Skip to main content
sharethis

เหมืองแร่ทองคำของบริษัททุ่งคำ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย  ซึ่งถือว่าเป็นเหมืองแร่ที่ดำเนินกิจการโดยเอกชนแห่งที่ 2 ของประเทศไทย ได้รับประทานบัตรดำเนินกิจการเหมืองแร่จากกรมทรัพยากรธรณีเมื่อปี  2538  จำนวน  6  แปลง  รวมพื้นที่ทั้งสิ้น  1,038  ไร่  3  งาน


 


มีปริมาณแร่ทองคำมูลค่าสูงสุด 1,053,704,803 ล้านบาท ปริมาณแร่ปานกลางมูลค่า 824,635,464  ล้านบาท  และปริมาณแร่ต่ำสุดมูลค่า 639,171,700 ล้านบาท 


 


ทั้งนี้  ข้อมูลจากเอกสารการวางแผนและวิธีการทำเหมืองที่ทางบริษัทฯ ได้เสนอต่อสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.)  ระบุว่า  จะใช้วิธีเหมืองหาบ (Open  pit)  ดำเนินการร่วมกันระหว่างนายเอดเวิร์ด  เมอร์วิน  โจนส์  วิศกรเหมืองแร่ของบริษัท นิวกีนี ไมนิ่ง จำกัด (ออสเตรเลีย)  ซึ่งเป็นบริษัทผู้ร่วมหุ้นของบริษัท  ทุ่งคำ  จำกัด


 


การเปิดหน้าเหมือง   ใช้วิธีขุดตามแนวสายแร่  มีลักษณะคล้ายร่อง  ตัดเข้าไปในตัวภูเขาความยาวประมาณ  800  เมตร กว้าง 50 - 60 เมตร  โดยมีความลึกเฉลี่ยประมาณ 30 เมตรจากผิวดิน 


 


สำหรับพื้นที่อีกส่วนหนึ่งจะเปิดขุมเหมืองตัดเข้าไปในตัวภูเขาความยาวประมาณ  400  เมตร  กว้างตั้งแต่  40 - 110  เมตร  ลึก 10-45 เมตรจากระดับผิวดิน  ขณะที่ชั้นดินด้านล่างสุดพบว่ามีความแข็งมากจะต้องใช้วัตถุระเบิดเข้าช่วย


 


ที่ผ่านมาบริษัท  เอส.พี.เอส. คอนซัลติ้ง  เซอร์วิส  จำกัด  ซึ่งเป็นผู้ศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้เสนอมาตรการแก้ไขผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม 16 ข้อ เสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม  แต่บริษัททุ่งคำกลับเดินหน้าทำโครงการ 


 


ลักษณะภูมิประเทศที่ตั้งโครงการอยู่ในหุบเขา  เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร ที่จะไหลลงสู่แม่น้ำฮวย และแม่น้ำเลย ซึ่งแตกต่างจากสภาพภูมิประเทศที่ตั้งเหมืองทองชาตรี จ.พิจิตร ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ไม่ลาดชัน  และอยู่ห่างไกลชุมชน ขณะที่เหมืองทองทุ่งคำมีหมู่บ้านและที่นาล้อมรอบ ทั้งนี้ จากการเข้าไปตรวจสอบในบริเวณโครงการ พบว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การทำคันดิน หรือเขื่อนกั้นน้ำและกากดินที่ผ่านกระบวนการแยกแร่โดยสารไซยาไนด์  พบว่าบริษัทยังไม่ได้ดำเนินการก่อสร้างอย่างเป็นระบบ เหมือนดังเช่นเหมืองทองชาตรี  และเมื่อสร้างเสร็จแล้ว ยังน่าเป็นห่วงอีกว่าสันเขื่อนจะมีความแข็งแรงเพียงพอหรือไม่  เพราะเป็นพื้นที่ลาดชัน  อาจพังทลายลงเมื่อมีน้ำป่าไหลลงมาในปริมาณมากและรวดเร็ว  ซึ่งวิทยากรนำชมเหมืองชาตรีกล่าวว่า  หากใครอนุมัติโครงการทำเหมืองทองในสภาพภูมิประเทศเช่นนี้ถือว่ามีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ไม่ครบ 100 %


 


ปี 2539  มีการทดลองแยกแร่ทองคำของเหมือง  พบว่านาข้าวของชาวบ้านใกล้พื้นที่โครงการ ล้มตายโดยไม่ทราบสาเหตุเป็นบริเวณกว้าง  ซึ่งเชื่อว่าอาจเกิดจากการทดลองแยกแร่ทองคำของเหมือง  ดังนั้นชาวบ้านจึงต้องการให้ชะลอการดำเนินโครงการไว้ก่อน  จนกว่าจะมีหลักประกันว่าจะเกิดความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชน


 


ทั้งนี้ในเวทีสัมมนาเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และศิลปกรรมท้องถิ่น ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย เมื่อเร็วๆนี้  จัดโดยหน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมฯท้องถิ่น จังหวัดเลย ได้เรียกร้องให้   ผู้ประกอบการเหมืองทองทุ่งคำต้องให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเข้าไปมีส่วนร่วมรับรู้กระบวนการผลิตทุกขั้นตอนอย่างโปร่งใสและจริงใจ    หากไม่ได้ดำเนินการมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเหมือนดังเช่นเหมืองทองชาตรี จ.พิจิตรได้สร้างมาตรฐานไว้     เพราะบริเวณที่ตั้งเหมืองเป็นแหล่งต้นน้ำ ที่ไหลลงสู่แม่น้ำฮวย ซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำเลย สายเลือดใหญ่ของชาวเมืองเลย  ขณะเดียวกันพื้นที่รอบเหมืองยังเป็นเปรียบเสมือนปากท้องของชาวบ้านด้วย  หากพื้นดินปนเปื้อนสารพิษจากเหมือง  ความมั่นคงทางอาหารของชาวบ้านคงต้องสิ้นสุดลงไป


 


เมื่อเร็วๆ นี้ คณะทำงานด้านสุขภาพ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) ได้นำชาวบ้านที่อยู่บริเวณรอบเหมือง เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่ อนุกรรมการหน่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและศิลปกรรมท้องถิ่น จ.เลย และสื่อมวลชนท้องถิ่น รวมกว่า 30 คนเดินทางไปศึกษาดูงานที่เหมืองทองชาตรี ของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ที่ จ.พิจิตร ทั้งนี้เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับเหมืองทองทุ่งคำ  ซึ่งพบว่ามีมาตรฐานที่แตกต่างกันมาก


 


เหมืองทองชาตรีตั้งอยู่ที่ตำบลเขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร รอยต่อกับ จ.เพชรบูรณ์ เป็นเหมืองที่เข้ามาประกอบการโดยเอกชนเป็นแห่งแรกของประเทศ ถือหุ้นใหญ่โดยนักธุรกิจชาวออสเตรเลีย ขุดทองคำ 99.99 % ได้เดือนละประมาณ 5 ตัน มีระบบป้องกันผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมค่อนข้างรัดกุม 


 


บริษัท  อัคราไมนิ่ง จำกัด ได้กำหนดให้การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นนโยบายหลักในการดำเนินธุรกิจ  จึงได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในประเทศไทย  และเป็นไปตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อมในระดับสากล  โดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มาใช้ดำเนินการได้ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2543


 


เหมืองแร่ทองคำชาตรี  เป็นกิจการเหมืองแร่ทองคำเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย และเป็นหนึ่งในจำนวนกิจการเหมืองแร่ไม่กี่แห่งในโลกที่ได้รับใบรับรองมาตรฐาน ISO 14001 ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลที่เน้นรายละเอียดในการควบคุมผลกระทบสิ่งแวดล้อมของการดำเนินกิจการอันเอื้อต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน  และยังได้นำระบบการประเมินและการจัดการความเสี่ยงในปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามาตรฐาน AS/NZS 4360:1999 ของประเทศออสเตรเลียมาใช้ในการดำเนินงานอีกด้วย


 


นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมีกลไกในการตรวจสอบและประเมินประสิทธิภาพการจัดการสิ่งแวดล้อมในการดำเนินกิจการทั้งโดยองค์กรภายในบริษัทและองค์กรอิสระภายนอก


 


บริษัทฯใช้เงินลงทุนมากกว่า 140 ล้านบาท สำหรับการก่อสร้างและติดตั้งอุปกรณ์ป้องกัน และลดผลกระทบสิ่วแวดล้อมจากกิจกรรมการทำเหมืองและการประกอบโลหกรรม


 


ในระหว่างการดำเนินกิจการ  บริษัทฯยังได้จัดตั้งกองทุนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมขึ้น  โดยมีการนำฝากเงินเข้าบัญชีกองทุนดังกล่าวในอัตรา 145 บาท ต่อ ทองคำที่ผลิตได้ทุกๆ 1 ออนซ์  เพื่อเก็บไว้เป็นใช้จ่ายในการตรวจวัดและแก้ไขผลกระทบจากกิจกรรมการทำเหมืองทั้งในช่วงระหว่างการทำเหมืองและหลังจากการทำเหมือง


 


นอกจากนี้เพื่อเป็นการป้องกันและลดความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  บริษัทฯยังมีค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อสารเคมีที่ใช้ในการบำบัดคุณภาพน้ำที่ปล่อยออกจากโรงงานประกอบโลหกรรมลงสู่บ่อเก็บกักกากแร่ในแต่ละปีเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 25 ล้านบาท จึงมั่นใจได้ว่า  มาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมของเหมืองแร่ทองคำชาตรีมีประสิทธิภาพสูงในระดับต้นๆ เมื่อเทียบกับมาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เหมืองแร่ทองคำแห่งอื่นๆ ทั่วโลกใช้ดำเนินการอยู่


 



 


กิจกรรมในการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งบริษัทดำเนินการอยู่ ได้แก่ การศึกษาการใช้ประโยชน์จากพันธุ์ไม้ท้องถิ่น  การปลูกต้นไม้เพื่อป้องกันการกัดเซาะหน้าดิน และเพื่อปรับปรุงทัศนียภาพ  การเก็บกองมูลหิน และกากแร่ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำภายนอกพื้นที่โครงการ  การใช้น้ำในกระบวนการผลิตแบบหมุนเวียน  เพื่อให้มีการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างคุ้มค่า  และเพื่อไม่ให้มีการปล่อยน้ำเสียออกนอกโครงการ  ตลอดจนการติดตามและควบคุมผลกระทบจากการทำเหมืองต่อชุมชนในพื้นที่โดยรอบ  ซึ่งได้แก่ การตรวจวัดระดับฝุ่นละอองในอากาศ  การตรวจวัดระดับเสียงรบกวนและระดับความสั่นสะเทือนจากการใช้วัตถุระเบิด  และการตรวจวัดคุณภาพน้ำจากผิวดินและใต้ดิน  กิจกรรมเหล่านี้ได้ดำเนินการภายในบริเวณพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตรโดยรอบเหมืองแร่


                       


ดังนั้น  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัดต้องสั่งการชะลอการดำเนินโครงการเหมืองแร่ทองคำที่ อ.วังสะพุงไว้ก่อน  จนกว่าจะมั่นใจได้ว่าจะมีมาตรฐานสิ่งแวดล้อม  ไม่ส่งผลกระทบต่อชีวิตคน สัตว์เลี้ยง และสิ่งแวดล้อมของเมืองเลย.


 


ภัทราวุธ บุญประเสริฐ


สำนักข่าวประชาธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net