Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ธนก บังผล                      


 



ภาพจาก www.bazuki.com


 


กระจกบ้านพักรับรองในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี) สั่นจนน่าตกใจ  หลังเสียงปริศนาผุดขึ้นท่ามกลางความมืดมิดของค่ำคืนหนึ่ง                  


 


แรงสั่นสะเทือนทำให้ผู้มาใหม่ทุกคน ซึ่งยังจัดชีวิตกับสิ่งแวดล้อมไม่เข้าร่องเข้ารอยต่างสอบถามกันทั่วว่าได้ยินเหมือนกันหรือเปล่า                


 


กว่าจะรู้ว่าเสียงนั้นเป็นเสียงระเบิดที่ทำให้สะพานข้ามแม่น้ำไปอำเภอโคกโพธิ์ ซึ่งอยู่ห่างเกือบ 20 กิโลเมตร ชำรุดเสียหาย ก็หวุดหวิดจะทำให้ตกข่าวจากอาการตื่นเต้นที่ได้ประสบเหตุการณ์ตรงเป็นครั้งแรกในชีวิต


 


นักข่าวจากส่วนกลาง 6 คนที่อาสาไปทำงานศูนย์ข่าวอิศราได้แต่นั่งมองหน้ากัน ไม่คิดว่า "ความเฉียด" จะย่างกรายมาเร็วและใกล้ขนาดนี้                  


 


ความเงียบกลบประเด็นสนทนาเชิงประชุมข่าวเมื่อครู่จนลืมว่ากำลังถกอะไรกันอยู่ เด็กวัยรุ่นจับกลุ่มขี่มอเตอร์ไซค์วนเวียนหน้ามหาวิทยาลัยจุดประทัดข่มขวัญให้แตกกระเจิงยิ่งขึ้น                 


 


"ไปดูระเบิดกันเถอะ" ใครบางคนชักชวนให้ทำงานหลังเช็คข่าวแน่นอนแล้ว


 


เมื่อคำพูดจบลง  ชีวิตใต้ดวงจันทร์คืนนั้นที่ปัตตานีได้ให้บทเรียนที่สำคัญอีกครั้งหนึ่ง


 


จากวันแรกที่นักข่าวส่วนกลางนัดเจอกันที่สนามบินดอนเมือง เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2548  ใครจะคาดคิดว่าอายุของศูนย์ข่าวอิศราจะมาถึงวันนี้ ผ่านวันคืนและมีคนเข้าไปแวะเวียนเลยผ่านอย่างสม่ำเสมอ


 


แม้กระทั่งเช้าวันนั้นที่สนามบินดอนเมือง ก็ยังไม่มีคำตอบชัดเจนว่าใครจะลงไปอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กี่วัน กี่เดือน นักข่าวรุ่นบุกเบิกในเวลานั้น มีคนเรียกว่าเป็นนักข่าวส่วนหน้า แต่เราเรียกตัวเองว่า "หมาหลง" ยิ่งเสียงระเบิดที่เขย่าขวัญต้อนรับหลังจากลงพื้นที่ไปไม่กี่วัน "หมาหลง" ก็กลายเป็น "หมาเตลิด" ทันที                 


 


จำได้ว่า วันรุ่งขึ้นมีเอกสาร 2 แผ่น มาให้ทุกคนเซ็นชื่อ อ่านจับใจความได้โดยละเอียดแล้วทำให้ขนลุกไปตามๆ กัน 


 


กรุณาเติมคำในช่องว่าง…"ถ้าเสียชีวิตจะมอบผลประโยชน์ให้กับใคร"                


 


มานึกย้อนหลังจากวันนั้นถึงวันนี้ 1 ปีกว่าๆ แม้ว่าเอกสาร 2 แผ่นนั้น จะหมดอายุการรับรองสิทธิไปแล้ว อีกทั้งนักข่าวทั้ง 6 คน ก็ยังมีการนัดพบปะสังสรรค์กันเป็นครั้งคราวเมื่อเวลาที่ว่างจากการรับใช้ทางต้นสังกัดของแต่ละคน


 


เสียงระเบิดในวันนั้นมักจะถูกหยิบยกขึ้นบนโต๊ะสนทนากันอยู่ทุกครั้ง เหมือนรอยแผลเป็นที่ทุกคนอยากเก็บไว้ชื่นชมร่วมกัน และความรู้สึกส่วนตัวของแต่ละคนที่เปิดอกยอมรับตรงๆว่ากลัว เป็นที่ขบขันเสมอ แต่ก็เป็นที่ขบขันเฉพาะเราเท่านั้น เพราะระเบิดลูกนั้นที่ทำลายสะพานข้ามฝั่ง ได้ทำให้มิตรภาพของคนข่าวเป็นมากกว่าเพื่อนร่วมงาน และคงไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่าในช่วงเวลานั้น เราคือผู้ร่วมชะตากรรมเดียวกันอย่างแท้จริง ใช้ชีวิตแบบสุขๆ ทุกข์ๆ ร่วมกัน                 


 


เรื่องเสียงระเบิดและกระจกสั่น เล่าให้ใครฟังก็ไม่สนุกเท่ากับคนที่ร่วมอยู่ในบรรยากาศนาทีนั้น แม้ว่าคืนนั้นไม่ได้มีระเบิดแค่ที่เดียว 


 


"บ้าหรือเปล่าที่ลงไป?"


"จะกลับมาเมื่อไหร่?"


"ไม่กลัวตายหรือยังไง?"


"ดูแลตัวเองด้วยนะ"                 


 


คำพูดเหล่านี้เป็นประโยคที่คุ้นเคยจากสายโทรศัพท์ทุกวัน ทั้งจากคนใกล้ชิดและเพื่อนร่วมงาน ซึ่งส่งผ่านมาให้รับรู้ได้ว่าห่วงใย (แต่กันระเบิดไม่ได้) และจะว่ากันอย่างตรงไปตรงมา มีหลายคนครหาว่านักข่าวหมาหลงจะทำอะไรได้ แต่เมื่อตัดสินใจอย่างแน่วแน่แล้วว่าจะทำงานด้วยใจ  อาสาลงไปสร้างความเข้าใจใหม่ๆ ลงไปในบางหมู่บ้านบางพื้นที่ซึ่งถูกขีดว่าเป็นสีแดง เพื่อปรับทัศนคติของคนไทยทั้งประเทศจากสงครามศาสนาและ แบ่งแยกดินแดน ที่สื่อมวลชนทุกแขนงประโคมข่าว นำข้อมูลเชิงลึกมาวิเคราะห์ สร้างความเห็นอกเห็นใจ ขุดคุ้ยชีวิตของคนที่พ่อแม่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบ หรือที่เรียกว่า "ตายในเทศกาล" ให้สังคมได้รับรู้ว่า นอกจากเสียงปืนเสียงระเบิด ยังมีเสียงร้องไห้ที่แอบซ่อนอยู่... 


 


เบื้องลึก เบื้องหลังของเหตุการณ์ความไม่สงบหลายๆ ครั้ง ความยากง่าย การสื่อสารเข้าถึงชาวบ้านต่างกันตามสถานการณ์ ยิ่งสายตาแห่งความเป็นมิตรแล้ว ไม่ใช่เรื่องที่จะได้มาโดยง่าย เรื่องความเสี่ยง ไม่ต้องพูดถึง เพราะการลงพื้นที่แต่ละวันไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร มารักษาความปลอดภัย                  


 


กระนั้น เมื่อผ่านช่วงเวลาที่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในศูนย์ข่าวอิศราแล้ว สิ่งที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรม ศาสนา ภาษา ขนบธรรมเนียม  อาหารการกิน ความคิดความอ่านของคนในพื้นที่ กลายเป็นภูมิปัญญาที่คุ้มที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต  ซึ่งจะหาประสบการณ์ใดเหมือนไม่มี                  


 


หลังจากเสียงระเบิดลูกนั้น  สะพานข้ามแม่น้ำต้องถูกซ่อมแซมเป็นเวลานานมีทางเบี่ยงที่ให้รถผ่านได้ทีละคัน ทราบมาภายหลังว่า การซ่อมแซมสิ้นสุดแล้ว สะพานกลับมาใช้ได้ดีเหมือนเดิม เส้นทางใต้เงาจันทร์ที่พัดพาให้นักข่าวเข้าไปอยู่กลางดงความไม่สงบในวันนั้น ยังคงเป็นพื้นที่สีแดง


                


และทุกครั้งที่ระลึกถึงเหตุการณ์ในคืนนั้น ต้องขอบคุณ "ตะปูเรือใบ" ที่ทำให้เราได้คุยกัน แลกเปลี่ยนความรู้สึก ความคิด และหยิบยื่นเสียงหัวเราะในช่วงเวลาสั้นๆ ระหว่างรอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเก็บกวาดทางสัญจร ขอบคุณเสียงปืนหลังตลาดที่ทำให้รับรู้ว่ามีคนห่วงใยอยู่เบื้องหลัง 


 


ถ้าไม่มีเสียงปืน คำพูดคำนั้นก็คงไม่มีหมาย เราติดหนี้บุญคุณระเบิดลูกนั้นที่ทำให้รู้ว่า "ถ้าจำเป็นจะต้องตาย เราจะเอาเงินให้ใคร..."                    


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net