Skip to main content
sharethis

พงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ/องอาจ เดชา   รายงาน


 


 


 


แผ่นดินไหวเชียงใหม่ 5.1 ริคเตอร์ หอพัก ม.แม่โจ้ร้าว


เมื่อเวลา 0.02 น. ของเช้าวันที่ 13 ธันวาคมนี้ได้เกิดแผ่นดินไหวัดแรงสั่นสะเทือนได้ 5.1  ริคเตอร์ ที่ละติจูด 19.8 องศาเหนือ ลองจิจูด 99.15 องศาตะวันออก ความลึกจากระดับผิวดิน 33 กิโลเมตร โดยจุดศูนย์กลางอยู่ที่บริเวณ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ต่อจากนั้นได้เกิดแผ่นดินไหวตามมาอีกหลายระลอกหรืออาฟเตอร์ช็อกประมาณ 8 ครั้งภายในระยะเวลา 45 นาทีหลังจากเกิดแผ่นดินไหวในครั้งแรก ทำให้ประชาชนที่พักอยู่ในพื้นที่ อ.แม่ริม อ.สันทราย และ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ รู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้น


 


หลังเกิดเหตุทำให้บรรดาผู้พักอาศัยในอาคารสูง เช่น นักท่องเที่ยวที่โรงแรมอิมพีเรียลแม่ปิง โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว อ.เมือง จ.เชียงใหม่ อพยพลงมาจากอาคารสูง นอกจากนี้แรงสั่นสะเทือนยังทำให้นักศึกษาของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ที่พักอยู่ในหอพักมหาวิทยาลัยต่างอพยพแตกตื่นลงมาจากอาคารที่พัก


 


รายงานความเสียหายเบื้องต้นมีเพียงอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในครัวเรือนของชาวบ้านในเขตอ.สันกำแพง ตกหล่นเสียหายเล็กน้อย ส่วนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงาน นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ป้องกันภัยและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ เร่งตรวจสอบอาคารสูงในจังหวัดเชียงใหม่อย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะอาคารหอพักชาย 2 ชั้น 5 ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ มีการรอยแตกร้าวเกิดขึ้น


 


นอกจากนี้ชาวบ้านบริเวณเขื่อนแม่กวง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ก็รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนนี้เช่นกัน โดยวิตกว่าเขื่อนแม่กวงจะร้าวหลังแผ่นดินไหว อย่างไรก็ตามในขณะนี้ไม่มีรายงานความเสียหายใดๆ ของเขื่อนแม่กวง


 


โดยนางนางสุมาลี ประจวบ ผู้อำนวยการสำนักแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ให้สัมภาษณ์สดผ่านรายการข่าววันใหม่ทางช่อง 3 ว่าในแผ่นดินไหวที่มีแรงสั่นสะเทือนเกิน 5.0  ริคเตอร์ไม่พบบ่อยนักในเชียงใหม่ อย่างไรก็ตามขณะนี้ไม่มีเหตุแผ่นดินไหวแล้ว ประชาชนน่าจะกลับเข้าไปนอนในบ้านเรือนได้


 


สามรอยเลื่อนใกล้ศูนย์กลางแผ่นดินไหว


โดยจากการสำรวจแนวรอยเลื่อนในไทย พบว่า มีรอยเลื่อนที่อยู่ใกล้จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่มากที่สุด คือ หนึ่ง รอยเลื่อนมูลาว พาดผ่านอำเภอแม่สรวย อำเภอแม่ลาว และอำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ มีความยาวประมาณ 23 กิโลเมตร สอง รอยเลื่อนดอยหมอก พาดผ่านอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ในแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ มีความยาวประมาณ 11 กิโลเมตร และสามรอยเลื่อนแม่งัด พาดผ่านอำเภอดอยสะเก็ด และอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ในแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ มีความยาวประมาณ 32 กิโลเมตร


 


นักวิทยาศาสตร์เคยเตือนแล้วก่อนหน้านี้


ก่อนหน้านี้ นักวิทยาศาสตร์ได้เตือนว่าจะเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทยโดยเฉพาะในภาคเหนือบ่อยครั้ง โดยนายอดิศร ฟุ้งขจร หัวหน้าสถานีตรวจแผ่นดินไหวเชียงใหม่ ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวคนสำคัญของไทย กล่าวเอาไว้เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคมถึงสาเหตุของแผ่นดินไหวในช่วงนี้ว่า สิ่งที่เราน่าติดตามและเฝ้าระวังก็คือ รอยเลื่อนแขนงต่างๆ ที่อยู่ในระนาบเดียวกัน ตั้งแต่ชวา เกาะสุมาตรา อันดามัน ไปจนถึงพม่า ซึ่งล่าสุดแรงสั่นสะเทือนนั้นได้พาดผ่านตามแนวมุดยาวขึ้นมาทางเหนือ


 


เป็นไปได้ว่า หากแนวมุดเกิดขยับขึ้นไปเชื่อมกับรอยเลื่อนสะแกงในพม่า ก็จะมีแนวโน้มเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ 8  ริคเตอร์ ซึ่งมีพลังมหาศาลเทียบเท่าปรมาณูเป็นพันๆ ลูก และในอนาคต อาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ตั้งแต่ฝั่งทะเลอันดามันทางตะวันตก ยาวไปจนถึงภาคเหนืออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะเขื่อนในประเทศที่สำคัญหลายแห่ง เนื่องจากต้องเข้าใจว่า โดยธรรมชาติแล้ว การสร้างเขื่อนนั้นหมายถึงการสร้างสิ่งก่อสร้างที่ขวางทางน้ำ ซึ่งตั้งสมมติฐานได้เลยว่า เส้นทางน้ำนั้นก็คือเป็นแนวที่วิ่งสอดคล้องกับรอยเลื่อนแผ่นดินไหวทางเดียวกันมาก่อน


 


ทุกฝ่ายต้องคุยหาทางรับมือเขื่อนในรอยเลื่อนแผ่นดินไหว


"ลำห้วยลำน้ำนั้น เกิดจากการเคลื่อนที่เป็นร่องเป็นหุบเขามาก่อนที่จะเกิดลำน้ำ และเขื่อนนั้นมาทีหลัง ดังนั้น ผมเชื่อว่า ที่ผ่านมา โครงสร้างของเขื่อนในประเทศนั้นมีการคำนึงถึงเรื่องแผ่นดินไหวจริง แต่ว่าในปัจจุบันเมื่อเหตุการณ์และระยะเวลาผ่านไป อาจต้องมีการหามาตรการอื่นมาเสริม เราต้องยอมรับความจริง เอาข้อมูลต่างๆ มาศึกษาและหามาตรการในการวางแผนป้องกันร่วมกัน ซึ่งจะเป็นการหาทางออกที่ดีที่สุด"


 


วิธีการในขณะนี้ก็คือ ทุกฝ่ายต้องมาคุยกัน ต้องเอาข้อมูลบนพื้นฐานความจริงมาวางแผนร่วมกัน โดยควรมีการเร่งตรวจสอบโครงสร้างของเขื่อนว่ามีมาตรฐานแข็งแรงหรือไม่ และควรมีการติดตั้งระบบเตือนภัยในพื้นที่บริเวณที่มีเขื่อนที่อยู่ในรอยเลื่อนทั้งหมด ไม่ใช่เพียงแค่เขื่อนศรีนครินทร์ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี และการเฝ้าระวังจะต้องมีอย่างต่อเนื่อง เพราะแผ่นดินไหวนั้นมีการเคลื่อนตัวเป็นพลวัตรต่อเนื่องอยู่แล้ว สุดท้าย ที่สำคัญที่สุด จะต้องมีการวางมาตรการวางแผนเตรียมตัวอพยพประชาชนที่เสี่ยงภัยออกจากพื้นที่ให้ทัน หากเขื่อนร้าวหรือแตก


 


กทม. ก็น่าห่วงตึกทรุดหากเกิดแผ่นดินไหว เหตุชั้นดินอ่อน


นายอดิศร ยังกล่าวอีกว่า นอกจากพื้นที่ที่อยู่ในเขตรอยเลื่อนพาดผ่านทางภาคใต้ ฝั่งตะวันตก ขึ้นไปถึงพม่า จะเป็นพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวแล้ว กรุงเทพฯ เป็นจุดที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เนื่องจากรอยเลื่อนดังกล่าว จะมีผลกระทบต่อการขยายแรงสั่นสะเทือนของฐานรากซึ่งเป็นดินอ่อน ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญ ที่จะทำให้โครงสร้างอาคาร ตึกสูงทรุดตัวลงได้


 


"หากดูจากสถิติที่ผ่านมา จะรู้เลยว่า การเกิดแผ่นดินไหวในแต่ละครั้ง แม้จะอยู่ห่างไกลจากกรุงเทพฯ แต่ส่งผลกระทบรับรู้ได้ อย่างเช่น กรณีเมื่อวันที่ 22 ก.ย.2546 เวลา 01.16 น.ได้เกิดแผ่นดินไหวรุนแรง โดยมีศูนย์กลางอยู่ในประเทศพม่า มีขนาด 6.7 ริคเตอร์ ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศว่าแผ่นดินไหวครั้งนั้น รู้สึกสั่นสะเทือนได้ในอาคารสูงบางแห่งของกรุงเทพฯ" นายอดิศรกล่าว


 


เผยเชียงใหม่และบริเวณใกล้เคียงมีแผ่นดินไหวกว่า 4 ครั้ง


สำหรับแผ่นดินไหวในเชียงใหม่และบริเวณใกล้เคียงในรอบ 1 ปีมานี้ได้เกิดขึ้นมาแล้ว 4 ครั้ง โดยเมื่อวันที่ 4 ธันวาคมปี 2548 เวลา 16.34 น. ได้เกิดแผ่นดินไหว แรงสั่นสะเทือนขนาด 4.1 ริคเตอร์ ศูนย์กลางอยู่ที่รอยต่อ อ.เมือง และ อ.หางดง จ.เชียงใหม่  จากนั้นเวลา 16.58 น. ได้แผ่นดินไหวขึ้นอีกครั้งในตำแหน่งเดิมความแรง 2  ริคเตอร์ ซึ่งเป็นอาฟเตอร์ช็อก โดยประชาชนย่าน อ.หางดง ระบุได้ยินเสียงดังคล้ายระเบิดต้องวิ่งหนีอออกมานอกอาคาร


 


ในปี 2549 กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 07.28 น. ของวันที่ 13 กรกฎาคม 2549 ได้เกิดแผ่นดินไหว มีศูนย์กลางอยู่บริเวณอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ หรือที่ละติจูด 18.8 องศาเหนือ ลองจิจูด 98.8 องศาตะวันออก ห่างจากสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวเชียงใหม่ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 14 กม. มีขนาด 3.0 ริคเตอร์ ในเบื้องต้นยังไม่ได้รับรายงานความเสียหาย


 


เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2549 เวลา 12.15 น. ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือรายงานว่าได้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 3.4 ริคเตอร์ มีศูนย์กลางอยู่ที่บริเวณละติจูด 19.15 องศาเหนือ ลองติจูด 98.92 องศาตะวันออก ห่างจากสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวเชียงใหม่ไปทางทิศเหนือประมาณ 40 กิโลเมตรหรืออยู่ที่บริเวณอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่


 


ทั้งนี้เมื่อต้นปี 2548 ที่ผ่านมา บริเวณเทือกดอยหลวงเชียงดาวได้ทรุดพังทลายลงมาบางส่วน ซึ่งทำให้คนท้องถิ่นแปลกใจและตั้งข้อสังเกตว่าปกติภูเขามักจะทรุดพังในหน้าฝนหลังจากดินมีการอุ้มน้ำ แต่ครั้งนี้มีการทรุดตัวในหน้าแล้ง อีกทั้งยังมีการสำรวจพบว่าระดับความสูงของดอยหลวงเชียงดาวลดลงจากเดิม 150 เซนติเมตร


 


ล่าสุดก่อนที่จะเกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 13 ธันวาคมนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่า เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2549 เวลา 08.59 ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.5  ริคเตอร์ มีศูนย์กลางอยู่บริเวณพรมแดนไทย-ลาวที่ละติจูด 20.23 องศาเหนือ ลองจิจูด 100.181 องศาตะวันออก ระยะทางห่างจากอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 40 กิโลเมตร แผ่นดินไหวครั้งนี้รู้สึกสั่นสะเทือนได้ที่อำเภอแม่สาย อำเภอเมือง ของจังหวัดเชียงราย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net