Skip to main content
sharethis

แถลงการณ์สมัชชาคนจนระบุ รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ทำให้พื้นที่ทางการเมืองของคนจนที่อาศัยพื้นที่บนท้องถนนในการใช้สิทธิออกเสียงหายไปในทันที ชี้ชาวบ้านถูกจับตาและแทรกแซงหนัก ย้ำจุดยืนประชาธิปไตยต้องกินได้  การเมืองต้องเห็นหัวคนจน ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน 


 


0 0 0


 


แถลงการณ์สมัชชาคนจน


"เราต้องการประชาธิปไตยที่กินได้ และการเมืองที่เห็นหัวคนจน"


ณ ลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์  วันที่ 10 ธันวาคม 2549


 


ท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ภายใต้สถานการณ์ที่ฝุ่นควันของกฎอัยการศึกยังคละคลุ้งอยู่ในชนบท ที่เต็มไปด้วยการจำกัดสิทธิและเสรีภาพ ทำให้พื้นที่ทางการเมืองของคนจน ที่อาศัยพื้นที่บนท้องถนนในการใช้สิทธิออกเสียงเพื่อปกป้องสิทธิของพวกเราหายไปในทันที แม้ว่าคณะทหารที่เข้ามายึดอำนาจ ซึ่งวันนี้ดำรงตนในนามคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ และรัฐบาลจะพยายามกล่าวอ้างถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปฏิรูปการเมือง


 


แต่ความเป็นจริงเมื่อพวกเรา ดำเนินกิจกรรมใดๆ ก็จะถูกจับตาจากเจ้าหน้าที่ของรัฐจนสูญเสียอิสระในการดำเนินชีวิต แม้แต่การจัดเวทีสรุปบทเรียนเพื่อระดมความเห็นในการปฏิรูปการเมือง ของชาวบ้านเขื่อนราษ๊ไศล เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ที่ผ่านมา ปลัดอำเภอบึงบูรณ์อ้างกฎอัยการศึกเพื่อขอรายชื่อผู้เข้าร่วม พร้อมทั้งขอถ่ายรูปการดำเนินกิจกรรมไว้เป็นหลักฐาน และขอตรวจบัตรประชาชนชาวบ้านในเวลาต่อมา ในตอนเย็นวันเดียวกัน ตำรวจสายตรวจได้เข้ามาสอบถามถึงกิจกรรมและความเคลื่อนไหวของกลุ่ม และในตอนกลางคืนเมื่อชาวบ้านบางส่วนแยกย้ายกลับบ้าน มีบุคคลแต่งชุดซาฟารีโดยอ้างว่าเป็นทหาร มาจากจังหวัดสุรินทร์ มาพบชาวบ้านที่เข้าร่วมเวทีเพื่อซักถามถึงความเคลื่อนไหวของสมัชชาคนจน


 


แม้ท่าทีการมาของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ดูเหมือนจะเป็นมิตร แต่แสดงให้เห็นว่าพวกเราอยู่ภายใต้การจับตาของรัฐไม่อาจเป็นอิสระได้ตามวิถีชีวิตปรกติในสังคมประชาธิปไตย การคุกคามดังกล่าวเป็นการภาพสะท้อนให้เห็นว่าพื้นที่การเมืองของคนจนถูกปิดกั้นลงแล้ว ความหวังที่ใช้สิทธิตามกฎหมาย เพื่อต่อรองให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาก็หมดสิ้นไปด้วย


 


การต่อสู้เพื่อปกป้องและทวงสิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติจากรัฐอย่างเสมอภาค มีศักดิ์ศรี  ตามสิทธิที่พวกเราเรียกร้องต้องการนั้น มีรูปธรรมที่ชัดเจนจับต้องได้ และเป็นเรื่องของความเป็นความตาย พอๆกับที่เป็นเรื่องของศักดิ์ศรี และสิทธิเสรีอันเป็นนามธรรม ซึ่งตามความหมายของพวกเรา คนจนในชนบท และคนจนเมือง  ที่เป็น ชาวนา ชาวประมง และผู้ใช้แรงงาน ที่มารวมตัวกันในนามสมัชชาคนจนนั่นคือการต่อสู้เพื่อชาติ เพื่อประชาธิปไตย


 


การต่อสู้ของสมัชชาคนจนและขบวนการภาคประชาชนตลอดทศวรรษที่ผ่านมา คือเครื่องพิสูจน์ว่า คนจนก็มีจิตวิญญาณการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในแนวทางของตัวเอง  เราต้องต่อสู้กับเผด็จการที่แย่งชิงทรัพยากร ทรราชย์ที่ข่มเหงสิทธิชุมชน ปล้นสิทธิของเราไปด้วยการสร้างเขื่อนปิดแม่น้ำไม่รู้กี่สาย   ที่ทำกินถิ่นฐานของเราถูกท่วมทับทำลาย แล้วมาแลกด้วยเศษเงินค่าชดเชยปิดปากที่จนป่านนี้ก็ยังไม่ถึงมือพวกเราด้วยซ้ำ พวกเราหลายคนโดนกฎหมายยัดเยียดข้อหาให้กลายเป็นผู้ร้ายบุกรุกป่าไม้ในที่ทำกินของตัวเอง อีกหลายคนถูกปล้นแรงงานร่างกายด้วยโรงงานก่อมลพิษร้าย และอีกสารพัดที่ฉ้อฉล ฉ้อราษฎร์กับเราอย่างมัวเมาในอำนาจ  เพื่อสร้างความมั่งคั่งร่ำรวยให้กับนายทุน เพื่อรองรับความสุขสบายของชนชั้นกลาง และสร้างพวกเราให้เป็นคนจน


 


ดังนั้น สำหรับพวกเราแล้ว การแก้ปัญหาคนจน ด้วยการสร้างประชาธิปไตยที่กินได้ และการเมืองที่เห็นหัวคนจน คือความหมายเดียวกันกับการปฏิรูปการเมือง เพราะความทุกข์ยากที่คนจนอย่างพวกเราต้องเผชิญตลอดมานี้ ล้วนเกิดจากรัฐใช้อำนาจเข้าข่มเหง แย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติและทำลายสิ่งที่เคยเป็นถิ่นฐาน รากเหง้า ปากท้อง ลำแข้งและศักดิ์ศรีของเราทั้งสิ้น เป็นความจนที่มาจากการจนอำนาจ และจนโอกาสในสังคม 


 


การเคลื่อนไหวเรียกร้องของพวกเราครั้งใดก็ตาม จึงเป็นภาพสะท้อนถึงความบกพร่องของระบอบประชาธิปไตยได้เป็นอย่างดี  เป็นการบอกว่า คนจนหมดความอดทนต่อการเอารัดเอาเปรียบและการรอคอยการแก้ปัญหาที่ไม่มีอนาคตแล้ว  ตลอดระยะเวลา 10 ปีของสมัชชาคนจน พวกเราต้องมาชุมนุมครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทำตามข้อตกลงเดิมๆที่มีมติคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบมานับครั้งไม่ถ้วน แต่ไม่ลงมือให้เห็นเป็นรูปธรรม เหมือนกันทุกรัฐบาลโดยไม่มีข้อยกเว้น


 


แม้ในปัจจุบัน รัฐบาลจะใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกเข้ามาควบคุม และจำกัดการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิของพวกเรา แต่นั่นไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ฉลาดเลย เพราะตราบใดที่ปัญหาความเดือดร้อนของเรายังไม่ได้รับการแก้ไข เราก็ต้องเคลื่อนไหวเรียกร้องเพื่อความอยู่รอดอย่างมีศักดิ์ศรี แม้จะต้องผ่าฝืนกฎอัยการศึกก็ตาม ทางออกที่จะยุติการเคลื่อนไหวของคนจน คือรัฐบาลต้องยอมรับประชาธิปไตยทางตรง ด้วยการเปิดการเจรจากับผู้เดือดร้อนอย่างเสมอหน้าเพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นธรรม


 


สุดท้าย การย่างก้าวเข้าสู่ปีที่ 12 ของสมัชชาคนจน เรายังเชื่อมั่นว่าจะไม่มีความยากจนในสังคมที่ยุติธรรม ดังนั้น ท่ามกลางกระแสของการปฏิรูปการเมืองที่กำลังคึกคักอยู่ในขณะนี้นั้น พวกเราขอยืนยันว่า ประชาธิปไตยจะต้องไม่เป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมในการกดขี่ข่มเหงคนจน  และประชาธิปไตยที่เราพร้อมเอาตัวเข้าแลกเพื่อต่อสู้ให้ได้มา  จะต้องเป็นประชาธิปไตยที่ กินได้ และ การเมืองที่เห็นหัวคนจน ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน 


 


 


                                                               ด้วยความเชื่อมั่นในพลังประชาชน


                                                                             สมัชชาคนจน


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net