Skip to main content
sharethis

ในที่สุด "สะพานข้ามแม่น้ำโขง แห่งที่ 2 (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต)" ก็เปิดใช้อย่างเป็นทางการ ทำให้การเชื่อมต่อของ 3 ประเทศคือ ไทย-ลาว-เวียดนามมีความสะดวกและรวดเร็ว  และหวังกันว่าจะกลายเป็นเส้นทางเศรษฐกิจการค้าที่สำคัญอีกเส้นทางหนึ่งของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง


 


เชื่อกันว่าสะพานข้ามโขงแห่งที่ 2 ที่ทอดข้ามจากฝั่งไทยบริเวณบ้านบางทรายใหญ่และสงเปือย อ.เมือง จ.มุกดาหาร ไปลงยังบ้านท่าอุดมกับบ้านนาแก เมืองคันทะบุลี แขวงสะหวันนะเขต ของ สปป.ลาว เชื่อมต่อไปยังถนนหมายเลข 9 ในลาวที่สามารถผ่านไปต่อเชื่อมกับเส้นทางหมายเลข 9 ในเวียดนามและบรรจบกับเส้นทางหมายเลข 1 ของเวียดนามสู่ท่าเรือน้ำลึก  จะเป็นเส้นทางที่นำมาซึ่งเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ซึ่งแต่ละประเทศสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ตามศักยภาพ


 


ขณะที่ความพร้อมของการพัฒนาเส้นทางหมายเลข 9  ในประเทศลาวได้มีการปรับปรุงถนนหมายเลข 9 เสร็จเรียบร้อยแล้วและสามารถร่นระยะเวลาเดินทางจากสะหวันนะเขตไปถึงเขตนิคมอุตสาหกรรมลาวบาว ในเมืองกวางจิ ของเวียดนามซึ่งเป็นเมืองชายแดนลาว-เวียดนาม ที่มีระยะทางรวม 122 กิโลเมตรนั้นสามารถเดินทางได้สะดวกรวดเร็วขึ้นมาก   ขณะที่ในเวียดนามก็มีการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน  การยกระดับท่าเรือเทียนซาที่ดานัง ท่าเรือ Cuo lo ที่วินห์ และท่าเรือที่ Quy Nhon  ตลอดจนการสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ดง ก๊วด ,ชานเมย และเหลียนเชียวในเวียดนามตอนล่าง รวมทั้งการก่อสร้างอุโมงค์ไฮวาน


 


สำหรับประเทศไทยสิ่งที่ควรให้ความสนใจขณะนี้ คือ  ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในด้านต่าง ๆ จากการมีสะพานและการใช้ประโยชน์จากเส้นทางหมายเลข 9 ในอนาคต ซึ่งในเรื่องนี้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในฐานะหน่วยงานวิจัย ได้สนับสนุนให้สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ทำการศึกษาโครงการ "ผลกระทบจากการพัฒนาเส้นทางหมายเลข 9 : ด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม"  และอีกโครงการหนึ่งที่เกี่ยวข้องกันคือการสร้างเสริมกลไกท้องถิ่นเพื่อจัดการผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อประมวลและประเมินสถานการณ์ฉายภาพอนาคตว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นบ้างและควรเตรียมการรองรับอย่างไร


  


ผลการศึกษาพบว่ามีผลในด้านเศรษฐกิจชัดเจนที่สุด  เพราะเศรษฐกิจเป็นสาเหตุสำคัญของการพัฒนาเส้นทางนี้ ให้เป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งทั้งสินค้า ทั้งคน แรงงาน และการท่องเที่ยว ซึ่งตอนนี้แม้การพัฒนาเส้นทางในแต่ละประเทศยังไม่เสร็จ 100%  และยังไม่ชัดเจนว่าผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจะมาจากอะไรบ้าง  เช่น ถ้าเป็นสินค้าน่าจะมาจากพืชผลประเภทไหน แม้แต่ทิศทางก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะไหลจากเวียดนามเข้ามาไทยหรือจากไทยจะไหลออกไป ซึ่งต้องมีการศึกษาวิจัยวิเคราะห์กันต่อไปว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน 


 


ผลในด้านสังคม ก็แน่นอนว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่สำหรับจังหวัดมุกดาหารที่กลายเป็นจังหวัดหน้าด่าน ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นนั่นคือการหลั่งไหลเข้ามาของคนจากภายนอก การค้า การลงทุน  รวมทั้งเงินตรา ธุรกิจต่าง ๆ ขณะเดียวกันผลกระทบทางลบก็มีเยอะ เช่น สังคมที่เคยเป็นสังคมกลมเกลียวกันอยู่ในวิถีเดิมก็คงจะเปลี่ยนไปค่านิยมก็จะเปลี่ยนไป อาจจะตัวใครตัวมันมากขึ้น  โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่  วัยรุ่นคนวัยทำงานกับคนรุ่นอาวุโสก็อาจจะค่านิยมหรือความคิดเห็นต่างกัน นั่นคือทำให้ช่องว่างที่มีอยู่แล้วกว้างมากขึ้น 


 


ปัญหาหลายประเด็นที่น่าเป็นห่วง ได้แก่ ปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐาน การมีพื้นที่ทำการเกษตรน้อยลง ปัญหาขยะและน้ำเสีย รวมทั้งชุมชนแออัดที่เกิดจากการขยายเมือง  ปัญหาคุณภาพเส้นทางคมนาคมและขาดบริการขนส่งที่ดี ตลอดจนบริการทางอากาศที่ไม่สะดวก  ประชากรบางส่วนอพยพออกไปทำงานที่อื่น ทำให้มีการเคลื่อนย้ายเข้ามาของแรงงานจากต่างถิ่นและแรงงานต่างด้าว  ปัญหาด้านสาธารณูปโภคอื่น ๆ  ประชากรวัยทำงานบางส่วนอพยพออกไปทำงานที่อื่นทั้งในและต่างประเทศ ทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงาน นำมาสู่การย้ายถิ่นของแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย   


 


โดยเฉพาะการย้ายถิ่นของแรงงานลาวในจังหวัดมุกดาหาร ซึ่งมาจากปัจจัยดึงดูดจากการได้รับค่าจ้างที่สูงกว่าในประเทศของตนเอง มีโอกาสโอกาสความก้าวหน้า และการขาดแคลนแรงงานของมุกดาหาร ประกอบกับการเดินทางสะดวกจากพื้นที่ต้นทางจาก เมืองคันทะบุรี เมืองจำพอนและเมืองไซพูทองในลาวมายังมุกดาหารใช้เวลาเดินทางเพียง 1-2 ชั่วโมงเท่านั้น อีกทั้งยังสามารถส่งสิ่งของหรือเงินกลับบ้านได้โดยง่ายด้วยวิธีการให้ทางบ้านเดินทางมารับด้วยตนเอง  ขณะที่นายจ้างดูแลเรื่องที่พักอาศัย และอาหาร ทำให้แรงงานเหล่านี้รู้สึกมั่นคงและไม่ต้องการย้ายถิ่นกลับไปประเทศของตน


 


อย่างไรก็ตามผลกระทบที่เกิดจากการย้ายถิ่นของแรงงานลาวในจังหวัดมุกดาหาร กล่าวคือ  ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ แก้ไขปัญหาแรงงานขาดแคลน มีแรงงานให้เลือกใช้มากขึ้น ลดต้นทุนการผลิตของสถานประกอบการ  ผลกระทบด้านสังคม ได้แก่ ปัญหาอาชญากรรม ปัญหายาเสพติด การลักลอบขนของหนีภาษีและยาเสพติด ปัญหาโสเภณี การลักลอบเข้าเมืองและแรงงานผิดกฎหมาย  เป็นต้น


 


ด้านสิ่งแวดล้อม เป็นผลกระทบตามมากับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งสินค้ามีรถบรรทุกเข้ามา การตั้งโรงงาน รวมทั้งเรื่องของการกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว  นั่นคือ มีการใช้ทรัพยากรในพื้นที่มากขึ้นไม่ว่าจะเป็นดิน  น้ำ อากาศ และป่าไม้  ซึ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราต้องประมาณการว่าถ้าสิ่งเหล่านี้เข้ามาอะไรมันจะเกิดขึ้นเพื่อจะได้ระมัดระวังป้องกัน  


 


ส่วนกลไกท้องถิ่นเพื่อจัดการผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นยังต้องการความร่วมไม้ร่วมมือทั้งคนมุกดาหารและจากภายนอก ที่ต้องร่วมกันตอบคำถามที่ว่า"เราจะอยู่ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมด้วยความร่วมมือและการประสานประโยชน์อย่างสร้างสรรค์ได้อย่างไร"


 


ทั้งนี้ผลการศึกษาดังกล่าวเป็นฐานข้อมูลเพื่อเตรียมการรองรับ   โดยเฉพาะผลกระทบภายหลังการเปิดใช้งานของสะพานแล้ว ซึ่งต้องมีการปรับตัวและเตรียมพร้อมกันต่อไป


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net