Skip to main content
sharethis

หมายเหตุ -  เก็บความจากการนำเสนอผลงานทางวิชาการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2549


 


 


บทบาทพระมหากษัตริย์ในฐานะผู้ปกครอง และที่มาแห่งกฎหมายกับความยุติธรรม


ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส


ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ


คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


0 0 0


 


 


แสวง บุญเฉลิมวิภาส


นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือระบอบราชาธิปไตยมาสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเมื่อ พ.ศ.2475 เป็นที่เข้าใจกันมาตลอดว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ แต่มิได้ทรงอาญาสิทธิสมบูรณ์เด็ดขาดเช่นที่มีมาแต่เดิมอีกต่อไป อำนาจปกครองสูงสุดที่เรียกว่าอธิปไตยได้เปลี่ยนมือมาสู่ราษฎร ดังที่ปรากฏในมาตรา 1 แห่งธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ.2475 ว่า


 


"อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของราษฎรทั้งหลาย"


 


อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนซึ่งรวมกันเป็นรัฐ ครอบคลุมอำนาจนิติบัญญัติในการตรากฎหมาย อำนาจบริหารในการบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย และอำนาจตุลาการในการวินิจฉัยพิพากษาอรรถคดี โดยมีพระมหากษัตริย์ในฐานะผู้ทรงเป็นประมุขเป็นผู้ทรงใช้อำนาจทั้งสามนี้แทนประชาชน ดังนั้น ในแง่นี้ พระมหากษัตริย์จึงมิได้เป็นผู้ปกครองและเป็นที่มาแห่งกฎหมายและความยุติธรรมเสียเอง


 


อย่างไรก็ตาม สถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันที่เก่าแก่ก่อนมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2475 หลายร้อยปี และผลจากพระจริยวัตรและพระมหากรุณาธิคุณด้านต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งสอดรับกับประเพณีความเชื่อที่ฝังรากอยู่ในสังคมไทยมาแต่โบราณ ทำให้น่าคิดว่าพระองค์ยังคงเป็นผู้ปกครองสูงสุดและเป็นที่มาแห่งกฎหมายและความยุติธรรมในเชิงอุดมคติและในเชิงสัญลักษณ์อย่างมีนัยสำคัญ


 


เมื่อกล่าวถึงคำว่า "กฎหมาย" ตามคติของสมัยใหม่ เรามักนึกถึงหลักเกณฑ์ที่มีการตราขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรโดยกระบวนการนิติบัญญัติ แต่ในสังคมไทยดั้งเดิมนั้น กฎหมายคือ ธรรม โดยถือกันว่ากฎหมายกับธรรมเป็นเรื่องเดียวกัน แยกกันไม่ได้ แนวความคิดนี้ปรากฏชัดอยู่ในกฎหมายแม่บทดั้งเดิมของไทย คือ คัมภีร์พระธรรมศาสตร์


 


คำว่า "ธรรม" นั้น อาจารย์เกษม ศิริสัมพันธ์ อธิบายว่า ธรรมะคือความสม่ำเสมอของธรรมชาติ ทำให้โลกอยู่ด้วยกันอย่างปกติสุข


 


ในกฎหมายโบราณสิ่งที่แยกกันไม่ได้เลยคือ หลักธรรม กฎหมาย และความยุติธรรม เป็นเรื่องที่พระมหากษัตริย์ไทยได้ยึดถือมาโดยตลอดในการออกกฎหมายทุกระดับ


 


ในส่วนการปกครองนั้นในประเทศไทยถือว่าพระมหากษัตริย์เป็นธรรมราชาในดินแดนพุทธศาสนา เราไม่ได้ยึดถือแบบพราหมณ์ว่าผู้ปกครองเป็นเพียงสัญลักษณ์ แต่เป็นบทบาทธรรมราชา ซึ่งเป็น "มหาชนสมมติ" เพราะศัพท์คำว่าราชาเป็นคำที่ปรากฏในพระไตรปิฎก หมายถึง ผู้ที่นำความสุขใจมาสู่ประชาชน ด้วยธรรมะที่มีอยู่ในพระองค์


 


ในสังคมทุกวันนี้เรามีปัญหาว่า กฎหมายกับธรรมะเป็นเรื่องเดียวกันหรือไม่ แล้วกฎหมายแยกออกจากความยุติธรรมได้ไหม ถ้าดูประเพณีการปกครองสมัยโบราณแล้วสิ่งเหล่านี้คือสิ่งเดียวกันและยังกำหนดด้วยว่าผู้ปกครองต้องลงทัณฑ์ การลงทัณฑ์ต้องกำหนดให้เหมาะสมหลังจากพิจารณาอย่างถูกต้องแล้ว แต่หากมันถูกกำหนดลงโดยปราศจากการตรวจสอบ ทัณฑ์จะทำลายทุกสรรพสิ่ง นี่คือข้อบัญญัติที่ทันสมัยมาก


 


ในเรื่องการพิจารณาคดีก็ไม่ได้แยกกฎหมายและหลักธรรมออกจากกัน ทุกวันนี้เราต้องกลับมาพูดเรื่องนี้กันใหม่ แต่ถ้าดูบทบาทที่พระมหากษัตริย์ได้ปฏิบัติมาโดยตลอดแล้วจะเห็นว่าเราไม่ได้แยกหลักธรรม กฎหมายออกจากัน และนี่คือความลึกซึ้งของพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว


 


 


กิตติศักดิ์ ปรกติ


มีรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับเท่านั้น คือ ธรรมนูญการปกครอง 2475, รัฐธรรมนูญ 2517, รัฐธรรมนูญ 2540 ที่บอกว่า อำนาจอธิปไตย "เป็นของ" ปวงชนชาวไทย ไม่ใช่ "มาจาก" ปวงชนชาวไทย ถ้าพูดอย่างนี้ พระมหากษัตริย์ก็เป็นผู้แทนที่ใช้อำนาจแทนประชาชน แต่อาจารย์แสวงบอกว่าโบราณไม่แยกธรรมะกับกฎหมาย แต่ในเมื่อกฎหมายบอกว่า อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชนมีความสัมพันธ์กันอย่างไร ในแง่การเป็นที่มาของกฎหมายและความยุติธรรม เราจะประสานสองสิ่งนี้ได้อย่างไรในยุคสมัยใหม่


 


ความจริงแล้วเป็นประเด็นที่เถียงกันมาตั้งแต่ ร.5 เพราะเมื่อเราเริ่มเป็นสมัยใหม่ สิ่งแรกที่ปรากฏชัดคือในหลวง ร.5 ต้องรวบรวมบ้านเมืองให้เป็นปึกแผ่น ทำอย่างไรเชียงใหม่ อีสาน ปักษ์ใต้จึงรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกรุงเทพฯ ท่านก็ให้หลักการใหญ่ว่าเป็นเพราะพระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งอำนาจอาชญาสิทธิ์ทั้งปวง ซึ่งการอ้างอาชญาสิทธิ์นี้มาจากหลักดั้งเดิมนั่นเอง


 


แต่นับจากนั้นมาบิดาของกฎหมายไทยสมัยใหม่คือ เสด็จในกรมราชบุรี ก็นำเอาความคิดนี้ไปสานต่อด้วยการอธิบายว่า กฎหมายคือคำสั่งขององค์รัฏฐาธิปัตย์ องค์รัฎฐาธิปัตย์คือพระเจ้าอยู่หัว ส่วนเรื่องความเป็นธรรมมันคนละเรื่องกัน เพราะบางครั้งคำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์อาจมีผู้โต้แย้งว่าไม่เป็นธรรม เมื่อแยกกันระหว่างความเป็นธรรมกับกฎหมายจึงจะชัดเจน เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่แต่ก็กลายเป็นความเข้าใจที่พัฒนาสืบเนื่องมาจนปัจจุบันนี้


 


ผลที่ออกมาจะเป็นอย่างไร บทบาทของพระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นผู้สืบจารีตประเพณีแต่ดั้งเดิมของสังคมไทย ในขณะเดียวกันก็เป็นองค์กรของรัฐ ที่เรียกว่า ประมุขของรัฐสมัยใหม่ จะต้องมีบทบาทอย่างไร อาจารย์แสวงจะช่วยให้ข้อคิดในเรื่องนี้


 


ผมเพียงแต่จะบอกว่ายุคสมัยใหม่เราแยกความคิดสองอย่างนี้ออกจากกัน เมื่อมีคณะปฏิวัติ รัฐประหารลุกขึ้นมายึดอำนาจ เสร็จเรียบร้อยแล้วอำนาจสูงสุดในการปกครองอยู่ที่ผู้ยึดอำนาจ แล้วใช้อำนาจนั้นตรากฎหมาย คำสั่งของผู้ยึดอำนาจก็ย่อมมีผลตามกฎหมาย ศาลไทยก็พิพากษาตามนี้ ด้วยเหตุนี้จึงเกิดปัญหาต่างๆ ตามมาในยุคหลังโดยเฉพาะพระราชบัญญัติจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับคนทั้งหลาย เกิดปัญหาขัดแย้งกันว่าเป็นกฎหมายจริงแต่ไม่เป็นธรรม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันมีบทบาทในแง่ความเข้าใจและความยุติธรรมของกฎหมายอย่างไร ขออาจารย์แสวงอภิปรายอีกครั้ง


 


 


แสวง บุญเฉลิมวิภาส


ปัญหาในระยะหลัง บางทีเราไปรับความคิดจากฝรั่งมาที่แยกกฎหมายกับความยุติธรรมออกจากกัน ก็เลยมีคำกล่าวว่า บางเรื่องเป็นความยุติธรรมตามกฎหมายแต่เป็นความยุติธรรมตามความเป็นจริงหรือไม่อีกเรื่องหนึ่ง ถ้ายึดแบบนี้กระบวนการยุติธรรมจะไปไม่ได้


 


อย่างไรก็ตาม ฝรั่งก็ใช่จะคิดอย่างนั้นไปเสียหมด อาจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ได้อ้างถึง Sir Denning ว่า ถ้ามาเดินบนถนนสายนี้แล้วมันแยกตัวบทกับความยุติธรรมออกจากกันไม่ได้ การนิยาม "ความยุติธรรม" ที่ใกล้ที่สุดก็เพียงว่าเป็นสิ่งที่สมาชิกของชุมชนผู้มีจิตใจที่ถูกที่ชอบเชื่อว่าเป็นธรรม


 


ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้มีพระบรมราชโชวาทในเรื่องนี้ชัดเจนถึงนักกฎหมายว่า.... คนที่ทำงานกฎหมายมากๆ มักติดอยู่กับตัวบทกฎหมาย คำพูดอย่างนี้ดูจะไม่ใช่คำชม แต่เป็นคำติติงนักกฎหมายบางคนที่ถือตัวบทกฎหมายเป็นหลักการในการธำรงรักษาความยุติธรรมซึ่งดูจะเป็นการคับแคบเกินไป และอาจทำให้รักษาความยุติธรรมไว้ได้ไม่เต็มที่ ผู้ทำหน้าที่พิทักษ์ความยุติธรรมหรือความเป็นธรรมจึงควรระมัดระวังให้มากคือ ความจะต้องความเข้าใจให้แน่ชัดว่ากฎหมายนั้นไม่ใช่ตัวความยุติธรรม เป็นแต่เครื่องมือที่รักษาและอำนวยความยุติธรรมเท่านั้น  การใช้กฎหมายจึงต้องมุ่งรักษาความยุติธรรม ไม่ใช่เพื่อรักษาตัวบทกฎหมายอย่างเดียว การรักษาความยุติธรรมในแผ่นดินมิได้มีอยู่ในวงแคบแต่เพียงตัวบทกฎหมาย หากต้องขยายไปถึงศีลธรรมจรรยา ตลอดจนเหตุและผลแห่งความเป็นจริงด้วย...

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net