"ปาย" เปลี่ยนไป...

เสียงสะท้อนจากคนท้องถิ่นถึงความเปลี่ยนแปลงของปาย

โดย องอาจ เดชา

 

เมื่อพูดถึง "ปาย" อำเภอเล็กๆ กลางหุบเขาของจังหวัดแม่ฮ่องสอน น้อยคนนักที่จะไม่รู้จักกัน ในฐานะที่เป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อเลื่องลือขจรขจายไปทั่วโลก ว่าเป็นเมืองในฝันของใครหลายคน เมืองของวัฒนธรรมอันดีงาม เมืองแห่งความสงบเงียบอยู่ท่ามกลางธรรมชาติขุนเขา สายน้ำ และวัฒนธรรมพื้นเมืองอันหลากหลาย

 

แน่นอน หลายคนมันจะพูดถึงปาย ในความหมายที่คล้ายกัน ปาย...เสน่ห์เมืองสามหมอก ปาย...โรแมนติคในไอหมอก ปาย...เมืองในฝันของนักเดินทาง กระทั่งมีบางคนถึงกับขนานนามว่านี่คือ "ยูโธปาย" หรือ "ยูโธเปีย" เมืองในอุดมคติของโทมัส มอร์

 

แต่ก็อย่างว่านั่นแหละ แม้กระทั่งในห้วงยามนี้ สื่อมวลชนประโคมข่าว โดยระบุว่า การท่องเที่ยวแม่ฮ่องสอนปี 2549 ทะลุเป้า คนแห่เที่ยว 3.49 แสนคน-เงินสะพัด 1,700 ล้านบาท

 

โดยเฉพาะ อ.ปาย มีรายงานบอกว่า ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-เดือนธันวาคม นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเที่ยวอำเภอปายเฉลี่ยวันละ 3,500 คน รายได้จากการท่องเที่ยวเฉลี่ยวันละ 6-7 แสนบาท

 

แต่เมื่อหันไปฟังเสียงของคนท้องถิ่นดั้งเดิมของปาย พวกเขากลับสะท้อนความรู้สึกออกมาและช่างแปลกแยกแตกต่าง จนทำให้ใครหลายคนรู้สึกอึ้งไปตาม ๆ กัน

 

"ปายตอนนี้เปลี่ยนไปมาก ปกติคนปายเขานอนกันแต่หัวค่ำ หลังจากทำสวนทำนากันมา ก็เข้านอนกันแล้ว ชาวบ้านต้องการความสงบ แต่นอนไม่ได้ เสียงมันดัง อึกทึก นักท่องเที่ยวเขาร้องรำทำเพลงกันจนดึกดื่น..."

 

"รู้มั้ย ตอนนี้คนปาย ต้องยอมขายที่ดินให้นายทุน เมื่อเขามาขอซื้อ ราคาดี บวกกับทนเสียงดังไม่ไหว ก็พากันอพยพย้ายไปอยู่ตามเชิงเขาแทน..."

 

นั่นคือเสียงสะท้อนของคนเฒ่าคนแก่ในอำเภอปาย ที่พยายามจะบอกย้ำให้กับผู้คนที่มาเยือนปายได้รับรู้ว่า...ปายกำลังเปลี่ยนไปอย่างเร็วและแรง!

 

บรรยากาศบางมุมของเกสเฮ้าส์ติดลำน้ำปาย

 

เรียนรู้ "ปาย" ก่อนคุณค่าความหมายจะถูกเปลี่ยนแปลง

เมื่อย้อนกลับไปดูร่องรอยของประวัติศาสตร์ในอดีต เราจะพบว่า"ปาย" นั้นเป็นเมืองของความหลากหลายทั้งในแง่ของประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม ที่น่าศึกษาเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง

 

เมื่อไม่นานมานี้ ที่ ร.ร.ปายวิทยาคาร อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ได้มีการจัดเวทีระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับเมืองปายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จากปราชญ์ท้องถิ่น ชุมชนท้องถิ่น และนักวิชาการในแต่ละสาขา เพื่อรวบรวมความรู้ทั้งหมด ก่อนคุณค่าความหมายของ "เมืองปาย" จะถูกเปลี่ยนแปลงสูญหาย

 

โดยการจัดกิจกรรมโครงการจัดเสวนาภูมิหลังของสังคมและวัฒนธรรมเมืองปายในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างปราชญ์ท้องถิ่น ชุมชนท้องถิ่น โครงการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นสำหรับการฟื้นฟูอนุรักษ์และจัดการสืบสานทรัพยากรทางวัฒนธรรมอย่างยั่งยืนของชุมชนใน อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน (ฟจป.) สนับสนุนโดย กองทุนสนับสนุนการวิจัย ( สกว.) โดยมีนักเรียน นักศึกษา ประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมงานกันอย่างคับคั่ง

 

 

จันทร์ อินทสาร

ปราชญ์ชาวบ้าน อ.ปาย

 

"พ่อครูจันทร์" หรือ จันทร์ อินทสาร อดีตข้าราชการครู ปราชญ์ชาวบ้านที่เริ่มศึกษาประวัติศาสตร์เมืองปายตั้งแต่ปี 2496 ขณะที่บวชเป็นพระ ต้องเดินเท้าเข้าไปยังเมืองปั่น ในประเทศพม่า เพื่ออ่านบันทึกเกี่ยวกับเมืองปาย และใช้เวลาหลายสิบปีในการรวบรวมประวัติศาสตร์เมืองปาย

พ่อครูจันทร์เล่าว่า ปายเป็นเมืองชายแดน เป็นเมืองกันชน เดิมเรียกว่า"บ้านดอน" เป็นที่ราบบนเนินเขา มีป่าไผ่ล้อมรอบ เหมาะแก่การตั้งทัพ ในปีพ.ศ.1826 พระเจ้าคราม เจ้าผู้ครองพิงนคร (เชียงใหม่) รู้ข่าวว่ามีนายทหารพม่ามาตั้งทัพ และสร้างเมืองที่บ้านดอน เพื่อใช้เป็นฐานในการเข้าตีพิงนคร

 

พระเจ้าครามจึงคิดจะยึดบ้านดอนเป็นเมืองขึ้นแต่ได้สวรรคตก่อน จากนั้นมาเมื่อเวลาที่กองทัพพม่อ่อนแอ เจ้าครองนครเชียงใหม่จะตีชิงบ้านดอนเป็นเมืองขึ้น สลับกับการถูกพม่าแย่งชิงกลับไปตลอดเวลา พ.ศ.2020 พระเจ้าติโลกราช เจ้าครองนครเชียงใหม่ รับสั่งให้เจ้าศรีชัยยา ยกทัพมาตีเมืองบ้านดอน ขณะเข้าตีช้างเผือกของพระองค์เตลิดหนีเข้าป่าไป เมื่อมีชัยต่อเมืองบ้านดอน รับสั่งให้ทหารไปหาช้างของพระองค์กลับมา ซึ่งทหารไปพบช้างเชือกดังกล่าวกำลังเล่นน้ำอยู่ในลำน้ำแห่งหนึ่ง

 

เจ้าศรีชัยยาทรงปลาบปลื้มที่ได้ช้างเผือกกลับคืนมา จึงตั้งชื่อลำน้ำแห่งนั้นว่า "ลำน้ำพลาย" แต่สำเนียงล้านนาออกเสียง พ.พาน เป็น ป.ปลา จึงกลายเป็น "ลำน้ำปลาย" และเรียกเมืองบ้านดอนว่า "เมืองปลาย" จนเวลาผ่านไปการออกเสียงและเขียนตัวสะกดเพี้ยนมาเป็น "ปาย" ดังปัจจุบัน

 

สะพานเหล็กข้ามแม่น้ำปายสร้างในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

 

"ปาย" ในสายตาของนักโบราณคดี

ในขณะที่ ผศ.ดร.รัศมี  ชูทรงเดช ภาควิชาโบราณคดี  คณะโบราณคดี  มหาวิทยาลัยศิลปากร  ผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวในงานครั้งนั้นว่า เนื่องจาก อ.ปาย ของ จ.แม่ฮ่องสอน นั้นมีความร่ำรวยทั้งด้านทรัพยากรทางธรรมชาติและด้านวัฒนธรรม มีประวัติศาสตร์วัฒนธรรมที่ยาวนานหลายร้อยปี   รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์สำหรับผู้ที่สนใจในด้านนี้เป็นเวลามากว่า 20 ปีแล้ว แต่เมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมาได้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในพื้นที่อย่างรวดเร็ว มีนายทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้าไปซื้อที่ดินและบ้านเรือนปรับเปลี่ยนเป็นร้านค้าและที่พัก เกสต์เฮาส์ เพื่อให้บริการแก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ชุมชนท้องถิ่นก็เริ่มย้ายถิ่นฐานออกนอกเมือง วัฒนธรรมดั้งเดิมที่เคยมีอยู่ก็เริ่มเสื่อมถอยและปัญหาอื่นๆ ตามมาอย่างมาก 

 

"การเสื่อมถอยและวิกฤตทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นของ อ.ปายในระยะหลังๆ นี้ นับว่าเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงเป็นอย่างยิ่ง ประกอบกับรัฐและองค์กรในระดับท้องถิ่นพยายามขยายและส่งเสริมการท่องเที่ยวมองแต่ในด้านผลได้ทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีการจัดการที่ดีแล้ว เชื่อว่าจะเป็นผลดีแก่ท้องถิ่นเพียงในระยะสั้นๆ เท่านั้น แต่ในระยะยาวกลับจะเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ และมีผลต่อวัฒนธรรมที่ดีงามอันเก่าแก่ของท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นการสูญเสียที่สำคัญยิ่งและอาจจะไม่สามารถนำกลับคืนมาได้"

 

ผศ.ดร.รัศมี บอกอีกว่า การจัดเวทีครั้งนี้ จะทำให้เราได้ทราบภูมิหลังและความเป็นมาของคนที่อยู่ในเมืองปายตั้งแต่ในอดีต และเพื่อรวบรวมหลักฐานทางโบราณคดีก่อนที่จะไม่หลงเหลือให้อนุชนรุ่นหลังได้รับทราบ รวมทั้งได้ทำความเข้าใจถึงที่มาของความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมของ "ปาย" ปัจจุบันอีกด้วย 

 

ผศ.ดร.รัศมี  ชูทรงเดช

ภาควิชาโบราณคดี  คณะโบราณคดี  มหาวิทยาลัยศิลปากร

 

ปางมะผ้า - ปาย คือกุญแจที่สำคัญของประวัติศาสตร์ไทย

ทั้งนี้ ผศ.ดร.รัศมี ได้เสวนาเรื่อง "คุณค่าโบราณคดีปายมองจากปางมะผ้า" ว่า เมื่อพูดถึงปาย เราจำเป็นต้องมองผ่านปางมะผ้า เพราะว่ามีความสอดคล้องสัมพันธ์กันทั้งในเชิงพื้นที่ ในเชิงลักษณะทางกายภาพที่คล้ายคลึงกัน รวมทั้งมีความหลากหลายของชาติพันธุ์และวัฒนธรรมที่คล้ายกัน

 

จากการค้นคว้าวิจัยทางด้านโบราณคดีในที่พื้นที่อย่างต่อเนื่อง พบว่า ปาย เป็นส่วนหนึ่งของ "เส้นทางจราจรโบราณในขุนเขา" ที่เกี่ยวโยงกับแม่น้ำสาละวิน โดยดูจากแม่น้ำปาย ซึ่งไหลผ่านลงไปสู่แม่น้ำสาละวิน นอกจากนั้น เมื่อมีการศึกษาเรื่องราวของคน วัฒนธรรมและจัดลำดับพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรม ศึกษาสภาพแวดล้อมโบราณ ศึกษาการปรับตัวของคนกับสิ่งแวดล้อมในอดีต รวมทั้งศึกษาการเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรม และสภาพแวดล้อมโบราณระหว่างอดีตกับปัจจุบัน

 

"เราได้มีการสำรวจ ขุดค้น ซึ่งจากการสำรวจในพื้นที่บริเวณถ้ำลอด ได้มีการขุดค้นพบ โครงกระดูกที่ 1 อายุประมาณ 12, 000 ปีมาแล้ว นอกจากนั้นยังมีการขุดค้นพบโครงกระดูกที่ 2  อายุ 13, 000 ปีมาแล้ว

นอกจากนั้น เรายังค้นพบเครื่องมือหินกะเทาะ ถ้ำลอด กระดูกสัตว์ เป็นสัตว์ขนาดใหญ่ตระกูลวัว ควาย  กวาง โดยเฉพาะส่วนขาเขา และยังพบสัตว์จำพวก เม่น หอยน้ำจืด  ช้าง หมี แรด ลิง ในอีกหลายพื้นที่"

 

ที่น่าสนใจก็คือ มีการค้นพบโครงกระดูกผู้ชาย ซึ่งมีอายุประมาณ 9,000 ปีมาแล้ว รวมไปถึงวัฒนธรรมโลงไม้ ซึ่งบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ในแถบนี้เป็นอย่างดี

 

"ดังนั้น ในเขตพื้นที่อ.ปางมะผ้า-ปาย ทำให้เรามองเห็นพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย ตั้งแต่ร่วมสมัยวัฒนธรรมทวารวดี โทราจา อินโดนีเซีย โดยดูได้จากการมีวัฒนธรรมโลงไม้คล้ายๆ กัน ฟันทองที่เจอในพม่า"

 

ผศ.ดร.รัศมี ยังบอกอีกว่า พื้นที่แถบนี้ จึงถือว่าเป็นกุญแจที่สำคัญของประวัติศาสตร์ไทย ทางด้านพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์-ปัจจุบัน เพราะมีการค้นพบร่องรอยของคนที่เข้ามาอาศัยที่ปางมะผ้า เมื่อประมาณ 35,000 ปีมาแล้ว โดยเฉพาะมีการค้นพบโครงกระดูกคนที่เก่าที่สุดที่ถ้ำลอด  อ.ปางมะผ้า ซึ่งมีอายุประมาณ 13,000 ปีมาแล้ว 

 

"ทำอย่างไร จึงจะทำให้เกิดความภาคภูมิใจของคนในอำเภอปางมะผ้า-ปาย ว่ามี "ของดี"  ที่มีความสำคัญต่อความสำคัญต่อท้องถิ่น ต่อประวัติศาสตร์ไทยและโลก ทำอย่างไรจึงจะทำให้พื้นที่ของปางมะผ้า และปายเป็นแหล่งศูนย์กลางการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องคนโบราณก่อนที่จะเป็นคนไทยปัจจุบัน"

 

รศ.รัศมี ยังเสนอให้ทุกฝ่ายได้เข้ามาทำการศึกษาวิจัยในพื้นที่อื่นในจังหวัดแม่ฮ่องสอน  เพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงการติดต่อไปมาของผู้คนในอดีต ปาย-ปางมะผ้า และมีเนื้อหาที่ทำให้เรื่องราวในอดีตมีชีวิต มีการสำรวจแหล่งโบราณคดีก่อนที่จะไม่หลงเหลืออะไร รวมทั้งทำการศึกษาการทำลายของธรรมชาติและการขยายตัวของเมืองและชุมชนกำหนดขอบเขตและอนุรักษ์สำหรับการจัดการเป็นแหล่งเรียนรู้และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

 

ลำน้ำปาย ยังมองเห็นกระสอบทรายและร่องรอยน้ำท่วมเมื่อปีที่ผ่านมา

 

"ปายเปลี่ยนไป" คือ เสียงครวญจากคนท้องถิ่น ภาพเก่าๆ ของเมืองปาย ในสายตาของนักเขียน นักท่องเที่ยว นักเดินทางที่ไปเยือน มักจะเขียนและพูดถึงปายตามห้วงอารมณ์ความรู้สึกไม่แตกต่างกัน ว่าเป็นเมืองเล็กๆ ที่ถูกโอบล้อมไปด้วยภูเขาสูงสลับทับซ้อน ห้วงฤดูหนาว อากาศหนาวยะเยือก เมืองทั้งเมืองปกคลุมด้วยหมอกขาว บรรยากาศอันเงียบสงบ ลำน้ำปาย ทุ่งนาสีเขียว ทุ่งกระเทียมอันกว้างใหญ่ วิถีชีวิต เรียบง่าย สงบสุข ของคนท้องถิ่นหลากหลายชาติพันธุ์ชนเผ่า  เหล่านี้ล้วนคือเอกลักษณ์ที่ลงตัวปายได้ดึงดูดนักท่องเที่ยว นักเดินทางได้เข้ามาเยือนอย่างต่อเนื่องมิขาดสาย                                                                                                               

ว่ากันว่า ปายได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทั้งยุโรป ญี่ปุ่น มานานแล้ว  แต่สำหรับคนไทยแล้ว เพิ่งมาเป็นที่รู้จักกันเมื่อไม่กี่ปีมานี้ และผลจากการประโคมข่าว การประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของภาครัฐ นโยบายของรัฐที่มุ่งเน้นดึงดูดเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวทั้งจากต่างชาติและนักท่องเที่ยวของไทยอย่างครึกโครมและต่อเนื่อง

โดยที่ไม่มีใครคาดคิดว่า นี่เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นตัวเชื่อม ส่งผลทำให้อำเภอปายเกิดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้!                                                                                               

มีเรื่องราวอีกมากมายที่ทำให้ผมและใครหลายคนคิดถึง...ว่า จริงๆ แล้ว ปายกำลังพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนหรือเสื่อมถอย...

 

 

ใจ อินยา กรรมการสภาวัฒนธรรมแม่ฮี้ อ.ปาย

 

พ่อครูใจ อินยา ผู้อาวุโสวัย79 ปี เป็นคนปายดั้งเดิมและเป็นอดีตครูประชาบาล ปัจจุบัน เป็นประธานสภาวัฒนธรรม กรรมการสภาวัฒนธรรมแม่ฮี้ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน บอกเล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงหม่นเศร้า

"เมืองปายตอนนี้เปลี่ยนไปมาก ปกติคนปายเขานอนกันแต่หัวค่ำ หลังจากทำสวนทำนากันมา ก็เข้านอนกันแล้ว ชาวบ้านต้องการความสงบ ต้องการนอนพักผ่อน มันเพลีย เพราะทำงานกลางทุ่ง แต่นอนไม่ได้ เสียงมันดัง อึกทึก นักท่องเที่ยวเขาร้องรำทำเพลงกันจนดึกดื่น..."

 

"รู้มั้ย ตอนนี้คนปาย ต้องยอมขายที่ดินให้นายทุน ยกตัวอย่าง บ้านป่าขาม คนเก่าแกต้องอพยพย้ายออกไปอยู่ข้างนอก เมื่อฝรั่ง นักท่องเที่ยว นักลงทุนมาเห็นทำเลดี เขามาขอซื้อ ขอเช่า ให้ราคาดี บวกกับทนเสียงดังไม่ไหว ก็พากันอพยพย้ายไปอยู่ตามเชิงเขาแทน..."           

              

พ่อครูใจ ยังบอกอีกว่า ที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้ ก็คือ เด็กๆ เยาวชนในเมืองปาย เพราะว่าปัจจุบัน มันมีสิ่งเย้ายวนมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าที่มาจากนักท่องเที่ยว และโดยเฉพาะสื่อต่างๆ ซึ่งมันทำให้เด็กๆ เยาวชนหันเหไปทางนั้นกันหมด แม้ว่าคนเฒ่าคนแก่พยายามจะจัดอบรมให้พวกเขา แต่มันก็สะดุด เพราะมันเปลี่ยนไปเร็วมาก

 

ถนนในตัวเมืองปาย

 

"ความเจริญเข้ามา ความเสื่อมก็ตาม ชาวบ้านปรับตัวกันไม่ทัน สู้กับความเปลี่ยนแปลงไม่ได้ อย่างพ่อครูตอนนี้ก็แก่แล้ว จะให้คนแก่ไปเรียกร้องต่อสู้อะไรก็ไม่ได้มาก"

 

"แล้วจะทำอย่างไรกันต่อละทีนี้..." หลายคนตั้งคำถาม

 

"เมืองปายกับการท่องเที่ยว มันต้องค่อยเป็นค่อยไป และต้องมานั่งพูดคุยวางแผนในการจัดการกันอย่างจริงๆ จังๆ แต่ทุกวันนี้ มันยังไม่เข้ากันเลย บางคนเป็นผู้ประกอบการ บางคนเป็นเจ้าหน้าที่อำเภอ อบต. เทศบาล บางคนเป็นชาวบ้าน เป็นนักท่องเที่ยว ไปกันคนละทิศละทางกันเลย"

 

สมชาย บุษกร" อิหม่ามมัสยิดอัลอิสรออ อ.ปาย

 

ในขณะที่ "สมชาย บุษกร" อิหม่ามมัสยิดอัลอิสรออ ผู้นำทางศาสนาและประวัติศาสตร์ชุมชนมุสลิมในเมืองปาย ก็เห็นตรงกันว่า ถ้าพิจารณาอย่างจริงจังแล้ว จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงของสังคมวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมในปาย คนท้องถิ่นปายได้ประโยชน์น้อยนิด ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ตกอยู่กับคนนอกที่เข้ามาตักตวงหาประโยชน์จากปาย

 

"เพราะฉะนั้น สิ่งที่ต้องคิดคือ หยุดการเจริญเติบโตของเมืองประสานกับทุกฝ่ายเพื่อมาระดมความคิดเพื่อสร้างเสริมส่วนที่สึกหรอเสียก่อน แล้วค่อยๆ ก้าวเดินต่อไปอย่างพอเพียง"

 

อิหม่ามมัสยิดอัลอิสรออ บอกอีกว่า ขณะที่ชุมชนมุสลิมเองซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่อยู่ในเมืองปายมากว่า 70 ปีแล้ว พี่น้องมุสลิมยังคงอาศัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ไม่ขายที่ดิน และยึดหลักศาสนาในการดำรงชีวิต ทั้งทำงานเพื่อศาสนาสืบทอดศาสนา รวมทั้งปลูกจิตสำนึกให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เข้าใจศาสนา รู้คุณค่า และมีวิถีชีวิตที่สงบสุขเมื่อเยาวชนชัดเจนทางความคิด มีความเข้มแข็งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อพวกเขาได้ยาก

         

"ทุกวันนี้คนเข้ามาขุดทอง คิดแค่เรื่องเงิน ที่เป็นเช่นนี้เพราะหลงใหลไปกับระบบทุนนิยม ขายที่ดินทำกิน แล้วสุดท้ายทำได้อย่างเดียวคือเป็นลูกจ้างที่นี่ค่าแรงสูง แต่ค่าครองชีพก็สูงตามไปด้วย นี่ไม่ใช่วิถีชีวิตจริงๆ ของชาวบ้าน นานๆไป ปายเสื่อมโทรมไม่ดูแลรักษาทรัพยากร เพราะทุกคนต่างหาประโยชน์อย่างไร้ขอบเขต นักลงทุนเงินหนาก็จะย้ายไปลงทุนที่อื่น ท้องถิ่นก็ไม่เหลืออะไร" สมชายกล่าว

 

นั่นเป็นเสียงสะท้อนจากคนเมืองปาย ซึ่งเป็นคนท้องถิ่นดั้งเดิม ที่บอกเล่าความรู้สึกให้รับรู้ว่า ปายกำลังเปลี่ยนไปอย่างเร็วและแรง ในห้วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา

 

 

สถานีขนส่ง อ.ปาย ยังคงเห็นบรรยากาศที่เรียบง่าย

 

ในขณะคนปายพยายามยื้อความเร็วให้ช้า

ทว่ารัฐกลับเร่งความเร็ว เปิดสายการบินปาย

ล่าสุด มีรายงานข่าวบอกว่า บริษัทสายการบิน SGA สยามเจนเนอรัลเอวิเอชั่น กำหนดมอบของขวัญปีใหม่ให้กับนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ ที่จะเดินทางจากจังหวัดเชียงใหม่ไปยังอำเภอปาย กำหนดทำการบิน 15 มกราคม 2550 ศกหน้าแน่นอน

 

โดยนายวิสูตร บัวชุม หัวหน้าศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า ขณะนี้สายการบิน SGA สยามเจนเนอรัลเอวิเอชั่น จะเปิดเส้นทางการบินระหว่างเชียงใหม่มายังสนามบินอำเภอปาย ในวันที่ 15 มกราคม 2550  ด้วยเครื่องบินขนาด 12 ที่นั่ง ใช้เวลาบิน 25 นาที ในอัตราค่าโดยสารจากเชียงใหม่มายังอำเภอปายคนละ 1,450 บาท ทำการบินวันละ 1 เที่ยวบิน โดยออกจากท่าอากาศยานเชียงใหม่เวลา 10.55 น. ถึงสนามบินอำเภอปาย 11.30  และออกจากสนามบินอำเภอปาย 11.45 น. ถึงท่าอากาศยานเชียงใหม่ 12.20 น. ซึ่งหากมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นทางสายการบินดังกล่าวก็จะเพิ่มเที่ยวบินทันที

 

ด้านนายสุเทพ เข็มทอง ผู้อำนวยการท่าอากาศยานจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่รับผิดชอบท่าอากาศยานอำเภอปาย จ.แม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า ทางบริษัทสายการบิน SGA สยามสยามเจนเนอรัลเอวิเอชั่น ได้ทำการทดสอบบินระหว่างท่าอากาศยานเชียงใหม่-มายังท่าอากาศยานอำเภอปาย เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2549 โดยไม่มีอุปสรรค์ใดๆ และจะเปิดทำการบินเชียงใหม่-ปาย ในวันที่ 15 มกราคม 2550 อย่างแน่นอน

 

 

 

ปัจจุบัน สนามบินอำเภอปายมีทางวิ่งประมาณ 710 เมตร ความกว้าง 18 เมตร ซึ่งมีความปลอดภัยสูง แต่หากจะให้ได้มาตรฐานต้องมีทางวิ่ง 1,000 เมตร  สำหรับเครื่องบินขนาด 12 ที่นั่ง อย่างไรก็ตาม การท่าอากาศยานจังหวัดแม่ฮ่องสอนจะขอรับการสนับสนุนจากกระทรวงคมนาคมเพื่อนำมาปรับปรุงทางวิ่งให้ครบ 1,000  เมตร ในวงเงิน 20 ล้านบาท

 

นี่เป็นอีกมุมหนึ่งของ ปาย ในฐานะเมืองท่องเที่ยว ที่หลายคนที่เฝ้ามองด้วยความรู้สึกเป็นห่วงว่า ปาย เปรียบเหมือนหญิงสาวที่กำลังถูกกระทำจากผู้ชายที่ชื่อ "การพัฒนา" กับ "การท่องเที่ยว" เหมือนกับเสียงของคนท้องถิ่นของปายได้เอ่ยออกมาในเวทีเสวนาวันนั้น...

 

"ปายกำลังถูกข่มขืน..." เสียงนั้นยังก้องในความรู้สึก และทำให้หลายคนอดเป็นห่วงไม่ได้ว่า ในอนาคต "ปาย" จะเปลี่ยนแปลงไปเช่นใด ผู้คนท้องถิ่นจะดำรงวิถีวัฒนธรรมอันดีงามดั้งเดิมอยู่ต่อไปหรือไม่

และในที่สุดแล้ว การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยภาครัฐ นั้นจะนำพา "ปาย" พัฒนาไปสู่ความยั่งยืนหรือเสื่อมถอย!?

 

...........................................................

ข้อมูลประกอบ

กรมประชาสัมพันธ์,9 ธ.ค.2549

"ปกป้องวิถีปาย ปรับทิศทางท่องเที่ยว" ข่าวสด,10 ก.ย.2549

"สายน้ำไม่ไหลกลับที่ปาย"ไทยโพสต์, 8 ต.ค.2549                            

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท