Skip to main content
sharethis

รายงานโดย ศูนย์ข่าวประชาสังคมอุบลราชธานี


 


 


ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านป่าข่าเผย นำโครงการเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาโครงการอาหารกลางวัน ตลอดจนปลูกฝังให้นักเรียนมีนิสัยที่ดีในการทำงาน รู้จักพึ่งตนเอง และมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีการปรับปรุงผลงาน และกระบวนการให้ดีอยู่เสมอ


 


นายอุดร วงศ์คูณ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านป่าข่า กล่าวว่า โรงเรียนบ้านป่าข่าได้นำโครงการเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในปี 2540 เนื่องจากต้องการที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ ในโรงเรียน อาทิ โครงการอาหารกลางวัน เพราะปัจจุบันทางโรงเรียนได้รับงบประมาณช่วยเหลือจากทางรัฐบาลจำนวนไม่มาก เพียง 30% ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด ฉะนั้นทางโรงเรียนจึงคิดหาวิธีแก้ปัญหาว่าทำอย่างไรนักเรียนจะได้รับประทานอาหารครบ 100% ทางโรงเรียนจึงได้นำโครงการเกษตรแบบพอเพียงเข้ามาบูรณาการใช้ในโรงเรียน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจ และประสบการณ์เกี่ยวกับการทำงานในชีวิตประจำวัน และงานที่เป็นพื้นฐานในการประกอบอาชีพ ตลอดจนมีทักษะในการใช้เครื่องมือ และทักษะในกระบวนการทำงานอย่างมีแบบแผน เพื่อสามารถที่จะทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ ปลูกฝังให้มีนิสัยที่ดีในการทำงานและรู้จักพึ่งตนเอง และมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีการปรับปรุงผลงาน และกระบวนการให้ดีอยู่เสมอ


 


โดยมีกิจกรรมการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติ ประกอบกับเป็นโรงเรียนที่จัดกิจกรรมแบบครบวงจร คือ มีระบบผลิต จำหน่าย และระบบออม ซึ่งขณะนี้โรงเรียนได้กำเนินการมา 10 ปีแล้ว ปรากฏว่าประสบผลสำเร็จ และได้รับการตอบสนองเป็นอย่างดีจากชาวบ้านป่าข่า โดยเฉพาะทำให้นักเรียนมีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้น นอกจากนั้นยัง เป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านวิชาการ และ ช่วยเหลือตนเองทางด้านโครงการอาหารกลางวัน ที่สำคัญยังเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนมีการออมทรัพย์ ประกอบกับทำให้นักเรียนมีรายได้ เนื่องจากในบางครั้งทางโรงเรียนมีกิจกรรมให้นักเรียนนำผลผลิตที่ได้ไปจำหน่ายที่ตลาด นอกจากนั้นยังมี กิจกรรมดีเด่น 3 อย่างที่ทางโรงเรียนได้ทำมาโดยตลอด ได้แก่ แม่ไม้มวยไทย, เกษตรพอเพียง และโรงเรียนวิถีพุทธ


 


"ในการนำโครงการนี้เข้ามาเป็นการแก้ไขปัญหาจริงๆ ส่วนรางวัลที่ได้มานั้นเป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น นอกจากนั้นเป็นการสร้างจิตสำนึกของทั้งครู นักเรียนด้วย"


 


นายประสิทธิ์ บุญโกมล ครู คศ. 2 อาจารย์ผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า หลังจากที่ทางโรงเรียนได้มอบหมายให้ตนไปศึกษาเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงว่าจะสามารถทำอย่างไรได้บ้าง ตนจึงได้นำเอกสารมาศึกษาเกี่ยวกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงจากสำนักงานเกษตร จังหวัดอุบลราชธานี ตลอดหาวิธีการบูรณาการมาใช้ในกิจกรรมการเรียนการสอนว่าจะสามารถที่จะใช้กับวิชาไหนได้บาง รวมทั้งสำรวจความพร้อมของโรงเรียนว่าสารถที่จะทำได้หรือไม่ ประกอบด้วย 1. สถานที่ในการจัดกิจกรรม 2. งบประมาณ 3. แหล่งความรู้ที่จะศึกษา และ4. หน่วยงานที่จะให้การสนับสนุน ส่วนเงินงบประมาณเริ่มต้นที่จะจัดทำกิจกรรมมาจากการให้ความช่วยเหลือจากประชาชน ทั้งในและนอกหมู่บ้าน ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำหรับแหล่งเรียนรู้ ผอ. โรงเรียนได้นำนักเรียนไปเรียนรู้ที่ดงนาทาม หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2541 ได้เริ่มมีการดำเนินการเลี้ยงปลา เลี้ยงไก เลี้ยงกบ และปลูกผัก ซึ่งนับตั้งแต่เริ่มโครงการมาจนถึงปัจจุบันปัญหาที่ทางโรงเรียนประสบ คือ เรื่องดิน และเรื่องงบประมาณ


 


ในปีการศึกษา 2549 กิจกรรมที่ทางโรงเรียนได้ทำ คือ การเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุย การปลูกผัก การเลี้ยงไก่ โครงการจัดทำน้ำสมุนไพรเพื่อสุขภาพ และกิจกรรมออมทรัพย์ ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นการฝึกให้นักเรียนรู้จักประหยัด รู้จักการใช้จ่าย ส่วนในเรื่องการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ของโรงเรียนเกี่ยวกับโครงการเศรษฐกิจพอเพียงในขณะนี้ คือการจัดอบรมผู้นำชุมชน ผู้อำนวยการสถานศึกษา เป็นแหล่งศึกษาดูงานของกลุ่มแม่บ้านของในตำบลบุ่งมะแลง ขณะที่ผลตอบรับสำหรับผู้ปกรองนักเรียน คือ ผู้ปกครองนักเรียนมีความเชื่อมั่นกับโรงเรียนมากขึ้น ตลอดจนให้การสนับสนุนในการจัดกิจกรรมต่างๆ เป็นอย่างดี


 


สำหรับเรื่องรางวัลที่ได้รับจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต 4 คือ รางวัลเหรียญทอง (ยอดเยี่ยม) จากการประกวดนวัตกรรมการศึกษา ด้านการเรียนการสอน ซึ่งมีโรงเรียนนำโครงการเข้าแข่งขันทั้งหมด 75 โรง ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา


 


"ไม่ว่าจะเป็นผัก หรือ ผลผลิตต่างๆ ที่ทางโรงเรียนๆ ได้พานักเรียนได้ทำนั้น ไม่เคยถูกขโมย เนื่องจากผู้ปกครองนักเรียน และชาวบ้านเข้าใจว่าการจัดทำโครงการนี้ขึ้นเป็นการทำเพื่อนักเรียนที่เป็นบุตรหลานของตนจริงๆ "


 


อนึ่งโรงเรียนบ้านป่าข่า ตั้งอยู่บ้านป่าข่า หมู่ 6 ตำบลบุ่งมะแลง กิ่งอำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี มีพื้นที่ 13 ไร่ 2 งาน 98 ตารางวา มีนักเรียน 151 คน มีครู 8 คน นอกจากนั้นทางโรงเรียนยังได้รับรางวัลชนะเลิศอีกหลายแขนง อาทิ ชนะเลิศอันดันที่ 1 กายบริหารท่าแม่ไม้มวยไทยในงานประถมศึกษาแห่งชาติ ปี 2542 รางวัลชนะเลิศระดับเหรียญทองการรับรองมาตรฐานโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net