รายงาน "ภัควดี" : การกลับมาของซานดินิสตา อาการสะดุ้งของอภิจักรวรรดิอเมริกัน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

 

ชื่อบทความเดิม : การกลับมาของดานีเอล ออร์เตกา และซานดินิสตา อาการสะดุ้งของอภิจักรวรรดิอเมริกัน

 

 

โดย ภัควดี วีระภาสพงษ์

 

 

 

หลังจากลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในวันที่ 5 พฤศจิกายน ตอนนี้เป็นที่แน่นอนแล้วว่า ประธานาธิบดีคนใหม่ของนิคารากัว คือ ดานีเอล ออร์เตกา จากพรรคแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติซานดินิสตา (Sandinista National Liberation Front---FSLN) แต่ออร์เตกาไม่ใช่นักการเมืองหน้าใหม่ของนิคารากัว อันที่จริง เขาเคยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมาแล้วครั้งหนึ่งในช่วง ค.ศ. 1985-1990

 

พรรค FSLN ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยได้คะแนนเสียงประมาณ 38% มากกว่าพรรคพันธมิตรเสรีนิยมแห่งชาติ (National Liberal Alliance---ALN) ประมาณ 9% พรรครัฐธรรมนูญเสรีนิยม (Liberal Constitutionalist Party---PLC) ของอดีตประธานาธิบดีอาร์นัลโด อาเลมาน ได้คะแนนเสียงมาเป็นที่สามคือ 26% พรรคขบวนการฟื้นฟูซานดินิสตา (Movement for Sandinista Renewal---MRS) มาเป็นที่สี่ 6% และพรรคทางเลือกชาวคริสต์ (Christian Alternative---AC) ได้ไม่ถึง 1%

 

แม้ว่าคะแนนเสียงของพรรค FSLN จะดูเหมือนไม่มากนัก แต่ก็มากเพียงพอที่จะส่งให้ออร์เตกาก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีในวันที่ 10 มกราคม ศกหน้า โดยไม่ต้องมีการเลือกตั้งรอบสอง ทั้งนี้เพราะตามกฎหมายเลือกตั้งใหม่ของนิคารากัว ถ้ามีความแตกต่างระหว่างคะแนนเสียงของพรรคที่ได้อันดับหนึ่งกับอันดับสองมากกว่า 5% และพรรคที่ได้อันดับหนึ่งได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งเกินกว่า 35% ก็ไม่ต้องจัดการเลือกตั้งรอบสองอีก จำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์ครั้งนี้อยู่ระหว่าง 75-80% ของผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนทั้งหมด ถือว่าเป็นสถิติที่ดีที่สุดในละตินอเมริกา และสูงกว่าในสหรัฐอเมริกา การเลือกตั้งครั้งนี้ได้รับการรับรองจากองค์กรนานาชาติที่มาสังเกตการณ์ว่า มีความบริสุทธิ์ยุติธรรม ไม่มีปัญหาอื้อฉาวอย่างในเม็กซิโกหรือในบางมลรัฐของสหรัฐอเมริกา

 

อาการสะดุ้งของอภิจักรวรรดิอเมริกัน

ถ้าหากหลงเชื่อตามคำโหมประโคมของบรรดาผู้เชี่ยวชาญฝ่ายขวาหรือสมาชิกพรรครีพับลิกัน การหวนคืนสู่อำนาจของดานีเอล ออร์เตกาและพรรคซานดินิสตา เป็นเรื่องร้ายกาจราวกับสัญญาณวันสิ้นโลก ฝ่ายอนุรักษ์นิยมในอเมริกาตีโพยตีพายเหมือนกับชาวนิคารากัวทำบาปมหันต์ครบ 7 ประการก็ไม่ปาน

 

อดีตมือเขียนปาฐกถาให้เรแกนและบุชผู้ลูก นายมาร์ค คลุกแมน เขียนใน National Review ว่า

 

"ชาวนิคารากัวที่อ้าแขนรับลัทธิสุดขั้วหัวรุนแรงเป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐฯ และโลก....การมีนิวเคลียร์ในเกาหลีเหนือและอิหร่านก็แย่พออยู่แล้ว ยิ่งถ้าสองประเทศนั้นมีพันธมิตรมาจ่ออยู่ใกล้ชายแดนของเรา มันสามารถสร้างความปั่นป่วนได้อย่างที่เราเคยคิดว่าสหภาพโซเวียตเท่านั้นที่ทำกับเราได้ขนาดนี้"

 

ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง สมาชิกสภาคองเกรสจากพรรครีพับลิกันหลายคนเสนอให้ยื่นคำขู่แก่ชาวนิคารากัวว่า ถ้ายังบังอาจลงคะแนนให้พรรคซานดินิสตา สหรัฐฯ ควรตอบโต้ด้วยการสั่งห้ามไม่ให้ชาวนิคารากัวที่อพยพมาทำงานในสหรัฐฯ ส่งเงินกลับประเทศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรครีพับลิกันสองคนเขียนจดหมายถึงคอนโดลีซซา ไรซ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ ว่า "เราเห็นด้วยกับนายพอล ทรีเวลลี เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำนิคารากัว ที่ประเมินว่า ถ้าออร์เตกาได้ชัยชนะ สหรัฐอเมริกาต้อง "ทบทวน" ความสัมพันธ์กับนิคารากัวใหม่ทั้งหมด"

 

ความจริงต่อให้สมาชิกพรรครีพับลิกันไม่โวยวาย รัฐบาลบุชก็ไม่นิ่งนอนใจอยู่แล้ว ตลอดปีที่ผ่านมา รัฐบาลบุชพยายามสร้างแรงกดดันเพื่อขัดขวางไม่ให้ชาวนิคารากัวลงคะแนนเสียงให้ออร์เตกา โดยเฉพาะนายพอล ทรีเวลลี ยอมละเมิดมารยาททางการทูตทุกอย่าง ถ้าใครไม่รู้คงคิดว่าเขาเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีนิคารากัวเสียเอง เขาเดินหน้ารณรงค์ทางการเมืองอย่างหนัก และแสดงออกนอกหน้าว่าสนับสนุนผู้สมัครฝ่ายตรงข้าม พยายามเจรจาให้ฝ่ายขวาในนิคารากัว (กล่าวคือพรรค "เสรีนิยม" ทั้งสองพรรคคือ ALN และ PLC) จับมือกันเพื่อส่งผู้สมัครเพียงคนเดียว แต่เขาทำไม่สำเร็จ ความแตกแยกของฝ่ายขวานิคารากัวช่วยกรุยทางให้ออร์เตกาก้าวสู่ทำเนียบ

 

นอกจากนี้ รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ นายคาร์ลอส กูตีเยร์เรซ ยังขู่ไว้ก่อนการเลือกตั้งว่า ถ้าชาวนิคารากัวเลือกประธานาธิบดีผิดคน เงินช่วยเหลือจำนวน 220 ล้านดอลลาร์และเงินลงทุนอีกหลายร้อยล้านจากสหรัฐฯ อาจหายวับไปกับตา นี่ยังไม่นับรวมความพยายามของ "ผีที่ไม่ยอมลงหลุม" อย่างนายโอลิเวอร์ นอร์ธ อดีตนายทหารที่เคยมีส่วนพัวพันในคดีอิหร่าน-คอนทราอันอื้อฉาวด้วย

 

รัฐบาลอเมริกันถนัดเสมอมาในการสร้างภาพประเทศเล็กๆ ให้น่ากลัวเกินความเป็นจริง ตั้งแต่หลอกให้คนอเมริกันกลัวจนขวัญหนีดีฝ่อว่า โฮจิมินห์ หรือฟิเดล คาสโตร จะพายเรือแคนูข้ามมหาสมุทรมาเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ในสหรัฐอเมริกา เรื่อยมาจนถึงอาวุธทรงอานุภาพทำลายล้างในอิรัก แต่การสร้างภาพให้พรรคซานดินิสตาเสมือนมารร้ายจากขุมนรก หรือการก้าวขึ้นสู่อำนาจของออร์เตกาประหนึ่งเป็นเสียงแตรประกาศสงครามอาร์มาเกดดอน ช่างเป็นปริศนาที่เข้าใจได้ยาก อภิจักรวรรดิอย่างสหรัฐอเมริกากลัวอะไรนักหนากับนิคารากัว?

 

โถ! ประเทศนิคารากัวนี่นะ! ประชากร 80% ในประเทศนี้ดำรงชีพด้วยรายได้ 2 ดอลลาร์ต่อวัน หรือบางคนอาจได้น้อยกว่านั้นด้วยซ้ำ ใน The World Factbook ของ CIA ระบุว่า นิคารากัวเป็นประเทศยากจนที่สุดในอเมริกากลางและอเมริกาใต้พอๆ กับเฮติและโบลิเวีย มีรายได้ต่อหัวต่ำ ว่างงานสูง และหนี้ต่างประเทศเพียบแปล้ มีการกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียมมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก ความเติบโตของ GDP ต่อปีมีอัตราต่ำมาก จนต้องอาศัยความช่วยเหลือทางการเงินจากต่างประเทศเพื่อให้พอกับการจัดทำงบประมาณและจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้

 

ปีที่ผ่านมา นิคารากัวยังต้องประสบปัญหาเงินเฟ้อเพราะราคาน้ำมันที่แพงขึ้น จนความเติบโตของ GDP ที่ต่ำอยู่แล้ว หดตัวลงไปอีก มิหนำซ้ำประเทศนี้ยังมักเผชิญกับภัยธรรมชาติ ไม่ว่าแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด แผ่นดินถล่ม และพายุเฮอร์ริเคน

 

ประเทศยากจน มีพื้นที่เล็กกว่ารัฐนิวยอร์ก และมีประชากรแค่ราวห้าล้านกว่าคน (น้อยกว่ากรุงเทพฯ) จะเป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐอเมริกาได้ ก็เฉพาะในหนังฮอลลีวู้ดอย่าง Red Dawn เท่านั้น แม้ว่าในระยะหลัง ทำเนียบขาวมักเลือกที่จะหุบปากเงียบในระหว่างการเลือกตั้งของประเทศละตินอเมริกา หาใช่เพราะวอชิงตันเกิดซาบซึ้งในระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนกำหนดอนาคตของตนเอง แต่เป็นเพราะวอชิงตันเรียนรู้จากบทเรียนยากๆ ว่า การเข้าไปจุ้นจ้านออกนอกหน้ามักมีผลร้ายสะท้อนกลับมา อาทิ ในกรณีของโบลิเวียเมื่อปี ค.ศ. 2002 สหรัฐฯ โจมตีและต่อต้านเอโว โมราเลสอย่างเปิดเผย แต่กลับทำให้เขายิ่งได้รับความนิยม จนก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีในปีนี้

 

อย่างไรก็ตาม กับประเทศเล็กกระจิดริดในอเมริกากลางอย่างนิคารากัวและเอลซัลวาดอร์ ทำเนียบขาวยังรู้สึกว่าอยู่เฉยๆ ไม่ได้ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะทฤษฎี "แอปเปิลเน่าในตะกร้า" ที่ยังตกค้างมาจากยุคสงครามเย็น

 

สิบหกปีแห่งความหลัง

ใน What Uncle Sam Really Wants นอม ชอมสกี อธิบายถึงปริศนานิคารากัวว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ได้กลัวนิคารากัวจริงๆ หรอก แต่กลัว "ภัยคุกคามของตัวอย่างที่ดี" ต่างหาก ยิ่งประเทศนั้นอ่อนแอยากจนมากเท่าไร ประเทศนั้นก็ยิ่งเป็นตัวอย่างที่อันตรายมากขึ้นเท่านั้น ถ้าประเทศเล็กๆ ยากจนอย่างนิคารากัวเกิดประสบความสำเร็จในการสร้างชีวิตที่ดีแก่ประชาชน ประเทศอื่นๆ ที่มีทรัพยากรมากกว่าก็อาจตั้งคำถามขึ้นมาบ้างว่า "ทำไมเราจะทำบ้างไม่ได้ล่ะ?"

 

นี่คือทฤษฎี "แอปเปิลเน่าในตะกร้า" หรือเรียกกันติดปากอีกอย่างว่า ทฤษฎีโดมิโน แอปเปิลผลหนึ่งที่ "เน่า" (คือการทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีขึ้นด้วยการดำเนินนโยบายทางสังคม) จะพลอยทำให้แอปเปิลผลอื่นๆ ในตะกร้า "เน่า" ตามไปด้วย (หรือหันมาดำเนินนโยบายทางสังคมตามอย่างบ้าง)

 

ในทศวรรษ 1960 ขณะที่นิคารากัวยังตกอยู่ภายใต้การปกครองของจอมเผด็จการ อนาสตาซีโย โซโมซา นักศึกษาหนุ่มคนหนึ่งชื่อ คาร์ลอส ฟอนเซกา ก่อตั้งพรรคการเมืองเล็กๆ ชื่อ พรรคแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติซานดินิสตา คำว่า "ซานดินิสตา" หมายถึงผู้เจริญรอยตาม "ซานดิโน" กล่าวคือ นายพลออกุสโต เซซาร์ ซานดิโน (1893-1934) ผู้นำขบวนการชาตินิยมชาวนิคารากัว ซึ่งเคยต่อสู้กับกองกำลังทหารของสหรัฐฯ ยาวนานถึง 5 ปี

 

พรรคซานดินิสตาเติบใหญ่ขึ้นจนโค่นล้มเผด็จการโซโมซาได้ใน ค.ศ. 1979 โดยได้รับการสนับสนุนจากมวลชนและบางกลุ่มในคริสตจักร โซโมซาหนีไปเสพย์สุขในไมอามี แล้วต่อมาไปลงเอยในปารากวัยและถูกสมาชิกพรรคแรงงานปฏิวัติชาวอาร์เจนตินาลอบสังหาร ส่วนพรรคซานดินิสตาที่กลายเป็นรัฐบาล ดำเนินโครงการด้านสังคมขนานใหญ่ อันประกอบด้วยด้านการศึกษา สาธารณสุข และปฏิรูปที่ดิน จนได้รับการยกย่องจาก OXFAM และธนาคารโลก

 

เรื่องแบบนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ยอมไม่ได้ ประธานาธิบดีเรแกนให้การสนับสนุนกองกำลังฝ่ายขวาของนิคารากัว ภายใต้ชื่อ กบฏคอนทรา ขบวนการคอนทรานี่แหละคือกลุ่มผู้ก่อการร้ายตัวจริง สหรัฐฯ สนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายนี้อย่างเปิดเผย ทุ่มเททรัพยากรไปเป็นจำนวนมหาศาล นอกจากนี้ยังดำเนินนโยบายกดดันทางการทูต คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ บีบบังคับให้ธนาคารโลกและองค์กรอื่นๆ ระงับความช่วยเหลือต่อนิคารากัว ฯลฯ แม้กระทั่งเมื่อนิคารากัวประสบภัยพิบัติจากพายุเฮอร์ริเคน ใน ค.ศ. 1988 รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ใจจืดใจดำพอที่จะไม่ส่งความช่วยเหลือไปแม้แต่แดงเดียว รวมทั้งกดดันรัฐบาลประเทศอื่นๆ ไม่ให้ส่งความช่วยเหลือไปด้วย

 

รัฐบาลเรแกนสนับสนุนกบฏคอนทราอย่างสุดตัว เมื่อถูกวิจารณ์จากในประเทศและนานาชาติมากๆ เข้า สภาคองเกรสก็ทนไม่ไหว จึงมีมติให้รัฐบาลยุติการให้ความช่วยเหลือแก่ขบวนการนี้ พันเอกโอลิเวอร์ นอร์ธ คนสนิทของประธานาธิบดีเรแกน ก็อุตส่าห์คิดค้นวิธีหาเงินสนับสนุนแก่กบฏคอนทราจนได้ ด้วยการแอบขายอาวุธให้อิหร่าน แล้วนำเงินผิดกฎหมายนั้นมาให้แก่คอนทรา จนกลายเป็นที่มาของคดีอิหร่าน-คอนทราอันอื้อฉาวนั่นเอง

 

ใน ค.ศ. 1990 มีการเลือกตั้งที่จัดขึ้นภายใต้แผนสันติภาพ รัฐบาลซานดินิสตาหวังว่าจะช่วยยุติสงครามก่อการร้ายที่ดำเนินมายืดเยื้อยาวนาน เมื่อการหาเสียงเริ่มต้นขึ้น สหรัฐอเมริกาก็ประกาศให้ชาวนิคารากัวรู้ชัดๆ ไปเลยว่า ถ้าพวกเขายังลงคะแนนเสียงเลือกพรรคซานดินิสตาอีก การคว่ำบาตรและการก่อการร้ายของฝ่ายคอนทราจะดำเนินต่อไปเหมือนเดิม นี่คือ "ระบอบประชาธิปไตย" ที่ถูกต้องในทัศนะของรัฐบาลสหรัฐฯ นั่นคือ แกต้องเลือกคนที่ข้าพอใจเท่านั้น

