Skip to main content
sharethis

งานชิ้นนี้เป็นหนึ่งในชุด "การแสวงหาทางเลือกใหม่ทางด้านเศรษฐกิจและการค้า" ที่ภัควดี วีระภาสพงษ์ แปลและสรุปความจากงาน OLEC (The Organization of Labour-intensive Exporting Countries) ของ เฮนรี ซี เค ลิว

 

 

ชื่อบทความเดิม : กรรมกรทั่วโลกจงรวมตัวกัน…เพื่อฮั้วขึ้นค่าแรงระดับโลก! ข้อเสนอ OLEC ของเฮนรี ซี เค ลิว

 

 

 

ภัควดี วีระภาสพงษ์ แปลและสรุปความจาก

Henry C. K. Liu, "The Organization of Labour-intensive Exporting Countries: A Proposal by Henry C. K. Liu, Part 1" Asia Times Online, Feb.-Mar., 2006. (http://www.atimes.com/atimes/others/olec.html)

 

 

งานชิ้นนี้เป็นหนึ่งในชุด "การแสวงหาทางเลือกใหม่ทางด้านเศรษฐกิจและการค้า" ซึ่งผู้แปลต้องการนำเสนอต่อผู้ที่สนใจ จากสามชิ้นแรกที่เคยนำเสนอไปแล้วคือ

 

- "การเข้าถึงตลาด คือคำตอบต่อปัญหาความยากจน?"

- "คิดนอกกรอบ: ว่าด้วยการค้า, การพัฒนาและการลดปัญหาความยากจน 

-กระบวนทัศน์ใหม่ในการพัฒนา: ความเติบโตทางเศรษฐกิจโดยใช้อุปสงค์ภายในประเทศเป็นหัวจักร

 

 

 

 

ความจำเป็นต้องมีการฮั้วขึ้นค่าแรงระดับโลก

ไม่ว่านักลัทธิการค้าเสรี-เสรีนิยมใหม่จะโฆษณาชวนเชื่อว่าอย่างไรก็ตาม แต่ระบบเศรษฐกิจโลกทุกวันนี้ไม่ได้ดำเนินไปบนพื้นฐานของตลาดเสรีเลยแม้แต่น้อย ด้วยเหตุผลนี้เอง เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจโลกมีความสมดุล ประเทศที่มีแรงงานเป็น "สินค้าหลัก" จึงควรรวมตัวกัน "ฮั้ว" (cartel) เพื่อทำให้ค่าแรงทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น

 

มีข้อเท็จจริง 3 ประการที่ทำให้ตลาดโลกไม่ใช่ตลาดเสรี ประการแรกคือ การค้าในโลกทุกวันนี้ดำเนินไปภายใต้โครงสร้างสถาปัตยกรรมทางการเงินระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บน "การครองความเป็นใหญ่ของเงินดอลลาร์" (dollar hegemony) (1) กล่าวคือระบบพิลึกพิสดารที่ทำให้เงินดอลลาร์เป็นเงินกระดาษ (fiat paper) ที่ไม่ได้มีมูลค่าอ้างอิงกับระบบเศรษฐกิจที่แท้จริงเลย และประเทศสหรัฐอเมริกาสามารถพิมพ์เงินกระดาษนี้ออกมาแค่ไหนก็ได้ตามอำเภอใจ ระบบเศรษฐกิจโลกทุกวันนี้จึงเป็นเสมือนเกมเล่นขายของ ทั่วโลกต่างตั้งหน้าตั้งตาส่งออกความมั่งคั่งที่แท้จริงไปสหรัฐอเมริกา เพื่อแลกกับกระดาษที่มีค่าขึ้นมาเพราะการสมมติให้มันครองความเป็นใหญ่เท่านั้นเอง

 

สินค้าวัตถุดิบที่เป็นหัวใจสำคัญของโลก โดยเฉพาะน้ำมัน กำหนดราคาซื้อขายในตลาดเป็นเงินดอลลาร์ ทั้งนี้เพราะอำนาจทางทหารของสหรัฐฯ ในภูมิศาสตร์การเมืองของโลก ประเทศส่วนใหญ่จำเป็นต้องมีเงินดอลลาร์เพื่อนำเข้าน้ำมัน แต่ประเทศที่ระบบเศรษฐกิจต้องพึ่งพิงการส่งออก มักต้องซื้อน้ำมันมากกว่าความต้องการบริโภคของคนในประเทศจริงๆ เพียงเพื่อป้อนน้ำมันให้กับความต้องการพลังงานของภาคการผลิตเพื่อส่งออก หลังจากหักค่าน้ำมันและสินค้านำเข้าอื่นๆ แล้ว มูลค่าส่วนเกินของการค้าที่ได้จากการส่งออกที่อยู่ในรูปของเงินดอลลาร์ ไม่ได้ถูกนำมาใช้โดยตรงในตลาดภายในประเทศซึ่งไม่ได้ใช้ดอลลาร์เป็นเงินสกุลหลัก ดังนั้น การครองความเป็นใหญ่ของเงินดอลลาร์จึงทำให้ประเทศที่พึ่งพิงการส่งออกตกอยู่ในสถานะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก นั่นคือ ยิ่งได้ดอลลาร์จากมูลค่าส่วนเกินของการค้ามากเท่าไร ภายในประเทศก็ยิ่งจนลงเท่านั้น ยิ่งเมื่อบวกกับการกดค่าแรงในประเทศให้ต่ำเข้าไว้เพื่อแข่งขันในตลาดโลก มันก็อุปมาเหมือนเราบังคับให้ลูกๆ ของเราเองอดอยาก เพื่อทำให้เกิดแรงงานเด็กเสรีไว้เสิร์ฟไอศกรีมให้คนนอกบ้านกิน แค่ต้องส่งออกสินค้าดีๆ ไปแลกกับเงินกระดาษก็แย่พออยู่แล้ว มันยิ่งงี่เง่าโดยสิ้นเชิงที่ต้องกดค่าแรงในประเทศให้ต่ำเข้าไว้ เพียงเพื่อได้เงินกระดาษที่ใช้ในระบบเศรษฐกิจภายในประเทศตัวเองก็ไม่ได้ด้วยซ้ำ

 

ข้อเท็จจริงประการที่สองที่ทำให้ตลาดโลกไม่เสรีจริง เกิดมาจากแนวคิดที่บกพร่องของเศรษฐศาสตร์สำนักนีโอ-คลาสสิกเกี่ยวกับการให้ความหมายต่อ "ประสิทธิภาพการผลิตของแรงงาน" (labour productivity) โดยนิยามว่า ประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานคือ มูลค่าตลาดจำนวนหนึ่งที่แรงงานคนหนึ่งสามารถผลิตได้ต่อหน่วยการลงทุนหนึ่งๆ

 

ในแง่ของเศรษฐศาสตร์การเงิน มูลค่าตลาด (market value) ซึ่งแสดงออกด้วยราคา จำเป็นต้องมีเสถียรภาพเพื่อป้องกันเงินเฟ้อ ในทางการเงิน ประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานจึงเพิ่มขึ้นได้ด้วยการลดค่าแรงต่อหน่วยการลงทุนลงเท่านั้น ดังนั้น การแข่งขันด้านราคาเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งในตลาด จึงเท่ากับเป็นการกดค่าแรงลงโดยตรง แม้ว่าค่าแรงอาจเพิ่มขึ้นบ้างเป็นครั้งคราว แต่สัดส่วนของค่าแรงต่อมูลค่าตลาดของสินค้าต้องลดลงอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้ประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานเพิ่มขึ้นในเชิงการเงินและแปรออกมาเป็นผลกำไร ตามคำนิยามแบบนี้ กำไรจากการค้าจึงเกิดขึ้นมาได้จากค่าแรงที่ลดลงเรื่อยๆ เท่านั้น

 

แต่ในระบบตลาดที่อ้างตัวว่า "เสรี" ทุกวันนี้ แรงงานไม่มีอำนาจการกำหนดราคาต่อมูลค่าตลาดของแรงงานเอง เนื่องจากระบบทุนนิยมไม่ยอมรับว่า มีเพดานขั้นสูงสุดสำหรับกำไรที่เป็นธรรม เอาแต่เต้นระบำฉลองคำขวัญว่า "ยิ่งมากยิ่งดี" โดยนัยนี้ ทุนนิยมจึงคัดค้านการมีพื้นฐานขั้นต่ำสุดสำหรับค่าแรงที่เป็นธรรมไปโดยปริยาย การเต้นระบำนั้นจึงเท่ากับฉลองคำขวัญว่า "ยิ่งต่ำยิ่งดี" ไปพร้อมกันด้วย เงื่อนไขของการค้าโลกจึงตั้งอยู่บนการแสวงหาค่าแรงที่ต่ำที่สุดเพื่อกำไรที่สูงที่สุด แทนที่จะแสวงหาค่าแรงที่เป็นธรรมเพื่อกำไรที่เป็นธรรม นี่เองคือความเชื่อมโยงระหว่างโลกาภิวัตน์ของระบบทุนนิยมเสรีนิยมใหม่กับการแสวงหากำไรจากส่วนต่างของค่าแรงในตลาดแรงงานทั่วโลก ทว่าในขณะเดียวกัน ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดโลกก็ต้องพึ่งพิงผู้บริโภค ค่าแรงที่ต่ำย่อมนำไปสู่ภาวะการผลิตล้นเกิน (overcapacity) ทั้งนี้เพราะอุปสงค์ที่เกิดจากผู้บริโภคจะมีขึ้นได้ก็ต้องอาศัยค่าแรงที่สูงพอ การแสวงหากำไรสูงสุดจนเกิดผลกระทบทางลบต่ออุปสงค์ของผู้บริโภค จึงกลายเป็นความขัดแย้งภายในของระบบเศรษฐกิจตลาดทุนนิยมที่ไร้การกำกับดูแล

 

ประการที่สามที่ทำให้ตลาดโลกไม่เสรีจริงก็คือ ในขณะที่โลกาภิวัตน์ทางการเงินเปิดทางสะดวกให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนข้ามพรมแดนทั่วโลกได้อย่างไร้ข้อจำกัด แต่รัฐบาลทุกประเทศยังไม่ยอมให้แรงงานเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนได้อย่างเสรี โดยยังใช้กฎข้อบังคับเกี่ยวกับการเข้าเมืองอย่างเข้มงวด

 

ผู้สนับสนุนการค้าเสรี นับตั้งแต่อดัม สมิธมาจนถึงเดวิด ริคาร์โด มักมองว่าความเหลื่อมล้ำระหว่างทุนกับแรงงานในด้านการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนเป็น "เรื่องธรรมชาติ" โดยไม่เคยฉุกคิดเลยว่านี่เป็นความลำเอียงทางการเมืองต่างหาก การที่แรงงานไม่อาจเคลื่อนย้ายไปไหนได้ไกลอาจเป็นความเป็นจริงในศตวรรษที่ 18 แต่มันไม่ใช่ "เรื่องธรรมชาติ" อีกแล้วในระบบเศรษฐกิจโลกยุคเครื่องบินไอพ่นของศตวรรษที่ 21 การที่แรงงานไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี ทำให้แรงงานไม่มีอำนาจการกำหนดราคาในตลาดโลก ไม่สามารถไปขายแรงงานในที่ที่เป็นที่ต้องการที่สุดและค่าแรงในตลาดสูงสุด ส่วนทุนกลับไปไหนมาไหนได้อย่างเสรี สามารถไปในที่ที่มีความต้องการสูงสุดและได้ผลตอบแทนจากการลงทุนสูงสุด ความเหลื่อมล้ำระหว่างทุนกับแรงงานนี่เองคือช่องทางฉกฉวยในการทำกำไรจากส่วนต่างของค่าแรงในประเทศต่างๆ และทำให้ค่าแรงทั่วโลกถูกกดต่ำลงเรื่อยๆ

 

 

ถึงเวลาสำหรับ OLEC

ในโลกที่ดำเนินไปภายใต้กฎเกณฑ์ของระบบเศรษฐกิจการเมือง แนวคิดในการฮั้วขึ้นค่าแรงระดับโลกในนามของ "องค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งออกแรงงาน" (Organization of Labor-intensive Exporting Countries—OLEC) สามารถช่วยปรับระดับความเหลื่อมล้ำระหว่างทุนกับแรงงานให้สมดุลกัน นี่เป็นแนวคิดทางการเมืองที่จะส่งผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจโลกในยุคโลกาภิวัตน์ทางการเงินที่ไร้การกำกับดูแล

 

ในระบบทุนนิยมการเงิน ทั้งทุนและแรงงานถูกมองเป็นแค่สินค้า สินค้าทุกอย่างย่อมสามารถเรียกราคาในตลาดได้ โดยผู้ขายใช้อำนาจในการกำหนดราคาที่เหมาะสม ด้วยการกักอุปทานของสินค้านั้นๆ จากตลาดจนกว่าจะได้ราคาที่เป็นธรรม ในเมื่อสมาชิกของโอเปก (องค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน) สามารถก่อตั้งองค์กรการฮั้ว (cartel) ระดับโลกเพื่อควบคุมการผลิตและขึ้นราคาน้ำมันในตลาดโลกเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศสมาชิก รวมทั้งอ้างว่าการทำเช่นนี้เป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโลกด้วย ในทำนองเดียวกัน กลุ่มประเทศที่ส่งออกสินค้าที่ผลิตด้วยแรงงานจำนวนมาก (labour-intensive) ที่มีค่าแรงต่ำ ก็น่าจะรวมตัวกันตั้งองค์กรการฮั้วแรงงานระดับโลก เพื่อควบคุมและขึ้นค่าแรงทั่วโลก ซึ่งหากมองในเชิงยุทธศาสตร์ การทำเช่นนี้จะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโลกเช่นกัน

 

เป้าหมายของ OLEC น่าจะเป็นการประสานและผนึกนโยบายแรงงานในหมู่ประเทศสมาชิก เพื่อเรียกราคาที่เป็นธรรม เท่าเทียมและมีเสถียรภาพในตลาดโลกให้แก่กำลังแรงงานของตน ซึ่งจะก่อให้เกิดผลตอบแทนต่อการลงทุนที่เป็นธรรมกว่านี้ อันจะส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจโลกมีความเติบโตสูงสุด เป้าหมายสูงสุดขององค์กรน่าจะเป็นการส่งเสริมระบอบการค้าที่การทำกำไรต้องผูกอยู่กับค่าแรงที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ประสบการณ์ของ OPEC น่าจะเป็นแนวนำทางที่มีประโยชน์ การที่โอเปกกำหนดให้น้ำมันที่มีคุณภาพต่างกันสามารถเรียกราคาได้ต่างกันโดยผูกอยู่กับบรรทัดฐานที่ตั้งไว้ OLEC เองก็น่าจะตั้งบรรทัดฐานด้านราคาสำหรับแรงงานไว้เป็นแกนกลาง โดยมีขอบเขตราคาที่ยืดหยุ่นซึ่งสะท้อนปัจจัยที่มีผลต่อประสิทธิภาพการผลิตรอบๆ บรรทัดฐานที่เป็นแกนกลางดังกล่าว วิธีนี้จะช่วยหยุดยั้งไม่ให้ค่าแรงในโลกตกต่ำลงไปเรื่อยๆ อย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้

 

กระบวนการตัดสินใจของโอเปกนั้น ประเทศสมาชิกแต่ละประเทศจะคัดเลือกผู้ว่าการประจำประเทศของตน ผู้ว่าการเหล่านี้มาประชุมกันปีละ 2 ครั้งและคัดเลือกประธานองค์การ การตัดสินใจทุกอย่างต้องลงมติเอกฉันท์ เป้าหมายหลักคือกำหนดราคาและการผลิตให้มีเสถียรภาพ ปรับอัตราการผลิตให้สอดคล้องกับเงื่อนไขตลาด ในช่วงทศวรรษแรกของการก่อตั้งโอเปก กลุ่มบรรษัทน้ำมันข้ามชาติที่เรียกกันว่า "ภคินีเจ็ดนาง" (เอสโซ, บีพี, เชลล์, กัลฟ์, สแตนดาร์ดออยล์ออฟแคลิฟอร์เนีย, เท็กซาโกและโมบิล) พยายามใช้อำนาจทางการเงินอันมหาศาลมาบีบคั้นโอเปกเพื่อกดดันราคาน้ำมันให้ต่ำเอาไว้ รวมทั้งจ่ายค่าภาคหลวงต่ำๆ แก่รัฐบาลของประเทศเจ้าของน้ำมันด้วย ทั้งนี้เพื่อเอาใจผู้บริโภคในประเทศร่ำรวยและรักษากำไรของบรรษัทให้สูงสุดต่อไป

 

แต่โอเปกเรียนรู้จากประสบการณ์อันผันผวนว่า ราคาน้ำมันที่ต่ำไปไม่เป็นธรรมกับค่าตอบแทนของการเป็นเจ้าของทรัพยากร ในขณะเดียวกัน ราคาที่สูงเกินไปก็ไม่ใช่ผลดีต่ออุตสาหกรรมน้ำมัน เพราะจะทำให้อุปสงค์ลดต่ำลงและเกิดภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจ ส่วนราคาที่สูงอย่างเหมาะสมจะทำให้ผู้บริโภคใช้นโยบายประหยัดพลังงาน กระตุ้นให้เกิดการสำรวจหาแหล่งน้ำมันใหม่หรือแสวงหาแหล่งพลังงานทางเลือกอื่นๆ อันจะช่วยยืดอายุยุคพลังงานน้ำมัน โดยที่น้ำมันยังครองความเป็นใหญ่ต่อไปได้อีกนาน ดังนั้น การฮั้วด้านราคาไม่จำเป็นต้องสร้างผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจโลกเสมอไป

 

ค่าแรงกับราคามีความสัมพันธ์กันโดยพื้นฐาน นโยบายการตั้งราคาของบริษัทธุรกิจที่ปฏิบัติกันในโลกของความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นองค์กรการฮั้วอย่างโอเปก ผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ หรือผู้นำตลาดในด้านยา, ซอฟท์แวร์, การสื่อสารหรือการเงิน ล้วนมีจุดร่วมที่เหมือนกันประการหนึ่ง นโยบายราคาในทุกภาคส่วนเศรษฐกิจที่แตกต่างกันนี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานเดียวกันว่า ราคาแทบไม่เคยถูกกำหนดจากอุปสงค์และอุปทานเลย นี่ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับที่สอนไว้ในตำราเศรษฐศาสตร์นีโอ-คลาสสิก ความเป็นจริงที่เป็นพื้นฐานที่สุดก็คือ ราคาไม่ได้ถูกกำหนดด้วยอุปสงค์อุปทาน แต่กำหนดจากยุทธศาสตร์หลายอย่างที่มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มมูลค่าระยะยาวของสินทรัพย์ให้มากที่สุดและจากเงื่อนไขทางการเมือง

 

การกำหนดราคาของโอเปกเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด นับแต่ก่อตั้งโอเปกขึ้นมา ราคาน้ำมันก็กลายเป็นปัจจัยสำคัญในระบบเศรษฐกิจโลก ตลอดประวัติศาสตร์ของน้ำมัน ราคาถูกกำหนดด้วยเงื่อนไขที่ซับซ้อนมาก และมีการปรับอุปทานให้สอดคล้องกับราคาที่ตั้งไว้

 

แต่โอเปกไม่ใช่กลุ่มธุรกิจเดียวที่ทำแบบนี้ ในโลกของความเป็นจริงที่ไม่ได้อยู่ในตำราของนักเศรษฐศาสตร์ สินค้าสำคัญๆ หลายอย่างก็ไม่ได้ถูกกำหนดด้วยอุปสงค์อุปทาน ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมยา ราคายาไม่ได้ตั้งตามต้นทุนหรืออุปสงค์ โมเดลราคาของยาใหม่แต่ละตัวมีเป้าหมายอยู่ที่การสร้างมูลค่าให้ได้มากที่สุดตลอดอายุของยาตัวนั้น ซึ่งเรื่องนี้แทบไม่เกี่ยวอะไรเลยกับอุปสงค์อุปทาน โครงสร้างราคาระบบปฏิบัติการวินโดว์ของไมโครซอฟท์ก็ไม่เกี่ยวกับอุปสงค์อุปทานหรือต้นทุนส่วนเพิ่ม (marginal cost—ต้นทุนส่วนที่เพิ่มขึ้นจากการผลิตเพิ่มขึ้นหนึ่งหน่วย) ซึ่งเกือบเท่ากับศูนย์ ค่าโทรศัพท์ก็มักไม่เกี่ยวกับอุปสงค์อุปทานหรือต้นทุนส่วนเพิ่ม แม้กระทั่งในอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งเป็นเหมือนไดโนเสาร์ที่ตกค้างมาจากระบบเศรษฐกิจยุคก่อน แม้ว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ต้นทุนสูงและผลตอบแทนต่อการลงทุนต่ำ แต่การตั้งราคาก็ยังตั้งอยู่บนเงื่อนไขที่ซับซ้อนกว่าแค่อุปสงค์อุปทาน ราคาสินค้าเกษตรก็เช่นกัน ราคาของสินค้าชนิดนี้บิดเบี้ยวไปเพราะการแทรกแซงทางการเมืองอย่างหนัก

 

ในความเป็นจริง ราคาเป็นองค์ประกอบที่ถูกแทรกแซงมากที่สุดในการค้าขาย นี่แหละคือข้อผิดพลาดขั้นพื้นฐานของนักเศรษฐศาสตร์ที่คลั่งตลาดอย่างสุดขั้ว (market fundamentalism) อาทิเช่น ฟรีดริช ฮาเยก (Friedrich Hayek) ฮาเยกเชื่อว่าถ้าไม่มีการแทรกแซง กลไกตลาดและกลไกราคาจะสร้างระเบียบที่เป็นเครื่องนำทางมนุษย์และสินค้าไปสู่ที่ที่ทำประโยชน์ได้สูงสุด แต่แนวคิดเกี่ยวกับราคาของฮาเยกเป็นมายาคติที่อุดมไปด้วยความเพ้อฝันแบบโรแมนติก และไม่เคยมีการปฏิบัติจริงที่ไหนในโลก

 

 

ธรรมชาติของการฮั้ว

องค์กรการฮั้วระดับโลกสามารถทำได้หลายรูปแบบในหลายลักษณะและสร้างผลกระทบที่หลากหลายต่อตลาดโลก ไม่ว่าสินค้านั้นจะเป็นอะไร น้ำมันหรือเพชร ลักษณะร่วมของการฮั้วที่มีประสิทธิภาพก็คือ ข้อตกลงในหมู่สมาชิกเพื่อร่วมมือกันจำกัดปริมาณของอุปทานในตลาด จนทำให้เรียกราคาได้สูงอย่างต่อเนื่อง แทนที่จะแข่งขันกันขายจนไม่มีอำนาจกำหนดราคาในตลาด

 

ในทางทฤษฎี การฮั้วเป็นการรวมตัวกันของหลายบริษัทหรือองค์กรที่เป็นอิสระจากกัน องค์กรการฮั้วจะทำหน้าที่ตัดสินใจเรื่องราคาและปริมาณของสินค้าในตลาดแทนสมาชิกแต่ละราย สมาชิกจะไม่แข่งขันกันเอง แต่แบ่งกำไรทั้งหมดตามแต่จะตกลงกันล่วงหน้า ภายใต้เงื่อนไขนี้ องค์กรการฮั้วจึงปฏิบัติตัวเหมือนนักผูกขาด แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ผูกขาดสินค้านั้นๆ ทั้งหมดที่มีในตลาด เช่น โอเปกควบคุมปริมาณน้ำมันเพียงหนึ่งในสามของโลกเท่านั้น

 

องค์กรการฮั้วแรงงานสามารถดำเนินการภายใต้กฎเกณฑ์ที่ตอบสนองต่อปัญหาที่เป็นลักษณะเฉพาะของตลาดแรงงาน รายละเอียดจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับใครเข้ามาเป็นสมาชิกและมีการเจรจาต่อรองกันในหมู่สมาชิกอย่างไร ในขณะที่โอเปกมีซาอุดีอาระเบียเป็นสมาชิกที่เป็นตัวแปรสำคัญ OLEC น่าจะมีจีนกับอินเดียเป็นตุ้มถ่วงที่คอยแกว่งดันราคาค่าแรงในโลกให้สูงขึ้นเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศสมาชิก OLEC

 

 

ฮั้วกันเถอะเพื่อแก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจโลก

ระบบเศรษฐกิจในโลกที่สามซึ่งมีแรงงานล้นเกินตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบในการค้าโลก ทั้งนี้เพราะทุนโลกปฏิบัติตาม "กฎราคาเดียว" (Law of One Price) ในขณะที่แรงงานโลกไม่ปฏิบัติตามกฎนี้ การครองความเป็นใหญ่ของเงินดอลลาร์ทำให้การลงทุนต่างชาติในภาคการส่งออกของระบบเศรษฐกิจที่ไม่ใช้เงินดอลลาร์ต้องทำการค้าขายเป็นเงินดอลลาร์ มันจึงทำให้ภาคส่วนเศรษฐกิจที่ไม่ใช่การส่งออกในประเทศกำลังพัฒนาขาดแคลนทุนที่จะใช้ในการพัฒนา ระบบเศรษฐกิจที่ไม่ใช้เงินดอลลาร์จึงประสบปัญหาความไม่สมดุลระหว่างแรงงานล้นเกินกับการขาดแคลนทุน จนไม่สามารถบรรลุการจ้างงานเต็มอัตราและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานโดยรวมให้ดีขึ้นได้ ความไม่สมดุลนี้สะท้อนออกมาเป็นค่าแรงที่ต่ำที่ทำให้การบริโภคภายในประเทศนั้นๆ ต่ำตามไปด้วย กลายเป็นวงจรที่ย้อนไปเป็นอุปสรรคต่อการลงทุน ทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศโลกที่สามตกอยู่ในวังวนของความด้อยพัฒนา ความด้อยพัฒนาในระดับท้องถิ่นที่กระจายไปทั่วโลกก็ย้อนไปเป็นอุปสรรคขัดขวางไม่ให้ระบบเศรษฐกิจโลกเติบโตได้เต็มที่อีกทีหนึ่ง สภาพการณ์เช่นนี้ไม่ได้ทำร้ายแค่ประเทศกำลังพัฒนา แต่ประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจก้าวหน้าก็ได้รับผลเสียเช่นกัน เพราะความเหลื่อมล้ำของค่าแรงในประเทศต่างๆ ทำให้เกิดการจ้างงานนอกประเทศ (outsourcing) จนการจ้างงานและค่าแรงในประเทศพัฒนาแล้วเริ่มลดต่ำลงเช่นกัน ดังนั้น การทำให้ค่าแรงทั่วโลกสูงขึ้นย่อมเป็นผลดีแบบ win-win ต่อทุกฝ่าย ซึ่งเป็นสิ่งที่นักการค้าเสรี-เสรีนิยมใหม่ชอบให้สัญญาไว้ แต่ไม่เคยทำให้ปรากฏเป็นจริงได้เสียที

 

ผู้นำของโอเปกได้อำนาจการกำหนดราคาในตลาดน้ำมันโลกมาได้ด้วยเงื่อนไขเบื้องต้นสองประการคือ การเป็นเจ้าของน้ำมันที่อยู่ในดิน (เคลื่อนย้ายไม่ได้) และการมีอธิปไตยทางการเมือง ประเทศที่เป็นเจ้าของแรงงานก็มีเงื่อนไขเบื้องต้นคล้ายกันคือ 1) แรงงานที่เคลื่อนย้ายไม่ได้เพราะข้อจำกัดการอพยพเข้าเมืองของประเทศพัฒนาแล้ว และ 2) การมีอธิปไตยทางการเมือง ประเทศเจ้าของแรงงานเหล่านี้จึงควรทำแบบเดียวกับโอเปก พร้อมกับหาแรงสนับสนุนจากขบวนการแรงงานในประเทศใหญ่ๆ เช่น ในสหรัฐอเมริกา การทำเช่นนี้จะขัดขวางไม่ให้ทุนโลกฉกฉวยหากำไรจากส่วนต่างของค่าแรงระหว่างประเทศ ลดช่องว่างของค่าแรงลง และถ้าจำเป็น รัฐบาลก็ใช้มาตรการทางด้านค่าธรรมเนียมหรือภาษีแทรกแซงเสียเลย

 

โลกาภิวัตน์ไม่ใช่ความเป็นไปที่แย่ในตัวมันเอง สิ่งที่แย่คือเงื่อนไขทางการค้าที่อยู่เบื้องหลังโลกาภิวัตน์ต่างหาก แนวคิดที่ถูกต้องในการพัฒนาเศรษฐกิจ ไม่ใช่การกระจายความมั่งคั่งเสียใหม่เพื่อทำให้คนรวยจนลง แต่เราต้องสร้างความมั่งคั่งขึ้นมาใหม่ต่างหาก โดยการทำให้คนจนรวยขึ้นในอัตราเร่งที่จะลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนลง เงื่อนไขการค้าในปัจจุบันมุ่งขยายช่องว่างทางรายได้ด้วยการกดค่าแรงต่ำลง และทำให้ค่าแรงต่ำเป็นปัจจัยหลักในการวัดความสามารถในการแข่งขัน ระบบการเงินแบบเสรีนิยมใหม่ให้สินเชื่อแก่บริษัทที่ได้กำไรจากการกดค่าแรง และระงับสินเชื่อจากบริษัทที่ดันค่าแรงสูงขึ้น สิ่งที่โลกต้องการคือระบบจัดสรรสินเชื่อเสียใหม่และระบบการวัดกำไรที่เชื่อมโยงความสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการกับระดับค่าแรงที่สูงขึ้นเข้าด้วยกัน

 

ถ้าหากว่าเรายังไม่ลืม นี่ต่างหากคือแนวคิดแบบอเมริกันแท้ๆ เฮนรี ฟอร์ด เคยทำแบบนี้ในสหรัฐฯ มาแล้ว ด้วยการจงใจจ่ายค่าแรงสูงกว่ามาตรฐานในตลาด เพื่อให้คนงานสามารถซื้อรถยนต์ที่ตัวเองผลิตได้ ประสบการณ์ของสหรัฐฯ พิสูจน์ว่า คนจนสามารถรวยขึ้นโดยไม่ต้องทำให้คนรวยจนลง ทั้งนี้โดยการขยายเค้กผลประโยชน์ให้ใหญ่ขึ้น ไม่ใช่มัวแบ่งเค้กก้อนเล็กลงๆ ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เกิดมาจากค่าแรงที่สูง หาใช่ค่าแรงต่ำไม่

 

การลดความเหลื่อมล้ำของค่าแรงในโลก ในเชิงเศรษฐกิจและการเมืองแล้ว ไม่มีทางที่เราจะลดค่าแรงให้ต่ำลงในประเทศพัฒนาแล้ว ทางเดียวที่มีอยู่คือขึ้นค่าแรงในอัตราเร่งในภูมิภาคที่ค่าแรงต่ำ การจะทำเช่นนี้ให้ประสบความสำเร็จได้ ต้องมีธงนำด้วยการตั้งให้ความเท่าเทียมของค่าแรงโลกเป็นเป้าหมายทางนโยบาย ไม่ใช่ปล่อยให้กลุ่มพลังในตลาดกดค่าแรงต่ำลงตามยถากรรม เมื่อค่าแรงโลกมีความเท่าเทียมกัน การผลิตก็ควรกระจายไปตามที่ต่างๆ ตามความสามารถในการแข่งขันที่แท้จริง ซึ่งขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัย ไม่ใช่มีค่าแรงเป็นปัจจัยกำหนดมิติเดียวอย่างในปัจจุบัน การค้าโลกและการผลิตเพื่อส่งออกต้องทำไปเพื่อให้เกิดผลดีต่อการพัฒนาภายในประเทศ ไม่ใช่ส่งผลเสีย ทั้งหมดนี้เพื่อให้รายได้รวมของประชากรในโลกเพิ่มสูงขึ้น สร้างอุปสงค์ของผู้บริโภคให้สูงขึ้น และแก้ไขหรือขจัดปัญหาภาวะการผลิตล้นเกินในขณะนี้

 

เศรษฐศาสตร์ที่สนับสนุนการค้าเสรี-เสรีนิยมใหม่มักโมเมว่า สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเป็นกฎธรรมชาติ แต่ลืมกฎธรรมชาติพื้นฐานที่สุดข้อหนึ่งไปก็คือ ทุนนั้นต้องการแรงงานยิ่งกว่าแรงงานต้องการทุน ต่อให้ปราศจากทุน แรงงานยังสามารถผลิตได้เสมอ ถึงจะด้อยประสิทธิภาพลงบ้างก็ตาม แต่หากปราศจากแรงงาน ทุนก็ไม่อาจดำรงอยู่ได้และเป็นได้แค่สินทรัพย์ที่ตั้งอยู่เฉยๆ ไม่มีใครเอาเงินไปลงทุนในทะเลทรายหรอก แม้แต่บ่อน้ำมันก็ยังต้องการคนงานเลย!

 

 

.................................................................................

(1) ผู้สนใจเรื่อง "การครองความเป็นใหญ่ของเงินดอลลาร์" สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จาก

- นโยบายค่าเงินดอลลาร์: ปากแข็ง มืออ่อน

- นาวาเศรษฐกิจสหรัฐฯ : ฤาจะเป็นเรือไททานิค? และอะไรคือภูเขาน้ำแข็ง?

หรืออ่านบทความอันทรงคุณค่า (และน่าจะเป็นงานเขียนชิ้นสุดท้าย?) ของนักเศรษฐศาสตร์ผู้ล่วงลับ Andre Gunder Frank, THE NAKED HEGEMON, www.atimes.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net