Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

รายงานข่าวจากชาวบ้านในพื้นที่บ้านควนตุ้งกู จังหวัดตรัง บอกเล่าถึงสภาพที่นอกจากจะบอบช้ำจากภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ "สึนามิ" ตามด้วยพายุที่โหมทำลายบ้านเรือน พวกเขายังต้องเผชิญกับนายทุนสัมปทานหลุมถ่าน ซึ่งเข้ามาแย่งยึดพื้นที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ไปอีก ....

ชื่อเรื่องเดิม :

คำให้การของคนชายเล

กรณีปัญหาที่อยู่อาศัยของชาวประมงพื้นบ้าน บ้านควนตุ้งกู อ.กันตัง จ.ตรัง

 

 

โดย  สมบูรณ์  คำแหง  เครือข่ายฟื้นฟูชุมชนชายฝั่งอันดามัน จังหวัดตรัง

 

 

"ถ้าไม่จำเป็นพวกเราก็ไม่อยากย้ายไปไหน เพราะตรงที่เราอยู่ทุกวันนี้ก็สบายอยู่แล้ว"  เป็นคำบอกเล่าของแกนนำชาวบ้านในชุมชนประมงที่ต้องประสบชะตากรรมจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์ สึนามิ 

 

เป็นความสะเทือนใจไม่น้อยของพวกเขาที่ต้องอพยพเคลื่อนย้ายจากถิ่นที่เคยอาศัยเพื่อไปหาแหล่งใหม่ที่ปลอดภัยกว่า นี่เป็นประเด็นปัญหาหนึ่งที่สร้างความลำบากให้กับชุมชนประมงพื้นบ้านเกือบตลอดทั้งชายฝั่งอันดามัน

 

ก่อนหน้านี้ ปัญหาเรื่องที่ดินทั้งที่อยู่อาศัย และที่ทำกิน ในพื้นที่จังหวัดตรัง ได้มีความพยายามคลี่คลายปัญหาบ้างแล้วในระดับหนึ่ง โดยการหาแนวทางการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมและสามารถขยายผลในวงกว้างออกไป

 

โดยรวมแล้วที่อยู่อาศัยริมชายฝั่งทะเลจะเป็นแหล่งชุมชนของชาวประมงพื้นบ้านขนาดเล็กที่ทำมาหากินกับท้องทะเลด้วยเครื่องมือ และเรือลำเล็กๆ โดยจากการบอกเล่าและจากการสอบถามเบื้องต้นพบว่า ชาวประมงพื้นบ้านในอดีตส่วนใหญ่จะไม่สนใจ หรือไม่ให้ความสำคัญกับการครอบครองที่ดินเหมือนชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน ด้วยเหตุว่าทรัพย์สินสำคัญของชาวประมงคือทรัพยากรที่อยู่ในทะเล หรือกุ้ง หอย ปู ปลา การมีบ้านเรือนก็เพียงเพื่ออาศัย หลับนอน และคอยเฝ้าระวังเรือ เครื่องมือประมงเท่านั้น

 

เมื่อเวลาเปลี่ยนไป สังคมพัฒนาขึ้น การท่องเที่ยวเริ่มรุกล้ำเข้ามาในหมู่บ้านชาวประมงริมชายฝั่ง ชายหาดที่เคยมีแต่ชาวบ้าน ชาวประมงกลับได้รับความสนใจจากกลุ่มคนภายนอกอย่างรวดเร็ว มูลค่าที่ไม่เคยมีก็เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล นี้เป็นบ่อเกิดสำคัญที่สร้างความขัดแย้งในเรื่องสิทธิและความชอบธรรมในการครอบครองที่ดินของชาวประมงตามมาในปัจจุบัน 

 

เรื่องราวปัญหา ข้อขัดแย้งเกี่ยวกับสิทธิการครอบครองที่ดินเริ่มปรากฏมากขึ้นเรื่อยๆ ในชุมชนประมงพื้นบ้านและความขัดแย้งเริ่มรุนแรงมากขึ้นด้วย แม้ว่าจะมีความพยายามใช้แก้ไขปัญหาหลากหลายวิธี แก้ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง เพราะขึ้นอยู่กับลักษณะ และพื้นที่นั้นๆ ว่าอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของใคร

 

เหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิที่เกิดขึ้นเมื่อปลายปี พ.ศ. 2547 ได้เป็นตัวเร่งหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์ปัญหาดังกล่าวสุกงอมเร็วยิ่งขึ้น จนเป็นเหตุให้ความขัดแย้งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ สร้างคดีความในชั้นศาลมากกว่า 300 คดี ตลอดทั้งฝั่งอันดามัน

 

กรณีบ้านควนตุ้งกู เป็นตัวอย่างปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นกับอีกหลายพื้นที่ และเป็นประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากปัจจัย-ตัวละครเดิมๆ ที่ยังไม่สามารถหาบรรทัดฐานอันชัดเจนและนำไปสู่การแก้ไขได้จริง หากแต่มิใช่ปัญหาที่แก้ไขได้ง่าย และมิใช่ปัญหาที่ซับซ้อนจนแก้ไขไม่ได้เลย เพียงแต่ขึ้นอยู่ว่า "ใครแก้ให้ใคร" เท่านั้นเอง

           

กลุ่มที่ประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยบ้านควนตุ้งกูมีอยู่ทั้งหมด 16 ครัวเรือน ซึ่งเดิมกลุ่มนี้อาศัยอยู่บริเวณปากคลองควนตุ้งกู ในที่ดินที่อยู่ในความดูแลของอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม แต่เมื่อถูกคลื่นยักษ์สึนามิสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินจำนวนหนึ่ง ซ้ำด้วยการถูกพายุพัดกระหน่ำใน 2 เดือนให้หลังจนบ้านเรือนพังเสียหาย ก่อให้เกิดความไม่สบายใจและไม่มั่นใจที่อยู่บริเวณนั้นอีกต่อไป

 

จากนั้นรัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยกับชุมชนที่ประสบภัยสึนามิทั้ง 6 จังหวัด โดยการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ประสบภัยสึนามิ 6 จังหวัดฝั่งอันดามัน เพื่อมาดำเนินการเรื่องนี้โดยเฉพาะ 

 

สำหรับจังหวัดตรังโดยการประสานงานของชมรมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดตรังได้นำเสนอพื้นที่ประสบภัย เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวทั้งหมดกว่า 10 หมู่บ้าน และได้รับการพิจารณาแก้ไขนำร่องเข้า 8 หมู่บ้าน ในจำนวนนี้มีบ้านควนตุ้งกู ซึ่งจัดว่าเป็นบ้านหนึ่งที่ได้รับการดูแลเร่งด่วนเนื่องจากผู้ประสบภัยไร้ที่อยู่อาศัยจากภัยพิบัติ

 

คณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้โดย พล.อ.สุรินทร์  พิกุลทอง เป็นประธาน ได้มีคำสั่งร่วมกับจังหวัดตรัง ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัด โดยมีมีผู้ว่าราชการจังหวัดขณะนั้นเป็นประธาน ซึ่งทางผู้ว่าฯ ได้มอบหมายให้ นายสุรพล วิชัยดิษฐ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ดูแลเรื่องดังกล่าว

 

ที่ผ่านมาได้มีการประชุมร่วมกันทั้งในระดับอนุกรรมการฯ ระดับภาค  และคณะอนุกรรมการระดับจังหวัด รวมถึงหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับชุมชนที่ประสบภัย ผลจากการปฏิบัติงานของคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าว ทั้งโดยการประชุม โดยการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง มีมติเพื่อแก้ไขปัญหากรณีบ้านบ้านควนตุ้งกู โดยมีความเห็นชอบให้จัดสรรพื้นที่ป่าชายเลนเสื่อมโทรมบริเวณใกล้กับท่าเรือบ้านควนตุ้งกูฝั่งขวา จำนวน 3.2 ไร่ ให้เป็นที่สำหรับปลูกสร้างบ้านเรือนสำหรับกลุ่มผู้ประสบภัยที่เคลื่อนย้ายจากบริเวณปากคลองจำนวน 16 หลังคาเรือน และให้ผู้ไร้ที่อยู่อาศัยที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงอีก 3 ครัวเรือนเข้ามาอยู่อาศัยและปลูกสร้างบ้านเรือนในที่ดินดังกล่าวได้ พร้อมทั้งกันที่ดินฝั่งซ้ายของท่าเรืออันเป็นที่ตั้งของชุมชนเดิม ซึ่งมีบ้านเรือนอยู่แล้วจำนวน 27 หลังคาเรือน จำนวน 1.3 ไร่ เพื่อให้กลุ่มชาวบ้านดังกล่าวได้ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยความมั่นใจ

 

รวมแล้วมีที่ดินที่คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่สึนามิฯ จัดสรรให้ชาวบ้านในพื้นที่ประสบภัยบ้านควนตุ้งกูทั้งหมด 2 แปลง มีพื้นที่ทั้งหมด 4.5 ไร่  ซึ่งหลังจากนั้นได้มีหนังสือคำสั่งของจังหวัดตรัง (อ้างถึง หนังสือที่ ตง. 0019/16921 ออกโดยนายธเนศ นิยม ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัด) ส่งถึงนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางสัก ให้เป็นเจ้าของเรื่องเพื่อขอใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวกับหน่วยงานที่รับผิดชอบต่อไปตามลำดับ

           

หลังจากนั้นกลุ่มผู้ประสบภัยรวมทั้งสิ้น 16 และผู้ขอร่วมอาศัยอีก 3  หลังคาเรือนได้ทำการเคลื่อนย้ายเข้ามาอยู่ในที่จัดสรรฝั่งขวา ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าชายเลนเสื่อมโทรมที่ได้รับการจัดสรรให้ จึงทยอยปลูกสร้างบ้านเรือนตามลำดับ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วขั้นตอนในการอนุญาตการใช้ที่ดินดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จถึงที่สุด หากแต่ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง แต่เนื่องจากความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นในเรื่องภัยธรรมชาติทั้งสองครั้ง ทำให้บ้านเรือนเสียหาย จึงจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายมาก่อนอย่างเร่งด่วน

 

เมื่อเริ่มมีการสร้างบ้านได้ระยะหนึ่งกลับต้องมีความเดือดร้อนเพิ่มขึ้นอีก เมื่อนายพิมล  ณ นคร ในฐานะผู้รักษาผลประโยชน์ที่ดินบริเวณหลุมถ่านที่หมดสัมปทานไปแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2544  อ้างว่าในที่ดินดังกล่าวนี้มีเอกสารสิทธิ์เดิมคือ น.ส. 3 และ ส.ค.1 ที่กำลังจะขอออกเอกสารสิทธิ์ โดยระบุกว่าที่ดินบริเวณด้านหน้าที่กลุ่มผู้เดือนร้อนเข้ามาอยู่อาศัยเป็นของตน ซึ่งอยู่ในเขตของหนังสือครอบครองสิทธิ์(ส.ค.1) ซึ่งออกในปี พ.ศ. 2498 

 

จากนั้นได้มีการสั่งห้ามด้วยวาจา และเป็นลายลักษณ์อักษร (หนังสือทนาย) ตามมาเป็นลำดับ ความว่า ห้ามมิให้ชาวบ้านเข้าทำประโยชน์ใดๆ และขอให้ทำการรื้อถอนส่วนที่ได้ทำการปลูกสร้างโรงเรือน ทั้งนี้ ไม่อนุญาตให้ทำการปลูกสร้างสะพานเพื่อการสัญจรด้วย 

 

คำสั่งห้ามดังกล่าวยิ่งสร้างความลำบากใจให้กับชาวบ้านมากขึ้น เนื่องจากนายพิมล เคยเป็นอดีตนายจ้างมาก่อนตั้งแต่สมัยที่หลุมถ่านยังไม่หมดสัมปทาน และด้วยความเกรงใจบิดาของนายพิมล ซึ่งเป็นคนดีที่ชาวบ้านส่วนใหญ่นับหน้าถือตาแม้จะเสียชีวิตไปแล้ว เหตุการณ์นี้ทำให้ชาวบ้านบางคนไม่กล้าขัดจึงได้ละความคิดที่จะอยู่ในที่ดินจัดสรรแห่งนี้ และยอมถอยไปในที่สุด

 

อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ของกลุ่มผู้เดือดร้อนยังยืนหยัดที่จะอยู่ต่อไป ด้วยเหตุผลว่าไม่รู้จะไปอาศัยอยู่ที่ไหนอีก ส่วนที่เดิมเคยอยู่ก็ยังหวาดหวั่นถึงภัยธรรมชาติจนติดหู ติดตา ทั้งหมดจึงได้ปรึกษา รวมถึงได้แจ้งให้กับหน่วยงานที่เข้ามาสรรที่ดินดังกล่าวรับรู้ แม้ก่อนหน้านั้นจะมีความพยายามใช้วิถีการแก้ไขแบบชาวบ้าน คือการพูดคุย เจรจา ไกล่เกลี่ย จากคนที่ต่างฝ่ายต่างมีความนับถือกัน แต่ก็ไม่เป็นผล โดยผู้อ้างสิทธิ์มีข้อสงสัย และค้างคาใจว่าใครเป็นผู้อนุญาตให้ชาวบ้านเข้ามาอยู่ในที่ดินแห่งนี้ และไม่ได้บอกกล่าวให้ตนได้รับรู้(จากคำบอกเล่าของตัวแทนกลุ่มผู้เดือดร้อน)

 

ในที่สุดกลุ่มผู้เดือดร้อนจึงยื่นเรื่องเพื่อขอความเป็นธรรมจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งคณะกรรมการฯ ดังกล่าวได้รับเรื่องและลงมาดูพื้นที่จริง พร้อมกับได้สอบถามข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าวจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น อำเภอกันตัง สำนักงานขนส่งทางน้ำ และพาณิชย์นาวีท้องที่จังหวัดตรัง สำนักอนุรักษ์ป่าชายเลน สำนักงานที่ดินจังหวัด กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางสัก และกลุ่มผู้เดือดร้อน ทั้งได้มีแนวทางให้อำเภอเป็นคนกลางทำการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าคู่กรณีอยู่ในพื้นที่เดียวกัน และมีความมักคุ้นรู้จักกันมาก่อน

 

ผลจากการดำเนินการตามข้อสรุปดังกล่าวได้รับแจ้งจากนายอำเภอกันตังว่าไม่เป็นผลเนื่องจากทั้งสองฝ่ายต่างมีเหตุผลที่แตกต่างกัน  หลังจากการเจรจาในครั้งนั้นไม่สำเร็จ นายพิมล พร้อมทนาย(ไม่ทราบชื่อ)ได้เข้ามายื่นข้อเสนอให้ชาวบ้านทำสัญญาเช่าให้กับตน บอกว่าหากใครเซ็นก็จะยินดีให้อยู่ได้ต่อไป โดยจะคิดค่าเช่าในราคาถูก  แต่เมื่อตัวแทนชาวบ้านที่เดือดร้อนจะขอดูข้อความในสัญญากลับได้รับการปฏิเสธ 

 

ที่สำคัญ เมื่อกลุ่มผู้เดือดร้อนได้วิเคราะห์ร่วมกันแล้วเห็นว่าไม่ควรทำสัญญาจึงตกลงร่วมกันปฏิเสธเรื่อยมา แม้ทนายของนายพิมลจะเข้ามายื่นขอเสนออีกครั้งหนึ่งก็ตาม  จากเหตุการณ์นี้ได้นำไปสู่การยื่นคำขู่ว่าจะดำเนินการปิดกั้นล้อมรั้วบริเวณที่ดินดังกล่าวเสีย

 

สภาพการเช่นนี้ดำรงมาได้ระยะหนึ่ง โดยต่างฝ่ายต่างเฝ้าดูท่าทีของกันและกัน ความหวั่นวิตกที่เคยเกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติ กลายมาเป็นความวิตกต่อท่าทีดังกล่าวของนายพิมล ความทุกข์ กังวลยังไม่หมดสิ้น จนบางครั้งกลุ่มชาวบ้านถึงกับอยากยอมแพ้และอยากกลับไปอยู่ในที่เดิม ด้วยเหตุผลว่า "การอยู่ที่แห่งนี้ถึงจะสบายกาย คือปลอดภัยจากภัยธรรมชาติ แต่พวกเราก็ไม่สบายใจเหมือนที่เก่า" 

 

ในระหว่างวันที่ 6-9 สิงหาคม 2549 นายพิมล และพวกได้ร่วมกันปักหลัก รังวัดแนวเขตโดยมีการปักหมุดเป็นเสาปูนมีเครื่องหมายสีแดง พร้อมกับมีการกระจายข่าวให้กลุ่มผู้เดือดร้อนรับรู้ว่าได้ทำการแจ้งรังวัดที่ดินแปลงนี้กับสำนักงานที่ดินอำเภอกันตังแล้ว และจะออกเอกสารสิทธิ์ตามแนวเขตที่มีการปักไว้ ซึ่งปรากฏว่าแนวเขตดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่มากกว่าเดิมที่เคยอ้างไว้ คือบริเวณด้านหน้า แต่จากที่มีหมุดปักไว้เห็นว่าคลุมพื้นที่ทั้งหมดที่ได้มีการจัดสรรให้ชาวบ้านผู้เดือดร้อนทั้งหมดเข้ามาอยู่อาศัย

 

สรุปความว่า ผู้อ้างสิทธิได้อ้างการครอบครองของตนรวมไปถึงที่ดินอันเป็นที่ตั้งชุมชนใหม่ที่ทางราชการเป็นผู้จัดสรรให้ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตป่าชายเลนทั้งหมด ซึ่งเดิมอ้างเพียงแนวกั้นดินหน้าบ้านเท่านั้น ทั้งมีการอ้างอีกว่าเจ้าหน้าที่ของที่ดินอำเภอกันตังได้ทำการรังวัดพื้นที่ดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจากการบอกเล่าของชาวบ้านบอกว่า มีกลุ่มคนประมาณ 4 -5 คน เข้ามาปักหลัก และถางตัดต้นไม้โกงกางบางต้นที่กีดขวางแนวกล่องส่องรังวัด โดยทำการปักหมุดในพื้นที่ป่าชายเลนในแปลงที่ทับซ้อนกัน กับแปลงที่คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ประสบภัยฯ เคยจัดสรรให้กับกลุ่มชาวบ้านที่เดือนร้อนก่อนหน้านี้

 

จึงเป็นข้อสงสัยยิ่งขึ้นว่า ถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริง เมื่อมีการเข้ามารังวัด และทำการโค่นถางต้นไม้ในป่าชายเลนจำนวนหนึ่ง เพื่อขอออกเอกสารสิทธิ์ของสำนักงานที่ดินจะไม่เป็นการบุกรุกที่ดินของรัฐ และร่วมกันทำลายป่าชายเลนหรืออย่างไร เพราะก่อนหน้านี้ลูกน้องนายพิมล  เคยถูกเจ้าหน้าที่หน่วยรักษาป่าชายเลนที่ 31 สิเกา จับกุมมาครั้งหนึ่งแล้ว ในข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลนกรณีแผ้วถางในพื้นที่เดียวกันนี้ 

 

ฉะนั้น ในการปักแนวเขตที่ล่วงล้ำในพื้นที่ป่าชายเลนจึงเป็นการกระทำที่ไม่ยำเกรงกฎหมาย และเกรงกลัวเจ้าหน้าที่บ้านเมือง และถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐยังเพิกเฉยปล่อยให้มีการชี้แนวเขตในลักษณะดังกล่าว หรือยังเข้าร่วมทำการกับกลุ่มของนายพิมลจริงตามที่ถูกกล่าวอ้างจะเป็นความเหมาะควร หรือมีความผิดประการใดหรือไม่ หรือเป็นเพียงการแอบอ้างเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่ออำนวยความสะดวกต่อตนเอง และเพื่อข่มขู่ให้กลุ่มผู้เดือดร้อนเกิดความเกรงกลัวยิ่งขึ้นเท่านั้น พฤติกรรมดังกล่าวอาจจะสร้างความเสียหายให้กับหน่วยงานราชการได้

 

เหตุการณ์เช่นนี้ได้สร้างความสับสนให้กลุ่มผู้เดือดร้อนมากยิ่งขึ้น เพราะเห็นว่าที่ผ่านมาการเข้ามาปลูกสร้างบ้านเรือนในบริเวณนี้ไม่ได้เข้ามาในลักษณะของการบุกรุกแต่อย่างใด หากแต่เจ้าหน้าที่หน่วยงานราชการที่เป็นคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินฯ จังหวัดตรังเป็นผู้จัดสรรให้ทั้งสิ้น จึงมีความเห็นร่วมกันว่าคงไม่สามารถวางตนนิ่งเฉยได้อีกต่อไป เพราะนับวันยิ่งสร้างความทุกข์ยากลำบากใจให้กับผู้ประสบภัยคลื่นยักษ์กลุ่มนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

 

นอกจากนี้ยังเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวของนายพิมล และพวกไม่ชอบด้วยเหตุผลประการทั้งปวง จึงขอร้องคัดค้านการดำเนินการเพื่อขอออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินของนายพิมล  ณ นคร จนถึงที่สุด และขอให้มีการสืบสวนพฤติกรรมของกลุ่มผู้อ้างสิทธิ์กรณีที่มีการบุกรุกป่าชายเลน รวมถึงการแอบอ้างถึงเจ้าหน้าที่รัฐเพื่ออำนวยความสะดวกให้การดำเนินการออกเอกสารสิทธิ์ของตนเป็นไปด้วยดี

 

และที่สำคัญขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเร่งทำการพิสูจน์สิทธิ์ในพื้นที่พิพาทดังกล่าวเพื่อให้ความจริงปรากฏโดยเร็ว และถามถึงรัฐบาลชุดใหม่ที่เข้ามาบริหารบ้านเมืองเฉพาะกิจชุดนี้ว่า หลังจากเหตุการณ์ล่วงเลยมาแล้ว 2 ปี แต่การแก้ไขปัญหาของผู้ประสบภัยสึนามิยังค้างคาอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะปัญหาที่ดิน ที่อยู่อาศัย ใคร่ขอให้หัวหน้ารัฐบาล และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาคลี่คลายปัญหาอย่างจริงจัง เพื่อเป็นบทพิสูจน์หนึ่งในการเข้ามาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจริงๆ ตามที่กล่าวอ้าง ด้วยหวังว่ากลุ่มผู้เดือดร้อนทั้งหมดที่ทนลำบากทั้งกาย และใจมาตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2547 หลังเหตุการณ์คลื่นยักษ์เป็นต้นมาจนถึงวันนี้ได้ดำรงชีวิตอย่างปกติสุข เฉกเช่นปัจเจกชนทั่วไปเสียที

 

                                               

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net