Skip to main content
sharethis

วิทยากร บุญเรือง


 



 


ที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โครงการพื้นที่ทางสังคมและสื่อทางเลือก ได้จัดเวทีเสวนา 60 วันรัฐประหาร สังคมไทยได้อะไร? โดย รศ.ดร. วรวิทย์ เจริญเลิศ จากคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้ความเห็นดังนี้ ...


 


 


"วรวิทย์ เจริญเลิศ" ชี้ต่อจากนี้มีแต่การประณีประนอม


 



 


ผมคงจะพูดไม่แยะ ถ้ามองแบบเศรษฐศาสตร์การเมือง เหตุการณ์รัฐประหารครั้งนี้ก็คือความขัดแย้งของชนชั้นปกครอง จริงๆ แล้วประชาชนเองไม่มีส่วนร่วมทางการเมืองเลย ซึ่งเวลาจะพูดถึงชนชั้นปกครอง เราจะต้องแยก และต้องดูเกี่ยวกับสังคมไทยด้วยว่าเป็นอย่างไรบ้าง โดยผมมองว่าสังคมไทยยังยังอยู่ในยุคที่เรียกว่า pre-modernity 


 


ซึ่งถ้าเป็นสังคมตะวันตก เข้าสู่ยุคของอุตสาหกรรมเป็น modernity ถือว่าชนบทมันล่มสลาย ชาวชนบทส่วนใหญ่ก็อพยพเข้ามาเป็นกรรมกรอยู่ในเมือง ซึ่งในท้ายที่สุดในชนบทก็จะมีประชากรอยู่ไม่มาก ทั้งนี้ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสังคมแบบนั้น เช่น การปฏิวัติฝรั่งเศส เป็นต้น โดยการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ชนชั้นนายทุนจะเข้ามามีอำนาจทางการเมืองแทนศักดินา ซึ่งในช่วงเวลานั้นผลประโยชน์ของนายทุนและศักดินามันไม่ตรงกันไปด้วยกันไม่ได้ นายทุนได้เปลี่ยนแปลงการปกครองที่เน้นเรื่องความเชื่อเป็นตัวนำหันมาใช้เรื่องกฎหมายเป็นตัวนำแทน ให้ความรู้สึกว่าภายใต้กฎหมายนั้นทุกคนเท่าเทียมกัน แต่ก็อย่างที่รู้ๆ กันว่านายทุนนั้นเป็นผู้ใช้กฎหมาย แต่ประชาชนไม่ได้เข้าถึงกฎหมายนั้นเลย


 


ในกรณีของไทย การเปลี่ยนแปลงมันไม่ได้เหมือนกับประเทศในตะวันตก มันเข้าสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมเร็ว ในภาคชนบทเองก็ไม่ได้ถ่ายโอนเข้ามาในเมืองมากมาย และก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทางด้านอุดมการณ์หรือการครอบงำจากสังคมเก่า เหมือนกับว่าสิ่งที่ตกทอดมาจากสังคมเก่ามันยังเข้มแข็งอยู่


 


ดังนั้นผมคิดว่ามันอธิบายได้ โดยผมคิดว่าสังคมไทยมันมี paradox อยู่สองอย่างที่น่าสนใจ ก็คือ ทำไมคนที่รวยที่สุดจึงเป็นขวัญใจของคนจน? และทำไมทหารถึงอ้างว่ามาทำรัฐประหารเพื่อปกป้องระบอบประชาธิปไตย? --- ทั้งๆ ที่มันเป็นไปไม่ได้เลย! เพราะฉะนั้นมันอธิบายได้ว่าสังคมไทยโดยเฉพาะในแง่ของความคิดมันยังถูก dominate โดยสังคมเก่าที่ยังไม่ถูกเปลี่ยนแปลงและยังเข้มแข็งมาโดยตลอด ส่วนในเรื่องของคุณทักษิณ ผมสรุปง่ายๆ เลยว่าเป็นตัวแทนของชนชั้นใหม่ ก็คือชนชั้นนายทุนนี่เอง


 


ผมมีข้อมูลอยู่คือ สำหรับคนที่มาเรียนเศรษฐศาสตร์การเมืองส่วนหนึ่งก็เป็นพวกนายทุน แต่เขาก็ไม่เอาด้วยกับทักษิณนะและเขาก็ไม่พอใจกับระบบราชการด้วยเหมือนกัน เพราะเขาเห็นว่าระบบราชการกดเขามาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการทำ FTA ซึ่งไม่ใช่นายทุนไปเจรจานะ แต่เป็นคนของส่วนราชการไปเจรจาหมดเลย แล้วก็มายัดบอกว่า เออนี่เจรจามาหมดแล้ว คุณต้องสนับสนุนนะ


 


ทักษิณได้พยายามตัดระบบราชการออกไป เขาพยายามสร้าง Project ขึ้นมาและดึงคนที่มีผลประโยชน์ร่วมเข้ามามีส่วนในระบบการตัดสินใจ ซึ่งเขาได้เปลี่ยนระบบการตัดสินใจแบบเก่าซึ่งระบบราชการเป็นตัวแทน ความจริงนายทุนส่วนใหญ่ก็พอใจที่คุณทักษิณมีทักษะในการตัดสินใจแบบนี้ เพราะว่ามันฉับไว เขาได้อิงกับผลประโยชน์ แต่ไม่มากเหมือนกลุ่มทุนที่ใกล้ชิดคุณทักษิณ


 


ผมคิดว่ามุมมองต่อทักษิณ โดยไม่ได้มองที่ตัวแต่ต้องมองที่ระบอบ เราต้องยอมรับว่าพวกเราส่วนหนึ่ง (คนรุ่น 14 ตุลา , 6 ตุลา , คนที่หนีเข้าป่า ) ก็ได้เข้าไปอยู่ในอำนาจรัฐนั้นด้วย ไปสร้างฐานมวลชนผ่านนโยบายเศรษฐกิจของพรรคไทยรักไทย


 


ผมมองว่าปรากฏการณ์ของคุณทักษิณ เราต้องแยกด้วยว่า มันเป็นความพึงพอใจของชนชั้นนายทุนที่กำลังอยากเข้ามามีอำนาจ เพราะอำนาจทางเศรษฐกิจมันไม่ได้ช่วยเหลืออะไร เขาอยากที่จะมีอำนาจทางการเมืองและต้องผ่านระบอบประชาธิปไตย


 


ความจริงปัญหาของทุนเก่าส่วนหนึ่งเอง คุณทักษิณก็ได้ไปแก้พอสมควร คือ หลังจากภาวะวิกฤติเมื่อปี 2540 แต่เมื่อเวลาผ่านไป เมื่อเราปะติดปะต่อจิ๊กซอว์ต่างๆ เข้าด้วยกัน จะพบว่าความขัดแย้งมันเริ่มเกิด การชนกันของเรื่องปัญหาผลประโยชน์ โดยเฉพาะการเดินสายจัดตั้งฐานมวลชนผ่านนโยบายเศรษฐกิจรากหญ้าของพรรคไทยรักไทย , มีการตั้งโรงเรียน ซึ่งมันเป็นการปะทะกันโดยตรง


 


นี่จึงเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงขั้วความขัดแย้งชัดเจน ที่ทำให้เกิดการรัฐประหารครั้งนี้ ...


 


ถ้าถามถึงว่าอนาคตจะเป็นยังไง ซึ่งดูเหมือนว่าพวกนายทุนในช่วงที่คุณทักษิณเป็นนายกนั้นดูเหมือนจะขัดแย้งกัน แต่ความจริงในเรื่องผลประโยชน์ระยะยาวแล้ว พวกเขาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้คุณทักษิณเป็นที่น่ากลัว ดูน่ากลัว ก็เพราะทีมที่ปรึกษาด้วย คือเขาไว เขาตั้งเกมส์ให้คนอื่นเล่นตาม


 


ดังนั้นผมจึงบอกได้เลยว่า แน่นอนที่จะมีการประณีประนอมกันของชนชั้นปกครอง ถามว่ารัฐธรรมนูญมีความหมายเหรอ? ผมว่ามันไม่มีความหมายเลย เพราะพวกคุณไปร่างยังไงพวกคุณก็ฉีกได้ มันก็คือกระดาษและมันก็ฉีกๆ เขียนๆ มาหลายครั้งแล้ว แล้วก็ดึงให้เราไปหลงเล่นอยู่กับกลุ่มนั้น


 


ซึ่งผมคิดว่ามันต้องพัฒนา การเมืองนี่มันถูกผูกขาดโดยชนชั้นนำ เราต้องกลับมาคิดว่าในการที่จะเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมันเปลี่ยนแปลงจากข้างบนไม่ได้ ยังไงเขาต้องมีการต่อทอดอำนาจ อีกอย่างก็คือผมมองว่าขบวนการภาคประชาชนของไทยยังอ่อนแอ ถามว่าใน 6 เดือนข้างหน้านี้จะมีปัญหาหรือไม่? มีแน่นอน  แต่ขณะที่มีแน่นอนนี่เรายังจะเดินไปในวังวนเก่าๆ อีกหรือ? ผ่านมาไม่รู้กี่ครั้ง แต่เรายังไม่เข้าไปแก้โครงสร้างเลย


 


เพราะฉะนั้นเราต้องร่วมกันคิดว่าเราจะสร้างขบวนการที่มันเข้มแข็งได้อย่างไร ซึ่งมันจะหลีกเลี่ยงขบวนการทางการเมืองไปไม่ได้ ไม่งั้นคุณก็จะเห็นพรรคการเมืองต่างๆ เอานโยบายของพรรคฝ่ายซ้ายไปใช้ ทั้งๆ ที่ไม่มีอุดมการณ์


 


แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นพรรคการเมือง เราอาจจะต้องดูของประเทศอื่น เช่น ในประเทศเกาหลีใต้ ขบวนการแรงงาน (สหพันธ์แรงงานเกาหลี : KCTU) ของพวกเขาเติบโตขึ้นมาอย่างไรหล่ะ? ต้องดูว่าเขาประสานกันอย่างไร พัฒนาองค์กรให้เป็นอิสระอย่างไร?


 


แล้วจากปัญหาที่เกิดการรัฐประหารที่เกิดขึ้น จริงๆ แล้วดูประสบการณ์ในหลายประเทศ อย่างเช่นในมาเลเซีย มหาธีร์ก็เคยเจอกับปัญหานี้ (แบบเดียวกับทักษิณ) แต่มหาธีร์ก็ยื่นคำขาดนะ คุณจะเอาไหมอยู่กับผลประโยชน์ หรือว่าคุณจะไป ... แต่ของไทยมันต่างกันแน่นอน ซึ่งหากเราวิเคราะห์จากจุดนี้ ผมก็คิดว่ามันคงให้ความเข้าใจว่าอนาคตมันจะเป็นอย่างไร แต่ผมก็ไม่รู้นะและผมคงจะให้ข้อคิดเห็นแค่นี้ก่อน


 


สรุปแล้วผมคิดว่าการประณีประนอมของฝ่ายปกครอง มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นสูง และประณีประณอมเพราะอะไร? เพราะว่าอย่างน้อยคนที่ใส่เสื้อเหลืองก็มีเยอะมาก อันที่สองถ้าลองไปถามคนที่ใส่เสื้อเหลืองว่าต้องการนายกแบบไหน? ก็ต้องมีคนตอบว่าทักษิณพอสมควร เพราะว่าทักษิณได้ไปสร้างฐานแบบประชานิยมไว้ และภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์จะให้สถาบันทำการสะสมทุนโดยไม่อาศัยนายทุนนั้น มันก็เป็นไปไม่ได้ และที่มันจะออกมาก็คือ การประณีประนอม


 


ถ้าถามว่าอนาคตเราจะเป็นยังไง ผมคิดว่าเราจะต้องเดินสายสร้างการเมืองภาคประชาชนที่เป็นรูปธรรม เช่น ขบวนการนักศึกษา , ขบวนการกรรมกร , ขบวนการชาวนา ที่สำคัญอีกอย่างคือ มหาวิทยาลัยจะเชื่อมโยงกับชุมชนได้อย่างไร? เราจะต้องสร้างพันธมิตรเหล่านี้ขึ้นมา ทำการเมืองภาคประชาชนให้เป็นจริง และต้องให้มันชัดเจนอีกอย่างคือ รัฐประหารครั้งนี้เราต่อต้าน --- รศ.ดร. วรวิทย์ เจริญเลิศ ทิ้งท้ายไว้.


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net