Skip to main content
sharethis

 

วิทยากร บุญเรือง -- รายงาน
 
 
 
วันนี้ ประชาไทจะขอนำบทสัมภาษณ์ เก่งกิจ กิติเรียงลาภ นิสิตปริญญาเอกคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในกลุ่มนักศึกษาที่คัดค้านการแปรรูปมหาวิทยาลัย ว่าด้วยเหตุผลในการต่อต้านการแปรรูปสถาบันการศึกษา รวมถึงมุมมองที่มีต่อนโยบายเสรีนิยมใหม่ซึ่งกำลังเป็นคลื่นกระแสหลักในพัฒนาเศรษฐกิจระบบทุนนิยมตั้งแต่ทศวรรษที่ 70 จนถึงปัจจุบัน มันมีข้อบกพร่องและทำลายความไม่เท่าเทียมกันของมนุษย์ได้อย่างไร? และเป็นอันตรายต่อระบบการศึกษาไทยมากน้อยเพียงใด?
 
000
 


 
การแปรรูปมหาวิทยาลัยหรือที่เรียกกันอีกแบบว่าการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบนั้น มันจะมีผลอย่างไร? ใครได้-ใครเสีย ผลประโยชน์?
อยากให้ลองสังเกตว่า คนที่สนับสนุนการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบเป็นคนกลุ่มไหน หรือชนชั้นไหนของสังคม ข้อสรุปก็คือ การแปรรูปมหาวิทยาลัย หรือ ม.นอกระบบนั้น คนที่ได้ประโยชน์และสนับสนุนออกหน้าออกตามาตลอดตั้งแต่ยุครัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ก็คือ คนที่ร่ำรวย เป็นมหาเศรษฐีและอภิสิทธิ์ชนซึ่งเป็นคนส่วนน้อยของสังคม และคนที่ออกมาคัดค้านเพราะมันกระทบถึงพวกเขาก็คือ ชนชั้นกลางและชนชั้นล่าง ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศเรา
 
โดยทั่วไปคนร่ำรวยในสังคมที่เป็นมหาเศรษฐีหรืออภิเศรษฐีนั้นไม่อยากจะให้รัฐทำอะไรเพื่อคนจนมากเกินไป คนพวกนี้อยากให้รัฐเพิ่มกองกำลังทหาร และตำรวจ รวมถึงทำหน้าที่กดขี่แรงงานและเกษตรกรเพื่อผลประโยชน์ของพวกเค้ามากกว่า
 
ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่พวกเราจะเห็นว่ารัฐบาลของนายทุนและมหาเศรษฐีทุกรัฐบาล จนถึงรัฐบาลชุดปัจจุบันนั้นมีแนวทางเดียวกันคือ แนวคิดเรื่องการแปรรูปสมบัติสาธารณะให้เป็นเอกชน ดังนั้นผมคิดว่า เรื่องนี้มันเป็นเรื่อง "ชนชั้น" มากๆ คือ ใครสนับสนุนการแปรรูปก็คือพวกคนร่ำรวย คนที่คัดค้านคือคนที่ต้องการความเท่าเทียมทางสังคมมากขึ้น
 
ข้อดีข้อเสียคร่าวๆ ก็คือ หลักการการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบนั้นเป็นการผลักภาระในการจัดการศึกษาและสวัสดิการสังคมซึ่งน่าจะเป็นหน้าที่ของรัฐ ให้กลายเป็นการถูกจัดสรรโดยกลไกตลาดมากขึ้น เมื่อกลไกลตลาดหรือทุนนิยมเข้ามากำหนดการศึกษาก็จะทำให้การศึกษากลายเป็นหน่วยธุรกิจที่มุ่งแสวงหากำไรมากกว่าเรื่องของสวัสดิการสังคม รูปธรรมคือ ค่าเทอมจะขึ้น บริการจะห่วยลง สภาพการทำงานของบุคลากรจะยากลำบากขึ้น ทำงานหนักขึ้น ในขณะที่สวัสดิการลดลง
 
สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในรอบหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากการที่รัฐบาลหลายๆ ชุดพยายามเปลี่ยนมหาวิทยาลัยให้ทำหน้าที่หาเงินเลี้ยงตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ แม้กฎหมายจะยังไม่ผ่านสภาก็ไม่ได้หมายความว่า ทุกอย่างเรียบร้อยดีแล้ว เพราะเราก็ต้องต่อสู้ให้รัฐสนับสนุนการศึกษาอย่างจริงจัง และปฏิรูปการศึกษาต่อเนื่องไปในทิศทางที่เป็นประโยชน์กับเราอยู่ดี โดยเฉพาะในระยะต่อไปก็คือ การลดค่าเทอมลง การเปลี่ยนระบบการจ้างงานพนักงานมหาวิทยาลัยเป็นการจ้างงานระยะยาวที่มีสวัสดิการ --- ไปจนถึงการสร้างระบบการศึกษาฟรีที่มีคุณภาพด้วยในที่สุด อย่างที่เกิดในต่างประเทศ
 
ในเรื่องนี้นโยบายเสรีนิยมใหม่มันมีความเกี่ยวข้องอย่างไร?
เรื่องนี้เกี่ยวข้องโดยตรง เพราะถ้าเราพิจารณากระแสหลักของแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจทั่วโลกนั้น รัฐทุนนิยมทั่วโลกพยายามใช้แนวเสรีนิยมใหม่ ที่เน้นกลไกลตลาดในการจัดสรรทรัพยยากร และนำกลไกตลาดเข้ามากำหนดวิถีชีวิตพวกเรามากขึ้น
 
แนวทางเสรีนิยมใหม่นั้นมีผลเป็นรูปธรรมก็คือ การเปิดเสรีในด้านต่างๆ มากขึ้น เช่น การค้าเสรี หรือ FTAการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การตัดสวัสดิการสังคมลง ฯลฯ ทั้งหมดเป็นการเพิ่มกลไกหรืออำนาจการขูดรีดเอาเปรียบคนจนในสังคมมากขึ้นทั่วโลก แม้แต่ในประเทศยุโรปเป็นรัฐสวัสดิการนั้นรัฐบาลซึ่งถูกควบคุมโดยชนชั้นนักธุึรกิจก็ได้พยายามผลักดันแนวทางเสรีนิยมใหม่อย่างออกหน้าออกตา
 
ทั้งหมดนี้ ส่งผลต่อการตัดทอนสวัสดิการและลดคุณภาพชีวิตของคนในสังคมโดยทั่วไป ผลก็คือ มีคนจำนวนมากไม่พอใจ และนำไปสู่การลุกขึ้นมาประท้วง เช่น เมื่อปีที่แล้วมีการประท้วงของนักเรียนมัธยมและนักศึกษาในฝรั่งเศสและเยอรมัน หรือแม้แต่ในละตินอเมริกาก็มีการประท้วงที่เกิดขึ้นทั่วไปหมดในทุกประเทศ จนนำไปสู่การได้รัฐบาลทีมีแนวคิดต่อต้านกลไกตลาดขึ้นมาในหลายประเทศ เป็นต้น
 
ผมคิดว่าเราควรจะเข้าใจว่าสิ่งที่เรากำลังสู้นั้นเป็นสิ่งที่คนอื่นๆ ทั่วโลกก็กำลังสู้ คนส่วนใหญ่ในโลกมีศัตรูตัวเดียวกันคือ ทุนนิยมเสรี หรือเสรีนิยมใหม่ และอาวุธของพวกเราก็คือ พลังประชาชน อย่างที่เราเห็นๆ ในหลายประเทศในรอบหลายปีที่ผ่านมา
 
ประเทศไทยเองก็ขึ้นชื่อในเรื่องของความไม่เท่าเทียมกันโดยเฉพาะเรื่องการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ   ถ้าหากนำกลไกตลาดเข้ามาเป็นตัวจัดการแทน จะยิ่งทำให้ช่องว่างความไม่เท่าเทียมนั้นกว้างขึ้นไปอีกใช่ไหม?
 
แน่นอนครับ แนวคิดเสรีนิยมใหม่หรือกลไกตลาดนั้นมันมี concept เรื่องความเท่าเทียมอยู่ แต่เป็นความเท่าเทียมทางโอกาส หรือความเท่าเทียมในการแข่งขันในระบบตลาดเท่านั้น ประเด็นก็คือ คนในสังคมจำนวนมากไม่สามารถแข่งขันได้ เพราะพวกเขาอยู่ในสภาพโครงสร้างทางสังคมเศรษฐกิจที่ไม่เท่าเทียม และเอื้อต่อผลประโยชน์ของทุนเท่านั้น
 
ถ้าเราจะพูดถึงความเท่าเทียมอย่างเป็นรูปธรรม ผมคิดว่ามันน่าจะพูดถึงบทบาทของรัฐด้วย รัฐต้องมีหน้าที่คือลดช่องว่างคนจนคนรวยและกำจัดความไม่เท่าเทียมในสังคม โดยเฉพาะในเรื่องการบริการขั้นพื้นฐาน เช่น การศึกษา สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่เรื่องค่าแรงและสภาพการทำงาน
 
เพราะฉะนั้น การที่รัฐพยายามลดภาระ โดยบอกว่าระบบราชการมันเฮงซวย ควรจะให้เอกชนเข้ามาทำแทน มันบ่งชี้อย่างชัดเจนว่า รัฐไม่มีประสิทธิภาพและปัดความรับผิดชอบ ผมมองว่าไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนจะใช้แนวคิดอะไรก็ตาม ไม่ว่าคุณจะเป็นเศรษฐกิจพอเพียง หรือ ประชานิยม เสรีนิยมแค่ไหน สิ่งที่คุณปฏิเสธไม่ได้คือ คุณต้องมีหน้าที่จัดสรรและบริการประชาชนให้ดีที่สุด โดยคุณอ้างไม่ได้ว่าไม่มีเงิน หรือประเทศเรายากจน
 
ตัวอย่างรูปธรรม คุณทักษิณมีทรัพย์สิน 7 หมื่นล้าน แต่งบประมาณจุฬาฯ ต่อปีมีแค่ 3 พันล้าน ประเด็นก็คือ คนร่ำรวยในสังคมเช่น คุณทักษิณ และคนในรัฐบาลหรือ สนช. ที่บอกว่าเป็นตัวแทนประชาชน และรักความเท่าเทียม กล้าพูดมั๊ยว่าจะจ่ายภาษีในอัตราก้าวหน้าแบบในยุโรป ผมว่าเค้าไำม่กล้า เราลองคิดดูว่าถ้าเราเก็บภาษีจากคุณทักษิณ แค่ 50 เปอร์เซ็นต์ เราจะได้เงิน 35,000 ล้าน มันมากกว่าเงินงบประมาณของจุฬาในปีนึง ๆถึง 11 เท่า แต่ผมไม่รู้ว่าผู้นำประเทศเราและนักวิชาการเสรีนิยมเอาจริงไหนคิดว่าประเทศเราจน และไม่มีเงินจัดสวัสดิการสังคม
 
ผมอยากท้าทายรัฐบาลเศรษฐกิจพอเพียงว่า ถ้าคุณอยากให้ประเทศเราำพอเพียงจริงๆ คุณต้องกล่าพูดถึงการสร้างรัฐสวัสดิการที่มีการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า และการเรียนฟรี รักษาพยาบาลฟรี แบบในยุโรป ไม่ใช่พูดแต่ปากว่าพอเพียง แล้วไม่มีรูปธรรม
 
 
แล้วทางออกของการศึกษาที่เท่าเทียมและมีประสิทธิภาพนั้นเป็นอย่างไร?
ที่ผ่านมาแนวคิดเสรีนิยมใหม่ หรือรัฐมักจะบอกว่า คุณภาพการศึกษามาจากการที่มหาวิทยาลัยแข่งขันได้มีประสิทธิภาพ ซึ่งสรุปรวมๆ คือ เอามหาลัยแปรรูปซะ มันจะมีคุณภาพมากขึ้น ประเด็นก็คือ ผมไม่ได้ปฏิเสธว่าเราควรพัฒนาคุณภาพการศึกษา แต่คุณจะตอบโจทย์ตรงนี้ยังไงให้ตรงตัวที่สุด ผมคิดว่าคุณภาพการศึกษาน่าจะมาจากที่รัฐให้การสนับสนุนการศึกษาให้มากกว่านี้ เช่น ค่าเรียนต้องถูก มีทุนเรียนฟรีเยอะๆ มีสวัสดิการให้พนักงานหรืออาจารย์ ต้องไม่ทำให้เค้ารู้สึกไม่มั่นคงในการทำงาน และต้องไม่ทำให้อาจารย์สอนมากเกินไป เพราะทุกวันนี้อาจารย์สอนคนนึงต่อเทอมหลายวิชา ไหนจะต้องทำวิจัยอีก บริหารอีก ส่วนนักศึกษานั้นเมื่อค่าเทอมแพง ไม่มีทุนเรียนต่อก็ต้องไปสอนพิเศษ หางานทำมากขึ้น ซึ่งจากจุดเล็กๆนี้เราจะเห็นเลยว่า มันไม่มีทางที่การศึกษาจะมีคุณภาพได้
 
ประเด็นคือ รัฐไทยต้องเพิ่มงบประมาณการศึกษาให้มากขึ้น โดยให้นักศึกษาได้เรียนฟรีหรือถูกที่สุด พร้อมทั้งต้องมีสวัสดิการและเงินเดือนอาจารย์ บุคลากรที่ดี มีอุปกรณ์การเรียนการสอน มีห้องสมุดที่ดี ทุกวันนี้หนังสือน้อยเพราะงบประมาณจำกัด ในขณะที่เราตัดไปอีกภาพหนึ่งที่มหาวิทยาลัยเปิดโครงการพิเศษที่ีค่าเทอมแพงมากมายมาหากำไร กลับไม่กล้าพัฒนาหรือให้ทุนการศึกษาเพิ่มขึ้น
 
ดังนั้น ผมคิดว่า คุณภาพและประสิทธิภาพการศึกษาไม่น่าจะมาจากการออกนอกระบบ แต่อยู่ที่ความจริงใจของรัฐในการสนับสนุนมากกว่า ซึ่งผมไม่ค่อยเชื่อในรัฐบาลซักเท่าไหร่ว่าเค้าจะทำโดยอัตโนมัติ  ถ้าพวกเราไม่กดดัน
 
นอกจากเรื่องการศึกษาแล้ว นโยบายเสรีนิยมใหม่มันยังคุกคามชีวิตของคนธรรมดาแบบพวกเราได้อย่างไรอีกบ้าง?
พิษภัยของแนวเสรีนิยมใหม่นั้นมีมากมาย ไล่ตั้งแต่สงครามอิรัก ยันการแปรรูปมหาวิทยาลัย ผมคิดว่า ทุกวันนี้เราต้องยอมรับว่าแนวคิดเสรีนิยมใหม่มีอิทธิพลทางความคิดมากในหมู่นักวิชาการกระแสหลัก และชนชั้นนำของทุกประเทศ หลักการสำคัญของมันก็คือ การปกป้องกรรมสิทธิ์เอกชน หรือปัจเจกชน เราจะเห็นตัวอย่างสำคัญก็คือ การที่รัฐกับชาวบ้านสู้กันเรื่อง ป่าชุมชน ซึ่งเป็นการสู้กันระหว่างความคิดว่าด้วย กรรมสิทธิ์เอกชน กับระบบกรรมสิทธิ์ชุมชนหรือรวมหมู่ เป็นต้น
 
ความคิดแบบคู่ตรงข้ามแบบเสรีนิยมทำให้เรามองแค่ว่า ถ้าไม่เป็นของปัจเจกบุคคล ก็ต้องเป็นของรัฐ ดังนั้นมันจึงยอมรับไม่ได้กับระบอบกรรมสิทธิ์รวมหมู่ หรือกรรมสิทธิ์ชุมชน เพราะมันไม่สร้างมูลค่า และแถมเป็นอุปสรรคกับพวกนายทุนในสังคม
 
ปรากฏการณ์ที่พวกเราเจอคือ ค่าไฟแพงขึ้น น้ำมันแพง หรือแม้แต่เราต้องนั่งรถไฟฟ้าบนดินใต้ดินในราคาแพง เป็นต้น ซึ่งผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้มันมาจากแนวคิดเสรีนิยมทั้งสิ้น ก็คือรัฐไม่ทำหน้าที่ของตัวเองคือ การให้แบกรับภาระสวัสดิการ ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งมวลชนราคาถูกที่รัฐต้องลงทุน ค่าไฟที่น่าจะถูกลง รวมไปถึงการที่รัฐต้องเอาเงินไปอุดค่าน้ำมัน ให้พวกเรารับภาระให้น้อยลงกว่านี้ เป็นต้น  
 
ผมมองว่ามันขัดกับหลักการประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง ในขณะที่มันบอกว่าสนับสนุนประชาธิปไตย หรือแม้แต่ประชาพิจารณ์ในกรณีความขัดแย้งต่างๆ มันกลับยอมรับไม่ได้ถ้าการตัดสินใจหรือการเรียกร้องของประชาชนในประเด็นที่ขัดกับผลประโยชน์ของรัฐหรือชนชั้นนายทุนในสังคม เช่น กรณีีคัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และ ม.นอกระบบ ที่ผู้บริหารหรือรัฐอ้างว่าเป็นประชาธิปไตย แต่กลับไม่ยอมให้ประชาชนมีส่วนร่วมตัดสินใจ และพอเราออกมาบนท้องถนนก็บอกว่าก่อความวุ่นวาย ดังนั้นเราจะเห็นชัดเจนเลยว่า พวกที่โปรโมทเชิดชูเสรีนิยมใหม่นั้นมักอ้างว่าเป็นตัวแทนเรา แต่ไม่เคยทำตัวเป็นตัวแทนเราซักที และหลายๆที่ก็เอากองกำลัง หรือทหารตำรวจออกมาตีพวกเราด้วยซ้ำ
 
โดยสรุปผมคิดว่าแนวเสรีนิยมใหม่เป็นการเปิดศึกทางชนชั้นระหว่างพวกอภิสิทธิ์ชน กับประชาชนในสังคมโดยรวมทั้งหมดที่เป็นแรงงาน นักศึกษา เกษตรกร และคนจน ผมเสนอว่าเราต้องกล้าตั้งคำถามว่า พวกที่บอกว่ารักประชาชน รักชาติ และพอเพียง กล้าไหมที่จะสร้างรัฐสวัสดิการ กล้าไหมที่จะจ่ายภาษีก้าวหน้า หรืิอแม้แต่กล้าไหมที่จะลดงบประมาณการทหารลง เพื่อเพิ่มงบการศึกษา สาธารณสุข กล้าหรือเปล่าที่จะแบ่งปันที่ดินที่ตนเองมีให้กับเกษตรกรที่ไร้ที่ดินทำกิน ฯลฯ ผมคิดว่าพวกเขาไม่กล้า และพวกเราน่าจะเห็นธาตุแท้ทางชนชั้นเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ
 
 
000
 
 
บทความเชิงวิชาการที่น่าสนใจของ "เก่งกิจ กิติเรียงลาภ" จากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน (http://www.midnightuniv.org)
 
 
 
000
 
 
ข่าวสาร - รายงาน - บทความที่เกี่ยวเนื่อง
 
 
 
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net