมีครรภ์ เพื่อให้ได้รับความสะดวก และมีโอกาสดูแลสุขภาพของตัวเองก่อนคลอด รวมทั้งอยู่ใกล้ชิดกับบุตรหลังคลอดมากยิ่งขึ้น โดยทั้งหมดเป็นกรอบที่จะผ่อนคลายในด้านของสิทธิมนุษยชนกับผู้ที่ได้รับโทษ โดยเฉพาะหญิงมีครรภ์


 


ด้าน ร.อ.น.พ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.พิจารณาเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ฉบับที่... พ.ศ.... วิธีการขังหรือจำคุก และการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังที่เป็นหญิงมีครรภ์ ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ และมีมติให้ขอความเห็นเพิ่มเติมจากสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จากนั้นจึงจะส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป


 


โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าสาระสำคัญของร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าวมีวัตถุประสงค์แก้ไขปัญหาความแออัดและไม่เหมาะสมของสภาพเรือนจำ โดยกำหนดให้การบังคับตามหมายขังหรือหมายจำคุกของศาล สามารถกระทำได้อย่างยืดหยุ่นและเหมาะสมกับผู้ต้องขังแต่ละรายมากขึ้น และเป็นการปรับการทุเลาการบังคับโทษจำคุกและโทษประหารชีวิตแก่หญิงมีครรภ์ เพื่อให้ได้รับประโยชน์ มีโอกาสดูแลสุขภาพตัวเองก่อนคลอด รวมทั้งอยู่ใกล้ชิดทารกภายหลังคลอดแล้วมากขึ้น



 


ในกรณีมีเหตุจำเป็น ศาลจะสั่งขังหรือจำคุกผู้ต้องหาหรือจำเลย กรณีที่ได้รับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของคำพิพากษา หรือไม่น้อยกว่า 10 ปี กรณีต้องโทษเกิน 30 ปี หรือตลอดชีวิต ไว้ในสถานที่อื่นนอกจากเรือนจำก็ได้ และกำหนดให้ศาลมีอำนาจสั่งทุเลาการบังคับให้จำคุก ในกรณีจำเลยวิกลจริต จำเลยจะถึงแก่อันตราย แก่ชีวิต ถ้าจะต้องจำคุก จำเลยมีครรภ์ จำเลยคลอดบุตรยังไม่ถึง 1 ปี และกำหนดให้การประหารชีวิตหญิงมีครรภ์ต้องรอให้พ้น 1 ปี นับแต่คลอดบุตร เว้นแต่บุตรตายก่อนพ้นกำหนดเวลา"


 


ทางด้านนายชาญชัย ลิขิตจิตถะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบรับหลักการแก้ไข โดยทั้ง 3 กรณี ผู้ที่จะร้องขอต่อศาล ได้แก่ พนักงานสอบสวน อัยการ ผู้บัญชาการเรือนจำ เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจจัดการตามกฎหมาย หรือดุลพินิจของศาลเอง ทั้งนี้ ครม.ได้มีมติให้นำร่างกฎหมายดังกล่าวไปให้สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน พิจารณาว่ามีข้อท้วงติงหรือไม่ หากไม่มีข้อท้วงติงจะนำร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป



 


ดร.กรวิภา บุญซื่อ ผู้จัดการโครงการขจัดความรุนแรงต่อสตรี กองทุนเพื่อการพัฒนาสตรีแห่งองค์การสหประชาชาติ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่มีการพูดกันมาก่อนหน้านี้แล้ว และเมื่อรัฐบาลชุดนี้มีความเห็นให้มีการผ่อนผันเรื่องดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างมาก ที่มีแนวคิดเชิงสิทธิมนุษยชน และหากพูดกันในฐานะองค์กรผู้หญิง คิดว่ารัฐบาลมองเห็นความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ดี และไม่ได้ใช้ไม้บรรทัดอันเดียวหรือกฎที่กำหนดขึ้นมาแก้ไขปัญหาทั้งหมด เพราะที่ผ่านมาข้อบัญญัติหรือกฎหมายมีช่องโหว่อยู่แล้ว และไม่ใช่ประเทศไทยเพียงประเทศเดียว ทุกประเทศมีปัญหาเช่นกัน


 


เรียบเรียงจาก: http://www.komchadluek.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net