 

ชาวนิคารากัวที่อดอยากยากแค้นและเบื่อหน่ายกับสภาพสงครามกลางเมือง สุดท้ายพวกเขาจึงลงคะแนนเสียงเลือกพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม ความพ่ายแพ้ครั้งนี้ทำให้พรรคซานดินิสตาถึงกับช็อคไม่น้อย เพราะการหยั่งเสียงก่อนหน้าการเลือกตั้งหลายครั้ง ชี้ว่าพรรคซานดินิสตาได้รับความนิยมมากกว่า การหาเสียงแต่ละครั้งก็ดึงดูดประชาชนมาได้หลายแสนคน แต่ในการหยั่งเสียงหน้าคูหาเลือกตั้ง (exit poll) ผลปรากฏว่าผู้ลงคะแนนส่วนใหญ่เลือกลงให้พรรคฝ่ายตรงข้าม เพราะเบื่อหน่ายกับการถูกรัฐบาลอเมริกันบีบคั้นกลั่นแกล้ง ผลของ exit poll นี่เอง ทำให้ดานีเอล ออร์เตกา ซึ่งเป็นประธานาธิบดีในขณะนั้น ยอมรับความพ่ายแพ้แต่โดยดี กระนั้นก็ตาม ยังมีประชาชนถึง 40% ที่ลงคะแนนเสียงให้พรรคซานดินิสตา

 

ช่วงเวลา 16 ปีหลังจากนั้น นิคารากัวมีรัฐบาลแนวทางเสรีนิยมใหม่ติดต่อกัน 3 รัฐบาล แม้ว่าดานีเอล ออร์เตกาและพรรคซานดินิสตาลงชิงชัยในการเลือกตั้งทุกครั้ง แต่ก็ต้องพ่ายแพ้มาตลอด ในการเลือกตั้ง ค.ศ.1996 ออร์เตกาพ่ายแพ้ต่อ อาร์นัลโด อาเลมาน ผู้สมัครของพรรค PLC ส่วนในการเลือกตั้งครั้งต่อมา คือ ค.ศ.2001 เขาพ่ายแพ้พรรค PLC อีกครั้ง คราวนี้เป็นเอนริเก โบลันโญสที่ได้ตำแหน่งประธานาธิบดีไป การเมืองของนิคารากัวจึงเริ่มเป็นการต่อสู้ของสองพรรคใหญ่สองแนวทาง กล่าวคือพรรคซานดินิสตา ที่มีฐานเสียงอยู่ในหมู่ประชาชนยากจน กับพรรคการเมืองฝ่ายขวาที่ดำเนินตามแนวทางเสรีนิยมใหม่

 

เวลาเปลี่ยน คนเปลี่ยน

ระหว่าง 16 ปีที่เป็นพรรคฝ่ายค้าน ท่ามกลางบรรยากาศแบบเสรีนิยมใหม่ ชนชั้นนำในพรรค FSLN เองก็ซึมซับและปรับตัวตามสถานการณ์ไปไม่น้อย แม้ว่านโยบายแบบเสรีนิยมใหม่จะโหดร้ายต่อประชาชนส่วนใหญ่ของนิคารากัว และทำให้มาตรฐานการดำรงชีวิตที่ต่ำอยู่แล้วตกต่ำลงไปอีกก็ตาม

 

ชนชั้นนำในพรรค FSLN ปรับตัวจนประสบความสำเร็จทางธุรกิจและมีผลประโยชน์ในหลายภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นภาคเกษตรกรรม การท่องเที่ยว ไปจนถึงการธนาคาร ชนชั้นนำอีกกลุ่มหนึ่งเข้าไปอยู่ในชนชั้นผู้บริหารด้านการพัฒนา ซึ่งได้รับเงินทุนจากหน่วยงานช่วยเหลือต่างประเทศ ทั้งหน่วยงานจากสหประชาชาติ ธนาคารโลกและธนาคารเพื่อการพัฒนาของทวีปอเมริกา ในพรรคซานดินิสตาเริ่มมีการแตกแยกกันทางความคิดอย่างเห็นได้ชัด บางกลุ่มยอมรับอุดมการณ์แบบเสรีนิยมใหม่เต็มตัว ในขณะที่บางกลุ่มปรับเปลี่ยนไปเป็นแนวทางสังคมประชาธิปไตยแบบยุโรป

 

ความแตกแยกนี้มาถึงจุดแตกหักจากชนวนสองเรื่องด้วยกัน เรื่องแรกคือการที่ออร์เตกาสร้างข้อตกลงกับอาร์นัลโด อาเลมาน ในสมัยที่ฝ่ายหลังเป็นประธานาธิบดี อาเลมานกำลังเผชิญกับข้อหาคอร์รัปชั่น เขาจึงสร้างข้อตกลงกับออร์เตกาเพื่อไม่ให้ตนถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจในรัฐสภาและไม่ต้องถูกดำเนินคดี ส่วนออร์เตกากลายเป็นผู้มีอิทธิพลในการแต่งตั้งตำแหน่งต่างๆ ในรัฐบาลหลายตำแหน่ง ทั้งสองพรรคยังจับมือกันสกัดกั้นพรรคเล็กๆ ไม่ให้มีโอกาสเติบโตด้วย

 

อีกประเด็นหนึ่งซึ่งเป็นประเด็นอื้อฉาวคือ กรณีที่ดานีเอล ออร์เตกา ถูกลูกสาวบุญธรรมออกมากล่าวหาว่า เธอถูกเขาล่วงละเมิดทางเพศมาหลายปีนับตั้งแต่เธอยังเป็นวัยรุ่น สองประเด็นนี้ทำให้นักการเมืองกลุ่มหนึ่งใน FSLN โดยมีเซอร์จิโอ รามิเรซ นักเขียนที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งของละตินอเมริกา แยกออกไปตั้งพรรคใหม่คือ พรรคขบวนการฟื้นฟูซานดินิสตา (Movement for Sandinista Renewal---MRS)

 

ความเขี้ยวลากดินทางการเมืองของออร์เตกายังสำแดงเดชอีกครั้งในสมัยประธานาธิบดีโบลันโญส เมื่อโบลันโญสเกิดการแตกคอกับพรรค PLC ของตนเอง และดำเนินคดีข้อหาคอร์รัปชั่นกับอดีตประธานาธิบดีอาเลมาน พรรค FSLN ของออร์เตกาและนักการเมืองที่ยังจงรักภักดีต่ออาเลมานในพรรค PLC จับมือกันทำ "รัฐประหารแบบสโลว์โมชั่น" ด้วยการปลดอำนาจของประธานาธิบดีโบลันโญสและรัฐมนตรีของเขาทีละน้อย ไปจนข่มขู่ว่าจะดำเนินการถอดถอนเขาออกจากตำแหน่ง

 

ชัยชนะอย่างง่ายดายของออร์เตกาในการเลือกตั้งครั้งนี้ ส่วนหนึ่งยังมาจากการที่เขาทำข้อตกลงครั้งที่สองกับอาเลมานด้วย โดยพรรค PLC กับ FSLN จับมือกันแก้ไขรัฐธรรมนูญ จากเดิมที่ในการเลือกตั้งรอบแรก ผู้ชนะอันดับหนึ่งต้องได้คะแนนเสียง 45% ขึ้นไป ถึงจะไม่ต้องมีการเลือกตั้งรอบสอง เปลี่ยนเป็นได้คะแนนเสียงแค่ 35% ก็ถือเป็นเด็ดขาด ไม่ต้องมีการเลือกตั้งรอบสองอีก งานนี้สิ่งที่อาเลมานได้รับเป็นค่าตอบแทนคือ จากที่ถูกจับคุกในข้อหาคอร์รัปชั่น เขาถูกปล่อยตัวออกมาเสพสุขกับความมั่งคั่งของตนด้วยบทลงโทษแค่ "กักบริเวณอยู่ในเมืองที่พำนักอาศัย" ถ้าหากต้องมีการเลือกตั้งรอบสองเกิดขึ้น นักวิเคราะห์บางคนทำนายว่า ออร์เตกาอาจพ่ายแพ้ต่อคู่แข่งก็เป็นได้

 

เรื่องน่าขันก็คือ ขณะที่ทำเนียบขาววาดภาพออร์เตกาเป็นฝ่ายซ้ายและคอมมิวนิสต์ที่ไม่เคยกลับใจ สิ่งที่ขบวนการฝ่ายซ้ายในโลกกังวลใจกลับกลายเป็นว่า ออร์เตกากับพรรค FSLN นั้นเปลี่ยนสีแปลงร่างจนความเป็นซ้ายเจือจางลงแทบไม่มีเหลือต่างหาก ออร์เตกามักถูกวิจารณ์จากอดีตสมาชิกพรรคว่า เขารวบอำนาจการนำไว้ในมือคนเดียว ทำลายกระบวนการประชาธิปไตยในพรรคและไล่สมาชิกที่หัวแข็งออกไป อีกทั้งปลุกกระแสความนิยมในตัวเขาจนฝ่ายตรงข้ามเสียดสีด้วยคำว่า "Orteguismo" หรือ "ลัทธิออร์เตกา"

 

ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ หน้าที่สำคัญในการวางแผนหาเสียงตกเป็นของนางโรซารีโอ มูริญโญ ภรรยาของออร์เตกา ซึ่งกลายเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลอันดับสองในพรรคไปแล้ว เป้าหมายในการหาเสียงคือ สร้างความนิยมในหมู่ประชาชนทุกกลุ่มให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ สิ่งที่ทำให้ผู้สนับสนุนซานดินิสตามายาวนานถึงกับตกตะลึงก็คือ ออร์เตกาใช้คำขวัญ "สันติภาพ ความรัก และปรองดอง" เพื่อ "สมานฉันท์" ทางการเมืองกับอดีตปรปักษ์สำคัญอย่างแกนนำเก่าที่เคยเป็นบริวารของโซโมซาและขบวนการคอนทรา ถึงขนาดตั้งคนหนึ่งในกลุ่มนั้นขึ้นมาจ่อคิวเป็นรองประธานาธิบดี ธงสีแดงดำที่เคยเป็นสัญลักษณ์ของซานดินิสตามายาวนาน เปลี่ยนไปใช้สีชมพูหวานแทน (แม้ว่าในการรณรงค์หาเสียงขององค์กรประชาชนจะยังใช้ธงแดงดำเหมือนเดิม) ส่วนเพลงประจำพรรคที่มีเนื้อร้องพาดพิงถึงการต่อสู้กับสหรัฐอเมริกา ก็เปลี่ยนไปใช้เพลงเกี่ยวกับความรักและการปรองดองด้วยทำนองเพลง "Give Peace a Chance" ของเดอะ บีทเทิ้ลส์ ในระหว่างการหาเสียง ชื่อของนายพลซานดิโนถูกเอ่ยถึงเพียงไม่กี่ครั้ง ส่วนชื่อของคาร์ลอส ฟอนเซกา ผู้ก่อตั้งพรรคซานดินิสตา เหมือนถูกลืมไปโดยสิ้นเชิง

 

ออร์เตกายังทำให้ชาวคริสต์ฝ่ายเทววิทยาแห่งการปลดปล่อย (Liberation Theology---เป็นกลุ่มคริสต์ศาสนาที่ผสมผสานแนวคิดของมาร์กซิสต์ มีอิทธิพลมากในละตินอเมริกา) ต้องใจหาย ด้วยการปวารณาตนเป็นคาทอลิคผู้เคร่งครัด ออร์เตกาประกาศว่าเขา "เกิดใหม่" พร้อมกับสร้างความสนิทสนมกับคาร์ดินัลสายขวาจัด ร่วมพิธีในโบสถ์เป็นประจำ ยอมแต่งงานตามพิธีทางศาสนากับคู่ชีวิตที่อยู่กินกันมานาน และที่ร้ายที่สุดคือ เขาทำให้กลุ่มเฟมินิสต์โกรธแค้น ด้วยการลงนามในแถลงการณ์ต่อต้านการทำแท้ง และสั่งให้สมาชิกสภานิติบัญญัติของพรรค FSLN ยกเลิกกฎหมายอนุญาตการทำแท้งในกรณีที่การตั้งครรภ์เป็นอันตรายต่อมารดา นี่เท่ากับเป็นการถอยหลังเข้าคลองไปอยู่ร่วมแถวกับชิลีและเอลซัลวาดอร์ ซึ่งเป็นสังคมที่หัวโบราณที่สุดในละตินอเมริกา ออร์เตกาทำทั้งหมดนี้เพื่อขอคะแนนเสียงและการสนับสนุนจากคริสตจักรและชาวคาทอลิคเคร่งศาสนา

 

ขบวนการสังคมและเอ็นจีโอในนิคารากัวต้องผิดหวังอย่างแรง เมื่อแกนนำในพรรค FSLN ยืนยันว่า จะดำเนินนโยบายเสรีนิยมใหม่ต่อไป นั่นหมายถึงการเปิดทางให้นักลงทุนจากต่างประเทศ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การลดหย่อนภาษีให้บรรษัทใหญ่ รวมทั้งเดินหน้าในการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกากลางหรือ CAFTA กับสหรัฐอเมริกา แม้ว่าในขณะเดียวกัน ออร์เตกาก็สัญญาว่าจะยุติความยากจน โดยประณามสภาพเลวร้ายที่เป็นอยู่ว่าเกิดจาก "ทุนนิยมป่าเถื่อน" (savage capitalism)

 

ถ้าจะมีการจัดอันดับเรื่องน่าขันขื่นในประวัติศาสตร์ละตินอเมริกา คำว่า "savage capitalism" ของออร์เตกาคงติดอันดับท็อปเท็นแน่นอน ออร์เตกายืมคำๆ นี้มาจากพระสันตะปาปาจอห์นปอลที่สอง การที่วาติกันประณามระบบทุนนิยมน่าจะเป็นการดีก็จริง แต่ออร์เตกาช่างลืมง่ายเหลือเกินว่า พระสันตะปาปาพระองค์นี้เคยสร้างรอยบาดลึกในหัวใจชาวนิคารากัวไม่น้อยเหมือนกัน

 

เมื่อครั้งที่พระสันตะปาปาจอห์นปอลที่สองเสด็จเยือนกรุงมานากัว เมืองหลวงของนิคารากัวเมื่อ ค.ศ. 1983 หนุ่มสาว 17 คนที่เป็นสมาชิกขององค์กรยุวชนถูกฝ่ายคอนทราสังหาร และกำลังจะมีพิธีฝังศพและไว้อาลัยในจัตุรัสที่พระสันตะปาปาจะประกอบพิธีมิซซา แม่ของเยาวชนที่เสียชีวิตและประชาชนทั่วไปหวังว่า พระสันตะปาปาจะทรงกล่าวอะไรบ้างเพื่อแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อความตายของคนหนุ่มสาวเหล่านี้ แต่พระสันตะปาปากลับเทศนาเรียกร้องให้ชาวนิคารากัวละทิ้ง "อุดมการณ์ที่ไม่เข้าท่า" เมื่อประชาชนที่มาเข้าเฝ้าร้องขอต่อพระสันตะปาปาให้พระองค์สวดแก่ผู้ตายและตะโกนคำว่า "เราต้องการสันติภาพ" พระสันตะปาปากลับไม่สนพระทัย รวบรัดจบพิธีและเสด็จกลับไปเลย แม้แต่ผู้ประกาศข่าวของบีบีซีก็ยังแสดงความคิดเห็นว่า นี่เป็นการประกอบพิธีมิซซาที่ "ผิดปรกติที่สุด" ในการดำรงตำแหน่งโป๊บของพระสันตะปาปาจอห์นปอลที่สอง

 

แหล่งข่าวจากคนวงในบอกว่า ขณะที่ชาวนิคารากัวตะโกนคำว่า "เราต้องการสันติภาพ" พระองค์ทรงหันไปถามคนสนิทว่า ประชาชนพูดอะไร แต่คนใกล้ชิดเพ็ดทูลว่า คำพูดนั้นไม่มีความสำคัญและประชาชนเหล่านั้นเป็นพวกคอมมิวนิสต์ ความที่พระสันตะปาปาชาวโปแลนด์มีประสบการณ์เลวร้ายกับระบอบคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออก มันจึงเหมือนการสะบัดผ้าแดงต่อหน้ากระทิงดุ ไม่นานหลังจากนั้น ด้วยคำแนะนำของคาร์ดินัลราทซิงเงอร์ (ผู้ต่อมาเป็นพระสันตะปาปาเบเนดิคท์ที่สิบหกองค์ปัจจุบัน) จึงมีการโยกย้ายบิชอปที่มีความคิดก้าวหน้าออกจากละตินอเมริกา แล้วแต่งตั้งบิชอปสายขวาจัดและอนุรักษ์นิยมเข้าไปแทน

 

แต่ใช่ว่าออร์เตกาจะไม่มีด้านดีเลย สำหรับชาวนิคารากัวที่เหนื่อยหน่ายกับความแตกแยกในประเทศ การปรองดองก็ไม่ใช่สิ่งเลวร้ายเสมอไป ในระหว่างการรณรงค์หาเสียง พรรค FSLN ใช้วิธีหาเสียงในเชิงบวก เน้นการนำเสนอนโยบาย หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าและไม่สาดโคลนใส่คู่แข่ง ในขณะที่พรรคฝ่ายขวาสองพรรคนั้น ถ้าไม่โจมตีออร์เตกา ก็หันมาโจมตีกันเอง

 

FSLN ยังหาเสียงอย่างเข้มข้น ร่วมมือกับนักกิจกรรมทางสังคม เข้านอกออกในถึงทุกประตูบ้าน มีการร่วมมือกับประชาชนจากรากหญ้าขึ้นมา และให้ความสำคัญกับเยาวชน ถ้าการจัดตั้งนี้ยังดำเนินต่อไป ไม่หมดสิ้นเฉพาะฤดูกาลเลือกตั้ง มันอาจเป็นสัญญาณถึงการจัดตั้งในภาคประชาชนที่เข้มแข็งขึ้น นอกจากนี้ พรรค FSLN ยังนำเสนอนโยบายที่ดี ในด้านสาธารณสุข การศึกษา การจ้างงานและที่อยู่อาศัย ปัญหาอยู่ที่จะทำได้จริงหรือไม่เท่านั้นเอง

 

ความหมายในชัยชนะของซานดินิสตา

แน่นอน ชัยชนะของพรรคซานดินิสตาอาจทำให้ฝ่ายซ้ายในโลกหลายคนสะใจเล็กๆ โดยเฉพาะเมื่อเห็นอาการฟาดงวงฟาดงาของอภิจักรวรรดิอเมริกัน อาทิ บทความของ Tariq Ali ที่ตั้งชื่อว่า "ประทีปแห่งความหวังถึงการฟื้นคืนชีพของความใฝ่ฝันโบลิวาร์" ปฏิเสธไม่ได้ว่า ชัยชนะของออร์เตกาสะท้อนถึงความเบื่อหน่ายของประชาชนต่อการดำเนินนโยบายแนวเสรีนิยมใหม่ รวมทั้งความปรารถนาที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลง อันเป็นกระแสทั่วไปในละตินอเมริกา ซึ่งมีเวเนซุเอลาและโบลิเวียนำทางมาก่อน

 

แต่ช้าก่อน! เราอาจจะคาดหวังในทางที่ดีเกินไปสำหรับนิคารากัว อย่าลืมว่า หากนำเปอร์เซ็นต์ของคะแนนเสียงที่พรรคฝ่ายซ้ายสองพรรค กล่าวคือ FSLN และ MRS มารวมกัน จะได้คะแนนเสียงเพียง 44% ในขณะที่พรรคฝ่ายขวาสองพรรคได้เปอร์เซนต์ของคะแนนเสียงรวมกันยังมากกว่ากึ่งหนึ่งของคะแนนเสียงทั้งหมด ในประเทศที่ประชากร 80% ดำรงชีวิตอยู่ในความยากจน ประชาชนกว่าครึ่งประเทศก็ยังไม่ไว้ใจในโวหารทางการเมืองของสองพรรคที่มีคำว่า "ซานดินิสตา" ทั้งคู่

 

แต่ประเทศเล็กๆ ที่ยากจนอย่างนิคารากัวได้ให้บทเรียนทางการเมืองแก่โลกเป็นครั้งที่สอง นั่นคือ บทเรียนว่าด้วย "การยึดมั่นในหลักการของระบอบประชาธิปไตย" ชาวนิคารากัวสอนบทเรียนนี้ครั้งแรกใน ค.ศ. 1990 เมื่อพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายยอมก้าวลงจากอำนาจโดยดี ซึ่งต้องให้เครดิตแก่ดานีเอล ออร์เตกาที่ยอมรับผลการเลือกตั้งที่ตนพ่ายแพ้ และใน ค.ศ. 2006 พวกเขาก็ให้บทเรียนแก่โลกอีกครั้งหนึ่ง เมื่อรัฐบาลพรรคฝ่ายขวายอมรับความพ่ายแพ้ และหลีกทางให้รัฐบาลฝ่ายซ้าย (หรือเคยเป็นฝ่ายซ้าย) อย่างสันติ

 

การก้าวขึ้นสู่อำนาจอีกครั้งของพรรค FSLN ยังเป็นความพ่ายแพ้เชิงสัญลักษณ์ของการดำเนินนโยบายทางการทูตของสหรัฐฯ ในภูมิภาคละตินอเมริกา รัฐบาลสหรัฐฯ ทุ่มเทอย่างมหาศาลมาหลายสิบปีเพื่อบดขยี้พรรคการเมืองเล็กๆ ในประเทศเล็กๆ แต่ก็ทำไม่สำเร็จ แม้กระทั่งเมื่อพรรคการเมืองนั้นเปลี่ยนไปจนไม่ "ซ้าย" สักเท่าไร แต่คำว่า "ซานดินิสตา" ยังเป็นเสมือนยาขมในความรู้สึกของฝ่ายอนุรักษ์นิยมใหม่อเมริกัน เพราะคำๆ นี้สะท้อนถึงความใฝ่ฝันถึงอิสรภาพในการกำหนดอนาคตตัวเองของชาวละตินอเมริกัน อีกทั้งคำๆ นี้เคยโด่งดังไปทั่วโลก รัฐบาลสหรัฐฯ ยอมเผชิญกับการตำหนิติเตียนจากสหประชาชาติและนานาประเทศเพียงเพื่อบดขยี้คำๆ นี้ให้สิ้นซาก แต่การหวนคืนกลับมาอีกครั้งของ "ซานดินิสตา" คือลิ่มที่ตอกย้ำแทงใจดำของอภิจักรวรรดิอเมริกัน ไม่ต่างจากคำว่า "เวียดนาม" ในอดีต และ "อิรัก" ในปัจจุบัน

 

แน่นอน กลุ่มประเทศในละตินอเมริกาย่อมไม่พลาดโอกาสนี้ที่จะขยายอิทธิพลและพันธมิตรในอเมริกากลาง ไม่ว่ากลุ่มประชาคมเศรษฐกิจ Mercosur ที่มีบราซิลกับอาร์เจนตินาเป็นหัวเรือใหญ่ หรือกลุ่มประเทศในกรอบข้อตกลง ALBA ที่มีโบลิเวีย, คิวบาและเวเนซุเอลา หากออร์เตกาต้องการต่อสู้กับ "ทุนนิยมป่าเถื่อน" จริงๆ อย่างที่เขาพูด ---อย่างน้อยก็เพื่อรักษาฐานคะแนนเสียงในหมู่คนยากไร้เอาไว้--- เขาไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องอาศัยความช่วยเหลือจากคิวบา

 

และโดยเฉพาะ "เจ้าบุญทุ่ม" อย่างประธานาธิบดีอูโก ชาเวซ ชาเวซ นั้นแสดงความกระตือรือร้นจนออกนอกหน้า เขาโทรศัพท์ไปแสดงความยินดีกับว่าที่ประธานาธิบดีออร์เตกา โดยเผยแพร่เสียงออกทางสถานีโทรทัศน์ในเวเนซุเอลา ชาเวซกล่าวว่า "ไม่มีครั้งไหนเท่าครั้งนี้ที่การปฏิวัติซานดินิสตากับการปฏิวัติโบลิวาร์จะผนึกกำลังกัน เพื่อสร้างสังคมนิยมแห่งอนาคตของศตวรรษที่ 21"

 

ชาวนิคารากัวและกลุ่มธุรกิจในอเมริกากลางย่อมไม่ยอมพลาดโอกาสในการเข้าถึงตลาดของกลุ่มประเทศในอเมริกาใต้เช่นกัน ถ้านิคารากัวลงนามในกรอบข้อตกลง ALBA ประเทศอื่นๆ อย่าง ฮอนดูรัส ก็ต้องตามอย่างไม่ช้าก็เร็ว แทนที่เวเนซุเอลาจะถูกโดดเดี่ยวอย่างที่รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องการ ไม่แน่ว่าในอนาคต สหรัฐอเมริกาต่างหากที่จะถูกโดดเดี่ยวในภูมิภาคนี้

 

อนาคตจะสดใสหรือมัวมนก็ตาม แต่สิ่งที่เราควรทำตอนนี้ก็คือ เราควรปรบมือให้ชาวนิคารากัวเกือบครึ่งประเทศที่ยืนหยัดท้าทายคำข่มขู่ของมหาอำนาจอภิจักรวรรดินิยมอีกครั้ง และมันไม่ใช่แค่คำขู่ลมๆ แล้งๆ ด้วย แต่เป็นการบดขยี้ด้วยอำนาจและทรัพยากรมหาศาล ชาวนิคารากัวเคยยืนหยัดต่อสู้มาแล้วครั้งหนึ่ง พวกเขาอาจเคยเหนื่อยหน่าย อ่อนล้าและพ่ายแพ้ แต่วันนี้พวกเขายืนยันที่จะออกแรงอีกครั้ง เพราะความใฝ่ฝันของซานดิโน, โบลิวาร์, ซาปาตา, ทูปัค อมารู ฯลฯ ไม่เคยตายไปจากใจของชาวละตินอเมริกาเลย

 

 

...........................................................

ข้อมูลประกอบการเขียน:

Tariq Ali, "A Beacon of Hope for the Rebirth of Bolívar's Dream," The Guardian ; November 10, 2006.

 

Alejandro Bendana, "NICARAGUA: A DEFEAT FOR THE UNITED STATES BUT NO VICTORY FOR THE LEFT," http://www.focusweb.org/focus-on-trade-number-125-november-2006.html

 

Mark Engler, "The Return of Daniel Ortega," http://www.DemocracyUprising.com

 

Michael Hogan, "Lost Lives and Impoverished Souls: The Failure of the Church in Latin America," ZNet, November 21, 2005.

 

Gabriel San Román, "The Various Meanings of Ortega's Triumph," ZNet, November 17, 2006.

 

Toni Solo, "Varieties of Imperial Decline: The Nicaraguan Election," dissidentvoice.org,
November 14, 2006.

 

 Arnaldo Zenteno, "Victory of the FSLN: Analysis and Concerns," ZNet, November 20, 2006.

 

http://en.wikipedia.org/wiki/Nicaragua

 

CIA, The World Factbook, https://www.cia.gov/cia/publications/factbook/index.html

 

นอม ชอมสกี, อเมริกาอเมริกาอเมริกา: วิพากษ์นโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา, (ภัควดี วีระภาสพงษ์ แปล), สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2544.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท