Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 1 ธ.ค. 49 เมื่อวันที่ 30 พ.ย. โครงการสตรีและเยาวชนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาในหัวข้อเรื่อง "วัฒนธรรมประชาธิปไตย อยู่อย่างไรไม่ให้แตกร้าว" โดยมีรศ.มาลี พฤกษ์พงศาวลี ประธานโครงการสตรีและเยาวชนศึกษา เป็นผู้ดำเนินรายการ


 


อังคณา นีละไพจิตร กล่าวว่า ปัญหาของโครงสร้างประชาธิปไตยของไทย เกิดจากกลไกประชาธิปไตยในประเทศไม่ทำงาน หลายครั้งที่กระบวนการยุติธรรมไม่สามารถปกป้องเราและครอบครัว แต่ก็พยายามที่จะใช้กลไกต่างประเทศเข้ามาช่วย เช่น การเรียกร้องให้รัฐบาลไทยลงนามในอนุสัญญาต้านการทรมาน ซึ่งเรียกร้องกันหลายหน แม้แต่เขมรก็ยังลงนามไปแล้ว แต่รัฐบาลไทยกลับไม่ยอม


 


เมื่อสังคมแตกแยก มักมีคนบอกให้สมานฉันท์ ซึ่งเป็นความสมานฉันท์ที่ต้องหุบปาก ไม่สามารถบอกใครได้ว่า ทุกข์ร้อนหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งเธอเห็นว่าทุกคนต้องมีสิทธิเรียกร้อง โดยอาจขัดแย้งกันได้ แต่ต้องอยู่ด้วยกันอย่างสันติ


 


ทุกวันนี้ยังไม่มีการเปิดเผยความจริง เกาะติด ติดตามและร้องถามถึงความจริงในเหตุการณ์ 14 ต.ค.2516 6ต.ค.2519 และพฤษภาคม 2535 เราลืมง่ายและไม่เคยจดจำบทเรียน ทำให้ต่อมายังมีเหตุการณ์ตากใบ ซึ่งละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างมาก ทั้งนี้ เธอได้ยกตัวอย่างถึงเหตุการณ์กวางจูในเกาหลีซึ่งไม่ได้แตกต่างจากเหตุการณ์ 6 ตุลา หรือ14 ตุลาเลย แต่ที่เกาหลีมีการเรียนรู้ที่ต่างกัน


 


ในขณะที่เราเรียกร้องความสมานฉันท์ โดยการไม่พูดในสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว แต่มันก็ทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอีก ในขณะที่กวางจูได้มีการจำลองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนท้องถนนไม่ต่างจากถนนราชดำเนินบ้านเราเลย มีการจำลองเหตุการณ์ประชาชนลุกขึ้นมาต่อต้านอำนาจเผด็จการ ปาระเบิด ผู้คนร้องโอดโอย มีทั้งคนได้รับบาดเจ็บและคนตาย


 


"เด็กเกาหลีเหล่านี้เรียนรู้ประวัติศาสตร์จากการจำลองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้พวกเขารู้ว่าเมื่อสิบปีที่แล้วเกิดอะไรขึ้นบ้างเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ไม่ได้เรียนรู้เพื่อให้โกรธแค้น แต่เพื่อไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก ตรงนี้ทำให้เขาหวงแหนประชาธิปไตยมากเพราะเขาคิดว่าประชาธิปไตยที่ได้มาคือการสูญเสีย ในขณะเดียวกันที่เราต้องสูญเสียครั้งแล้วครั้งเล่าไม่รู้จักเท่าไร" อังคณา กล่าว


 


ดร.ชัยวัฒน์ บุนนาค รองประธานโครงการสตรีและเยาวชนศึกษา กล่าวว่า ถ้าจะอยู่กันในสังคมประชาธิปไตยโดยไม่ให้แตกร้าวก็ต้องยอมรับและเคารพในความแตกต่างและความหลากหลาย มิฉะนั้น จะเกิดปัญหาของการถูกกีดกันจากการสร้างระเบียบกฎเกณฑ์ของคนที่มีอำนาจ ทำให้หลายๆ คนอยู่นอกกรอบของประชาธิปไตยไป ซึ่งไม่ควรเป็นแบบนั้น ระบบประชาธิปไตยของไทยไม่ค่อยจะมีประสิทธิภาพเท่าไรนัก เพราะกลายเป็นเรื่องของข้อตกลง เรื่องของผลประโยชน์ โดยที่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริงไม่ได้มีส่วนได้เสีย


 


ดร.ชัยวัฒน์ บุนนาค กล่าวอีกว่า สังคมประชาธิปไตยจะไม่แตกร้าวนั้นไม่ใช่แค่การเตรียมโครงสร้างรูปแบบของประชาธิปไตยให้มีความพร้อมเท่านั้น แต่ต้องเตรียม "คน" ให้มีความพร้อมกับรูปแบบนี้ด้วย


 


ด้านรองศาสตรจารย์ เสาวนีย์ จิตต์หมวด อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎธนบุรี กล่าวว่า คำว่าประชาธิปไตยมีมาทีหลังการปกครองในระบบอิสลาม อิสลามจะอยู่ระหว่างทางสายกลางของความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งประชาธิปไตยที่ว่าเป็นการฟังเสียงข้างมากของประชาชน แต่อิสลามไม่ใช่ อิสลามไม่ได้เอาตัวนั้นเป็นตัวตัดสินการเลือกผู้นำ แต่จะใช้หลักที่เรียกว่า มูชาวาเราะห์ หมายถึง การปรึกษาหารือกัน ซึ่งการปรึกษาหารือกันสามารถทำได้ในทุกๆระดับ ตั้งแต่ในครอบครัว ระหว่างสามี ภรรยา และลูก หรือพูดอีกอย่างคือ หลักการอิสลามไม่ได้ใช้หลักการหย่อนบัตรนับเสียงข้างมากในการเฟ้นหาผู้นำ แต่พอสังคมใช้หลักประชาธิปไตยแบบตะวันตกเข้ามาใช้กับทุกกลุ่มในสังคม จึงเกิดปัญหา


 


"รูปแบบนี้มันซ้อนกันอยู่นี้ระหว่างวิถีของมุสลิมในการที่จะได้มาซึ่งผู้แทนของเขาที่ใช้ระบบของการปรึกษาหารือ แต่ในประชาธิปไตยสมัยใหม่เป็นเรื่องของการหย่อนบัตร คำถามก็จะมีอยู่ว่าในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เราจะสามารถแสดงแนวคิดที่เกิดจากผู้แทนของกลุ่มเฉพาะได้หรือเปล่า" เสาวนีย์ จิตต์หมวด กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net