Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 24 พ.ย. 2549 ความคืบหน้าเกี่ยวกับการพิจารณา ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ... ซึ่งเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 15 พ.ย. ที่ผ่านมา ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 พ.ย. มีการประชุมนัดแรกของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ทั้งนี้ NectecPedia (http://wiki.nectec.or.th/nectecpedia) ของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิคส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ได้รายงานสาระแห่งการประชุมอย่างละเอียด โดยมีเนื้อหาสำคัญดังนี้


 


การแต่งตั้งผู้ทำหน้าที่ต่างๆของคณะกรรมาธิการ
ได้มีการเชิญคุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม ซึ่งอาวุโสที่สุดทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมเพื่อให้ที่ประชุมพิจารณาแต่งตั้งบุคคลในคณะกรรมาธิการวิสามัญ ให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ โดยที่ประชุมได้พิจารณาแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ดังนี้


 


• นายสิทธิชัย โภไคยอุดม รมว.กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ทำหน้าที่เป็นประธาน
• คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม ทำหน้าที่เป็นรองประธาน คนที่ 1
• นายทวีศักดิ์ กออนันตกูล ทำหน้าที่เป็นรองประธาน คนที่ 2
• นายไกรสร พรสุธี ทำหน้าที่เป็นเลขานุการ
• นายปรัชญา เปี่ยมสมบูรณ์ ทำหน้าที่เป็นรองเลขานุการ คนที่ 1
• นายสหัส ตรีทิพยบุตร ทำหน้าที่เป็นรองเลขานุการ คนที่ 2
• นายสมเกียรติ อ่อนวิมล ทำหน้าที่เป็นโฆษก


และแต่งตั้งที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 9 คน ประกอบด้วย
• สายนักวิชาการ (กฎหมายอาญา): รองศาสตราจารย์ ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
• สายศาลยุติธรรม: นายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
• สายอัยการ: นายเข็มชัย ชุติวงศ์ รองอธิบดีอัยการฝ่ายปรึกษารักษาการแทนอธิบดีอัยการฝ่ายคดีล้มคดีล้มละลาย สำนักงานอัยการสูงสุด และเลขาธิการสำนักอบรมเนติบัณฑิตยสภา
• สายสภาทนายความ: นายชวลิต อัตถศาสตร์ อุปนายกสภาทนายความ ฝ่ายวิชาการ
• สายนโยบายและยุทธศาสตร์ในการพัฒนาไอซีที: นางชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
• สายกฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศ: นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
• สายผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต: นางมรกต กุลธรรมโยธิน สมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต
• สายพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และการจัดการกับปัญหาสังคมบนระบบไอที มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ: นายวันฉัตร ผดุงรัตน์ ที่ปรึกษาสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย
• สายโทรคมนาคม: นายสุชิน พึ่งวรอาสน์ (บริษัท กสท.โทรคมนาคม จำกัด)


 


หลังจากนั้น นายสิทธิชัย โภไคยอุดม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (รมว.ทก.) ซึ่งเป็นประธานได้ดำเนินการประชุมต่อ สรุปสาระสำคัญของการประชุมหารือครั้งแรกของคณะกรรมาธิการได้ ดังนี้


 


การนำเสนอภาพรวมของร่างกฎหมาย
เนื่องจากได้มีการแปรญัตติร่าง พ.ร.บ.นี้กันมาเป็นจำนวนถึง 8 ญัตติด้วยกัน รวมทั้งในวันที่มีการพิจารณาวาระแรกซึ่งเป็นวาระรับหลักการของร่างกฎหมายนั้น ก็ได้มีการอธิปรายตั้งข้อสังเกต ข้อซักถาม และข้อเสนอแนะ รวมทั้งก็ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์และเสนอแง่มุมหรือข้อคิดเห็นจากเว็บไซต์ เว็บบอร์ด ผู้ประกอบการ นักวิชาการเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ที่ประชุมจึงเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ก่อนจะพิจารณาร่างกฎหมายในรายละเอียดแต่ละมาตรา สมควรเป็นอย่างยิ่งที่จะพิจารณาภาพรวมและหลักการของร่างกฎหมายเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันเสียก่อนจะมีการพิจารณาบทบัญญัติเป็นรายมาตรา


 


ประเด็นหรือข้อห่วงกังวลของผู้ที่เกี่ยวข้อง
เนื่องจากมีการตั้งข้อสังเกตหรือแสดงความห่วงกังวลเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.นี้เป็นจำนวนมาก ดังนั้น ที่ประชุมจึงได้เห็นชอบให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหลัก นำเสนอประเด็นสำคัญๆ ที่มีข้อห่วงกังวลหรืออาจได้รับผลกระทบต่อคณะกรรมาธิการในการประชุมครั้งถัดไปในประเด็น ดังต่อไปนี้


 


ภาระหรือผลกระทบที่ผู้ให้บริการได้รับในการเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์
โดยที่ร่างกฎหมายได้มีการกำหนดหน้าที่ให้ผู้ให้บริการเก็บข้อมูลซึ่งสามารถใช้เป็นพยานหลักฐานในการสืบสวน สอบสวน หรือดำเนินคดี เช่น ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ (traffic data) เป็นระยะเวลา 30 วัน หรือกว่านั้นตามที่ร้องขอต่อศาลแต่รวมกันไม่เกิน 90 วัน อันอาจก่อให้เกิดภาระหรือผลกระทบต่อผู้ให้บริการ ดังนั้น เพื่อลดข้อกังวลของผู้ให้บริการคณะกรรมาธิการวิสามัญจึงได้เห็นชอบให้มีการประสานงานไปยังผู้ให้บริการ เช่น สมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือสมาคมโทรคมนาคม หรือผู้แทนจากการสื่อสารแห่งประเทศไทย(กสท.) โทรคมนาคม เป็นต้น เพื่อมานำเสนอว่า หากมีการกำหนดหน้าที่ใดๆ เช่น การจัดเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์นั้น จะมีข้อมูลประเทศใดบ้าง ประมาณวันละกี่ตัวอักษร ผู้ให้บริการจะมีค่าใช้จ่ายโดยประมาณการเท่าใด ในการดำเนินการดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นข้อมูลสำคัญที่จะช่วยในการลดอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ได้ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของคณะกรรมาธิการในการประชุมครั้งถัดไปด้วย


 


ความเสียหายหรือความรุนแรงที่เคยเกิดขึ้น
เนื่องจากในการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์นั้น ผู้ซึ่งเป็นกรรมาธิการแต่ละท่าน อาจจะมีประสบการณ์เกี่ยวกับความรุนแรงและความเสียหายจากการกระทำความผิดที่ระบุในกฎหมายนี้ ดังนั้น เพื่อเป็นการปรับฐานความรู้และประสบการณ์ของคณะกรรมาธิการทุกท่าน ก่อนที่จะนำไปสู่การพิจารณา หากมีการรับรู้ข้อเท็จจริงจากคดีหรือกรณีศึกษาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริง เช่น จากบุคคลซึ่งเคยได้รับความเสียหายหรือเป็นเหยื่อ ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจและพิจารณาปรับปรุงร่างกฎหมายในภาพรวมเพื่อกำหนดฐานความผิดและบทลงโทษที่เหมาะสม


 


ปัญหาและอุปสรรคในการสืบสวน สอบสวน และดำเนินคดี
ในการเสนอร่างกฎหมายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาตินั้น ข้อกังวลที่คณะกรรมาธิการวิสามัญได้รับฟังหรือได้มีการแปรญัตตินั้น คือ ร่างกฎหมายได้ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งจะแต่งตั้งขึ้นอย่างมากมาย อันอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงหรือผลกระทบที่ประชาชนหรือสังคมจะได้รับจากการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบของพนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าว


 


ดังนั้น การให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในปัจจุบันซึ่งทำหน้าเกี่ยวกับการสืบสวน สอบสวน หรือดำเนินคดีในลักษณะที่เป็นการกระทำความผิดต่างๆ ทางคอมพิวเตอร์ ได้มาเล่าให้ฟังหรือให้ข้อมูลถึงสภาพข้อเท็จจริงปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน ทั้งชั้นสืบสวน สอบสวน หรือดำเนินคดีต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อจะได้ทำให้คณะกรรมาธิการวิสามัญได้เห็นหรือเข้าใจสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นชัดเจนยิ่งขึ้น และการนำเสนอดังกล่าวก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาว่า การกำหนดอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น ควรกำหนดไว้มากน้อยแค่ไหนเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการใช้อำนาจที่มีความสุ่มเสี่ยงจะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน


 


