อนุกก.สิทธิฯ ชี้ ชุมนุม 10 ธ.ค. เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 3

ประชาไท-7 ธ.ค. 49 เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. คณะอนุกรรมการว่าด้วยสิทธิเสรีภาพทางความคิดเห็น ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้จัดประชุมเรื่อง "ขอบเขตสิทธิเสรีภาพตามมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ปี 2549" โดยร่วมหารือกับหน่วยงานต่างๆของรัฐและองค์กรเอกชน ซึ่งได้แสดงความคิดเห็นกรณีการจัดชุมนุมในวันที่ 10 ธ.ค. และมีความเห็นพ้องกันว่า รัฐบาลและคมช.ไม่ควรวิตกกังวลหรือห้ามปรามการชุมนุมครั้งนี้ เพราะการชุมนุมถือว่าเป็นสิทธิเสรีภาพตามมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่สามารถกระทำได้ และรัฐบาลควรจะคุ้มครองและรับประกันความปลอดภัยของผู้ร่วมชุมนุมด้วย

 

พ.ต.อ.วรพงษ์ ฟูตระกูล รองผู้บังคับการกองนิติการสตช. กล่าวว่า การแสดงความเห็นอย่างเสรี ประชาชนสามารถทำได้ทุกอย่าง ตราบเท่าที่ไม่ก้าวล่วงประมวลกฎหมายอาญา เพราะการปิดกั้นการแสดงความเห็น ก็เหมือนกับเราไปกันไอน้ำของหม้อน้ำเดือดที่สักวันจะเกิดการระเบิด อยากฝากทหารว่าอย่ากลัวเงาของตัวเอง เขาจะทำอะไรก็ให้ทำไป คนมาชุมนุมมาเพื่อแสดงเจตนารมณ์ของตัวเองซึ่งการทำเช่นนั้นไม่สามารที่จะไปล้มล้างรัฐบาลหรือ คมช.ได้ ทหารก็ทำหน้าที่เพียงดูแลสถานการณ์ ถ้าเขามีเจตนาไม่บริสุทธิ์ก็ค่อยมาว่ากันที่หลัง
 
"ที่ผ่านมารัฐบาลในอดีตพยายามให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่างกฎหมายเพื่อสกัดกั้นการชุมนุม เพราะขณะนั้นมีการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลมาก โดยจะให้ร่างกฎหมายมีเนื้อหาว่า การชุมนุมจะทำได้ต้องขออนุญาต แต่ทางกองนิติการไม่ได้ร่างให้เพราะเราไม่ใช่เนติบริการ และเห็นว่ามันกลายเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพ กฎหมายจึงยังไม่สามารถผ่านไปได้" พ.ต.อ.วรพงษ์ กล่าว
 
นายวิชช์ จีระแพทย์ อธิบดีกรมช่วยเหลือทางกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการสูงสุด กล่าวว่า สิทธิเด็ดขาดของพลเมืองและการเมืองเราจะมีข้อยกเว้นได้ 3 กรณีที่แต่ละประเทศสามารถที่จะยกเว้นในความเสรีภาพในบางช่วงได้ ประเด็นที่หนึ่งคือ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงระหว่างประเทศจำเป็นต้องระงับสิทธินั้น ประเด็นที่สอง เพื่อศีลธรรมดีของประชาชนในบางช่วงก็จำกัดสิทธิได้ และประเด็นที่สาม เพื่อสุขภาพอนามัยที่ดีของประเทศนั้นๆ ใน 3 กรณีนี้ที่กฎบัตรสหประชาชาติยินยอมให้เราออกกฎหมายยกเว้นได้

 

ด้านนางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ คณะอนุกรรมการฯ กล่าวว่า การที่ทหารส่งสัญญาณไม่อยากให้มีการชุมนุมทำให้เกิดผลลบ แม้กระทั่งในสถานศึกษาได้รับแจ้งว่า อธิการบดีสั่งให้ยกเลิกการเสวนาที่เกี่ยวกับประเด็นทางการเมือง เพราะกลัวทหาร จึงอยากให้ คมช.และรัฐบาลทำให้เกิดความชัดเจนว่ามาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ในการแสดงความคิดเห็นประเด็นทางการเมืองทั้งในและนอกการศึกษาควรทำได้ เพราะการห้ามเท่ากับเป็นการสะสมความไม่พอใจให้มากขึ้น ซึ่งไม่ปลอดภัยและไม่เป็นผลดีต่อใครทั้งสิ้น
 
"จากประสบการณ์การที่ได้ร่วมชุมนุมหลายครั้งพบว่า หากมีตำรวจและทหารเข้ามาคุ้มกันก็จะไม่มีเรื่องเกิดขึ้นเว้นแต่จะมีการสร้างสถานการณ์เพื่อหวังปราบปรามประชาชนเท่านั้น" นางประทีป กล่าว
 

ในขณะเดียวกันนายจรัล ดิษฐาอภิชัย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ควรให้ความสำคัญด้านสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นและขจัดอุปสรรคที่กระทบต่อการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วยการยกเลิกกฎอัยการศึกในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และยกเลิกประกาศ คปค.ที่เป็นอุปสรรคในการใช้สิทธิของประชาชนโดยด่วน เนื่องจากหากไม่มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นแล้วกระบวนการการมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ และปัญหาวิกฤติการเมืองก็จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

 

นายจรัล ดิษฐาอภิชัย กล่าวต่อว่า การชุมนุมวันที่ 10 ธ.ค. เชื่อว่าจะเป็นการชุมนุมที่มีเจตนาดี เป็นการแสดงออกถึงความรักในประชาธิปไตยที่กระทำทุกปีเมื่อถึงวันรัฐธรรมนูญ ซึ่งการจะไปห้ามไม่ให้เขามาชุมนุมจึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะเป็นสิทธิเสรีภาพที่ได้คุ้มครองตามมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และตามข้อ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมืองที่ไทยเป็นภาคีสมาชิกอยู่ จึงอยากให้ คมช.เคารพและค้ำประกันสิทธิเสรีภาพนี้ไม่ให้ใครมาแทรกแซงหรือสกัดกั้นไม่ให้การชุมนุมเป็นไปตามเจตนารมณ์หรือความต้องการของการชุมนุม

 

"คณะอนุกรรมการชุดนี้ คณะกรรมการสิทธิฯได้ตั้งขึ้นเพราะขณะนี้ได้มีการร้องเรียนทั้งจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ว่ามีการถูกบล็อก ในเรื่องการแสดงความคิดเห็น สถานศึกษาที่ถูกห้ามไม่ให้มีการเสวนาในประเด็นทางการเมือง แกนนำชาวบ้านที่จะเดินทางไปไหนก็ต้องมีการรายงานให้กับกำนัยผู้ใหญ่บ้านได้รับทราบ แม้แต่คนงานตัดอ้อยนอกพื้นที่ก็ยังต้องถูกสอบถามจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งแนวโน้มลักษณะนี้จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ คณะอนุกรรมการฯ จึงจะต้องเข้าไปตรวจสอบ รวมทั้งทางคณะอนุกรรมการฯจะมีการจัดเวที เพื่อรับฟังว่าสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนยังมีอยู่เหมือนเดิมหรือไม่ และจะได้มีการเชิญหน่วยงานราชการต่างๆมาร่วมกันแสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับขอบเขตสิทธิเสรีภาพว่ามีมากน้อยแค่ไหนให้ตรงกัน" นายจรัล กล่าว

 000

แถลงการณ์

เรื่อง ขอบเขตสิทธิเสรีภาพทางความคิดเห็นตาม มาตรา 3 รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549

 

 

วันนี้ ( 6 ธันวาคม 2549 ) นายจรัล ดิษฐาอภิชัย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการว่าด้วยสิทธิเสรีภาพทางความคิดเห็น ได้เปิดแถลงข่าว ภายหลังการประชุมหารือเรื่องขอบเขตสิทธิเสรีภาพ ตามมาตรา 3 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 โดยปรากฏรายละเอียด ดังนี้

 

การประชุมหารือครั้งนี้ ได้มีการเชิญหน่วยงานและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 และนักวิชาการ เช่น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ สภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาทนายความ อัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการตีความและบังคับใช้รัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพ ที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 3 ว่า "ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้"

 

ผลการประชุมหารือสรุปได้ว่า สิทธิเสรีภาพ ที่ชนชาวไทยเคยมีมาแต่เดิม ซึ่งเคยได้รับการรับรอง คุ้มครองตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายและถือปฏิบัติสืบทอดกันมา ยังคงได้รับการรับรองคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 อยู่ ทั้งในเรื่องการแสดงความคิดเห็น รวมถึงสิทธิในการชุมนุมโดยสงบ และปราศจากอาวุธที่ประชาชนย่อมมีสิทธิมาแต่เดิมอยู่แล้ว แต่การจะไปจำกัดสิทธิดังกล่าวต้องมีกฎหมายบัญญัติยกเว้นไว้โดยเฉพาะ เช่นการชุมนุมนั้นจะต้องไม่ไปกระทบถึงสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น และไม่ไปกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ หรือกระทบต่อศีลธรรมอันดีและสุขภาพอนามัยของประชาชน ทั้งนี้ตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ประชาชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครอง และตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองข้อที่ 19 และ 21 ที่ประเทศไทยลงนามเป็นภาคี

 

ด้วยเหตุดังกล่าว และเพื่อให้สอดรับกับการปฏิรูปทางการเมืองและการร่างรัฐธรรมนูญ    คณะอนุกรรมการว่าด้วยสิทธิเสรีภาพทางความคิดเห็น ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงขอเรียกร้องให้ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ รัฐบาล และสภาความมั่นคงแห่งชาติ ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน ด้วยการเคารพต่อการแสดงออกทางความคิดเห็น และขจัดอุปสรรคที่ส่งผลกระทบต่อการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน ด้วยการพิจารณายกเลิกกฎอัยการศึกทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และยกเลิกประกาศคณะปฏิรูปการปกครอง...(คปค) ที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกฉบับโดยด่วน ทั้งนี้ เนื่องจากหากปราศจากสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น กระบวนการมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ และหากประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการปฏิรูปการเมืองและร่างรัฐธรรมนูญ ปัญหาวิกฤติทางการเมืองก็จะเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ประการสำคัญ ประชาธิปไตยไม่อาจเกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้โดยปราศจากสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน

 

 

รายชื่อคณะอนุกรรมการว่าด้วยสิทธิเสรีภาพทางความคิดเห็น

 

1. นายจรัล  ดิษฐาอภิชัย

2. นางประทีป  อึ้งทรงธรรม ฮาตะ                 

3. นายธนศักดิ์  จงชนะกิจ

4. นายศราวุฒิ  ประทุมราช

5. นางสาวชนกาญจน์  พันธุ์เดิมวงศ์

6. ดร.ธเนศ  อาภรณ์สุวรรณ

7. ดร.ประภาส  ปิ่นตบแต่ง

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท