ปรับโครงสร้างศูนย์นิติธรรมฯ ขยายวงดับไฟใต้

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 24 ธันวาคม 2549 ที่โรงแรมซีเอส ปัตตานี มีการประชุมเตรียมปรับโครงสร้างคณะกรรมการศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีนายสมชาย หอมลออ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ ในฐานะประธานศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์ฯ เป็นประธาน มีผู้เข้าร่วม 20 คน

 

นายปิยะ กิจถาวร รักษาการคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี รายสรุปผลการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานของศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์ฯ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2549 ว่า ที่ประชุมประเมินสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความรุนแรงมากขึ้น แสดงว่าความพยายามในการแก้ไขปัญหายังไม่ถูกจุด ทั้งที่รัฐบาลมีท่าทีผ่อนปรน หรือรอมชอมมากขึ้น ส่วนทิศทางของศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์ฯ ต้องเป็นงานที่จำกัดเฉพาะการเยียวยา แต่ควรทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางทัศนคติ และมีขอบเขตเกี่ยวพันถึงชุมชน เพื่อให้พื้นที่เป็นแกนสำคัญในการทำงานต่อไป

 

นายปิยะ สรุปต่อไปว่า ในส่วนของโครงสร้างการดำเนินงานของศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์ฯ มีการเสนอให้จำแนกออกเป็น 5 ด้าน ไก้แก่ ด้านสิทธิและกฎหมาย ด้านการส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน ด้านการวิจัยเพื่อความเป็นธรรมในสังคม ด้านการเยียวยา และด้านการรณรงค์และประชาสัมพันธ์ นอกจากนี้ ยังมีการเสนอรายชื่อคณะกรรมการกำกับทิศทางการดำเนินงาน 13 คน มีนายเสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุยชนแห่งชาติ เป็นประธาน นายวสันต์ พานิช เป็นกรรมการ เป็นต้น

 

"การเปิดโอกาสให้ชาวบ้านเข้ามาช่วยแก้ปัญหา เป็นการโดดเดี่ยวฝ่ายโจร สิ่งที่พบในพื้นที่ คือ บทบาทของผู้นำศาสนาในพื้นที่หายไป ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก นอกจากนี้ยังพบว่า ปัญหาความขัดแย้งในระดับพื้นที่มีมากขึ้นจนน่าตกใจ มีการฆ่ากันระหว่างคนต่างศาสนิกเกิดขึ้นแล้ว" นายปิยะ กล่าว

 

นายแพทย์วีรศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เสนอต่อที่ประชุมว่า การดำเนินงานไม่ควรจำกัดอยู่เพียงในพื้นที่ หรือเรื่องทรัพยากรเท่านั้น แต่ควรต้องขยายไปสู่ระดับนานาชาติ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมในการหาทางออก เพราะขณะนี้รัฐยังไม่เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

นายแพทย์แวมะหะดี แวดาโอะ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวว่า เห็นด้วยที่จะให้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากคนต่างพื้นที่ด้วย หรือแม้แต่ในประเทศมาเลเซียก็ต้องจัด โดยเชิญพวกร้านต้มยำกุ้ง หรือแม้แต่นายวันกาเดร์ เจ๊ะมัน ประธานขบวนการเบอร์ซาตู เข้าร่วมด้วย  ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ใช่ความขัดแย้งทางศาสนา แต่เป็นเรื่องชาติพันธุ์

 

นายแพท์แวมะหะดี เปิดเผยด้วยว่า จากการลงพื้นที่หลายอำเภอในจังหวัดนราธิวาส พบว่าฝ่ายแบ่งแยกดินแดนเข้มแข็งมาก ครั้งหนึ่งตนเชิญนักวิชาการและนักการเมืองจากส่วนกลางมาสอบถามเรื่องที่ดินทำกิน ชาวบ้านบอกว่าไม่ต้องพูดเรื่องโฉนดที่ดิน  4 - 5 ไร่ ตอนนี้ต้องพูดถึงโฉนด 3 จังหวัดกันแล้ว ปัญหาจริงๆ ตอนนี้คือการแบ่งแยกดินแดน ตนพูดอย่างนี้ก็จะถูกทักท้วงอีกว่า ไม่ใช่การแยกดินแดน แต่เป็นการทวงคืนดินแดน

 