อย่างไรก็ตาม การกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ในบางครั้งก็อาจส่งผลกระทบหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ ดังนั้น การพิจารณาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เกิดความสมดุลในการใช้อำนาจและปกป้องคุ้มครองสังคมได้อย่างเหมาะสม จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับคณะกรรมาธิการที่จะได้รับทราบข้อมูลจากส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับการสืบสวน สอบสวน และดำเนินคดีต่อไป


 


การดำเนินการเกี่ยวกับหนัีงสือขอแปรญัตติ
คณะกรรมการธิการก็ได้พิจารณาเกี่ยวกับคำแปรญัตติที่มีการเสนอของสมาชิกสนช.จำนวน 3 ท่าน ที่มีการเสนอมาเป็นความเห็นต่อร่างกฎหมายแบบรวมๆ ไม่ได้เสนอมาเป็นรายมาตราแบบปกติทั่วไป จึงไม่เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมสนช.


 


ทั้งนี้ เพราะข้อบังคับการประชุมสนช.พ.ศ.2549 ข้อ 115 ได้กำหนดให้การแปรญัตติร่างกฎหมายต่างๆ นั้น ต้องมีการทำตามข้อบังคับการประชุมสนช. โดยต้องแปรญัตติเป็นรายมาตราและต้องเป็นไปตามแบบที่เลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติกำหนด ซึ่งต้องแปรญัตติเป็นลักษณะร่างกฎหมาย (โดยการขีดฆ่าถ้อยคำในร่างมาตราที่ไม่ต้องการออก หรือเพิ่มถ้อยคำที่ต้องการลงไปในร่างกฎหมายเลย) ไม่ใช่การเสนอข้อคิดเห็นในลักษณะแนวคิดหรือภาพรวมๆ ของปัญหา


 


ดังนั้น คณะกรรมาธิการวิสามัญจึงได้มีการพิจารณาในประเด็นดังกล่าวว่า จะรับคำแปรญัตติที่ไม่ได้ทำตามแบบนั้นไว้พิจารณาหรือไม่ และได้มีการหารือเกี่ยวกับรูปแบบการพิจารณาคำแปรญัตติหรือรับฟังข้อคิดเห็นหรือข้อซักถามของหน่วยงานต่างๆ ว่า สมควรจะเป็นรูปแบบใด ระหว่างรูปแบบแรก กล่าวคือ ให้มีการพิจารณาร่างกฎหมายจนเสร็จไปแล้วหนึ่งรอบ แล้วจึงพิจารณาคำแปรญัตติ ซึ่งวิธีการนี้จะมีข้อดี คือ ทำให้ไม่เสียเวลาในการพิจารณา แต่ก็อาจมีข้อเสีย คือ คำแปรญัตติหรือข้อเสนอต่างๆ มักไม่ได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังหรืออาจไม่มีผลต่อการปรับแก้ร่างกฎหมายเท่าใดนัก


 


หรือวิธีที่สอง คือ คณะกรรมาธิการเห็นชอบให้มีการพิจารณาคำแปรญัตติรวมทั้งข้อคิดเห็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับแต่ละมาตราไปพร้อมกันเลย ซึ่งวิธีการหลังนั้น ก็จะมีข้อดี คือ ทำให้มีการพิจารณาเป็นไปอย่างรอบคอบและรัดกุม หากแต่การพิจารณาก็อาจจะใช้เวลานานมาก


 


สรุปที่ประชุมได้มีมติให้ใช้รูปแบบผสม กล่าวคือ ในประเด็นสำคัญก็ให้เสนอไปพร้อมกับการพิจารณาคำแปรญัตติหรือข้อคิดเห็นทั้งหลายในการพิจารณามาตรานั้นเลย เว้นเสียแต่จะเป็นประเด็นเล็กๆ น้อยๆ ก็อาจให้มีการเสนอเมื่อพิจารณาร่างกฎหมายแล้วเสร็จในรอบแรก ทั้งนี้ สำหรับการเสนอคำแปรญัตติของสมาชิกสนช.ที่ไม่ถูกต้องตามข้อบังคับการประชุมนั้น ก็ได้มีการอนุโลมให้ไปปรับแก้ให้เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมและให้รับคำแปรญัตตินั้นไว้ประกอบการพิจารณาของคณะกรรมาธิการต่อไป


 


การเผยแพร่ข่าวสารของการพัฒนากฎหมายนี้ต่อสาธารณชน และการรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณชน
เพื่อให้การรับฟังข้อคิดเห็น ข้อห่วงกังวล ข้อซักถาม หรือข้อเสนอแนะต่างๆ เป็นไปอย่างทั่วถึง และเพื่อสรุปสาระสำคัญในการพิจารณาเผยแพร่ให้มากที่สุด คณะกรรมาธิการมีความเห็นว่า ควรใช้เทคโนโลยีสารสนเทศให้เป็นประโยชน์ต่อการทำงานครั้งนี้ และน่าจะเป็นการทดลองเพื่อใช้กับการพัฒนากฎหมายทุกฉบับด้วย


กล่าวคือ ให้้มีการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ... ไว้ในเว็บไซต์ รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นทางเว็บไซต์ด้วย


 


รองประธานคนที่สอง (นายทวีศักดิ์ฯ) ได้รายงานว่า ได้จัดทำการรวบรวมข้อเท็จจริง เอกสารอ้างอิง และความรู้ต่างๆเกี่ยวกับกฎหมายนี้ไว้ที่ http://wiki.nectec.or.th/ และเว็บไซต์ของคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่รมว.กระทรวงไอซีทีเป็นประธานที่ http://www.etcommission.go.th/ และได้ขอให้สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย ช่วยเผยแพร่ข้อมูลหรือรับฟังข้อคิดเห็นต่างๆ อีกช่องทางหนึ่ง อาจผ่านทางสมาคมหรือเว็บไซต์ www.pantip.com/ เป็นต้น


 


รวมทั้งอาจจัดให้มีการหารือรับฟังข้อคิดเห็นหรือสร้างความรู้ความเข้าใจจากบุคคลหรือส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับร่างพ.ร.บ.คู่ขนานไปกับการดำเนินการพิจารณาร่างกฎหมาย เพื่อให้เกิดความเข้าใจในภาพรวมเกี่ยวกับร่างกฎหมายและเพื่อนำข้อคิดเห็นที่ได้รับไปใช้ประกอบการพิจารณาร่างกฎหมายนั้น ให้เป็นไปอย่างรัดกุมและรอบคอบที่สุด โดยที่ประชุมเห็นชอบให้ดำเนินการตามวิธีดังกล่าว


 


ทั้งนี้ เว็บของเนคเทค จะเก็บเฉพาะองค์ความรู้และข้อเท็จจริงที่กลั่นกรองแล้ว ส่วนเว็บการแสดงความคิดเห็น ขอให้กลุ่มสมาคมและภาคเอกชนดำเนินการ โดยให้นำผลสรุปมาเขียนลงในเว็บของเนคเทค เพื่อใช้อ้างอิงและช่วยลดปัญหาคนอภิปรายซ้ำซากในประเด็นซึ่งเป็นที่รู้กันมานาน และใช้เป็นบันทึกอ้างอิงระยะยาวสำหรับการค้นคว้าวิจัยในอนาคตได้ด้วย


 


ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ (รมว.ไอซีที) ได้เน้นย้ำการให้ความสำคัญต่อการพิจารณาและรับฟังข้อคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายว่า ต้องเป็นไปด้วยความรอบคอบและรัดกุม เพื่อร่างกฎหมายที่พิจารณาและจะใช้บังคับในอนาคตนั้น เกิดประโยชน์กับสังคมไทยให้มากที่สุด และเพื่อป้องกันมิให้มีการใช้กลไกของร่างกฎหมายดังกล่าวทำร้ายหรือก่อให้เกิดความเสียหายหรือผลกระทบกับประชาชนในที่สุด


 


การนัดหมายการประชุมครั้งต่อๆไป


คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้นัดประชุมทุกวันพุธ ตั้งแต่เวลา 09.30น.ถึงเวลา 12.30 น. โดยนัดประชุมครั้งหน้าวันพุธ ที่ 29 พฤศจิกายน 2549 เว้น วันที่ 6 ธันวาคม และครั้งถัดไป คือ 13 ธันวาคม ศกนี้


 


 


…………………..


อ่านประกอบ


เสนอร่างคู่ขนาน พ.ร.บ.เอาผิดทางคอมพิวเตอร์ ชี้ให้อำนาจไอซีทีเกิน ,ประชาไท


 


สนช.ลงมติรับหลักการวาระแรกร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ,ประชาไท


 


ชำแหละ พ.ร.บ.คอมฯ "ส.ผู้ดูแลเว็บ ไทย" หวังให้กฎหมายเป็นธรรม ,ไทยรัฐ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net