เสวนา : ชายแดนใต้หลังรัฐบาลใหม่ อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ

ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา นับเป็นสถานการณ์ที่สร้างความสูญเสียมากที่สุดในสังคมไทย ขณะเดียวกัน หลังวันที่ 19 กันยายน 2549 เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในทางการเมืองการปกครองของปรเทศไทย อันจะมีผลกระทบต่อนโยบายทั้งประเทศรวมทั้งภาคใต้ นั่นก็คือการรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(คปค.) นำไปสู่การมีรัฐบาลใหม่ที่นำโดย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี

 

เกือบ 3 เดือนหลังการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญดังกล่าว ส่งผลอย่างไรต่อสถานการณ์ในภาคใต้เวลานี้ ทบทวนแนวนโยบายที่ "ควร" และ "ไม่ควร" ทำจาก "เสียง" ในพื้นที่

 

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี "รัฐหรือกฎหมายบ้านเมืองไม่สามารถควบคุมได้ทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐไม่สามารถทำได้ การบริการของรัฐเช่น การศึกษา การสาธารณะสุขก็ไม่สามารถทำได้ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับคนในพื้นที่ก็หายไป รัฐจึงไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ อาจจะเป็นรัฐล้มเหลวในทางรัฐศาสตร์"

 

นายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ "ผู้ก่อการติดอาวุธตอนนี้บางที่มาปรากฏตัวตอนกลางวันแล้ว บางที่แต่งเครื่องแบบสาธารณรัฐปัตตานีมาแจกบัตรประชาชนสาธารณะรัฐปัตตานี ถ้าจ่ายภาษีให้เขาก็ปลอดภัย แต่รัฐบาลตอนนี้กลับยังแต่งตัวไม่เสร็จเสียที ในขณะที่ข่าวการปักธงไม่ใช่เรื่องเล่น คนตายทุกวัน ตอนนี้ครูอยู่ไม่ได้แล้ว ขวัญเสียหมด"

 

นายมูฮำหมัดอายุบ ปาทาน "ถ้าคิดว่าศูนย์ข่าวอิศราเป็นสิ่งที่ดี ใครมาทำไม่สำคัญ ใครมาทำศูนย์อิศราไม่ใช่ประเด็นหลัก แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่การรักษาอัตลักษณ์ การเปิดพื้นที่ให้คนได้ใช้ศูนย์นี้ให้เกิดประโยชน์ต่อสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้วไปสร้างความเข้าใจให้กับคนในพื้นที่อื่น หลักคิดตรงนี้ต้องมาก่อน"

 

พระมหาชรัช อุชุจาโร "อยากชื่นชมรัฐบาลนี้คือคำขอโทษ เป็นแนวทางสุภาพบุรุษ ในทางศาสนาก็ควรยกย่องสรรเสริญ เรื่องนี้ทำถูกแต่ไม่ถูกกับคน ความเป็นผู้นำแบบนี้ต้องทำแต่เมื่อทำไม่ถูกกับคนก็ถูกมองเป็นเรื่องเล่นๆ เพราะสิ่งมีค่าพอให้กับคนไม่มีค่าก็ไม่มีความหมาย"

                         

นายแพทย์แวมะหาดี แวดาโอะ "อยากให้ใช้นโยบายลดเงื่อนไข ทั้งหมด เพราะการขอโทษแค่สองนาทีแล้วอยากให้ทุกอย่างสงบไม่ได้ ขอโทษแล้วคนที่สั่งเคลื่อนย้ายคนที่สภ.อ.ตากใบถูกลงโทษหรือยัง คนที่อุ้มนายแพทย์แวมาหะดี ถูกลงโทษหรือยัง คนที่อุ้มทนายสมชาย นีละไพจิตรและที่ถูกอุ้มอีกมากมายถูกลงโทษหรือยัง ผู้ซ้อมกำนันโต๊ะเด็ง 7 วัน 7 คืน ถูกลงโทษหรือยัง คนหล่านั้นปัจจุบันก็มีตำแหน่งสูงๆบ้านเมืองนี้ด้วย คำตอบเหล่านี้มีหรือยัง"

 

เสวนาวิชาการครั้งนี้จัดโดยความร่วมมือระหว่าง สถาบันข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้(www.deepsouthwatch.org) ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมูลนิธิสาธารณะสุขแหงชาติ ณ ห้องประชุม 103 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

000

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี

นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

สิ่งที่ศึกษาพูดถึงความเป็นจริงบางอย่างในสังคมที่มีความขัดแย้งและมีการต่อสู้ การเปิดเผยข้อมูลความเป็นจริงที่เกิดขึ้นนี้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในข้อมูลมากมายที่สะท้อนออกมาโดยข้อมูลเหล่านี้สามารถทำความเข้าใจหรือตีความได้หลายลักษณะ ส่วนแหล่งข้อมูลที่ใช้ก็มาจากข้อมูลสาธารณะ

 

จุดแรกที่ข้อมูลชี้ให้เห็นคือ จุดเปลี่ยนของสถานการณ์เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 ถือเป็นคลื่นความรุนแรงระลอกใหม่จากที่เคยเกิดมาแล้วนับร้อยปีซึ่งน่าสนใจทางวิชาการและส่งผลกระทบอย่างมากต่อสิ่งที่เกิดในปัจจุบัน ข้อมูลในรอบ 3 ปี หรือประมาณ 35 เดือนมานี้ เหตุการณ์รุนแรงใน 3 จังหวัดที่มีเหตุผลแรงจูงใจทางการเมืองแบบไม่ใช่เรื่องส่วนตัวหรืออาชญากรรมทั่วไป ที่เป็นทั้งการฆ่ารายวันโดยการยิง วางระเบิด วางเพลิง เกิดเหตุทั้งสิ้น 5,769 ครั้ง เสียชีวิต 1,938 คน และหากประเมินแล้วสิ้นปีนี้น่าจะประมาณ 2,000 คน ส่วนการบาดเจ็บมีประมาณ 2,920 คน

 

