Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 29 พ.ย.49 เมื่อวันที่ 28 พ.ย. พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร ประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจ แถลงผลการประชุมนัดแรก ว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการรับฟังความเห็น ทั่วไปจากกรรมการ ซึ่งมีการเสนอความเห็นค่อนข้างหลากหลายไม่เฉพาะเรื่องโครงสร้างสำนักงาน ตำรวจแห่งชาติ แต่มีการหารือว่าจะทำอย่างไรให้องค์กรตำรวจดำเนินต่อไปโดยมีความรับผิดชอบต่อประชาชนอย่างแท้จริง ปลอดจากการแทรกแซงทางการเมือง


 



" ที่ผ่านมามีการเสนอความเห็นให้ตำรวจขึ้นตรงต่อผู้ว่าราชการจังหวัด หรือให้ยกเลิกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ที่ประชุมมีความเห็นว่า โครงสร้างตำรวจในปัจจุบันยังเป็นโครงสร้างที่ใช้ได้ แต่ต้องปรับปรุงแก้ไขให้มีผู้รับผิดชอบอย่างแท้จริง และสามารถตรวจสอบได้ ดังนั้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติยังคงมีอยู่ แต่จะมีบทบาทเพียงแค่กำกับดูแลตำรวจในส่วนภูมิภาค เพราะไม่มีใครอยากเห็นผู้บัญชาการภาคถูกนายกฯหรือผบ.ตร.เข้าไปสั่งการหรือเปลี่ยนแปลงตำแหน่งในภาค " พล.ต.อ.วสิษฐ กล่าวและว่า


 



กองบัญชาการตำรวจภาคควรมีอำนาจดำเนินการอย่างแท้จริง คล้ายกับมอบอำนาจให้เป็นสัดส่วนแทนการรวบอำนาจไว้ที่ส่วนกลางอย่างเดียว ซึ่งที่ประชุมยังไม่ได้ข้อยุติในประเด็นดังกล่าว จึงได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น 4 ชุด เพื่อประมวลความคิดเห็นในการพัฒนาระบบงาน ตำรวจให้เป็นรูปร่างก่อนนำเสนอรัฐบาล โดยทั้งนี้ คณะกรรมการจะรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และตำรวจเป็นพื้นฐานในการปรับโครงสร้างตำรวจ เพราะการปรับโครงสร้างย่อมกระทบต่อผู้ปฏิบัติงานมากที่สุด


 



"หลังจากนี้ขอให้ประชาชนและตำรวจร่วมกันแสดงความเห็นผ่านทางจดหมายและส่งตรงถึงกระทรวงยุติธรรมหรือทางเว็ปไซต์กระทรวงยุติธรรม www.moj.go.th "การปรับโครงสร้างตำรวจต้องทำให้เร็วที่สุดเพราะนายกฯใจร้อน อนุกรรมการทั้ง 4 ชุด ต้องเริ่มงานทันที เพื่อนำความคืบหน้า มาเสนอที่ประชุมในวันที่ 8 ธ.ค.นี้"  พล.ต.อ.วสิษฐ กล่าว


 



อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.วสิษฐ กล่าวด้วยว่า ในที่ประชุมไม่ได้พูดว่าจะให้ตำรวจภาคไปขึ้นตรงกับผู้ว่าราชการจังหวัด แต่กรรมการเห็นตรงกันว่าควรจะมีการมอบอำนาจให้ตำรวจ ภาคและให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับดูแลตำรวจอย่างแท้จริง ปัจจุบันกก.ตร.จังหวัดที่มีอยู่ ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เพียงแต่มีชื่อเป็นกรรมการเท่านั้น หลังจากนี้ คงต้องปรับ ปรุงอย่างจริงจังเพื่อให้ตำรวจพิถีพิถันในการทำงานมากขึ้น


 



"พล.ต.อ.พัชรวาท วงศ์สุวรรณ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตัวแทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ร่วมประชุมไม่ได้แสดงความเห็นคัดค้านแนวทางการพัฒนาระบบตำรวจ และยังได้จัดเจ้าหน้าที่มาร่วมในคณะอนุกรรม การทั้ง 4 ชุดด้วย " พล.ต.อ.วสิษฐ กล่าวทิ้งท้าย


 



ด้านนายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการฯ กล่าวว่า คณะอนุกรรมการทั้ง 4 ชุด ประกอบด้วย 1. คณะอนุกรรมการด้านโครงสร้างและการบริหารจัดการ มีพล.ต.ท.ไกรสุข ศรีสุข เป็นประธาน โดยชุดนี้จะพิจารณาโครงสร้างตำรวจ ระบบตรวจสอบ และการถ่าย โอนภารกิจ รวมถึงการพัฒนาสถานีตำรวจในแต่ละพื้นที่ 2. คณะอนุกรรมการด้านพัฒนาบุคคลและ วิชาชีพตำรวจ มีพล.ต.ท.วัชรพล ประสานราชกิจ เป็นประธาน


 



3. คณะอนุกรรมการปรับปรุงและพัฒนา กฎหมาย มีพล.ต.ท.วันชัย ศรีนวลนัด เป็นประธาน ส่วนชุดที่ 4 คณะอนุกรรมการด้านการมีส่วนร่วมและ ประชาสัมพันธ์ มีนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ เป็นประธาน โดยกรรมการชุดนี้จะต้องทำงานร่วมกับตำรวจ และประชาชนทุกระดับอย่างใกล้ชิด


 



ด้านนายสังศิต กล่าวว่า ที่ประชุมมีการกำหนดกรอบและทิศทางการทำงาน ซึ่งถือเป็นก้าวแรกในการปฏิรูปโครงสร้างตำรวจ สำหรับปัญหาของตำรวจไม่ใช่เรื่องประสิทธิภาพ การบริหารจัดการขององค์กร แต่ปัญหาเกิดจากนักการเมืองเข้ามาใช้อำนาจแทรกแซงเพื่อหาประโยชน์ส่วนตัว ดังนั้น จึงต้องหาวิธี ป้องกันไม่ให้ตำรวจตกเป็นเครื่องมือของนักการเมืองตลอด 50 ปีที่ผ่านมา ส่วนโครงสร้างตำรวจที่เคยเสนอความเห็นให้ตำรวจภาคไปขึ้นตรงกับผู้ว่าราชการจังหวัด นั้นไม่ติดใจ เพราะที่ประชุมเห็นตรงกันว่า ควรมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นกก.ตร.จังหวัด หรือ แบ่งคณะกรรมการ ตำรวจ (ก.ตร.) ออกเป็น 9 ภาค ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมจากการทำงานของ ตำรวจ


 



วันเดียวกีน ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เวลา 15.00 น. พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาฟังบรรยายสรุปการสัมมนาเชิงปฏิการณ์เรื่องทิศทางการพัฒนาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อประโยชน์ของประชาชนและมอบนโยบายการปรับโครงสร้างการทำงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมีพล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผบ.ตร. และนายตำรวจระดับสูงให้การต้อนรับ จากนั้นได้เข้าฟังการบรรยายสรุปและไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวเข้ารับฟัง โดยใช้เวลามอบนโยบายประมาณ 15 นาทีก่อนเดินทางกลับโดยไม่ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวแต่อย่างใด


 



พล.ต.อ.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช รองผบ.ตร.(บร.) ในฐานะคณะกรรมการจัดงานสัมมนา บรรยายสรุปการสัมมนาครั้งนี้ว่า หลังจากการสัมมนาระดมสมองทั้ง 2 วัน สามารถสรุปผลการสัมมนาเป็น 3 ด้าน ด้วยกัน ด้านแรก เป็นเรื่องของโครงสร้างการบริหารงานบุคคล เพื่อให้สอดคล้องกับระบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและโครงสร้างของสังคมไทย ที่ประชุมสัมมนาได้สรุปว่าให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกองบัญชาการต่างๆมีฐานะเป็นนิติบุคคล หน่วยปฎิบัติการ เช่น สถานีตำรวจต่างๆ ต้องเข้มแข็งมีเอกภาพ สามารถบริหารงานบุคคลทั้งงานและงบประมาณ และให้ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งในด้านแรกนี้ต้องมีการตัดภารกิจที่ไม่เกี่ยวข้องให้หน่วยงานอื่นรับผิดชอบ


 



พล.ต.อ.อชิรวิทย์ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าการบริหารงานบุคคลเป็นปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะเรื่องการป้องกันระบบการแทรกแซงทางการเมืองเพื่อสร้างความมั่นคงในวิชาชีพ โดยต้องแก้ไของค์ประกอบ อย่าง ก.ตช. ก.ตร. ให้มีความคล้ายคลึงกับอัยการ และศาล อีกทั้งต้องมีการออกกฏเกณฑ์การแต่งตั้งที่เป็นธรรมและกระจายอำนาจ ส่วนการบรรจุข้าราชการชั้นประทวน ต้องมีอายุ 20 ปี ขึ้นไป และปรับให้มีวุฒิการศึกษาจากมัธยมศึกษาตอนปลาย และปวช.เป็น ปวส.- ปริญญาตรี โดยให้มีการฝึกอบรมเป็นระยะๆ นอกจากนั้นต้องมีการปรับค่าตอบแทนให้ใกล้เคียงกับหน่วยงานที่มีภารกิจใกล้เคียงกันซึ่งปัจจุบันตำรวจมีค่าตอบแทนน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับหน่วยงานที่มีภารกิจใกล้เคียงกัน


 



พล.ต.อ.อชิรวิทย์ กล่าวว่า ด้านที่ 2 เป็นเรื่องการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ที่ผ่านมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยมี กต.ตร.ทั้ง กต.ตร.ของกทม. และกต.ตร.จังหวัด ให้เข้ามามีส่วนร่วมกับการทำงานของสำนักงานตำรวจ ประเมินการทำงาน และตรวจสอบการทำงานของตำรวจ โดยให้ กต.ตร.เข้ามามีบทบาทด้านต่างๆ ขณะเดียวเรื่องที่ตำรวจกำลังผลักดันให้เกิดขึ้นคือเรื่องพ.ร.บ.ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทลดขั้นตอนการสอบสวนลดผู้ต้องหาที่จะเข้าไปในชั้นศาล และผลักดันให้มีร่างพ.ร.บ.การรักษาความปลอดภัยเอกชน นอกจากนั้นให้ประชาชนมามีส่วนร่วมในการดูแลชุมชนทำให้ชุมชนแข็งแข็ง


 



"ส่วนด้านสุดท้ายเป็นเรื่องของการสืบสวนและการอำนวยความยุติธรรม โดยที่ประชุมสรุปว่าควรกำหนดแนวทางการสอบสวนตามความถนัดของพนักงานสอบสวนแต่ละคน พัฒนาคุณภาพของพนักงานสอบสวนอบรมให้ความรู้ต่างๆ และให้มีรูปแบบการสอบสวนโดยใช้หลักนิติวิทยาศาสตร์เข้ามาใช้"  พล.ต.อ.อชิรวิทย์กล่าว


 


จากนั้นกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมามีการประเมินเรื่องโครงสร้างของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อย่างต่อเนื่องและได้มีการปรับตัวเองมาโดยตลอด ก่อนมีพ.ร.บ.ตำรวจ พ.ศ.2547 องค์กรตำรวจถูกประเมินว่ามีการฉ้อราษฎร์บังหลวงเป็นอันดับต้นๆ แต่เมื่อมี พ.ร.บ.ตำรวจขึ้น เมื่อมีการประเมินพบว่าการฉ้อราชบังหลวงลดลงไม่ติดองค์กร 1 ใน 10ที่มีการฉ้อราษฎร์บังหลวง อย่างไรก็ตามการจะปรับองค์การตำรวจนั้นจะส่งผลกระทบต่อประชาชนมาที่สุด


 



 ขณะที่พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวมอบนโยบายหลังฟังบรรยายสรุปการสัมมนาว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้จัดสัมมนาเพื่อพัฒนาองค์กรให้เกิดความยุติธรรม เพื่อสนองความต้องการของประชาชนเนื่องจากองค์กรตำรวจถือเป็นต้นธารของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งจะทำให้กระบวนการยุติธรรมมีความเสมอภาคต่อประชาชนเกิดประโยชน์สุขต่อประชาชน


 



 ก่อนหน้านี้ตำรวจได้รับความศรัทธาจากประชาชน ประชาชนให้ความไว้วางใจ แต่ในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไป ความเชื่อของประชาชนลดน้อยลง อาจเพราะเหตุผลทางการเมืองที่ทำให้เกิดความหวาดระแวงต่อความเชื่อมั่นนี้ ส่งผลต่อการทำงานของตำรวจ เนื่องจากต้องทำงานใกล้ชิดประชาชน และต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนจึงจะทำงานได้ดี การที่ประชาชนจะเชื่อถือศรัทธาต้องได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย


 



พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวต่อว่า การที่จะเรียกความศรัทธากลับคืนมานั้นต้องได้รับการร่วมมือจากหลายฝ่าย 1.ตำรวจต้องทำให้รู้ว่าตำรวจทำเพื่อประชาชนจริงๆ ไม่เห็นแก่ตัว ไม่ย่อท้อกับความเหน็ดเหนื่อย ตำรวจต้องปฏิวัติตัวเองเพื่อให้เกิดทัศนคติที่ดีต่อตำรวจและปฏิรูปโครงสร้างตำรวจด้วย 2.สังคมต้องเห็นใจและไว้วางใจให้ความร่วมมือกับตำรวจ มากที่สุด รวมทั้งให้กำลังใจจากสิ่งเล็กน้อยๆที่ทุ่มเทและเสียสละให้ได้



3.ตำรวจและประชาชนต้องสื่อสารระหว่างกันให้มากขึ้น สังคมต้องสื่อสารกับตำรวจว่าคาดหวังอยากให้ตำรวจทำงานอย่างไร ตำรวจเองก็ต้องสื่อสารไปยังประชาชนต้องบอกว่ามีปัญหาหรืออุปสรรคอย่างไรบ้างในการทำงาน


 



4. สื่อสารมวลชนต้องช่วยกันดำเนินงาน ประสานทั้ง 2 ส่วนได้ ส่วนที่ดีก็เผยแพร่ ส่วนที่ไม่ดีก็ต้องช่วยกันตรวจสอบและเสนอให้ประชาชนได้รับทราบ ตำรวจคนไหนที่ทำงานดีก็ต้องสนับสนุนยกย่อง ชมเชย เพื่อให้มีความรู้สึกว่าตำรวจมีเกียรติ เมื่อทุกฝ่ายทำงานอย่างดีแล้วสถาบันยันตำรวจจะได้รับความศรัทธากลับมาอีกครั้ง


 



พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวว่า การปรับโครงสร้างจำเป็นต้องได้รับการพิจารณาแม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการปรับโครงสร้างหลายครั้ง แต่งานตำรวจต้องสอดคล้องกับสังคม เมื่อบริบททางสังคมเปลี่ยนโครงสร้างตำรวจเองก็ต้องเปลี่ยน ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายที่จะสนับสนุนในการปรับโครงสร้างของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อปรับการทำงานของกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดว่าในส่วนในต้องปรับปรุงบ้าง เพราะกระบวนการยุติธรรมบางส่วนมีความล้าหลัง



 


ตรงจุดนี้ไม่ใช่ตำรวจที่ต้องปรับแต่หมายถึงกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด เพื่อให้สังคมมีความเป็นธรรม รัฐบาลจึงได้ตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจขึ้น โดยมี พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร เป็นประธานคณะกรรมการ โดยให้มีการแสดงความคิดเห็นจากนักวิชาการต่างๆ ประชาชน เพื่อให้ปรับปรุงกฏหมายและการทำงานของตำรวจ



 


พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวอีกว่า ประเด็นที่สำคัญในการพัฒนาโครงสร้างของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประกอบด้วย ประการแรก เป็นเรื่องของโครงสร้างการบริหารจัดการรวมศูนย์อำนาจการบริหาร ภารกิจที่ไม่ใช่ก็ต้องแยกออกไป ขณะเดียวกันต้องสร้างความเป็นอิสระในการสอบสวน ซึ่งตำรวจเองก็เห็นตรงกัน 2.การบริหารงานบุคคล ให้ดูเรื่องระบบคุณธรรม การสรรหา การพัฒนา และสวัสดิการค่าตอบแทน



 


สิ่งสำคัญที่น่าเป็นห่วง เรื่องการแทรกแซงทางการเมือง เป็นเรื่องที่ต้องนำมาพิจารณาว่าจะทำอย่างไร ไม่ให้มีการแทรกแซงและไม่ให้มีผลกระทบต่อระบบราชการ ต้องยอมรับว่าระบบราชการไม่ใช่แต่เฉพาะตำรวจอย่างเดียวที่มีการแทรกแซงทางการเมือง ซึ่งเรื่องนี้ทุกฝ่ายต้องช่วยกันหาทางแก้ไข โดยการจะต้องแบ่งอำนาจการบริหารไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้ายหรือการล้วงลูกข้าราชการมากจนเกินไป 3.เรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งเรื่องทางตำรวจได้เสนอแนวคิดไปแล้ว



 


"ผมเชื่อมั่นว่าตำรวจทั้งหลายมีความตั้งใจ พยายามปฏิบัติหน้าที่ในการปฏิบัติราชการที่จะทำงานเพื่อเป้าหมายหลักเพื่อประเทศชาติและประชาชน ตอบสนองพระปฐมบรมราชโองการของพระบรมสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯที่ ว่า เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวสยาม ตำรวจต้องไม่หวั่นไหวต่อการเปลี่ยนแปลงทำงานในทุกสถานการณ์ให้ได้ดี เพื่อพัฒนาระบบงานตำรวจต่อไป"นายกรัฐมนตรีกล่าว



 


ด้านพล.ต.อ.โกวิท กล่าวว่า วันนี้นายกรัฐมนตรีได้มามอบนโยบายและให้ตำรวจช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไร ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมประเทศชาติอย่างเต็มที่ และจะดูแลแก้ไขกฏหมายต่างๆ ที่ไม่ให้การเมืองเข้ามาแทรกแซงการทำงานของตำรวจ เพราะที่ผ่านมาอาจเข้ามาล้วงลูกให้ทุกฝ่ายช่วยกันดู ขณะนี้รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจซึงได้ประชุมกันไปแล้วในบ่ายวันที่ 28 พ.ย. ทุกฝ่ายได้นำข้อมูลมาพิจารณารวมกัน ที่จะทำอย่างไรให้การทำงานของตำรวจมีประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งสังคมคาดหวังให้ตำรวจทำหน้าที่อย่างสุจริตยุติธรรม หลายฝ่ายต้องมาดูกันว่าตำรวจมีจุดอ่อน จุดแข็งอย่างไร



 


พล.ต.อ.โกวิท กล่าวว่า วันนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้นำสรุปผลการสัมมามาเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจ เพื่อไปพิจารณาในรายละเอียด นอกจากนี้ ถ้าเกิดประชาชนหรือใครก็ตามมีข้อเสนอแนะอะไรเกี่ยวกับระบบงานตำรวจก็ให้ส่งไปที่คณะกรรมการชุดนี้ ซึ่งเปิดรับความคิดเห็นไปพิจารณา ซึ่งเป็นความตั้งใจของรัฐบาลที่จะพัฒนากระบวนการยุติธรรม ที่ผ่านมาตำรวจถูกร้องเรียนกล่าวหามาโดยตลอด ทำอย่างไร อาจต้องแก้ที่ระบบ ที่คน ที่กฏหมาย มันติดขัดตรงไหนต้องช่วยกันดู



 


"ส่วนจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือไปแก้ไขกฏระเบียบต่างๆ หรือไม่ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการชุดนี้ แต่ถึงจะมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างก็ไม่เป็นไรเพราะไม่ใช่เพียงแต่ตำรวจแต่เป็นการปรับโครงสร้างของกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ อย่างไรก็ตามเชื่อมั่นว่าความพอใจความคาดหวังของรัฐบาลหรือของประชาชนต่อตำรวจ ตลอดตัวชี้วัดต่างๆที่ออกมาเชื่อว่านายกรัฐมนตรีจะมองการทำงานของตำรวจอย่างเป็นธรรม อย่างไรก็ตามถ้ามีการปรับเปลี่ยนขึ้นเชื่อว่าตำรวจทุกคนสามารถรับการเปลี่ยนแปลงได้เพราะรัฐบาลและประชาชนเป็นเจ้าของตำรวจ"ผบ.ตร.กล่าว


 


 


 

ที่มา:เว็บไซต์ คม ชัด ลึก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net