Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 28 พ.ย.2549         พล.อ.บุญรอด สมทัศน์ รมว.กลาโหม แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.ให้ความเห็นชอบกับร่างประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก ที่ฝ่ายความมั่นคงได้นำเสนอ โดยได้มีการยกเลิกกฎอัยการศึก 41 จังหวัด คงกฎอัยการศึกไว้ 35 จังหวัด ส่วนสาเหตุที่ยังคงเอาไว้เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งปัญหายาเสพติด ปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมือง และการค้าของเถื่อน ซึ่งทั้ง 35 จังหวัดนี้ส่วนใหญ่เป็นจังหวัดตามแนวชายแดน มีบางพื้นที่เท่านั้นเข้ามาอยู่ภายในบ้าง ทางฝ่ายความมั่นคงจะพิจารณายกเลิกจังหวัดที่เหลือนี้ตามความจำเป็น


 


สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลนั้น พล.อ.บุญรอด กล่าวว่า ครม.มีมติให้กฎอัยการศึกเช่นกัน ส่วนจังหวัดที่คงกฎอัยการศึกไว้อาทิ จ.เชียงใหม่ กำแพงเพชร บุรีรัมย์ โดยมีเหตุผลในเรื่องของความมั่นคงภายใน


 


ผู้สื่อข่าวถามว่ามีหลักฐานที่ทำให้เห็นว่ายังมีการเคลื่อนไหวของคลื่นใต้น้ำอยู่หรือไม่ พล.อ.บุญรอด กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ทางฝ่ายความมั่นคงต้องฟังหน่วยในพื้นที่ คือหน่วยกองทัพภาคที่ 1 , 2 , 3 และ 4 ที่จะเป็นผู้เสนอว่า พื้นที่ไหนควรจะคงกฎอัยการศึกไว้หรือยกเลิก ซึ่งฝ่ายรัฐบาลได้ต่อรองให้เหลือพื้นที่ที่คงไว้ให้น้อยลงที่สุด แต่ในเรื่องของความมั่นคงจึงยังต้องคงกฎอัยการศึกไว้ อย่าง จ.เชียงใหม่ ไม่ได้เป็นเรื่องของความมั่นคงภายในเพียงอย่างเดียว ยังเกี่ยวกับเรื่องยาเสพติดที่เข้ามาตามแนวชายแดนด้วย


 


ส่วนเหตุผลที่ได้มีการยกเลิกกฎอัยการศึก 41 จังหวัดจากเดิมที่มีข่าวว่าจะยกเลิก 48 จังหวัดนั้น พล.อ.บุญรอด กล่าวว่า ก็เพราะเราพิจารณาเห็นว่า สถานการณ์เบาบาง ในส่วนกลางกรุงเทพฯและปริมณฑลก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับภาพในสายตาชาวต่างประเทศและเรื่องของการท่องเที่ยว เมื่อถามต่อว่า หากมีการชุมนุมในกทม.รัฐบาลมั่นใจหรือไม่จะสามารถควบคุมได้ พล.อ.บุญรอด กล่าวว่า ในชั้นต้นที่ให้ยกเลิกกฎอัยการศึก ก็แสดงว่ามีความมั่นคงควบคุมสถานการณ์ได้


 


ผู้สื่อข่าวถามว่าหากเกิดเหตุการณ์เคลื่อนไหวที่ไม่น่าไว้วางใจ จะดำเนินการอย่างไร รมว.กลาโหม กล่าวว่า นั้นค่อยว่ากันอีกที อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้มีมาตรการรองรับไว้อยู่แล้ว ถึงได้ประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก



ผู้สื่อข่าวถามว่าได้มีการเพิ่มจังหวัดที่คงกฎอัยการศึกไว้อีกกี่จังหวัด พล.อ.บุญรอด กล่าวว่า เพิ่มจากกลุ่มพื้นที่แล้ว 20 จังหวัด จากประกาศ 3 ฉบับ ฉะนั้นจะเห็นว่า เพิ่มขึ้นมาเพียง 15 จังหวัด เมื่อถามต่อว่า จะมีการประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกเป็นทางการได้เมื่อไร และขั้นตอนต่อไปทำอย่างไร พล.อ.บุญรอด กล่าวว่า ขั้นตอนต่อไปคือการกราบบังคมทูล เพราะการยกเลิกประกาศกฎอัยการศึกต้องเป็นพระบรมราชโองการ โดยจะนำความกราบบังคมทูลโดยเร็วที่สุด ส่วนจะทันวันที่ 5 ธันวาคมหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับข้างบน


 


พล.อ.สุรยุทธิ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่ารัฐบาลได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้วในการยกเลิกกฎอัยการศึกบางจังหวัด ไม่กลัวว่าจะถูกมองรัฐบาลใช้กฎหมายไม่เท่าเทียมกัน ไม่อย่างนั้นคงไม่ตัดสินใจอย่างนี้


 


อย่างไรก็ตาม รัฐบาลโดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะได้มีการนำความ ขึ้นทูลเกล้าฯขอยกเลิกร่างประกาศกฎอัยการศึกในวันที่ 28 พ.ย.ทันทีหลังมีมติครม.


 


สำหรับ 35 จังหวัดที่ยังคงใช้กฎอัยการศึกไว้ต่อไปได้แก่ 1.กาญจนบุรี 2.กำแพงเพชร 3.ขอนแก่น 4.จันทบุรี 5.เชียงราย 6.เชียงใหม่ 7.ชัยภูมิ 8.ตราด 9.ตาก 10.นราธิวาส 11.นครราชสีมา 12.น่าน 13.บุรีรัมย์ 14.ประจวบคีรีขันธ์ 15.ปัตตตานี 16.พะเยา 17.พิษณุโลก18. เพชรบุรี 19.แม่ฮ่องสอน 20.มหาสารคาม 21.ยะลา 22.ราชบุรี 23.ร้อยเอ็ด 24.ระนอง 25.เลย 26. ศรีสะเกษ 27.สตูล 28.สงขลา 29.สระแก้ว 30.สุรินทร์ 31.หนองบัวลำภู 32.อุดรธานี 33. อุตรดิตถ์ 34.อุบลราชธานี และ 35. อำนาจเจริญ


 


พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผบ.สส. กล่าวว่า แม้ว่าจะยกเลิกกฎอัยการศึกบางจังหวัดแล้ว แต่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. และประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ได้สั่งการให้หน่วยงานด้านการข่าวติดตาม ความเคลื่อนไหวทั่วประเทศ เพื่อความไม่ประมาท


 


ส่วนที่มีกระแสข่าวองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เตรียมเคลื่อนตัวเข้ากรุงเทพฯในวันอาทิตย์ที่ 10 ธ.ค.นี้นั้น พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่า เรื่องนี้ดูอยู่แล้ว ไม่ต้องเป็นห่วง เป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องคาดคิด และวางแผนล่วงหน้า


 


นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่าหลังจากครม.ยกเลิกกฎอัยการศึก ก็เป็นธรรมดาที่จะมีการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนกลุ่มปัญหาต่างๆ มากขึ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ที่ประชาชนย่อมมีสิทธิชุมนุมเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทุกรัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหา และการเคลื่อนไหวของชาวบ้านกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ จุดมุ่งหมายเพื่อให้รัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหา ยังไม่ได้ถึงขั้นล้มล้างรัฐบาล หรือ คมช. ซึ่งรัฐบาลต้องมีมาตรการรับมือเพื่อบริหารจัดการและแก้ปัญหาให้กลับประชาชนผู้เดือดร้อนกลุ่มต่างๆ ได้ แต่ที่ผ่านมารัฐบาลชุดนี้ยังไม่มีกลไกหรือหน่วยงานที่ชัดเจนเพื่อทำหน้าที่บูรณาการกลไกทุกภาคส่วนเข้ามาแก้ปัญหาให้ลุล่วงได้


 


"ผมเสนอให้รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี ออกคำสั่งพิเศษเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาความยากจนทั้งระบบ ทั้งปัญหาเฉพาะหน้าที่เป็นปัญหาร้อนและปัญหาระดับนโยบาย โดยมีอำนาจหน้าที่ทั้งบูรณาการและสั่งการหน่วยงานรัฐที่สังกัดกระทรวงต่างๆ เข้าไปแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที ซึ่งนายกฯ อาจนั่งเป็นประธานเอง เพราะการปล่อยให้กระทรวงต่างๆ ไปรับผิดชอบและแก้ปัญหาตามลำพังนั้นไม่เคยเป็นจริง เพราะระบบราชการนอกจากล่าช้าแล้วยังมักผลักภาระไปให้หน่วยงานอื่นรับผิดชอบแทน จนทำให้ปัญหาคนจนเรื้อรังมานาน"


 


นายสุริยะใสกล่าวว่า การเคลื่อนไหวของมวลชนที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ รือตามพื้นฐานของความเดือดร้อนเรื่องปากท้องถือว่าเป็นจุดอ่อนไหวที่สุดของทุกรัฐบาล โดยเฉพาะรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจะต้องมีมาตรการรับมือที่เข้าถึงและเข้าใจ ไม่เช่นนั้นกลุ่มต่างๆ เหล่านี้อาจกลายสภาพเป็นคลื่นบนน้ำหรือไหลรวม เป็นแรงต้านต่อ คมช.และรัฐบาลได้ในที่สุด


 


นายพรหมศักดิ์ แสนโพธิ์ ประธานกลุ่มสหพันธ์ประชาชนคนรากหญ้า เครือข่ายภาคเหนือ กล่าวว่า สถานการณ์ในขณะนี้ทุกอย่างได้เข้ารูปเข้ารอยและกำลังเดินหน้าไปตามกระบวนการ ยืนยันว่าในจ.เชียงใหม่ไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนรากหญ้า กลุ่มการเมืองที่เคยมีอำนาจหรือกลุ่มอื่นๆที่รักในตัว พ.ต.ท.ทักษิณ


 


"หากจังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายยังคงอยู่ภายใต้กฏอัยการศึก ขณะที่พื้นที่อื่นมีการประกาศยกเลิกจะส่งผลเสียต่อจ.เชียงใหม่เป็นอย่างมาก การประกาศใช้กฏอัยการศึกคนในพื้นที่อาจไม่ได้รับผลกระทบแต่มีผลต่อความเชื่อมั่นของสายตาต่างชาติและจะส่งผลกระทบต่อการลงทุน ธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจส่งออกอย่างแน่นอน"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net