Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.ที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นคนกลางจัดเวทีประชาพิจารณ์เอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น ให้กับกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งภายในงานมีการตั้งคำถามและแสดงความคิดเห็นมากมายที่น่าสนใจ


 


สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และตัวแทนจากกลุ่มเอฟทีเอว็อทช์ ระบุว่า 1. การประชาพิจารณ์ครั้งนี้เป็นเพียง "พิธีกรรม" เนื่องจากเนื้อหา รูปแบบไม่ถูกต้อง และไม่มีการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนได้ศึกษาก่อน 2.ไม่มีกระบวนการที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงเนื้อหาข้อตกลงได้ หากพบว่ามีประเด็นปัญหาหรือผลกระทบใดๆ 3. ข้อตกลงนี้มีผลประโยชน์ทับซ้อนของกลุ่มทุนในรัฐบาลชุดที่แล้ว


 


พิศาล มาณวพัฒน์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศในฐานะหัวหน้าคณะเจรจา FTA ไทย-ญี่ปุ่นตอบว่า 1.ไม่ว่าจะเรียกงานนี้ว่าอะไร ควรสนใจสาระมากกว่ารูปแบบ ที่ผ่านมามีกระบวนการที่ต้องการคว่ำการประชานี้โดยกล่าวหากระทรวงการต่างประเทศว่าเล่นปาหี่แอบเอาข้อตกลงเข้าครม. ที่จริงเป็นเรื่องถูกต้องที่สำนักเลขาธิการกำหนดว่าต้องนำข้อตกลง 900 หน้าที่จัดทำให้รัฐบาลชุดที่แล้วให้ครม.ชุดใหม่ได้รับทราบ และจะนำความเห็นของประชาชนที่ได้จากการประชาพิจารณ์เข้าสู่ครม.อีกครั้ง จากนั้นทางครม.จะหารือกับสนช.ว่าจะนำเข้าไปในสนช.อย่างไรเพื่อรับฟังความเห็นของสนช.ด้วยก่อนที่รัฐบาลจะตัดสินใจในท้ายที่สุดว่าจะลงนามข้อตกลงนี้หรือไม่


 


2.ตราบใดที่ยังไม่ลงนามเท่ากับไม่มีการตกลงอะไรกันทั้งสิ้น การเพิ่มเติมแก้ไขทำได้หากรัฐบาลเห็นด้วย  แต่รัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบความตกลงทั้งฉบับ ซึ่งใช้เวลาศึกษามาแล้ว 2 ปี เจราจากันอีก 2 ปีด้วย เพราะต้องตระหนักด้วยว่าหากเราขอแก้ไข ก็มีส่วนที่ญี่ปุ่นต้องการแก้ไขด้วยเช่นกัน


 


3.ผลประโยชน์ทับซ้อนเป็นเรื่องที่ได้ยินมานาน  มันง่ายที่จะกล่าวหาแต่ไม่เคยมีใครพิสูจน์หรืออธิบายต่อจากนั้น ขอยืนยันว่าอดีตนายกฯ รองนายกฯ ไม่เคยสั่งอะไรทั้งสิ้นเกี่ยวกับเรื่องนี้ ถึงสั่งก็สั่งไม่ได้ในเรื่องที่เป็นผลประโยชน์ของประเทศ


 


"ถ้าคนถามรู้จักผมดีกว่านี้ซักนิดจะเข้าใจว่าจุดยืนในการตัดสินใจแต่ละเรื่องผมอยู่ตรงไหน ตอนนี้สังคมไทยบอบช้ำมามากแล้ว อย่าเอาเจเท็ปป้าไปโยงกับร่างเงาของใครบางคนเลย"


 


 ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา กล่าวว่า 4 ปีที่ทำหน้าที่ตรวจสอบอยู่ในวุฒิสภาและเป็นประธาน กมธ.การต่างประเทศ เรื่องที่สำคัญที่สุดรองจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนก็คือ เรื่องเอฟทีเอ ทาง กมธ.มีการตรวจสอบมากที่สุด แต่ได้รับคำตอบน้อยที่สุด ส่วนที่ลงนามแล้วก็ดำเนินการโดยที่ไมได้ให้ข้อมูลกับกรรมาธิการอย่างชัดเจนว่าผลกระทบจะเป็นเช่นไร เมื่อมีการศึกษาตามหลังของนักวิชาการก็พบชัดเจนว่า เอฟทีเอหลายฉบับมีผลประโยชน์กระจุกอยู่กับบรรษัทใหญ่ในไทย


 


ในส่วนของเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น ก็คล้ายกับของอเมริกา ที่เพียงดูกำลังการผลิตเทียบกันก็จะเห็นความแตกต่างอย่างมหาศาล นอกจากนี้อเมริกายังมีเงื่อนไขตายตัวที่ระบุว่าทุกประเทศที่เจรจาต้องอยู่ภายใต้ Farm Act กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาจะไม่มีการเจรจาเรื่องเหล่านี้ เช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่จะไม่เจรจาเรื่องข้าวสินค้าเกษตรบางอย่างเช่นสับปะรด ซึ่งเขาต้องการปกป้องเกษตรกรภายในประเทศ ขณะที่ก็มีคำถามว่าทำไมธุรกิจธนาคารจึงไม่อยู่ในเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น ทำไมธนาคารทหารไทยที่ครอบครัวอดีตนายกฯ ถูกนำออกจากเอฟทีเอ


 


"การศึกษาของทีดีอาร์ไอก็เป็นเพียงเศรษฐศาสตร์ไม่มีหัวใจ ดูแต่ตัวเลขขาวดำ บนฐานความเชื่อในเสรีนิยมใหม่"


 


ประการสุดท้ายไกรศักดิ์ระบุว่า ไม่ควรมีการลงนามเอฟทีเอหลังรัฐประหารเพราะก่อนหน้าที่รัฐบาลก็ประกาศชัดเจนว่าจะไม่มีการลงนามเอฟทีเอใดๆ แต่พอรัฐมนตรีช่วยของญี่ปุ่นเข้าพบพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ถัดมา 1-2 วัน ม.ร.ว.ปรีดายาธร เทวกุล ก็ประกาศจะให้มีการประชาพิจารณ์และนำเข้าสนช. โดยที่สนช.นั้นมาจากการแต่งตั้งไม่ใช่เลือกตั้ง


 


เกียรติ สิทธิอมร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งติดตามเรื่องเอฟทีเออย่างใกล้ชิดระบุว่า ในฐานะที่เป็นสมาชิกหอการค้าโลกทราบดีว่า เอฟทีเอ 250 กว่าฉบับทั่วโลก ภาคธุรกิจใช้ประโยชน์จริงไม่ถึง 50% เนื่องจากแต่ละประเทศมีกฎระเบียบต่างกัน การทำเอฟทีเอให้มีประสิทธิภาพต้องมีการวางยุทธศาสตร์ภาพรวม และรัฐบาลนี้ควรกลับไปทบทวนยุทธศาสตร์ภาพรวมของไทยว่าเป็นอย่างไร เพราะปัจจุบันมีการเจรจากับ 9 ประเทศ 2 กลุ่มประเทศนับว่าเยอะที่สุดในโลก ในขณะที่ทีมเจรจาก็มีน้อย


 


เกียรติ กล่าวต่อว่า อัตราภาษีของญี่ปุ่นต่ำกว่าไทย เราจึงมีโอกาสขาดดุลมากขึ้น ประกอบกับความสามรถในการใช้สิทธิประโยชน์ของไทยก็ต่ำกว่าญี่ปุ่น นอกจากนี้ รัฐบาลต้องตอบให้ได้ว่าเตรียมรองรับผู้ได้รับผลกระทบอย่างไร ผลการศึกษาในเรื่องนี้ยังไม่มีให้เห็นเป็นระบบชัดเจน การตั้งกองทุนปรับโครงสร้างนั้น เห็นตัวอย่างจากภาคเกษตรที่ให้งบประมาณน้อย ทั้งภาครัฐยังไม่รู้จะนำไปปรับตรงส่วนไหนอย่างไรอีก


 


เขากล่าวด้วยว่าในสินค้าข้าวซึ่งไทยต้องการขยายตลาดในญี่ปุ่นมากและญี่ปุ่นก็ปฏิเสธมาตลอด ล่าสุดมีภาคเอกชนจากญี่ปุ่นระบุว่าทางการได้ประชุมร่วมกับภาคเอกชนและมีมติที่จะยอมในเรื่องนี้แล้ว แต่ในการประชุมที่ฮานอย นายกฯ ทักษิณในขณะนั้นได้คุยกับญี่ปุ่นและไปตกลงจะยกเลิกเรื่องข้าว


 


ส่วนประเด็นการลงทุน เกียรติกล่าวว่า  ในตัวบทระบุว่าหากฝ่ายใดให้ประโยชน์ประเทศอื่นมากกว่า จะต้องพิจารณาคำขอแบบเดียวกันให้อีกฝ่ายด้วย ขณะนี้ไทยมีสนธิสัญญาไมตรีกับสหรัฐ ซึ่งเปิดให้มีการลงทุนได้เยอะ ญี่ปุ่นก็จะเรียกร้องในแบบเดียวกันในการเปิดการลงทุนให้นักลงทุนญี่ปุ่น


 


วีรชัย พลาศรัย อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าวว่า ในประเด็นความกังวลเรื่องขยะพิษที่จะเข้ามานั้น ไม่มีการส่งเสริมให้ไทยเป็นที่ทิ้งขยะ เราต้องรักษามาตรฐานตามกฎหมายภายในประเทศและตามสนธิสัญญาบาเซล อีกทั้งภาษีขยะนั้นก็ต่ำอยู่แล้วในความเป็นจริง ส่วนที่กังวลว่าจะมีการนำเข้ากากนิวเคลียร์ก็ยืนยันว่า ไม่ว่าภาษีจะเป็นเท่าไรก็เข้าไม่ได้ ส่วนประเด็นสาธารณสุขนั้นไม่มีการเปิดเสรี ข้อตกลงไม่ได้ทำให้สถานการณ์ที่เป็นอยู่ดีขึ้นหรือเลวลง


 


"คณะเจรจาทำทุกอย่างแล้วตามกรอบของกฎหมาย ที่จะทำให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูล ทั้งที่ก็เสี่ยงด้วยที่เปิดข้อตกลงให้ประชาชนได้ทราบมาก แม้แต่ประเทศแม่แบบการเจรจา ก็ยังเปิดเผยตัวบทเพียง 1-3 สัปดาห์ก่อนลงนาม"


 


ส่วนคำถามเรื่องไม่มีภาคธนาคารในข้อตกลงนั้น วีรชัยกล่าวว่า เป็นเพราะคณะเจรจาเห็นว่า ยังไม่มีความพร้อมจะเปิด ทุกฝ่ายเห็นว่าต้องการเวลาปรับตัว  ส่วนปัญหาเรื่องภาพรวมยุทธศาสตร์นั้น รัฐบาลนี้ได้ตัดสินใจแล้วในการประชุมเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว รองนายกฯ ได้ระบุชัดว่า เอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่นเป็นฉบับเดียวที่รัฐบาลควรทำต่อ ขณะที่ความกังวลเรื่อง MFN ที่ญี่ปุ่นจะขอสิทธิพิเศษเท่าสหรัฐนั้น ในข้อตกลงระบุว่า ในอนาคตถ้าประเทศใดให้สิทธิกับประเทศอื่นดีกว่า หากคู่เจรจาจะขอบ้างก็ต้องพิจารณาอีกครั้ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net