เหตุการณ์รุนแรงเหล่านี้กระทบต่อคนมากจึงเป็นสิ่งที่ควรจะสนใจ โดยอาจจะดูรูปแบบความรุนแรง ประมวลความหมายที่เกี่ยวข้อง ในแง่เป้าหมายจากข้อมูลน่าสนใจว่าส่วนใหญ่จะเป็นราษฎรหรือประชาชนทั่วไป 1,646 ครั้ง รองลงมาคือกลุ่มตำรวจ หน่วยปฏิบัติการพิเศษ(นปพ.) และตำรวจตะเวนชายแดน(ตชด.) 530 ครั้ง จากนั้นก็เป็นทหาร 420 ครั้ง

 

ทั้งนี้ อาจจะมีความหมายในแง่การก่อให้เกิดความรู้สึกกลัว หวาดระแวง ภัยคุกคามในชีวิตประจำวัน ซึ่งเกิดโดยที่รัฐหรือกฎหมายบ้านเมืองไม่สามารถควบคุมได้ทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐไม่สามารถทำได้ การบริการของรัฐเช่นการศึกษา สาธารณะสุขก็ไม่สามารถทำได้ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับคนในพื้นที่ก็หายไป รัฐจึงไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ อาจจะเป็นรัฐล้มเหลวในทางรัฐศาสตร์ ทำให้ไม่สามารถสร้างความชอบธรรมทางการเมืองได้

 

ในแง่ภูมิหลังของเหยื่อในมุมมองเรื่องศาสนา แม้ว่าในระยะหลังเหยื่อจะเป็นไทยพุทธมากขึ้น แต่ในภาพรวมนั้นทั้งสองศาสนามีมากพอๆกัน และหากดูแบบเทียบสัดส่วนเปอร์เซ็นแล้ว มุสลิมมากกว่าเสียด้วย ดังนั้นเป้าหมายที่ถูกคุกคามจึงไม่ใช่แค่ไทยพุทธ ทั้งสองศาสนาอยู่ในชะตากรรมร่วมกัน

 

สำหรับแนวโน้มของเหตุการณ์ หรือการเคลื่อนตัวของสถานการณ์ในรอบ 35 เดือน พบว่าลักษณะการก่อเหตุด้วยการยิงเป็นวิธีที่มากที่สุด มีในทุกๆเดือน โดยในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาการยิงมีสูงสุดในรอบ 35 เดือน เป็นผลกระทบที่ค่อนข้างแรง อันดับสองมาจากการใช้ระเบิด ซึ่งในระยะหลังมีความรุนแรงสูงขึ้น แต่ยังไม่ถึงขั้นที่ทำให้เกิดการตายจำนวนมากเหมือนที่เกิดในบางประเทศ จึงเห็นว่าขอบเขตการใช้ระเบิดยังมีจำกัดอยู่ ส่วนเป้าหมายจะเป็นทหารตำรวจ โดยในที่สาธารณะอำนาจทำลายของระเบิดจะต่ำอย่างไรก็ตามจะมีผลในแง่ข่าวสารสาธารณะ การใช้ระเบิดสูงมีขึ้นตั้งแต่กลางปี 2548 สิ่งนี้ทำให้รัฐสูญเสียความชอบธรรมในการแก้ปัญหา

 

การบาดเจ็บ ตาย ในรอบ 35 เดือน ส่วนใหญ่จะเกิดในบางช่วง ช่วงที่เกิดเหตุการณ์มากคือ เดือนพฤศจิกายน  ก่อนหน้านี้ในปี 2547จะมีเดือนเมษายนที่กรือเซะ เป็นต้น

 

คำถามว่าการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลมีผลต่อความรุนแรงหรือไม่ ตอบว่ามีอยู่ในระดับหนึ่ง ในเดือนกันยายน และตุลาคม ความรุนแรงลดลงแต่ไปเพิ่มเดือนในเดือนพฤศจิกายน

 

แต่ถ้าดูไปในรายปี จะพบว่าปี 2548 มีสถานการณ์รุนแรงสุดคือมีการก่อเหตุประมาณ 2,000 กว่าครั้ง ต่อมาคือในปี 2547 ส่วนปี 2549 มีไม่มากเท่า แต่ที่น่าสนใจคือผลกระทบต่อการสูญเสีย เจ็บ ตาย จะมากกว่าสองปีที่ผ่านมา แสดงว่าศักยภาพในการก่อเหตุอาจปลี่ยนไป

 

ดังนั้น การแก้ไขอาจจะต้องใช้เวลา ไม่ว่าจะแก้ด้วยแนวทักษิณ แนวของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ(กอส.) หรือนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันที่มีการขอโทษ ซึ่งถ้าจะดูผลกระทบจริงๆต้องมองจากในระยะยาว และต้องช่วยกันมองจากหลายฝ่าย

 

000

นายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ

ตัวแทนองค์กรครู 3 จังหวัดชายแดนใต้

เป็นครูมา 34 ปี ที่จังหวัดยะลา รู้สึกว่าปีนี้ครูตายรวมรายสุดท้ายแล้ว 60 คน ล่าสุดถูกยิงที่บ้านตัวเองกับแม่ ครูคนนั้นคิดกันกับแม่แล้วว่าจะย้ายไปอยู่เชียงใหม่แต่ก็ตายก่อน ครูอีกคนก็เป็นผู้อำนวยการมา 9 ปี ชาวบ้านรักก็ไม่คิดว่าตัวเองจะโดนทำร้ายแต่กลับโดนยิงห่างอาคารเรียน 500 เมตร ซึ่งตอนยังไม่ตายทันทีก็ถูกเอาน้ำมันราดแล้วเผาทั้งเป็นต่อหน้านักเรียน

 

อีกกรณีที่ไม่นานมานี้ไทยพุทธคนหนึ่งได้รับโทรศัพท์จากเพื่อนที่สนิทกันมา 15 ปี ให้ไปเอาหมูป่า เอารถไปกัน 4 คน คนแรกโจรไม่รู้จักจึงปล่อย อีกสามคนที่บอกว่าสนิทกันถูกดักยิงแล้วเอามีดอินโดเชือดเหลือหนังติดไว้ 2 เซนติเมตร ยกก็คอหลุด แล้วกำลังจะเผาต่อ  พอดีเด็กแถวนั้นได้ยินเสียงปืนมาเห็นก่อนจึงไม่ทันได้เผา ตอนพบสภาพมีการถลกหนังหัวด้วย เป็นความสุดยอดสยอง อีกกรณีเป็น ตชด.ก็ไม่คิดจะโดนฆ่าเพราะทำงานมวลชนสัมพันธ์มา 20 ปี โดนยิงแล้วสับหน้าเละจนยกหน้าแทบไม่ได้ ผมอยู่ในพื้นที่ก็ทำว่าไม่กลัว แต่ใครบ้างไม่กลัว ก็ต้องทำไม่กลัวเเพื่อเอาขวัญของเพื่อนครูให้อยู่

 

ทั้งหมดนี้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองบังคับใช้กฎหมายไม่ได้เลย กลัวลนลานหมดแล้ว ถ้าเจ้าหน้าที่ถ้าเป็นแบบนี้ไม่เกิน 3 ปี ตรงนั้นมีประเทศใหม่แน่ พูดจากความรู้สึกคนในพื้นที่

 

หากถามสิ่งที่รัฐบาลควรทำหรือไม่ควรทำ อันดับแรกคือคำขอโทษที่บอกกันว่าเยี่ยมมาก จะให้ไปกราบใครก็ได้ที่ทำให้สันติ ตรงนี้ถูกเผยซีดีไปทั่วโลกว่ารัฐไทยยอมรับแล้วว่าชั่วจริง การที่คิดว่ามาถูกทางแล้ว สบายใจ ต้องไปคิดให้ดีๆ

 

พอนายกรัฐมนตรีบอกว่าจะไปกราบใครก็ได้ เป็นทหารแล้วอยู่ๆธงชัยเฉลิมพลหัก ภาพรวมประเทศต้องสันติจริง แต่เฉพาะส่วนกับผู้ก่อการติดอาวุธ ตอนนี้บางที่มาปรากฏตัวตอนกลางวันแล้ว บางที่แต่งเครื่องแบบสาธารณรัฐปัตตานีมาแจกบัตรประชาชนสาธารณะรัฐปัตตานี ถ้าจ่ายภาษีให้เขาก็ปลอดภัย แต่รัฐบาลตอนนี้กลับยังแต่งตัวไม่เสร็จเสียที ในขณะที่ข่าวการปักธงไม่ใช่เรื่องเล่น คนตายทุกวัน ตอนนี้ครูอยู่ไม่ได้แล้ว ขวัญเสียหมด

 

สิ่งที่ควรทำต่อคือศึกษาว่าที่รัฐบาลก่อนทำอะไรถูก อะไรผิด อะไรเป็นปัญหา การมองว่าอะไรเป็นไทยรักไทยผิดหมดไม่ถูก ต้องมองว่าอะไรดีก็ต้องเอาไว้ จะไปศึกษาอีกก็ศึกษาไม่รู้กี่ร้อยชุดแล้ว ต้องดูว่ารัฐบาลก่อนทำอะไรที่ควรพัฒนาต่อ เช่น การศึกษาที่ท่านจาตุรนต์ (ฉายแสง) มานั่งฟังวันนี้ด้วยและทำอย่างจริงจัง ตอนนี้มันเงียบ มาพูดกันแค่เด็กกี่คนต่อหนึ่งห้องมันก็จะไปไม่รอด

 

สองต้องยุติเหตุรายวันให้ได้ สถานการณ์ตอนนี้นายอำเภอต้องเอาเงินตัวเองมาใส่น้ำมันรถให้ตำรวจลาดตระวน เพราะฝ่ายนโยบายข้างบนเข้าเกียร์ว่าง ในพื้นที่หน้าก็ดำหมด ต้องดำเนินการโดยเร็วไม่งั้นเสียหาย

 

นอกจากนี้ต้องวิเคราะห์คนระหว่างปัจเจกชน ชุมชน ความสัมพันธ์ ศาสนา เชื้อชาติ มาตุภูมิชาติปัตตานีที่ร้อยเชื่อมกันจนเข้มแข็งขณะนี้ อีกทั้งตอนนี้วัยรุ่นในพื้นที่เป็นกำลังรบหลัก แต่เราเอาคนแก่ไปรบ เรากำลังรบกับลูกหลานตัวเองโดยไม่เข้าใจลูกหลานตัวเอง

 

ดังนั้น ต้องวิจัยให้ชัดสักครั้งว่ากลุ่มใดกันแน่เป็นผู้กระทำ ส่วนตัวมองว่า มี 4  ฝ่ายคือเศรษฐกิจ คอมมานโด ศาสนา และทางปกครอง ทุกหมู่บ้านเป็นอย่างนี้ ถ้าพบปัญหาก็ให้คอมมานโดไปจัดการ เป็นความจริงที่ยิงเสร็จแล้วกลับไปนุ่งผ้าถุงอยู่บ้าน บีอาร์เอ็นโคออร์ดิเนตเป็นผู้กระทำโดยมีอุดมการณ์ชัดเจน ต้องยอมรับ อย่าเบี่ยงไปประเด็นยาเสพติดเพื่อเอาใจนาย

 

ประเด็นคนหายมีจริงบางส่วนที่ถูกอุ้ม แต่ตอนนี้บางคนไปอยู่มาเลเซียเพื่อเข้าร่วมกองกำลังแล้วทำให้หลงประเด็นทั้งประเทศ โดนหลอกทั้งนายกรัฐมนตรี กลาโหม เอกราชกำลังจะเสียแล้วยังไม่สำนึก ตอนนี้ในพื้นที่ปลอดอำนาจรัฐ ทั้งตำรวจ ทหาร ถดถอยทางความรู้สึกมากสุด ไทยพุทธตายเหมือนหมาข้างถนน จำนวนไทยพุทธในพื้นที่ตอนนี้เหลือไม่ถึง 90,000 คนจาก200,000 คน ส่วนการฟื้น ศอ.บต. และพตท.43 มันแค่รักษาระดับกินยา แต่ตอนนี้ถึงขั้นต้องผ่าตัดแล้วไม่รู้จะทันหรือไม่ถ้ารัฐบาลยังแต่งตัวไม่เสร็จ ดังนั้นจะรื้อฟื้นอำนาจเหล่านี้เคงแค่สียเงินเปล่า

 

อีกประเด็นคือ ความเป็นเอกภาพเชิงนโยบายและปฏิบัติ ขณะนี้ล้มเหลว พูดไม่เหมือนกัน ส่วนประชาชนก็ไม่เชื่อข้างบนแล้ว ไทยพุทธเริ่มจับอาวุธกันตัวเองและหวาดระแวงระหว่างศาสนา แต่ไม่มีการพูดเรื่องนี้กันเลย นายกฯก็บอกแค่ว่ามอบอำนาจให้คนนั้นคนนี้ไปแล้วจะไม่ยุ่งรายละเอียดอีกถามว่าคนในพื้นที่ว้าเหว่หรือไม่

 

ต่อไปเป็นเรื่องการประชาสัมพันธ์ของรัฐมีหลายหน่วย หลายระดับ แต่ไม่เข้าถึงใจประชาชน ศูนย์ข่าวอิศรา ทำงานถึงลูกถึงคน มีเครือข่ายเชื่อมโยงใยไปทั่วประเทศและระหว่างประเทศในแถบอาเซียน แต่พอศูนย์อิศราทำเรื่องนี้ขึ้นมาก็มีอันเป็นไปอีก เปลี่ยนบุคลากรเยอะแยะ สงสัยว่าการเปลี่ยนแปลงตรงนี้มาจากทำงานดีเกินไปข้ามหน้าเพื่อน อีกกรณีหน่วยงานรัฐไปสะกิดว่าให้เอาออกไปเพราะข่าวที่เสนอเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายตรงข้ามมากกว่าฝ่ายรัฐ เพราะรัฐใช้ไม่เป็น หลายหน่วยเก็บข่าวจากศูนย์อิศราไปใช้ในการทำงาน แต่ศูนย์อิศราขณะนี้กำลังจะล่ม

 

ต่อไปแหล่งข่าวแบบนี้จะหาที่ไหนอีก ท้าเลยว่าต่อไปจะมีกระบอกเสียงของฝ่ายตรงข้ามเพิ่มขึ้น คือ อัลจาซีร่า ถ้ารัฐบาลยังโง่ งี่เง่า ยังหลับอยู่ ต่อไปซีเอ็นเอ็นของแถวนี้จะเกิดขึ้น แล้วเราก็นั่งอ้าปากเหมือนเดิมทำอะไรไม่ได้ เรื่องกฎอัยการศึก บางทีมันมีประโยชน์ แต่ตอนนี้ชาวบ้านหัวเราะ อัยการศึกขี้แมวอะไร ทำอะไรไม่ได้เลย คนตายทุกวัน อะไรก็ไม่ได้ซักอย่าง เลิกเสียดีกว่า ประกาศทำไมให้รำคาญเป็นเงื่อนไขสงครามเปล่าๆ

 

ความจริงเกี่ยวกับเรื่องขบวนการแยกดินแดนเป็นสิทธิของประชนชาวไทยที่ควรจะต้องรู้ ปิดเป็นความลับกลัวอย่างนั้นอย่างนี้จนเพื่อนจะเอาเมืองอยู่แล้วยังไม่สำนึก สิ่งเหล่านี้รัฐบาลต้องทำให้กระจ่าง จะได้ช่วยกันคิด ผมไม่เคยคิดว่าขบวนการแยกดินแดนเป็นต่างชาติหรือเป็นศัตรู แต่ถือว่ามีความคิดที่เป็นตัวของตัวเอง ทำไมจึงคิดอย่างนั้นกระบวนการสันติวิธีสำคัญสุดที่จะต้องดำเนินต่อ แต่เราพูดแต่ปากไม่ได้ทำจริงจัง แค่ลูบหลังอย่างเดียวมันไม่ได้ประโยชน์

 

สิ่งที่รัฐไม่ควรทำเรื่องแรกคือ การแสดงความเห็นให้เป็นเอกภาพ คิดก่อน ไม่ใช่นายกฯพูดอย่าง กองทัพบกพูดอย่าง กลาโหมพูดอย่าง ในพื้นที่เรียกว่าการส่งสัญญาณ แต่การส่งสัญญาณไม่ชัดก็ทำอะไรไม่ได้ ตอนนี้คนคิดว่าสมานฉันท์ก็คือการเลิกบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งผิด เราอ่อนแอเรื่องการบังคับใช้กฎหมายเองแล้วไปโทษสันติวิธีกับสมานฉันท์ ใช้ไม่ได้ ต้องวิเคราะห์ให้ดีว่าอันไหนควรใช้ตบหัว อันไหนควรลูบหลัง ลูกเราบางครั้งก็ต้องตี

 

สองอย่าทำตามกระแสมากเกิน คนดีๆ เจ้าหน้าที่ดีๆที่ตายไม่เคยมีใครยกมาเป็นกระแส มีมากมาย เอ็นจีโอ นักวิชาการนั้น ถ้าผู้ร้ายตายกลับถือเป็นความสูญเสียอย่างหนัก ตอนนี้มันว้าเหว่เต็มที ให้กำลังใจบ้าง มันเป็นอย่างนี้มานานแล้ว

 

000

มูฮำหมัดอายุบ ปาทาน

อดีตบรรณาธิการศูนย์ข่าวอิศรา โต๊ข่าวภาคใต้

เป็นห่วงประเด็นความรู้สึกของคน ความกลัวทำให้คนมีช่องว่างมากขึ้น ไม่กล้าจะพูดจะถาม ตรงนี้สื่อต้องช่วย ในส่วนภาครัฐยังไม่มีการตกผลึกทางความคิดทำให้มีผลต่อการแก้ปัญหาและการวางนโยบาย การที่ในรอบ 3 เดือนเปลี่ยนนโยบายทุกๆอาทิตย์ มันต้องกลับมานั่งคิดเพราะปัญหาภาคใต้มันซับซ้อน พูดมาตลอดว่ามีอยู่ 3 ตัวต้องคิดทำความเข้าใจ ตัวแรกคือมลายู ถ้าไม่เข้าใจจะต่อภาพผิด ตัวที่ข้อสองคือความเป็นประวัติศาสต์คือการเป็นปัตตานี ตัวที่สามคืออิสลามถ้าไม่เรียนรู้ไปมองปัญหาใต้เท่าไรก็ไม่จบ

 

สิ่งที่เรียกว่าทำตามกระแสโดยขาดวิเคราะห์วิจัยก็คือปัญหา นอกจากนี้ยังมีปัญหาการขาดนักคิด มีแต่นักพูดหน้าจอ เช่น กรณีคนหาย พูดกันว่ามีเป็นร้อยคน แต่พอถามแล้วไม่มีข้อมูล ต้องลองดูจริงๆว่าเท่าไหร่ ในอิศราทำข้อมูลดูแล้วมีระดับ 30 คน แต่หายอย่างไรอีกเรื่อง

 

นอกจากนี้ การสื่อสารต้องเปิดพื้นที่มากกว่านี้ เรานิ่งมากเลยที่จะรุกทางการเมือง แต่เขารุกทุกวันเช่นตามร้านน้ำชา การหยุดนิ่งอันตรายเพราะไม่มีความเคลื่อนไหวทางความคิด พอใช้ทหารเขาก็ล่อเราแล้วเราก็พันตัวเอง ดูแล้วเราไม่มีการรุกทางการเมืองในพื้นที่เลยมีแต่รุกพื้นที่

 

อีกข้อที่น่าคิดคือ เรื่องเอกภาพทางความคิดต้องทำอย่างจริงจัง เพราะพูดกันมามากแต่ทำไม่จริง ข้างล่างยังแต่งตัวไม่เสร็จเมื่อข้างบนให้นโยบาย ตรงนี้น่าเห็นใจ และถ้าเอาคนนอกไปสู้ในพื้นที่ก็เหมือนกับตาบอดคลำช้าง ไม่ใช่เตรียมจากกรุงเทพแล้วส่งไปเรียนรู้ที่ภาคใต้ก็ตายทุกวัน

 

การขับเคลื่อนภาคประชาชนก็ต้องทำ สิ่งต้องคิดคือในสถานการณ์ความรุนแรงจะทำอย่างไร จะขับเคลื่อนแบบไหน นอกจากนี้นักความมั่นคงไทยไม่มีเซนส์ในการมองปัญหาความรุนแรงในอนาคตเลย ส่งสัญญาณไม่ได้เลย เมื่อมีอันตรายครั้งหนึ่งก็บอกไม่ได้เลยว่าจะเกิดสัญญาณแบบไหนในอนาคตอีก พอเกิดแล้วก็ตอบไม่ได้อีกว่าใครทำ นี่สำคัญมากสำหรับทั้งประเทศเลย ถ้าเกิดในอีสาน ในเหนือบ้างจะเป็นอย่างไร

 

เรื่องสื่อ ถ้าจะทำข่าวภาคใต้ต้องเสนอความจริงทุกด้าน เพื่อให้เกิดความจริงและต้องตั้งคำถามคำว่าทำไมให้มาก และสุดท้ายที่ต้องทำให้มากคือ เฝ้าระวังเชิงความรู้อย่างที่ ผศ.ดร.ศรีสมภพ ทำ ต้องเก็บไว้ในข้อมูล สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สื่อต้องเป็นของคนสามจังหวัดโดยตรงด้วยเพื่อถ่ายทอดสู่สาธารณะ แล้วสื่อสารในภาษาที่เขาเข้าใจ เช่น ใบปลิวภาษามลายูที่รัฐร่างกับทางผู้ก่อการร่างตอนนี้ใช้ภาษามันคนละชั้นกัน

 

อีกประเด็นคือเรายังไม่เคยศึกษากระบวนการคิดของผู้ก่อการ ทำให้ไม่ตกผลึกจึงวางกรอบไม่ได้เลย วันนึงผลุบๆโผล่ที่โน่นนี่ ทำไมเป็นเช่นนั้นต้องศึกษาแล้วต้องอธิบายในสื่อเพื่อให้คนในจังหวัดอื่นๆรู้ สิ่งที่เกิดในภาคใต้ไม่ใช่ธรรมดา มันเป็นอาชญากรรมเชิงอุดมการณ์

 

มีคนตั้งคำถามว่าผู้ก่อการทำไมฆ่าผู้บริสุทธิ์ เขาอธิบายได้หมด ที่สำคัญคือพื้นที่ในการนำเสนอสื่อสันติภาพตอนนี้มันยังน้อย เรียกร้องว่าทีวี วิทยุต้องทำด้วย ต้องทำบนพื้นนฐานความจริง ข่าวระเบิด การยิงกันก็ต้องเสนอ แต่ต้องเสนอรอบด้านด้วย

 

อีกอย่างคือบทบาทของนักศึกษา เงียบฉี่ ต้องทำเป็นประเด็นแรก ที่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยลงไปช่วยภาคใต้ อันนี้ดีเพราะเป็นการเปิดพื้นที่ในการศึกษา

 

ประเด็นสุดท้ายคือเราต้องช่วยกัน ถ้าคิดว่าศูนย์ข่าวอิศราเป็นสิ่งที่ดี ใครมาทำไม่สำคัญ ใครมาทำศูนย์อิศราไม่ใช่ประเด็นหลัก แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่การรักษาอัตลักษณ์ การเปิดพื้นที่ให้คนได้ใช้ศูนย์นี้ให้เกิดประโยชน์ต่อสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้วไปสร้างความเข้าใจให้กับคนในพื้นที่อื่น หลักคิดตรงนี้ต้องมาก่อน

 

000

พระมหาชรัช อุชุจาโร

รองเจ้าคณะจังหวัดปัตตานี

มีข่าวลือหรือใบปลิวเยอะมากในพื้นที่ ข่าวการโจมตีวัดช้างไห้ก็มี มีจริงบ้างก็ลือบ้าง อย่าเชื่อมากแต่ต้องไม่ประมาท การที่สื่อลงข่าวไม่มีข้อมูลสร้างความเสียหายมันทำให้คนกลัวมาก

 

อยากชื่นชมรัฐบาลนี้คือคำขอโทษ เป็นแนวทางสุภาพบุรุษ ในทางศาสนาก็ควรยกย่องสรรเสริญ เรื่องนี้ทำถูกแต่ไม่ถูกกับคน ความเป็นผู้นำแบบนี้ต้องทำแต่เมื่อทำไม่ถูกกับคนก็ถูกมองเป็นเรื่องเล่นๆ เพราะสิ่งมีค่าพอให้กับคนไม่มีค่าก็ไม่มีความหมาย

 

ฝากถึงผู้ใหญ่ในบ้านเมืองมีปลัดอำเภอโดนลอบยิงเผารถ แล้วเขายิงสู้ เขาลงพื้นที่ไปด้วยอุดมการณ์แต่ถึงตอนนี้ก็ไม่มีใครจัดรถใหม่ให้เลย เขาต้องไปทำงานจากแถวๆข้างวัดช้างไห้ไปหนองจิกกว่า 20 กิโลเมตรด้วยอุดมการณ์แต่ไม่มีใครให้กำลังใจเลย อยากให้ช่วยดูแลผู้น้อยที่เดือดร้อน ทั้งนี้ การช่วยเหลือดูแลช้ามาก ขั้นตอนเยอะ น่าสงสาร ข้าราชการที่ถูกยิงฆ่ารายวันได้รับการช่วยเหลือน้อยมากแต่กับผู้ก่อการร้ายกลับช่วยทุกอย่าง ในพื้นที่เราคิดกันอย่างนี้จริงๆ

 

อาตมาพูดอยู่เสมอ เรื่องนโยบายการศึกษาในสามจังหวัด จะทำอย่างไรให้เป็นเอกภาพ ตอนนี้ค่อนข้างมีความรู้สึกแปลกแยกไปเยอะมก ความสนิทสนมรู้จักกันแทบไม่มีแล้ว น่าเป็นห่วงเพราะแยกกันเรียน การเรียนมาด้วยกันสนิทกันแม้ทะเลาะกันก็แก้กันได้ง่าย

 

จุดมุ่งหมายคือจะทำอย่าไรให้รักความเป็นชาติ รักความเป็นสถาบันพระมหากษตริย์ ตรงนี้เป็นช่องว่างช่องโหว่มาก ผู้หลักผู้ใหญ่ นักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชนทั้งหลายควรจะมาช่วยตรงนี้บ้าง

 

อีกรื่องคือ การฟื้น ศอ.บต. คิดว่าดี ที่เคยทำมามันสงบ แต่พอมาฟื้นใหม่มีคนคิดในทางกลับว่า ลองทบทวนดูว่าที่สงบตอนศอ.บต.รุ่งรืองมันเพราะอะไร พอยุบทำไมคนต้องลุกฮือต่อต้านอำนาจรัฐ ความรู้สึกในการต้านอำนาจรัฐเหมือนฝังลึกไปแล้ว อันนี้มองมุมกลับว่า ศอ.บต.สร้างหรือใส่อะไรก่อนนี้แล้วมาแตกกระจายยุคหลัง อันนี้คิดจากมุมมองส่วนตัว นอกจากนี้ถ้าจะมีคณะกรรมการในพื้นที่ก็ฝากพระเข้าไปในคณะกรรมการด้วยเพื่อเป็นตัวประสาน ในพื้นที่พระไม่เล่นการเมืองไม่ได้เพราะต้องเรียนรู้เพื่อไปเสริมเติมต่อป้องกัน หลายรื่องหลายอย่างพระก็ปรับทุกข์กันเสมอ

 

อีกเรื่องคือสิทธิในพื้นที่ส่วนบุคคล แม้แต่ในวัดตอนนี้ยังถูกรุกราน เช่น วัดหนึ่งในยะลา เลี้ยงหมาตัวใหญ่ไว้เยอะ วันดีคืนดีก็มีหนังสือมาบอกห้ามเลี้ยงเพราะสามจังหวัดเป็นพื้นที่เขาก็เป็นการสร้างความแตกแยกระหว่างศาสนาให้เข้ากันไม่ติดจากผู้ไม่หวังดี

 

เรื่องสิทธิส่วนบุคคลต้องมี นักวิชาการต้องช่วย เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจคนในพื้นที่ถูกบีบทั้งสองด้าน มันอึดอัดและเศร้าใจอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เวลานี้พระไปไหนมาไหน พูดอะไรมากก็ไม่ได้ อันตราย การเดินทางไปไหนมาไหนก็ต้องกลับก่อนมืด แต่อาตมาไม่หนีไปไหนเพราะเกิดในพื้นที่ เป็นเรื่องที่พยายามบอกสังคมว่าเราพอที่จะอยู่กันได้บ้าง ที่รัฐควรทำคือเร่งช่วยผู้บริสุทธิ์ที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน เมื่อขอโทษแล้วต้องช่วยร้อยเปอร์เซ็น และต้องใช้ทั้งพระเดชและพระคุณ

 

000

นายแพทย์แวมะหาดี แวดาโอะ

 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)

เดี๋ยวขับรถไปไหนต้องมีปืน 9 มม.ขึ้นลำไว้ มีตำรวจที่เขาให้มาคุมครอง อยากเรียกว่าขบวนการแบ่งแยกดินแดน และไม่อยากใหทุกคนท้อ คนมันต่างความเชื่อ ประเพณี และศาสนา และบ้านเราบังเอิญที่เชื้อสายไทยนับถือพุทธ คนเชื้อสายมลายูไปนับถืออิสลามแต่เมื่อเห็นอีกฝ่ายผิดและสู้กันจะบอกว่าส็ด้วยเรื่องเชื้อชาติศาสนาไม่ได้ เพราะไม่งั้นก็เอาไปใช้อธิบายสิ่งที่อาเจะห์ อินโดนีเซียไม่ได้ เนื่องจากตรงนั้นเขาเป็นมลายู และอิสลามเหมือนกัน แต่ทะเลาะกันหนัก

 

กลัวว่าทุกคนจะตั้งธงว่าเป็นเรื่องขัดแย้งเพราะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เราชอบว่าอินโดนีเซียหนุนการก่อการร้าย แต่เราไม่เคยไปศึกษาว่าอินโดนีเซียปกครองอย่างไร เพราะมีการพูดหลายร้อยภาษาจากแปดร้อยเกาะ หรือในมาเลเซียก็มีคนอยู่กันได้ทั้งเชื้อชาติอินเดีย มลายู จีน

 

ส่วนถ้าบอกว่าสื่อถูกคุกคาม ในฟิลิปปินส์ถูกฆ่าไปแล้ว 37 คน ทนายตายไปแล้ว 14 คน พอเทียบกับสถานการณ์ในไทยแล้วเราก็อุ่นใจขึ้นเหมือนกัน ดังนั้น เชื่อว่ามีทางออก เราต้องยอมรับความจริงว่า การที่พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ไปขอโทษไม่ได้ขอโทษกับโจร เขาขอโทษกับประชาชนผู้ถูกกระทำจากความอยุติธรรมในรัฐบาลที่แล้ว เช่น กรณีของผม กรณีฆ่าตัดตอน  กรณีกรือเซะ กรณีตากใบ

 

ต้องยอมรับความจริงทางประวัติศาสตร์ว่าสยามสร้างชาติโดยรวมพื้นที่หลายส่วน ไม่รับไม่ได้ เหมือนการที่มาเลเซียมีเสากลางรัฐเคดาห์ซึ่งเป็นเสาที่แสดงขอบเขตพื้นที่สยามในอดีต เขาก็ยอมรับและไม่มีคนสยามใดเห็นว่าเป็นปัญหาต้องเอาดินแดนคืน สิ่งนั้นคือสิ่งที่แน่นอน เราเคยมีปัญหาแบบนี้มาแล้ว ในพ.ศ. 2490 มีปัญหาเรื่องแบ่งแยกดินแดนหนักมาก ฮะยีสุหลงเสนอทางออกในการแก้ปัญหาให้มาคุยกัน จนมีข้อเสนอ 4 ข้อที่ไม่มีคำใดระบุให้แบ่งแยกดินแดน เพียงแต่ขอให้รักษาอัตลักษณ์มลายู มีศาลชารีอะห์ และใช้ภาษามลายูได้ แต่รัฐบาลขณะนั้นบอกว่าเป็นเรื่องร้ายแรงทำไม่ได้  ทั้งที่ประเด็นเดียวกันนี้เมื่อ 2 ปีก่อน นายอานันท์ ปันยารยุน ก็เสนอรัฐบาลด้วยข้อเสนอแบบเดียวกันกับฮะยีสุหลง แต่โชคดีไม่ใช่ฮะยีอานันท์ ไม่งั้นคงโดนไปแล้ว

 

ความจริงข้อเสนอตอนนั้นเรารู้สึกแรง แต่ถ้าตอบรับในตอนนั้นก็คงไม่เกิดเหตุการณ์เหมือนตอนนี้ ปัญหาอีกครั้งคือ ประมาณช่วงหลัง พ.ศ.2505 สมัยจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ไม่ต้องการความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ทำให้เริ่มเกิดกลุ่ม พูโล บีอาเอ็น จีเอ็มไอพี จนรวมตัวกันเป็นเบอร์ซาตู ซึ่งคนที่ก่อเหตุมี 5 เปอร์เซ็นเท่านั้นไม่เกี่ยวกับเราเลย แต่ถูกมองว่าทั้งหมดเป็นเนื้อเดียวกัน

 

ส่วนประเด็นการฟื้น ศอ.บต เห็นว่าเหมือนวัคซีน คือการป้องกันไม่ให้คนอื่นตอนนี้เป็นด้วย ส่วนการปราบคือกองทัพ การก่อตัวของผู้ก่อการร้ายมาจนถึงตอนนี้ได้มันต้องก่อตัวมา 10-20 ปี มาแล้ว ข่าวกรองไปนั่งทำอะไรกันอยู่ ตอบไม่ได้ ทุกคนอยากเอาคนผิดมาลงโทษแต่จะจับใคร ดร.วัน อับดุลกาเดร์ เป็นผู้นำจริงเหรอ เขาบอกแค่ว่าเคยเป็นแนวร่วมในอดีต แต่ตอนนี้เขาแค่อยากจะคุย

 

นอกจากนี้ ตั้งแต่ ปี 2546 แนวนโยบายรัฐที่วางไว้เข้าทางโจรหมด ในปีที่ผมถูกจับ มีประชุมวิชาการแบบวันนี้ที่โรงแรมรอยัลปริ้นเซ็ต มีการลงทะเบียน ตำรวจเอาเอกสารนั้นมาเป็นหลักฐานบอกว่า เป็นการประชุมแนวร่วมเจไอ พอในศาลเอารูปถ่ายให้ดู มีทั้งพระ ทั้งหมอประเวศ วะสี มาร่วมประชุม สรุปคงเป็นเจไอกันหมด

 

ปี 2546-47 เหตุการณ์ก็เกิดขึ้น ขบวนการแบ่งแยกดินแดนมีหรือไม่ ตอบว่ามีจริงๆ และโหดจริงๆด้วย เขาบอกว่าทุกคนที่เป็นสนช.ให้ระวังด้วย เพราะแต่งตั้งโดยทหารถือว่าเป็นพวกทหาร

 

ส่วนทางเจ้าหน้าที่ สัปดาห์ก่อนมีการค้นบ้านหมู่บ้านหนึ่ง ทหารอีสาน 2 คน ค้นบ้านหนึ่งมีแต่พี่เลี้ยงกับเด็ก 3-4 คน เด็กก็กลัว เขาเปิดประตูเองไม่ได้ถอดรองเท้าเข้าห้องนอนไปเจอกระเป๋าใบใหญ่ ค้นไปไปเจอนามบัตร เป็นภาษาอังกฤษหมด มีโลโกหน่วยงานไทยหน่วยหนึ่งแต่เขาไม่รู้และทหารอ่านภาษาอังกฤษไม่ออก ก็คิดว่าไปต่างประเทศบ่อย น่าจะเป็นผู้ก่อการร้าย เลยเอาเด็ก 7 ขวบมาซักถามว่าไปต่างประเทศบ่อยหรือ เด็กตอบว่าเคยไปบ้าง คือไปมาเลเซีย เขาก็สรุปใช่เลย แต่พอดีผู้พันท่เป็นายเข้ามาตรวจ เขาก็บอกที่มึงค้นคือบ้านหมอแว ให้รีบออก เดี๋ยวเป็นเรื่องใหญ่ เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยอุ้มทีนึงแล้ว ไม่มีทั้งหมายค้น หมายจับ มันก็เกิดขึ้นจริง ตำรวจที่อุ้มผมก็มีมลายูนับถืออิสลามด้วย

 

สิ่งที่อยากบอกกับรัฐใหม่ในฐานะ สนช.นั้น ประนีประนอมถูกต้องแล้ว เพราะเขาถูกกระทำจากทั้งสองฝ่าย แต่เรื่องปราบเร่งไม่ได้ มะเร็งมันเป็นมานาน 20 ปีแล้ว ทำอย่างไร อยากให้ใช้นโยบายลดเงื่อนไขทั้งหมด เพราะการขอโทษแค่สองนาทีแล้วอยากให้ทุกอย่างสงบไม่ได้ ขอโทษแล้วคนที่สั่งเคลื่อนย้ายคนที่ สภ.อ.ตากใบถูกลงโทษรือยัง คนที่อุ้มนายแพทย์แวมาหะดี ถูกลงโทษหรือยัง คนที่อุ้มทนายสมชาย นีละไพจิตรและที่ถูกอุ้มอีกมากมายถูกลงโทษหรือยังผู้ซ้อมกำนันโต๊ะเด็ง 7 วัน 7 คืน ถูกลงโทษหรือยัง คนเหล่านั้นปัจจุบันก็มีตำแหน่งสูงๆบ้านเมืองนี้ด้วย คำตอบเหล่านี้มีหรือยัง

 

เรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่ไปทำลายธรรมชาติและระบบนิเวศของเขา ทำลายหญ้าทะเลและแหล่งปะการังจนต้องย้ายไปทำประมงพื้นบ้านที่รัฐกลันตัน  มาเลเซียได้รับการแก้ไขหรือยัง ที่ดินที่ได้รับจากบรรพบุรุษที่ใช้ทำสวนกว่า 50 - 60ปี ที่เทือกเขาบูโด วันดีคืนดีป่าสงวนก็ไปทับที่ ตกลงใครรุกใคร ประชาชนรุกที่ดินของรัฐถูกลงโทษ แต่รัฐรุกที่ดินของประชานไม่เคยถูกลงโทษ ภาษามลายูเขายังมีสิทธิใช้เป็นทางการหรือไม่ คลื่นความถี่ในอากาศเป็นทรัพยากรธรรมชาติ เขาควรได้ใช้เต็มที่ มาตรา 40 ตามรัฐธรรมนูญเก่า คนในพื้นที่ได้ใช้หรือยัง ทำไมมาเลเซียมีทีวี ช่องจีน อินเดีย มลายูได้ แล้วทำไมในสามจังหวัดภาคใต้จะมีทั้งจีน มลายู ไทย 3 ภาษาไม่ได้ มันไม่ได้เป็นมิติของความมั่นคงเลย อยากจะเห็นทีวีที่เป็นภาษาพม่า เขมร เหนือ อีสาน ใต้ สิ่งเหล่านี้ต้องเกิด

 

มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ตั้งมาแล้ว 3 ปี อาคารสักหลังก็ยังไม่มี แพทย์ที่มีประมาณ 30 -50 คนในพื้นที่เพียงพอหรือไม่ และคิดที่จะให้การได้รับการบริการอย่างเต็มที่หรือไม่ จะทำหรือไม่หากให้คนในพื้นที่รับราชการสัก 50 เปอร์เซ็นต์ก็ยังดี ตอนนี้มีเพียง16 เปอร์เซ็น ตรงนี้จะอธิบายอย่างไรในขณะที่อดีตเขามีส่วนในการดูแลตัวเอง 100 เปอร์เซ็นต์เมื่อ 100-200 ปีก่อน

 

จะอธิบายอย่างไรกับการที่นราธิวาสมีทะเล 52 กิโลเมตร  ที่มีพรุใหญ่อันดับ 3 ของโลก มีภูเขา ทุ่งนา มีทุกอย่างแต่รายได้ต่อประชากรจนที่สุดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่าลืมว่าเขามีประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ อัตลักษณ์ แล้วกระบวนการแยกดินแดนก็ใช้เงื่อนไขเหล่านี้ปลุกระดม แต่ถ้าประชาชนบอกว่าการรวมกันเป็นรัฐสยามแล้วพอใจ สุขสบาย อุ่นใจ เชื่อว่าแม้จะมีการปลุกระดมอย่างไรเขาก็ไม่ตาม

 

วันนี้แม้ว่าประชาชนเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ไม่ร่วมมือกับรัฐก็ไม่ได้หมายความว่าคนเหล่านั้นคือแนวร่วม อย่าไปใช้สไตล์อเมริกา ที่ใครไม่ปราบบินลาเดนคือผู้ก่อการร้ายทั้งหมด ที่ภาคใต้ต้องดูทุกมิติ สรุปคืออยากให้รัฐบาลแยกกลุ่มบุคคลคือหนึ่งผู้ก่อการ ไม่ว่าอะไรถ้าจะต่อสู้จับกุม จะตายหรือไม่เพราะเป็นสิ่งที่เขาตัดสินใจจะไปในอุดมการณ์ของเขาอยูแล้ว สองนักเคลื่อนไหว เอ็นจีโอ นักสิทธิมนุษยชน ให้พิจารณาให้ดีเพราะมันก้ำกึ่ง รัฐบาลต้องไม่มองเป็นแนวร่วมกระบวนการ กลุ่มที่สามนักการศาสนาหัวก้าวหน้าที่เริ่มมีมากมายในพื้นที่ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลยกับเหตุการณ์ที่เกิดทั้งหมด และสุดท้ายคือประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องได้รับการดูแลอย่าให้เขารู้สึกว่าเป็นประชาชนชั้น 2 เหมือนที่เขารู้สึกมาตลอด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท