สัมภาษณ์พิเศษ : "สนนท." บทบาทครั้งใหม่หลังตัดสินใจร่วมต้านรัฐประหาร 19 กันยา

ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง

 

สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย หรือ สนนท. นามนี้มีความเป็นมาคู่กับประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างยาวนาน โดยเปรียบเสมือนเป็นศูนย์กลางการประสานพลังของบรรดาเหล่านิสิตนักศึกษาที่แสวงหาสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยในยุครัฐประหาร

 

ทว่า ปัจจุบันภายใต้บริบทที่เปลี่ยนไปนิสิตนักศึกษาในสังคมไทยก็เปลี่ยนแปลง บางที สนนท. แทบจะเป็นนามที่เหมือนหายไปในสายลมและแสงแดดสำหรับบรรดาเหล่านิสิตนักศึกษา โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535

 

จนกระทั่งปีที่ผ่านมา นาม สนนท. เริ่มกลับมามีบทบาททางสังคมการเมืองที่สำคัญอีกครั้งเมื่อได้ประกาศจุดยืนเข้าร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในการขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง แต่ภายหลังเกิดอุบัติเหตุทางประชาธิปไตยครั้งใหญ่เสียก่อนการขับไล่นั้นจะสัมฤทธิ์ผลตามครรลองประชาธิปไตย ในวันที่ 19 กันยายน คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข(คปค.) ก็ได้ทำการรัฐประหารและพาสังคมไทยเข้าสู่ยุคเผด็จการเต็มใบอีกครั้ง

 

ในวันนี้ นาม สนนท. ภายใต้การผลัดใบคณะกรรมการชุดใหม่ปรากฏขึ้นอีกครั้งในบทบาทผู้ร่วมต้านการรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน อย่างเป็นทางการ เป็นมาเป็นไปอย่างไร ฟังชัดๆ จาก "จารุวรรณ สารทลาลัย" กรรมการบริหาร สนนท.ชุดปัจจุบัน

 

000

 

 

โครงสร้าง สนนท. ตอนนี้เป็นอย่างไร

สนนท.ชุดก่อนหมดวาระตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จากนั้นจึงมีการสมัชชามีผู้เข้าร่วมประมาณ 100 คนจากทุกภาค โดยเป็นตัวแทนองค์กรตามมหาวิทยาลัยต่างๆที่เป็นเครือข่ายประมาณ2-3 คน ต่อองค์กร มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างคือ ไม่มีเลขาธิการ สนนท.เพื่อให้เข้ากับการทำงาน เพราะอาจจะไม่มีใครพร้อมพอที่จะขึ้นไปนำขนาดนั้น เราพร้อมที่จะทำงานเป็นแบบแนวราบที่ก้าวไปพร้อมกันมากกว่า แนวคิดนี้มาจาการสมัชชาครั้งล่าสุดที่ไม่อยากมีเลขาธิการ สนนท. และจะทำงานในลักษณะคณะกรรมการ ส่วนผู้ทำหน้าที่อ่านแถลงการณ์หรือชี้แจงนั้นสามารถทำได้เกือบทุกคน จะไม่เน้นว่าใครจะต้องเป็นคนอ่านแถลงการณ์ สามารถประยุกต์ได้ ทุกคนจะทำได้หลายๆบทบาท แต่จะใช้มติในนามร่วมกัน

 

วิธีการเลือกคณะกรรมการทำอย่างไร

ก่อนอื่นต้องมีความอยากที่จะทำงานตรงนี้ มีการคัดเลือกกัน บรรยากาศก็อบอุ่นกับพี่ๆที่ไปคุยด้วย แต่ละคนที่ไปก็เป็นคนมีความคิดที่อยากจะทำ เรามีโอกาสตรงนี้แล้วสามารถทำอะไรได้เยอะ ก็อยากลองทำดู ตอนนี้มีกรรมการประมาณ 7-8 คน

 

ย้อนกลับไปวันรัฐประหาร 19 กันยายน สนนท.มีความตื่นตัวแค่ไหน

รู้ว่ามีการรัฐประหารตั้งแต่วันที่ 19 กันยายนเลย มีการประชุมกันในวันนั้นพอดี แต่ตอนประชุมยังไม่ทราบจนแยกย้ายกันกลับบ้านต่างคนต่างไปรับรู้แล้วก็ไปติดต่อกัน ในวันนั้นเต็มไปด้วยความสับสน เพราะยังไม่รู้อะไรที่แน่นอน เริ่มมีการคุยกันจริงจังวันที่ 20 กันยายน คุยกันว่าการเกิดรัฐประหารครั้งนี้เกิดจากอะไร เบื้องหลังเป็นอย่างไร ก็มีการมาเจอกันในลักษณะเป็นทางการประมาณเกือบ 10 คน ข้อสรุปครั้งแรกของการประชุมคือ ความไม่แน่นอนของการเข้ามาของการรัฐประหารครั้งนี้ ตอนนั้นเราไม่สามารถตอบอะไรได้เลย แต่เรารู้ว่าการรัฐประหารคือสิ่งที่ไม่ปกติและไม่น่าจะเกิดขึ้น ณ ตอนนี้ และไม่น่าจะมีแค่ทางเลือกเดียว คือถ้าไม่เอาทักษิณ แล้วคุณจะเอารัฐประหารหรือ สังคมไทยไม่น่าจะมีแค่ 2 ตัวเลือกนี้

 

จากนั้นก็มีการติดตามข่าวกันมาเรื่อยๆว่าเหตุการณ์จะเป็นอย่างไร เห็นกฎอัยการศึกออกมาแล้วก็มีออกมาเรื่อยๆ มันก็ไม่น่าจะประกาศอะไรกันเยอะขนาดนี้ แล้วก็คุยกันมาเรื่อยๆ แต่แม้ตอนนั้นส่วนใหญ่จะไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารก็รอดูสถานการณ์กันว่าอะไรคือสิ่งที่จริงแน่ๆ เพราะตอนนั้นสื่อค่อนข้างจะโดนปิด เราก็รู้จากหลายๆทิศหลายๆทาง มีการปล่อยข่าวกันเยอะมาก ก็เช็คความแน่นอนด้วย

 

จุดเปลี่ยนที่ตัดสินใจออกแถลงการณ์ชัดเจนว่าไม่ยอมรับการรัฐประหารในวันที่เครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหาร มีการเคลื่อนไหวใหญ่ไปหน้ากองทัพบกเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน

ก่อนที่จะไปในวันนั้น เคยออกแถลงการณ์แล้ว 1 ฉบับ วันที่ 24 กันยายน บอกว่าไม่เห็นด้วยกับการัฐประหารครั้งนี้ แต่แถลงการณ์การที่ออกไปถูกสังคมตีความว่าเราเห็นด้วยกับการรัฐประหาร คงเป็นเพราะการทำงานของเราที่ค่อนข้างใหม่อาจจะสื่อสารกับคนได้ไม่ชัดเจน อาจเขียนออกไปไม่ชัดเจน เราจึงเริ่มมีการคุยกันว่าเราไม่เห็นด้วย ทำไมสังคมจึงตีความอย่างนี้ก็เลยคิดว่าน่าจะทำอะไรเพื่อเคลียร์ภาพตัวเอง

 

ส่วนเครือข่าย 19 กันยาฯนั้นไม่ได้เหมือนกับเข้าร่วม แต่เห็นด้วยในรายประเด็นว่าเราไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารเหมือนกัน ก็ลองไปสัมผัสกับการชุมนุมของเครือข่าย 19 กันยามาแล้ว ไปสังเกตการณ์ไปฟัง และที่เลือกประกาศจุดยืนในวันที่มีการเคลื่อนไหวใหญ่ของเครือข่าย 19 กันยา ฯ คงเป็นเพราะมีความพร้อมที่คุยกันตกแล้วว่าจะไปขึ้นเวทีที่ไหนอย่างไร แล้วอาจจะเป็นจังหวะที่เครือข่าย 19 กันยาฯจะเดินขบวนด้วย

 

ในเวทีเครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหาร มีการประกาศไม่เห็นด้วยกับแนวทางของ สนนท. ชุดก่อน แล้วจุดยืนของ สนนท. ชุดนี้คืออะไร

จุดยืนไม่เห็นด้วย แต่ไม่ใช่การไม่เห็นด้วยกับ สนนท.รุ่นก่อน เราเคารพการตัดสินใจของรุ่นก่อน เขาก็มีเหตุผลในการทำ เขาก็ไม่ผิดเพียงแต่สถานการณ์บังคับก็ได้ แต่ภาพที่ออกมาทำให้สังคมตีความไปอีกอย่างหนึ่ง ขบวนเราค่อนข้างที่จะมีคนหลากหลาย เราไม่ได้เห็นด้วยกับมาตรา 7 รุ่นพี่เก่าๆก็ไม่ได้เห็นด้วยกับมาตรา 7 แต่เขาก็มีเหตุผลของเขาที่จะต้องยืนอยู่ตรงนั้น

 

สิ่งนี้นำไปสู่การคุยกันว่าไม่ควรมีเลขาธิการ สนนท.หรือไม่

ไม่ใช่ พี่เขาไม่ได้เห็นด้วยกับมาตรา 7 แต่เหมือนกับบางอย่างก็บีบๆกันอยู่ บางอย่างก็ถอนตัวออกมาได้ไม่หมด ก็เคารพในการตัดสินใจของรุ่นเก่า ก็คุยกันปกติ

 

หลังประกาศจุดยืนที่ค่อนข้างชัดต่อการต้านรัฐประหารแล้วจะทำอะไรกันต่อ

ทิศทางการทำงานก็ไม่ทิ้งเรื่องการรัฐประหารและติดตามเรื่อยๆ แต่ประเด็นหลักๆตอนนี้คือการต่อสู้เรื่อง มหาวิทยาลัยนอกระบบซึ่งสื่อค่อนข้างปิดกั้น ไม่มีใครรู้เลยว่ามหาวิทยาลัยกำลังออกนอกระบบ อย่างกรณีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีมติออกมาจากคณะรัฐมนตรี แต่เราเชื่อในพลังการเคลื่อนไหวว่า มันออกได้ก็ต้องเข้าได้ แต่สังคมต้องรับรู้ หนูเรียนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สังคมในเกษตรก็ไม่รับรู้เลยว่าตอนนี้มหาวิทยาลัยเกิดอะไรขึ้น ตอนนี้จึงมีการเชื่อมเครือข่ายกับเพื่อนในภูมิภาคตามมหาวิทยาลัยต่างๆ และแต่ละมหาวิทยาลัยเริ่มที่จะรวมตัว เริ่มที่จะเคลื่อน สนนท.จะเป็นผู้เชื่อมโยงแต่ละองค์กร

 

ส่วนการต้านรัฐประหารคงต้องคุยกันต่อไปว่าจะทำอย่างไรให้สภาวะบ้านเมืองเข้าสู่ความเป็นปกติ และจะต้องไม่ถอยหลังกลับไปมีรัฐประหารครั้งต่อไปอีก

 

มองบทบาทของ สนนท. ตอนนี้เป็นอย่างไร ยังมีพลังพอจะจุดประกายในการขับเคลื่อนสังคมหรือไม่

คิดว่าด้วยสถานการณ์ที่เมื่อก่อนรุนแรง นักศึกษาออกมามีบทบาทเยอะทำให้นักศึกษามีภาพที่โดดเด่น แต่เนื่องด้วยสถานการณ์ปัจจุบันบางครั้งมันไม่มีที่ขึ้นสุดอย่างในอดีต แต่ถามว่าการทำงานยังมีอยู่หรือไม่ ก็ยังมีอยู่ เพียงแต่บทบาทอาจจะเปลี่ยนไป และคิดว่ายังมีความสามารถพอที่จะขับเคลื่อนสังคมได้ แต่เนื่องด้วยปัจจัยหลายปัจจัยเราก็ต้องประยุกต์ จับประเด็นที่ใกล้ตัวและหลายส่วนเดือดร้อนแต่ไม่มีใครสนใจ ตอนนี้จึงกำลังจับเรื่องมหาวิทยาลัยนอกระบบ

 

การบริหารเครือข่ายทำอย่างไร

กรรมการทุกคนมีหลายบทบาทหน้าที่ ทุกคนต้องรับผิดชอบแต่ละภูมิภาค เวลาจะออกมติอะไรก็จะมีการประสานติดต่อกัน

 

ถ้าบริหารแบบนี้ไปเรื่อยๆและไปในทิศทางเดียวกันจะมีแนวโน้มที่จะเกิดการปรากฏตัวชุมนุมใหญ่เพื่อเคลื่อนไหวได้หรือไม่

ค่อนข้างเป็นไปได้ คือเราไม่ได้เข้าร่วมกับองค์กรไหน แต่ในรายประเด็นที่มันเข้ากับองค์กรเราและมีแนวคิดตรงกันเราก็สามารถเข้าร่วมได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท