Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 21 ธ.ค.2549 สำนักข่าวบีบีซีรายงานเพิ่มเติม กรณีศาลลิเบียตัดสินประหารชีวิตนางพยาบาลชาวบัลแกเรีย 5 ราย และนายแพทย์ชาวปาเลสไตน์อีก 1 ราย ซึ่งถูกกล่าวหาว่าทำให้เด็กชาวลิเบีย 426คน ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีโดยเจตนา


 


บีบีซีระบุว่ารัฐบาลลิเบียยืนยันไม่หวั่นไหวต่อแรงกดดันจากนานาชาติที่มีต่อกรณีดังกล่าว ในขณะที่ "อับดุลรามาน ชาลกัม" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของลิเบีย กล่าวว่า ในขณะนี้คงต้องขึ้นอยู่กับศาลสูงสุดของลิเบียเพียงสถานเดียว แต่ลิเบียจะไม่ยอมทำตามเงื่อนไขหรือเสียงกดดันจากทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการกดดันจากสหรัฐอเมริกา ยุโรป หรือประเทศใดๆ ก็ตาม ไม่มีใครสามารถแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมของลิเบียได้ ไม่เว้นแม้แต่ผู้นำประเทศ ซึ่งก็คือ นายพลมูอัมมาร์ กัดดาฟี และการประกาศนี้คงจะมีความชัดเจนมากพอ


 


การตัดสินคดีดังกล่าวก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนานาประเทศ เมื่อกลุ่มนักวิชาการออกมาโต้แย้งว่าหลักฐานที่ใช้ประกอบการพิจารณาคดีนี้มีความขัดแย้งกับข้อสรุปผลการพิสูจน์ทางหลักวิทยาศาสตร์ ซึ่งระบุว่าตัวอย่างที่เก็บจากเด็กที่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี พบว่าไวรัสเข้าสู่ร่างกายของเด็กๆ ก่อนที่จำเลยทั้ง 6 คนจะเริ่มทำงานที่โรงพยาบาลเบงกาซี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่เด็ก 426 คน เข้ารับการรักษา และติดเชื้อไวรัสเอชไอวี


 


ลำดับเหตุการณ์ศาลตัดสินประหารชีวิตนายแพทย์-พยาบาลใน รพ.เบงกาซี ประเทศลิเบีย


พ.ศ.2542 - เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ชาวบัลแกเรีย 19 คน ที่ทำงานในโรงพยาบาลเบงกาซี ถูกจับกุมตัวหลังเกิดเหตุการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเอชไอวีในเด็กหลายร้อยคนที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล


 


พ.ศ.2543 - นางพยาบาลชาวบัลแกเรีย 5 คน นายแพทย์ชาวบัลแกเรีย และนายแพทย์ชาวปาเลสไตน์ ถูกนำตัวขึ้นพิจารณาคดีในชั้นศาล


 


พ.ศ.2547 - 2548 ศาลระบุว่านางพยาบาลทั้ง 5 คน และนายแพทย์ชาวปาเลสไตน์มีความผิดจริง และตัดสินให้ประหารชีวิต เมื่อองค์กรแพทย์ไร้พรมแดนและกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ ออกมาคัดค้านคำตัดสิน จึงมีการนำคดีดังกล่าวมาพิจารณาใหม่


 


จนกระทั่งวันที่ 19 ธ.ค.2549 จำเลยทั้ง 6 คนถูกตัดสินประหารชีวิตอีกครั้งหนึ่ง


 


000


ทั้งนี้ จอร์จี ปีรินสกี้ ประธานรัฐสภาบัลแกเรีย กล่าวว่า การตัดสินประหารชีวิตจำเลยทั้ง 6 คน เป็นแค่ความพยายามของรัฐบาลลิเบียที่จะปกปิดผู้กระทำความผิดที่แท้จริง คือโรงพยาบาลเบงกาซี ซึ่งบกพร่องเรื่องการดูแลสุขอนามัยและการรับมือกับโรคระบาดรุนแรง


ทนายความของจำเลยทั้ง 6 กำลังรวบรวมหลักฐานทางการแพทย์ที่ยืนยันว่าเพื่อยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาภายในระยะเวลา 60 วัน


 


นายแพทย์และพยาบาลทั้ง 6 คน ถูกจำคุกตั้งแต่ปี 2543 โดยที่ระหว่างนั้น เด็กที่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีจากโรงพยาบาลเบงกาซีเสียชีวิตไปแล้วทั้งสิ้น 52 ราย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net