นายวรวิทย์ บารู ผู้อำนวยการสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวถึง การชุมนุมของสตรีและเด็ก ที่อำเภอยะรังจังหวัดปัตตานี เมื่อไม่นานมานี้ว่า การชุมนุมดังกล่าวเป็นเพราะกลุ่มสตรีเหล่านี้เห็นว่า เป็นหนทางเดียวที่จะได้รับการสนองตอบตามที่ต้องการ แต่การรวมพลังดังกล่าว กลับถูกมองว่าเป็นสูตรการต่อสู้ของขบวนการก่อการร้าย หากยังมองอย่างนี้ พ่ายแพ้แน่นอน เพราะรัฐไม่สามารถแยกแยะได้ว่า อะไรเป็นอะไร

 

นางอังคนา นีละไพจิตร คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสังคม กล่าวถึงกรณีการทำสัญญาจ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายแก่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ จากการสลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส จากการไกล่เกลี่ยของศาลจังหวัดปัตตานี เมื่อเร็วๆ นี้ มีการระบุในเงื่อนไขสัญญาว่า ชาวบ้านจะไม่ติดใจฟ้องอาญาเจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อเทียบกับคดีบ้านสีดำในกรุงเทพมหานคร ที่มีการจ่ายชดเชยถึง 120 ล้านบาท หรือกรณีที่นายแพทย์แวมะหะดี แวดาโอะ อดีตจำเลยคดีเจไอ ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายถึง 120 ล้าน การชดเชยความเสียหายให้กับชาวบ้าน ทำไมถึงราคาต่ำ

 

นางอังคนา เสนอว่า สำหรับโครงสร้างศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์ฯ ควรแยกเรื่องสิทธิกับเรื่องกฎหมายออกจากกัน เพราะต่างเป็นเรื่องสำคัญ ที่ผ่านมามีการละเมิดสิทธิ และเกิดคดีจำนวนมาก อาจะทำให้ผู้ดูแลทำงานหนักเกินไป

 

นายสิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ ทนายความประจำศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์ฯ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่จะให้แยกการทำงาน 2 เรื่องนี้ ออกจากกัน ควรเป็นคณะทำงานชุดเดียวกัน โดยแยกออกเป็นฝ่ายๆ ที่ต้องทำงานร่วมกัน

 

นายสิทธิพงษ์ กล่าวด้วยว่า มีทนายความจำนวนมากชำนาญการว่าความคดีแพ่งและคดีอาญา แต่ทนายความสิทธิมนุษยชนมีน้อย สิ่งที่ทำได้ คือ อบรมเรื่องสิทธิมนุษยชนให้มากขึ้น เพราะขณะนี้อ่อนแอมาก กรณีการเจรจาไกล่เกลี่ยคดีตากใบ ที่มีเงื่อนไขห้ามชาวบ้านฟ้องคดีอาญานั้น ในฐานะทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ไม่ควรให้เกิดกรณีแบบนี้ แต่เพื่อประโยชน์ของชาวบ้าน ทุกคนจึงเห็นควรให้ยุติได้แล้ว

 

นายดนัย อนันติโย อุปนายกสภาทนายความ กล่าวว่า กรณีนี้ถ้าขัดกฎหมาย หรือทำสัญญาโดยฉ้อฉล สัญญาอาจเป็นโมฆะ ตนทราบว่า มีทนายความหลายคนไม่ยอมลงนามในสัญญาฉบับนี้ อาจเป็นช่องทางหนึ่งที่ฝ่ายรัฐจะนำไปเป็นข้ออ้างในการไม่จ่ายเงินชดเชย โดยอ้างว่าเป็นสัญญาที่ขัดกับกฎหมาย หรือใช้กดดันชาวบ้าน ไม่ให้ร่วมไต่สวนชันสูตรพลิกศพในคดีตากใบ

 

นายสมชาย สรุปว่า จะนำข้อเสนอทั้งหมด เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสภาทนายความ ในวันที่ 5 มกราคม 2550 นี้ รวมทั้งข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติด้วย สำหรับกิจกรรมต่อไป คือ การจัดเวทีเผยแพร่ข้อเท็จจริงและปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งในระดับพื้นที่และในระดับชาติ เพื่อให้สังคมได้รับรู้ข้อมูลในพื้นที่ เช่น กรณีการชุมนุมของผู้หญิงและเด็ก เพราะสังคมยังเข้าใจว่า เป็นการออกมาเคลื่อนไหวเพื่อแบ่งแยกดินแดน เป็นต้น

 

นายสมชาย กล่าอีกว่า ต่อไปจะเน้นการทำงานในรูปเครือข่าย เพื่อให้เกิดความคล่องตัว ทำให้แต่ละองค์กรสามารถแสดงบทบาทได้เต็มที่ โดยจะเน้นหนักการระดมสมอง และการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม โดยในส่วนของสภาทนายความ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และกองทุนสมาฉันท์แห่งชาติ จะร่วมกันหารือในรายละเอียด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท