รายงานพิเศษ: Indy Festival 4 "ความสุขที่อิสระ" และ Indy กับการแปรรูปโดยระบบทุนนิยม

วิทยากร บุญเรือง และวัชรพงษ์ หิรัญรัตน์

 

 

 

ความสุขที่อิสระ

 

เมื่อวันที่ 17 - 18 พฤศจิกายน 2549 ณ ลานลั่นทม หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากการร่วมมือกันของ สสส., เครือข่ายนักเขียนแห่งประเทศไทย, ร้านเล่า และหอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดงาน "มหกรรมสื่อทางเลือกแห่งประเทศไทยครั้งที่ 4 ภาคเหนือ" ขึ้น

 

สำหรับ งานมหกรรมสื่อทางเลือกแห่งประเทศไทยครั้งที่ 4 (Indy Festival) เป็นงานที่จัดต่อเนื่องจากปีก่อนที่ใช้ชื่อว่า "มหกรรมหนังสือทำมือและสื่อทางเลือกแห่งประเทศไทย" (Independent Book Day) ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้การรวมกลุ่มของคนรุ่นใหม่ นักเขียน นักอ่าน นักดนตรี คนทำหนัง และคนทำสื่อทางเลือกอื่นๆ

 

ทั้งนี้เพื่อสร้างสรรค์กิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาความคิด สติปัญญา สุขภาวะด้านจิตใจ อันเกิดจากการอ่าน การเขียน การฟัง เล่นดนตรี การแสดงสื่อทางเลือกอื่นๆ ภายใต้ความร่วมมือกันของหลายฝ่ายที่เล็งเห็นคุณค่าของกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพทางด้านจิตใจและสติปัญญาของบุคลากรในประเทศ

 

โดยเหตุใหญ่ใจความของการจัดงาน "มหกรรมสื่อทางเลือก" (ซึ่งในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 แล้ว) ก็คือในปัจจุบันอุตสาหกรรมสื่อของเมืองไทยมีการพัฒนากว้างไกลเติบใหญ่เคียงคู่กับการเติบโตของวงการธุรกิจ ก่อให้เกิดแนวคิด "สื่อคือสินค้า" ซึ่งทำให้เกิดการแข่งขันทางด้านธุรกิจสื่อประเภทต่างๆ อย่างเข้มข้นด้วยกลยุทธ์ทางการตลาด

 

ผู้บริโภคถูกกำหนดให้เป็นกลุ่มเป้าหมายทางการค้าด้วยกระแสความนิยมแบบมหาชน การผลิตและบริโภคสื่ออยู่ภายใต้วงจรของอุตสาหกรรมสมบูรณ์แบบเน้น "ปริมาณ" มากกว่าคุณภาพ ทั้งนี้การผลิตสื่อถูกผูกขาดด้วยอำนาจทางการตลาดของผู้ผลิตรายใหญ่อย่างครบวงจร ไม่เพียงแต่หนังสือ ยังมีสื่ออีกหลายประเภท เช่น ดนตรี หนัง ละคร และสื่ออื่นๆ

 

เหตุผลนี้เอง ทำให้หนังสือทำมือและสื่อทางเลือกอื่นๆ จึงก่อเกิดขึ้นมาเพื่อเป็นทางออกของการเผยแพร่ผลงานของคนรุ่นใหม่ๆ นับเป็นก้าวแรกและก้าวสำคัญของหนุ่มสาวแห่งยุคสมัยของการพัฒนาและขัดเกลาฝีมือเพื่อก้าวขึ้นสู่การเป็นนักเขียนระดับคุณภาพ คนทำหนังรุ่นใหม่ คนทำเพลงรุ่นใหม่ และสื่อทางเลือกใหม่ๆ ได้มีโอกาสสร้างสรรค์ความคิดอันหลากหลาย โดยปราศจากกรอบ กฎเกณฑ์ รวมทั้งเป็นสะพานของการก้าวข้ามจากการเป็นมือสมัครเล่นสู่มืออาชีพ และเป็นอิสระจากการควบคุมโดยกลไกทางการตลาด

 

ด้วยการเริ่มจากกลุ่มหนังสือทำมือกลุ่มเล็กๆ หลายต่อหลายกลุ่มที่มีความตั้งใจและมุ่งหวังสร้างสรรค์ผลงานตามจินตนาการอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงกลุ่มคนทำดนตรีอิสระที่มีข้อจำกัดของค่ายเพลง กลุ่มคนทำหนังสั้น หนังนอกกระแสจนสื่ออื่นๆ อีกด้วย

                       

บรรยากาศในงานมีกิจกรรมแข่งขัน Book Battle (การทำหนังสือทำมือสด จากกลุ่มนักเรียนนักศึกษา) ซุ้มขายหนังสือทำมือ (และหนังสือนอกกระแสต่างๆ) การโชว์ดนตรีจากศิลปินกลุ่มนอกกระแส เวทีเสวนาจากนักเขียนและศิลปิน และกิจกรรมอื่นๆ

 

 

 

อาจารย์ "เทพ" เทพศิริ สุขโสภา กล่าวเปิดงานและให้คำแนะนำแก่นักเขียนรุ่นใหม่ๆ

 

 

 

น้องๆ ร่วมแข่งขัน "Book Battle"

 

 

 

CD เพลง - หนังสือ นอกกระแสที่วางขายในงาน

 

 

 

ดนตรีนอกกระแสที่ขนกันมาคับคั่งในงาน

 

 

พี่อ่าง กลายเป็นตลกอินดี้ไปเสียแล้ว ;-)

 

 

ดึกๆ แต่ยังคึกคัก อ้อ! ลืมบอกไป งานนี้ไม่มีเหล้า ไม่มีบุหรี่ครับ

 

 

000

 

Indy และการแปรรูปความหมาย

 

 

 

ในขณะที่ความพยายามของ "ศาสดา" แห่งความเป็น "อินดี้" ของเมืองไทยทั้งหลายแหล่ กำลังพร่ำสอนให้ "คนรุ่นใหม่" ด้วยวลีเด็ด อาทิ เป็นตัวของตัวเองสิ! , กล้าที่จะแหวกแนว , ออกนอกกรอบ , แหกคอกเข้าไว้ ฯลฯ ซึ่งในเวลาเดียวกัน ศาสดาทั้งหลายแหล่นั้น ก็กลับมีพันธะสัญญากับบริษัทเบียร์ , ผู้ให้บริการมือถือ หรือ แม้แต่สำนักพิมพ์-ค่ายเพลงอันฟุ้งเฟ้อ เป็นตัวอุดหนุน หนุนนำให้สร้างเหล่า "ขบถรุ่นใหม่" เพื่อมารองรับการบริโภคที่มียี่ห้อ "อินดี้" ที่ปะข้างขวด ;-)

 

ก่อนที่จะลงลึกไปถึงการบิดเบี้ยวของคำใดๆ พื้นฐานที่เราจำเป็นต้องรู้ก็คือรูปคำนั้นหมายความว่าอย่างไร - Indy (Independence) หมายถึง ความเป็นอิสระต่อการครอบงำจากสิ่งใดๆ ก็ตาม เมื่อเอาเรื่องวิถีการผลิตมาจับจะได้ว่า ... ในอดีต Indy มีความหมายครอบคลุมถึงวิธีการผลิต วิธีการแจกจ่ายผลงาน ซึ่งก็หมายถึง การผลิตและแจกจ่ายงานที่เป็นอิสระ ไม่ขึ้นต่อสิ่งใดที่นอกเหนือจากผู้ผลิตผลงานเอง วัฒนธรรมอินดี้จึงเป็นวัฒนธรรมของการต่อต้านระบบทุนนิยมที่จะต้องสร้างสรรค์อะไรก็ตามโดยไม่เอาใจระบบตลาด

 

อินดี้จึงไม่ใช่แนวเพลงอย่างที่เราเรียกเพลง Pop , Rock , Jazz อินดี้ไม่สามารถนำมาจำแนกประเภทหนังแบบ horror , Action เราไม่สามารถใช้คำว่าอินดี้กับแนวการเขียนวรรณกรรม เช่น แนวสัจจนิยมมหัศจรรย์ หรือแนวเพื่อชีวิตได้ อินดี้สามารถเป็นได้ทุกอย่างที่กล่าวมา เพียงแต่กรรมวิธีการผลิตการแจกจ่ายจะต้องไม่มีกรอบทุนครอบ บังคับให้ผู้ผลิตงานแบบนั้นแบบนี้โดยไม่คำนึงถึงตัวผู้ผลิตเอง

 

แต่การบิดเบี้ยวของคำว่าอินดี้ (โดยเฉพาะบ้านเรา) มันมาพร้อมกับการจำแนกผู้บริโภค (segment) ของบริษัทบันเทิงต่างๆ เพลงลูกทุ่งกึ่งเพื่อชีวิตสำหรับกรรมาชีพในเมือง ,เพลงป๊อปร็อคแบบจิ๊กโก๋อกหักสำหรับวัยรุ่นหัวเมือง , เพลงป๊อปภาษาถิ่นสำหรับคอเพลงท้องถิ่นนิยม

 

แต่อย่างที่บอกไว้ขั้นต้นว่าอินดี้ไม่ใช่แนวเพลง แต่จากการแต่งตัว,จากการใช้ชีวิต,รวมถึงการบริโภคความหมาย (sign) แทนอรรถประโยชน์ (utilities) ของกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า "อินดี้" ในอดีต มันได้กลายเป็นมาตรฐานของผู้บริโภคกลุ่มใหม่ที่หลีกหนีความเป็น mass ในสังคมการผลิต สร้างคู่ตรงข้ามขึ้นมาให้ตนเองดูมีระดับที่เหนือกว่า --- แต่ก็ไม่ได้ต่อต้านว่ามันจะมีใครหรืออะไรครอบงำหรือไม่

 

"อินดี้" ในปัจจุบันมันจึงกลายเป็นคำที่บ่งบอกถึงตัวตนของคนที่ดูเท่ๆ ด้วยการบริโภคที่แปลกแยกออกไป เช่น วงดนตรีที่มาในแนวเพลง Hip-Hop ผสม ลูกทุ่ง นักร้องนำนุ่งเสื้อกล้ามจากเกาหลีเหนือ กับกางเกงยีนส์จากภูฎานนำมามิกซ์กับรองเท้า Nike Rift ... แค่นี้แฟนๆ ก็จะให้คำจำกัดความพวกเขาว่า "โคตรพ่อโคตรแม่อินดี้เลยล่ะมรึง!" --- โดยไม่สนว่า วงดนตรีนี้มีค่ายใดหนุน เป็นค่ายหน่ออ่อนของบริษัทบันเทิงใด มีพันธะสัญญากับธุรกิจใดบ้าง

 

วัฒนธรรมอินดี้ก็มีชะตากรรมคล้ายๆ กับ "วัฒนธรรมเพื่อชีวิต"

 

สำหรับเพลงเพื่อชีวิตนั้น ในความเป็นจริงของอดีต มันไม่ใช่เพลงโฟล์คร็อคเพียงอย่างเดียว เช่นในปัจจุบัน อาจจะรวมถึงบลูส์ถึงแจ๊ส และแนวอื่นๆ แต่ใจความสำคัญของความเป็นเพื่อชีวิตคือการบ่งบอก-บอกเล่าถึงความคับแค้นแสนระอาในสังคมมนุษย์ที่แสนจะลึกล้ำเหลือกำหนด --- แต่ถ้าเราพูดถึงคำว่า "เพื่อชีวิต" ในปัจจุบันเราจะนึกถึง เพลงโฟล์คร็อค นักดนตรีเซอร์ๆ ผ้าขาวม้าจากเขมร กางเกงยีนส์ขาดๆ

 

ส่วนวัฒนธรรมการบริโภคที่ตามมาก็คือ ผับแบบคาวบอย, หัวควาย, เช เกวาร่า รวมถึงเบียร์ที่ได้รับการอุปถัมภ์เป็นอย่างดีจากราชาเพลงเพื่อชีวิตของเมืองไทย เป็นต้น

 

Baudrillard ได้กล่าวถึงการบริโภคระดับมูลค่าของสัญญะ (sign value) คือ การบริโภคเพื่อบ่งบอกถึงความปรารถนาในสิ่งที่ตนอยากเป็นและอยากแสดงออกมันออกมา ซึ่งอาจจะเป็นการบริโภคที่ไม่เข้าถึงแก่นแกนจริงๆ เป็นการบริโภคแบบฉาบฉวย

 

การบริโภคความเป็นอินดี้ที่ไม่พูดถึงวิถีการผลิตต้านระบบทุน หรือการบริโภคสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นวัฒนธรรมเพื่อชีวิต โดยไม่ต้องคำนึงถึงอุดมการณ์ทางการเมืองอันแรงกล้า เพียงแต่ทั้งสองอย่างที่เราบริโภคนั้น (อินดี้และเพื่อชีวิต) มันทำให้เราดูเหนือกว่า "คนธรรมดาทั่วไป"

 

และที่สำคัญในสังคมที่เลิกพูดถึงทฤษฎีขั้นต้นในการผลิต-แก่นแท้ของสรรพสิ่ง ความหมายของสิ่งที่ดีงามต่างๆ กลับถูกนำมาแปรรูปให้รับใช้สังคมทุนไปเสียหมด โดยเฉพาะนำมันมาแปรรูปเพื่อสร้าง "ภาพ" เพื่อการบริโภคอันฟุ่มเฟือย

 

ความสำเร็จของสังคมทุนนิยมจึงไม่ใช่แค่การแปรรูป (Privatization) สิ่งที่เป็นรูปธรรมทางกายภาพ เช่น หน่วยผลิตสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ อันเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมของคนส่วนใหญ่ของสังคม สู่ระบบกลไกตลาด สู่การเอื้อให้เอกชนรายใหญ่สามารถขูดรีดสะสมทุนได้เท่านั้น

 

วัฒนธรรม, จิตวิญญาณ, อุดมการณ์ ต่างๆ ก็ล้วนแล้วแต่ถูกนำมาแปรรูปสู่มือหน่วยธุรกิจทั้งสิ้น ด้วยการเขย่า ผสมผสาน ทำให้มันบิดเบี้ยว ขายเพียงภาพลักษณ์ ผลิตซ้ำต่างวาระและกรรมวิธี แต่ทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมานั้น มันต้องถูกนำมาทำให้ขายได้!

 

ถึงแม้ว๊อดก้าที่มีรูป เช เกวาร่า ข้างขวดจะถูกฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาล ถึงความเหมาะสมในการนำมาใช้ (และขอโทษด้วย ผมก็จำไม่ได้ว่าเขาเลิกผลิตไปรึยัง) ... แต่อดใจอีกไม่นานเกินรอ เบียร์ยี่ห้อ "เหมา เซ ตุง" อาจจะออกมาตีตลาดในไม่นานนี้ (โรงงานอาจจะอยู่ในไต้หวันก็ได้ ใครจะไปรู้ ;-)

 

 

000

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท