รายงาน เอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น : หุ้นส่วนเศรษฐกิจ หุ้นส่วนขยะพิษ ?

"ขยะพิษ" เป็นประเด็นใหม่ล่าสุดที่ถูกพูดถึงในเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น หรือที่มีชื่อทางการว่า "ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น" (JTEPA/Japan-Thailand Economic Partnership Agreement)

 

ความคืบหน้าของข้อตกลงนี้คือ กระทรวงการต่างประเทศกำลังจะเปิดให้มีการประชาพิจารณ์ร่างที่สองประเทศคุยกันแล้วเสร็จมาตั้งแต่กลางปี ในวันที่ 22 ธ.ค.นี้ และคาดว่าจะลงนามกันภายในเดือนมกราคม 2550 ตามที่ญี่ปุ่นเรียกร้องต้องการอยากให้ไทยเร่งดำเนินการ

 

แม้หน่วยงานเจรจาของไทยจะยืนยันไม่เปิดเผยร่างข้อตกลงทั้งหมดตามที่หลายฝ่ายเรียกร้อง แต่อย่างน้อยที่สุดงานสัมมนาของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมา ก็มีประเด็น "ขยะพิษ" มาให้พิจารณากันก่อนที่ใครจะไปร่วมแสดงความคิดเห็นในเวทีประชาพิจารณ์

 

ประเด็นนี้กำลังเป็นที่ตื่นตัวมากในประเทศที่ทำเอฟทีเอกับญี่ปุ่นไปแล้วหรือที่กำลังดำเนินการอยู่ ไม่ว่าฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย  รวมทั้งไทยที่พบว่าในข้อตกลงมีการระบุจะลดภาษีเหลือ 0 สำหรับขยะพิษจากญี่ปุ่นบางประเภทที่นำมารีไซเคิลหรือเผาในไทย

 

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง จากกลุ่มศึกษาและรณรงค์ปัญหามลพิษอุตสาหกรรม ซึ่งเคยเดินทางไปดู "ขยะ" ในญี่ปุ่นและใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นหลายเดือน เล่าว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ผลิตขยะมากที่สุดในโลก และกำลังประสบวิกฤตปัญหาขยะทั้งจากครัวเรือนและขยะอุตสาหกรรม สินค้าจำพวกรถยนต์ ทีวี ตู้เย็น ฯลฯ ใช้กันสามสี่ปีก็ทิ้งกันแล้ว พฤติกรรมการบริโภคเช่นนี้ทำให้พื้นที่ฝังกลบน้อยนิดบนเกาะญี่ปุ่นไม่เพียงพอต่อขยะมหาศาล  (ขณะที่ไทยมีขยะอุตสาหกรรมปีหนึ่งไม่ถึง 2 ล้านตัน ญี่ปุ่นมีถึง 412 ล้านตัน) จึงไม่แปลกที่จะต้องระบายขยะที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมไปยังประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ซึ่งกฎระเบียบย่อหย่อนและเกรงกลัวนักหนาว่าจะถูก(นักลงทุน) ญี่ปุ่นทอดทิ้ง

 

แน่นอน การเผาเป็นทางออกสำคัญอย่างหนึ่งด้วย ญี่ปุ่นมีเตาเผาขยะที่มาจากชุมชน 1,850 แห่ง ขณะที่มีเตาเผาขยะอุตสาหกรรมราว 10,000 แห่ง ทำให้มีไดออกซิน สารพิษที่เกิดจากการเผาไหม้และขี้เถ้าพิษจำนวนมาก มากชนิดที่มองไกลๆ อาจเข้าใจว่าเป็นภูเขาลูกย่อมๆ นั่นเลยทีเดียว

           

อย่างไรก็ตาม ในญี่ปุ่นเองมีการรณรงค์เรื่องขยะกันอย่างหนัก แต่รัฐบาลก็ไม่เคยสนับสนุนเรื่องการลดปริมาณขยะ หากยังส่งเสริมให้ผู้ผลิตกระตุ้นการบริโภคของผู้คนอย่างบ้าคลั่งต่อไป มีการลับลอบนำขยะพิษไปทิ้งกันในป่าลึก ป่าต้นน้ำ จนทำให้แม่น้ำบางสายปนเปื้อนสารเคมี

 

