Skip to main content
sharethis


นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ภาพจาก www.thaingo.org


 


ประชาไท—8 ธ.ค. 2549 นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้อำนวยการมูลนิธิกระจกเงา และแกนนำเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหารแจง ไม่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของนายชนาภัทร์ ณ นคร แกนนำเครือข่ายประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ยันการชุมนุมค้านเผด็จการทหารเป็นสิทธิของประชาชนซึ่งรัฐบาลนี้ต้องทำความเข้าใจ


 


นายสมบัติ บุญงามอนงค์ เปิดเผยกับประชาไทถึงกรณีที่ฝ่ายความมั่นคงออกมาระบุถึงการเคลื่อนไหวต้านรัฐประหารที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 10 ธ.ค. นี้ โดยให้น้ำหนักไปที่กลุ่มของนายชนาภัทร์ซึ่งประกาศว่าจะมีการรวมตัวกันมากกว่า 30,000 คน โดยนายสมบัติปฏิเสธว่าไม่ได้มีความเกี่ยวข้องหรือร่วมมือกับกลุ่มดังกล่าวแต่อย่างใด พร้อมชี้แจงว่ากลุ่ม 19 กันยามีผู้ประสานงานทั้งสิ้น 5 คน พร้อมอาสาสมัคร ประมาณ 20 คน ซึ่งได้เปิดเผยชื่อและประวัติของผู้ประสานงานไว้ที่หน้าเว็บ http://www.19sep.org/ แล้ว เนื่องจากคิดว่าสังคมกำลังตั้งคำถามกับกลุ่ม 19 กันยาอยู่พอสมควร


 


"หนึ่งเลยนะครับคือไม่เกี่ยวข้อง สองก็คือของตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของชนาภัทร์ คมช.และกลุ่มไทกรในช่วงที่ผ่านมา


 


ผมคิดว่าทั้งสามสี่ตัวละครนี้มีความเกื้อกูลกันในฐานะคนของคนที่เล่นละครบนหน้าสื่อ กรณีคุณไทกรนี่ชัดมากเพราะว่าไม่เคยมีการแสดงออกหรือท่าทีใดๆ เกี่ยวกับการต่อต้านการรัฐประหารหรือเหตุการณ์หลังการรัฐประหารเลย แล้วก็ช่วงชิงใช้พื้นที่สื่อโดยการทำเหมือนระเบิดพลีชีพ โดยการบอกว่าเพื่อนตัวเองไปรับทุน รับเงินเคลื่อนไหวมา แล้วก็กระโดดเข้ามาประกาศเข้าร่วมการชุมนุมในวันที่ 10 แล้วก็แย่งพื้นที่ของสื่อทุกวัน แล้วก็ใช้ความหวือหวาของกลิ่นที่สกปรกเป็นตัวในการดึงดูดทำให้สื่อและสังคมเกิดความเบื่อหน่าย กรณีคุณชนาภัทร์ก็เช่นกัน คุณชนาภัทร์มีจุดอ่อนมากตั้งแต่การออกมาเรียกร้องเมื่อวันที่ 1 พ.ย. แล้วเพราะว่าแกมีบุคลิกแปลกๆ และต่อมาการเคลื่อนไหวของแกก็มักจะประกาศว่าจะมีคนมาร่วมเยอะ แล้วตอนที่ไปพบประธานคมช.มันก็ไม่เป็นมติอะไรเลย โผล่มาก็บอกว่าจะหยุดการชุมนุม ทั้งหมดนี้ต้องมีคนกลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มที่สมรู้ร่วมคิดกัน หรือไม่ก็เป็นนักฉวยโอกาสทางการเมือง"


 


ทั้งนี้นายสมบัติกล่าวถึงกรณีที่หน่วยข่าวกรองระบุว่ากลุ่ม 19 กันยาต้านรัฐประหารนั้นมีนายใจ อึ๊งภากรณ์เป็นแกนนำในช่วงแรกว่า เป็นเรื่องที่สะท้อนถึงคุณภาพของหน่วยข่าวกรองไทย และว่าการที่หน่วยข่าวกรองระบุว่าในช่วงแรกของการเคลื่อนไหว นายชนาภัทร์ได้พยายามเข้ามาร่วมกิจกรรมด้วยนั้นไม่เป็นความจริง


 


"ไม่เคยประสานกันครับ มีคนที่เข้ามาแลกเปลี่ยนไนเว็บไซต์เสนอว่าน่าจะคุยหรือเคลื่อนไหวร่วมกัน พยายามจะชวนว่ากลุ่มสองสามกลุ่มน่าจะร่วมกิจกรรมกัน แต่เราเห็นว่าเรายังไม่จำเป็นที่จะต้องร่วมกันและยังไม่แน่ใจว่าประเด็นที่เขาต่อสู่คือประเด็นอะไรแต่ก็ไม่ได้ขัดอะไร แต่ก็คือว่ายังมีพื้นที่สำหรับการเคลื่อนไหวอยู่ ถ้าจะต่างคนต่างจัดกิจกรรมกันเอง ผมก็ไม่ได้ขัดแย้งอะไร"


 


นายสมบัติยังได้โต้แย้งคำให้สัมภาษณ์ของพล.ท.สพรั่ง กลัยาณมิตรที่กล่าวถึงการชุมนุมเคลื่อนไหวในวันที่10 ธ.ค. ที่จะถึงว่าหากเป็นยุค รสช. ก็คงไม่มีโอกาสทำได้ ว่าการคัดค้านเผด็จการนั้นเป็นสิทธิของประชาชน


 


"จริงๆ ในยุคของรสช. ก็มีการชุมนุมกันอย่างต่อเนื่องและใหญ่กว่านี้ด้วย มีความจริงอยู่เรื่องหนึ่งที่เขายังไม่พูดก็คือว่าถ้าเขา รัฐประหารก็คือพวกเผด็จการเหมือนกันและจุดจบของรัฐประหารก็เหมือนกันก็คือถูกประชาชนขับไล่


 


ส่วนโอกาสของประชาชนนั้นมันไม่ใช่โอกาส แต่มันเป็นสิทธิ เขาต้องเข้าใจคำว่าสิทธิก่อน เพราะจะเป็นผู้นำประชาธิปไตยที่สูงส่งกว่ารัฐบาลชุดที่แล้วเขาก็ต้องเข้าใจได้ดีกว่า โดยส่วนตัวผมคิดว่าเขามีความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยน้อยมาก แล้วก็เขาอยู่ในช่วงของการอดทน ต่อสู้กับตัวเองว่าเขาจะสามารถอดทนได้หรือเปล่า จะไม้ให้เขี้ยวงอกออกมาได้หรือเปล่า"


 


สำหรับความคืบหน้ากรณีระดมทุนเพื่อซื้ออุปกรณ์เครื่องเสียงเพื่อใช้ในการชุมนุมวันที่ 10 ธ.ค.นั้น นายสมบัติกล่าวว่าขณะนี้ได้รับอุปกรณ์เพียงพอสำหรับการใช้งานแล้ว หากยังมีผู้ประสงค์จะบริจาค หรือร่วมสนับสนุนกิจกรรม ขอให้บริจาคหรือสนับสนุนในรูปของอุปกรณ์สำหรับการทำสื่อ เช่น ป้ายผ้าหรือเอกสารวิชาการต่างๆ ที่จะใช้เผยแพร่รวมถึงการให้ยืมพาหนะในวันที่ทำกิจกรรม คือทุกๆ วันอาทิตย์ ซึ่งนายสมบัติระบุว่าแนวทางการเคลื่อนไหวของกลุ่ม 19 กันยาจากนี้ไปก็คือการชุมนุมกันทุกวันอาทิตย์ และขณะนี้ได้ริเริ่มโครงการจัดรายการวิทยุออนไลน์ ทุกวัน และจะเปิดให้ผู้ฟังสามารถโทรศัพท์เข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย


 


"ตอนนี้มีความพร้อมแล้วครับ คิดว่าพอแล้วครับ อุปกรณ์ที่มาตอนนี้เพียงพอแต่ถ้าจะมีคนจะบริจาคอุปกรณ์อีกเราอยากได้พวกอุปกรณ์ที่ทำป้ายผ้าทำเอกสาร ทำสื่อวิชาการ นี่คือสิ่งที่เราไม่มีอยู่ในมือ คือการทำสื่อวาการไปแจกให้กว้างขวางที่สุด หรือสิ่งที่เราขาดที่สุดก็คือพาหนะ ที่จะไปทำกิจกรรม อาจจะเป็นการให้ยืมรถกระบะในการทำกิจกรรม"


 


นายสมบัติคาดการณ์ว่าผู้เข้าร่วมกิจกรรมในวันที่ 10 ธ.ค. ที่จะถึงนี้ น่าจะมีประมาณ 1,000 คนขึ้นไป สำหรับแผนรับมือความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นนั้น นายสมบัติกล่าวว่าทุกๆ ครั้งที่มีการชุมนุมก็จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาดูแลความสงบ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net