Skip to main content
sharethis

ภายหลังการเป็นประธานประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) ในฐานะประธานคมช. เปิดเผยว่า  ที่ประชุมคมช.ได้มีการหารือประเด็นหลักเรื่องการสรรหาสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ จาก 1,982 คน ให้เหลือ 200 คน และ 100 คน เพื่อเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยยืนยันว่า คมช.จะไม่เข้าไปแทรกแซง สำหรับสัดส่วนการสรรหาคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 35 คน ที่คมช.จะต้องสรรหาเข้ามา 10 คนนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้พิจารณา แต่จะเป็นการพิจารณาจากสมาชิกสมัชชาแห่งชาติทั้ง 1,982 คนเป็นหลัก


 


ทั้งนี้ ประธานคมช.ได้แนะนำให้ศึกษาข้อดีจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เพื่อนำมาปรับใช้ เนื่องจากประชาชนยอมรับและเห็นว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ดีที่สุดแล้ว


 


"โดยปกติแล้ว คนที่ร่างรัฐธรรมนูญเค้าคงไม่คิดเอง ไปหยิบเอาข้อดีของรัฐธรรมนูญทุกๆ ฉบับมาเป็นแนวทางในการร่าง แต่ว่าเราก็ได้แนะนำไปว่าถ้าเผื่อประชาชนบอกว่า 40 ดีที่สุด เราก็ต้องจะต้องศึกษาตรงนั้น"


 


ส่วนการร่างรัฐธรรมนูญจะกำหนดให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งหรือไม่นั้น ประธานคมช.กล่าวว่า เป็นสิทธิของกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณา อย่างไรก็ตาม หากการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วเสร็จ จะมีการทำประชาพิจารณ์อีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง


 


นอกจากนี้ ประธานคมช. ยังกล่าวถึงกรณีที่พลโทประยุทธ จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 1 ออกมาแถลงว่า มีการขึ้นบัญชีดำอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคไทยรักไทยจำนวน 200 คน  โดยกล่าวว่า  แม่ทัพภาคที่ 1 ยืนยันว่า ไม่ได้พูดเรื่องดังกล่าว และคมช.เองก็ไม่ได้มีแนวทางที่จะขึ้นบัญชีดำใดๆ ด้วย


         


ด้าน นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวถึงการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันคิด โดยใช้บทเรียนความจริงเก่าๆ ที่ผ่านมาเป็นตัวตั้ง อย่าไปใช้ทฤษฎีต่างๆ เป็นตัวตั้ง ซึ่งความเป็นจริงที่เกิดขึ้นคือการเลือกตั้งที่ผ่านมาใช้เงินมากและเงินมีอิทธิพลอย่างสูงสำหรับการเลือกตั้ง ฉะนั้นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องคิดเรื่องรูปแบบการลดอำนาจเงินลง


 


เช่น การบังคับว่าผู้สมัคร ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมืองและพรรคการเมืองต้องใหญ่ อย่างนี้จะเป็นการไปเปิดโอกาสให้คนมีเงินมากมีอิทธิพลสูง เรื่องนี้ตนคิดว่าคงต้องเปิดเสรีให้ทุกคนสามารถลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ได้โดยไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง  สำหรับเรื่องการแทรกแซงองค์กรอิสระต่างๆ ทำให้องค์กรอิสระไร้ศักยภาพ นั้น ส่วนนี้ต้องคิดว่าทำอย่างไรจึงสามารถลดการแทรกแซงองค์กรอิสระได้ รวมถึงความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นและประชาสังคม เพราะไม่มีประชาธิปไตยไหนที่เป็นไปได้โดยปราศจากความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น


 


นพ.ประเวศ กล่าวต่อว่า เราสนใจกันแต่การเมืองส่วนกลาง ฉะนั้นครั้งนี้ต้องทำเรื่องท้องถิ่นให้ได้ เพราะถ้าทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็งหรือท้องถิ่นดูแลตัวเองโดยให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่นได้แล้ว ก็จะทำให้ประชาธิปไตยเราแข็งแรงขึ้นกว่านี้มาก เพราะประชาธิปไตยท้องถิ่นจะเป็นฐานราก ซึ่งเราทำประชาธิปไตยระดับชาติมา 70 กว่าปีแต่ก็ยังล้มลุกคลุกคลานอยู่เพราะยังขาดฐาน และฐานตรงนี้ก็คือท้องถิ่น ถ้าชุมชนท้องถิ่นซึ่งเป็นฐานเข้มแข็ง ประเทศก็จะเข้มแข็งทั้งเรื่อง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงคงทำไม่ได้ถ้าปราศจากความเข้มแข็งของชุมชน


 


 "อยากให้ทุกฝ่ายช่วยกันคิดว่าการทำเรื่องรัฐธรรมนูญคราวนี้จะมีสิ่งดีๆ อย่างไรและจะแก้ไขความผิดพลาดที่ผ่านมาอย่างไร เพราะถ้าเราคิดแต่เรื่องการเลือกตั้งอย่างเดียวอำนาจเงินก็จะเข้ามาอีก และจะเกิดปัญหาซ้ำซาก เพราะเราจะได้นักเลือกตั้งกลับมาได้อำนาจอีกและทุกอย่างก็จะซ้ำรอยเดิมอีก อย่าไปคิดว่าเป็นเรื่องของสภาร่างรัฐธรรมนูญ ทุกฝ่ายทุกคนต้องช่วยกันคิดและนำไปเชื่อมโยงกันเป็นรัฐธรรมนูญ" น.พ.ประเวศ กล่าว


 


 


 


 


ที่มา : เว็บไซต์ศูนย์ข่าวแปซิฟิก / ผู้จัดการออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net