เพ็ญโฉม กล่าวต่อไปอีกว่า แม้ในช่วงเวลาที่ยังไม่มีเอฟทีเอ ญี่ปุ่นก็ส่งขยะพิษมายังประเทศไทยอยู่แล้ว โดยสถิติในปี 2546-49 พบว่ามีการนำเข้าขยะมาในประเทศไทย 3 แสนตัน จาก 7 ประเทศ ซึ่งเป็นของญี่ปุ่นไปเสีย 98%

 

ในขณะที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการกำจัดขยะพิษได้ประมาณ 20% ของทั้งหมด ส่วนที่เหลือนั้น ไม่ต้องเดาก็คงรู้ว่ามันถูกลักลอบนำไปทิ้งในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นป่าแถวกาญจนบุรี ชลบุรี ฯลฯ

 

"จะมีกำแพงภาษีหรือไม่ก็ตาม ประเด็นสำคัญคือประเทศไทยหรือประเทศอื่นๆ ไม่ควรเป็นถังขยะพิษให้กับประเทศอุตสาหกรรม แต่ละประเทศควรรับผิดชอบขยะของตัวเอง ถึงอย่างนั้น การลดภาษีเป็นศูนย์ในเอฟทีเอก็ยิ่งจูงใจให้ขยะพิษเหล่านี้เข้ามามากขึ้น เข้ามาได้เสรีขึ้น"

 

"หากมีการนำขยะพิษจากญี่ปุ่นเข้ามามากๆ สิ่งที่กังวลคือ ขยะพวกนี้ไปที่ไหนชาวบ้านก็จะต่อต้าน มันจะเกิดความรุนแรงและความสูญเสียอีกจำนวนมากในสังคมไทย เหมือนเช่นกรณีของแกนนำคัดค้านบ่อขยะราชาเทวะ หรือผู้นำประท้วงเจนโก้ บริษัทกำจัดขยะเคมีที่ถูกยิงเสียชีวิต"เพ็ญโฉมกล่าว

 

นอกจากนี้บริษัทญี่ปุ่นและสิงคโปร์ 5 แห่งยังได้รวมกันผลักดันขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอในการตั้งโรงงานรีไซเคิลขยะพิษในประเทศไทย คล้ายเป็นการเตรียมการรองรับเอฟทีเอไว้แล้วในขณะนี้ด้วย

 

"มันอาจจะฟังดูดี แต่กระบวนการรีไซเคิลมันสร้างสาราพิษทั้งในอากาศ และน้ำ รวมทั้งจะมีกากพิษหลงเหลืออีกเป็นจำนวนมาก"

 

ส่วนกิติคุณ กิตติอร่าม ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษจากกรีนพีซ ให้ข้อสังเกตว่า หากดูต้นแบบเอฟทีเอระหว่างญี่ปุ่นกับฟิลิปปินส์จะพบว่า ขยะพิษที่สามารถนำเข้ามาฟิลิปปินส์อย่างปลอดภาษีนั้นมีหลายรายการมาก ซึ่งน่าสงสัยว่าข้อตกลงที่ญี่ปุ่นทำกับไทยนั้นเป็นอย่างไร มีเพียงขี้เถ้า เถ้าสาหร่ายทะเล (เคลป์)และกากที่ได้จากการเผาขยะเทศบาล ตามที่รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ "พิศาล มาณวพัฒน์" ชี้แจงกับสำนักข่าวประธรรมเพียงเท่านั้นจริงหรือไม่

 

นอกจากนี้เขายังพบว่า ประเด็นการขนย้ายขยะพิษระหว่างญี่ปุ่นกับไทยที่ระบุไว้ในเอฟทีเอนั้น ละเมิดต่อเจตนารมณ์ของอนุสัญญาบาเซล ซึ่งพยายามแก้ปัญหาการนำขยะพิษจากประเทศพัฒนาแล้วมาทิ้งยังประเทศกำลังพัฒนา

 

อนุสัญญานี้เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2535 โดยทั้งไทยและญี่ปุ่นต่างก็ให้สัตยาบันแล้ว แต่อนุสัญญานี้กลับมีช่องโหว่ที่อนุญาตให้ส่งออกขยะพิษสำหรับ "การรีไซเคิล" ได้ ทำให้กลุ่ม G77 ผลักดันข้อห้ามขึ้นมา อย่างไรก็ตาม ทั้งไทยและญี่ปุ่นยังไม่ให้สัตยาบันในข้อห้ามที่คลอบคุลมไปถึงเรื่องรีไซเคิลดังกล่าว

 

ขณะที่ท่านผู้หญิง ดร.สุธาวัลย์ เสถียรไทย จากสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ตั้งคำถามสำคัญว่า ในระบบอุตสาหกรรมข้ามชาติที่ห่วงโซ่การผลิตเป็นพีรามิด คือ บนสุดมีประเทศส่วนน้อยมากที่ได้กำไรสูงสุดเพราะมีเทคโนโลยีสูง ตรงกลางของพีรามิดคือประเทศที่เป็นคนกลาง ควบคุมการผลิต และฐานล่างคือประเทศที่เป็นฐานการผลิต เน้นการใช้แรงงาน คำถามคือ ประเทศไทยมีทางเลือกอื่นหรือไม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยไม่ต้องเป็นฐานการผลิตที่มีมูลค่าต่ำสุดในพีรามิด ขณะที่ต้องแบกรับต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของคนงาน ทั้งยังไม่สามารถจะปกป้องตัวเองได้ เพราะเกรงว่านักลงทุนจะย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่ค่าแรงถูกกว่า เช่น จีนหรือเวียดนาม

 

ตัวอย่างที่ชัดเจนเห็นได้จากการทำวิจัยของดร.สุธาวัลย์ในพื้นที่ของจังหวัดลำพูน ซึ่งคนงานที่ทำงานในโรงงานของญี่ปุ่นแห่งหนึ่งเกิดการเจ็บป่วยจำนวนมาก แต่ไม่ได้รับการดูแลและไม่อาจต่อรองกับนายจ้างได้ เพราะพื้นที่ตรงนั้นเป็นเขตการส่งออก ห้ามมีสหภาพแรงงาน

 

จากงานวิจัยของกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมพบว่า มีการปนเปื้อนของสารโซเวน ซึ่งเป็นสารที่ใช้ในอุตสาหกรรมและก่อมะเร็ง แต่ข้อมูลนี้ไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะได้ทุนวิจัยจากประเทศญี่ปุ่น

 

"เมื่อเราไปทำวิจัยในพื้นที่ก็พบสารก่อมะเร็งในบ่อน้ำบาดาลที่ชาวบ้านใช้ เกินกว่ามาตรฐานกำหนดเป็นร้อยเท่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือหน่วยงานราชการไม่กล้าแตะ เพราะเจ้าของอุตสาหกรรมขู่จะไปจีน ไปเวียดนาม"

 

สุธาวัลย์ยังแสดงความกังวลว่า การเซ็นเอฟทีเอนั้นมุ่งคุ้มครองนักลงทุนมากกว่าสิ่งแวดล้อม แม้แต่ในเอฟทีเอของสหรัฐที่มีบทคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่สูงมาก แต่เมื่อพิจารณาคู่กับบทคุ้มครองการลงทุนแล้ว เรื่องสิ่งแวดล้อมไม่มีความหมาย โดยประสบการณ์ของนาฟต้า (ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหรัฐ แคนาดา เม็กซิโก) นั้นจะเห็นว่าเอกชนของชาติคู่เจรจาสามารถฟ้องร้องรัฐที่ร่วมลงนามได้หากรัฐมีการออกกฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อที่ไปกระทบกับการลงทุน เพราะถือว่าละเมิดข้อตกลงที่ทำกันไว้

 

"ตรรกะของการเอาขยะพิษ ไปทิ้งในประเทศที่ค่าแรงต่ำนั้นเป็นตรรกะที่ถูกต้อง ไร้ที่ติ" สุธาวัลย์ทิ้งท้ายด้วยวลีนักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกคนหนึ่งที่ทำให้เห็นวิธีคิดของประเทศ "พัฒนาแล้ว"

 

......คราวหน้าหากใครได้ไปเที่ยวญี่ปุ่น ก่อนออกปากชมบ้านเมืองที่สะอาด สวยงาม เป็นระเบียบที่เห็นอยู่ตรงหน้า อาจต้องคิดหลายๆ รอบแล้วกระมัง ......

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท