Skip to main content
sharethis

ผู้พิพากษาเสนอตั้ง "ศาลสิ่งแวดล้อม" เป็นเครื่องมือยุติธรรมสิ่งแวดล้อม หลังพบสารพัดปัญหาคดีล่าช้า บุคคลไม่เข้าใจสิ่งแวดล้อมเพียงพอ   "สภาทนายความ" หนุนสุดตัวตั้งศาลสิ่งแวดล้อม ขณะที่อัยการติดเบรกควรคิดให้รอบคอบผลได้-เสีย


 


ดร.สุนทรียา เหมือนพะวงศ์ ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำสำนักประธานศาลฏีกา กล่าวเสนอประเด็นกระบวนการสร้างความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมว่า กระบวนการสร้างความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการพัฒนาระบบคดีสิ่งแวดล้อมและการผลักดันให้มีการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย เพราะปัจจุบันระบบคดีสิ่งแวดล้อมยังไม่เอื้อให้เกิดความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมได้ ยังขาดความพร้อมด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประชาชนยังขาดสิทธิ์ในการฟ้องร้องบางประการ กระบวนการค้นหาความจริงของศาลยังไม่สมบูรณ์ วิธีการพิจารณาคดียังล่าช้า ไม่สะดวก และไม่ประหยัดตามหลักที่ควรเป็น รวมทั้งบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมยังไม่มีความเข้าใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องอย่างดีพอ ดังนั้น การพัฒนาระบบคดีสิ่งแวดล้อมและการผลักดันให้มีการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อม จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องรีบนำมาพิจารณาโดยเร่งด่วน


 


"ข้อเสนอในการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นเรื่องที่ต้องการจุดประเด็นให้เกิดการศึกษาข้อดีข้อเสีย แนวทางในการจัดการปัญหาในด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งในหลายประเทศมีความพยายามจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เป็นองค์กรพิเศษทำหน้าที่ระงับข้อพิพาททางสิ่งแวดล้อมเป็นการเฉพาะ หรือหากประเทศที่ยังไม่มีศาลสิ่งแวดล้อมก็ค่อยๆ พัฒนาองค์กรวินิจฉัยชี้ขาดในลักษณะคณะกรรมการชี้ขาดเป็นการเฉพาะ โดยในการพิจารณาประเด็นที่เกี่ยวกับระบบศาลสิ่งแวดล้อม จะต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ อาทิ รูปแบบของศาล ความสัมพันธ์ระหว่างศาลสิ่งแวดล้อมกับศาลอื่น ลำดับชั้นของศาล ระบบผู้พิพากษา ผู้พิพากษาสมทบ ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญศาล เป็นต้น" ดร.สุนทรียา กล่าว


 


ด้านนายสมชาย หอมลออ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ กล่าวว่า ส่วนตัวแล้วเห็นว่าการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ต้องฟันธงลงไปเลยว่า ประชาชนต้องการศาลสิ่งแวดล้อม ไม่ควรต้องรอให้กระบวนการต่างๆ แล้วเสร็จ หรือมีความพร้อมก่อนจึงจะดำเนินการ เพราะไม่รู้ว่าเมื่อไรจะมีความพร้อม เนื่องจากประเด็นปัญหาใหญ่ก็คือการบริหารประเทศของไทยมีปัญหามาก หากรอให้ทุกพร้อมก็คงไม่สามารถเริ่มจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมได้ ดังนั้นในวันนี้เราควรจะเสนอและผลักดันให้มีการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นการเปิดช่องทาง


 


ในการเปิดปัญหาสิ่งแวดล้อมของไทย ซึ่งเมื่อมีการจัดตั้งและมีการดำเนินคดีทางสิ่งแวดล้อมแล้วหากหลักการหรือกระบวนการใดที่เป็นปัญหาก็สามารถที่จะปรับแก้ไปได้ในภายหลัง อย่างไรก็ตามตนเชื่อว่ากระบวนการในการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมจะเป็นจุดกระตุ้นให้ประชาชน โดยเฉพาะประชาชนที่เป็นเหยื่อรู้สึกเชื่อมั่นในกระบวนการพิจารณาคดีทางด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น


 


"ปัจจุบันมีคดีสิ่งแวดล้อมอยู่ที่ศาลหลายคดี แต่ไม่มีการเปิดเผยต่อสังคมในวงกว้าง ซึ่งหากไม่มีการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อม ข้อมูลต่างๆ ก็ไม่มีวันได้เปิดเผย คนไทยก็ไม่สามารถรู้เลยว่าขณะนี้สิ่งแวดล้อมมีปัญหาอย่างไร อีกทั้งหากมีการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อม กระบวนการในการสืบสวนหาข้อเท็จจริงคดีสิ่งแวดล้อมน่าจะดำเนินการได้สะดวกยิ่งขึ้น เช่น การพิสูจน์หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ขณะนี้ดำเนินการได้ลำบากมาก แพทย์เองก็ไม่อยากมาเป็นพยายานให้ แต่หากมีการตั้งศาลเฉพาะ กระบวนการเหล่านี้น่าจะแนวทางที่ดีขึ้น" นายสมชาย กล่าว


 


ขณะที่นายอำนาจ เนตยสุภา อัยการจังหวัดประจำกรม กล่าวว่า ศาลเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการแก้ปัญหา และเยียวยาความเสียหายให้กับผู้ได้รับผลกระทบ แต่ไม่ใช่จะแก้ปัญหาได้ทั้งหมดและป้องกันความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นได้ ซึ่งส่วนตัวแล้วคิดว่าการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมีอีกหลายมิตินอกเหนือจากการจัดตั้งศาล ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายทาง ขณะนี้สิ่งที่ยังต้องคำนึงถึงคือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันว่ายังมีปัญหาอยู่หรือไม่ ในการกำหนดมาตรฐานควบคุมโรงงานต่างๆ ที่ปล่อยมลพิษสู่สังคมมีประสิทธิภาพแล้วหรือไม่ หน่วยงานภาครัฐออกกลไกมาควบคุมสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด


 


"ผมไม่ปฏิเสธการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อม ซึ่งควรจะมี แต่ควรจะอยู่ที่ไหนระหว่างศาลปกครอง หรือศาลยุติธรรม ไม่ใช่มีการจัดตั้งแล้ว ประชาชนก็ยังคงต้องวิ่งฟ้องร้องศาลโน้นศาลนี้อยู่ อย่างไรก็ตามประเด็นที่จะต้องคำนึงถึงด้วยนั่นก็คือ ขณะนี้ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่มีศาล ผู้พิพากษาจำนวนมากที่สุดในโลก ซึ่งจำนวนผู้พิพากษาที่มากขึ้นนั้น ทำให้สถิติคดีความลดหรือไม่ ต้องพิจารณาด้วย เพราะการมองอย่างใดอย่างหนึ่งหรือมองเพียงข้อดีอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมองข้อเสียเหมือนกัน การจัดตั้งศาลขึ้นใหม่นั้น ต้องคำนึงถึงทั้งด้านทรัพยากรบุคคล เงินเดือน และอื่นที่จะต้องลงทุนไปว่าผลที่ได้รับคุ้มค่ากันหรือไม่ เพราะในการดำเนินการทุกอย่างปัจจัยด้านธุรกิจการเงินย่อมเข้ามาโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อไม่ให้สุดท้ายแล้วกลายเป็นเพียงแค่การเปลี่ยนชื่อศาล แต่ระบบและรูปแบบในการดำเนินการก็ยังคงหลักการเดิมๆ" นายอำนาจกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net