ยูเอ็นสนใจสถานการณ์พม่า ด้าน KNU หวั่นข้อเจรจา "สุรยุทธ์" อาจทับเขตอิทธิพล

ประชาไท - 23 พ.ย. 49 เมื่อเวลา 09.00 น ที่หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 7 จ.แม่ฮ่องสอน  Mrs.Kurtstanyount รองผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย  ได้เดินทางเข้าพบ  พันเอก สุทัศน์  จารุมณี  ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 7 จ.แม่ฮ่องสอน  เพื่อสอบถามถึงสถานการณ์ในประเทศพม่าว่ามีการสู้รบกันหรือไม่  และมีผู้ลี้ภัยสงครามเข้ามาอยู่ในพื้นที่พักพิงเพิ่มขึ้นหรือไม่ และหากมีผู้อพยพเข้ามาจากภัยสงครามทางสำนักงานข้าหลวงใหญ่ ฯ  ก็จะดำเนินการช่วยเหลือผู้อพยพ แต่หากว่ามีการอพยพเข้ามาอยู่ในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอนในลักษณะจัดตั้งทางสำนักงานข้าหลวงใหญ่ ฯ ก็จะไม่เข้ามาช่วยเหลือ

ทางด้าน ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่  7 จ.แม่ฮ่องสอน ชี้แจงว่า " ขณะนี้สถานการณ์ในประเทศเพื่อนยังสงบปกติและไม่มีผู้อพยพเข้ามาในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน อาจจะมีราษฎรจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาหาญาติพี่น้องที่อยู่ในศูนย์ที่พักพิงบ้างเล็กน้อยจึงไม่น่าเป็นห่วงสถานการณ์ อย่างไรก็ตามทหารดูแลพื้นที่ตามแนวชายแดนอยู่แล้วจึงไม่น่าจะมีปัญหาอะไรในระยะนี้"

สำหรับสถาการณ์ทางพม่า พล.ต.เนอดาเมี๊ยะ บุตรชาย นายพลโบเมี๊ยะ กล่าวในฐานะ ผู้บัญชาการกองบัญชาการใหญ่ สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงอิสระ KNU ถึงกรณีการเดินทางเยือนประเทศพม่าของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีของไทยว่า การเจรจาน่าจะเป็นเรื่องด้านเศรษฐกิจการค้า การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจ และนิคมอุตสาหกรรมชายแดน รวมไปถึง โครงการคอนแทรค ฟาร์มมิ้งซึ่งคาดว่า จะมีการใช้พื้นที่ตามแนวชายแดน ในการจัดตั้งเขตดังกล่าว อันจะส่งผลกระทบให้เกิดพื้นที่ทับซ้อนจากเขตอิทธิพลของกระเหรี่ยง

 

ในกรณีดังกล่าวน่าจะให้ กระเหรี่ยง ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดพื้นที่จัดตั้งเขตเศรษฐกิจเพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับทุกฝ่าย พล.ต.เนอดาเมี๊ยะ กล่าวต่อว่า การพบปะระหว่างผู้นำไทยและพม่าในครั้งนี้ จะไม่มีผลได้ผลเสียใดๆทั้งสิ้น ยกเว้นเขตอิทธิพล ซึ่งอาจจะมีพื้นที่ทับซ้อนกัน

                                        

ส่วนผลการเยือนพม่า พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ไทยเสนอตัวกับรัฐบาลพม่าในระหว่างการเดินทางไปเยือนในวันนี้ที่จะช่วยเหลือประสานกับประมุขของประเทศในกลุ่มอาเซียนเพื่อให้พม่าได้เข้ามาทำงานในกรอบอาเซียน พร้อมทั้งหารือความร่วมมือด้านต่าง ๆ ที่สานต่อจากในอดีตทั้งแรงงานและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความร่วมมือในด้านพลังงาน ซึ่งภาคเอกชนไทยมีความสนใจเข้าไปรับซื้อก๊าซและสำรวจแหล่งปิโตรเลียมเพิ่มเติม

 

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากการหารือกับพล.อ.อาวุโสตันฉ่วย ประธานสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐสหภาพพม่า ซึ่งได้รับข้อเสนอของไทยไปพิจารณา ขณะที่ไทยเองก็จะติดตามความคืบหน้าในกระบวนการพัฒนาประเทศพม่ากลับสู่ประชาธิปไตย ที่เชื่อว่าเป็นแนวทางที่พม่ากำลังดำเนินการ

 

น.พ.ยงยุทธ์ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในระหว่างการเยือนพม่าของนายกรัฐมนตรีได้มีการหารือความร่วมมือด้านต่าง ๆ ทั้งการแก้ไขปัญหาแรงงาน โดยรัฐบาลจะส่งแรงงานพม่ากลับไปตรวจสอบสัญชาติให้ชัดเจน ซึ่งภายในต้นปีหน้าจะเริ่มส่งกลับไปประมาณ 1 หมื่นคน รวมทั้งหารือความร่วมมือในการแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยจะร่วมมือสนับสนุนการปลูกพืชทดแทน และความร่วมมือด้านสาธารณสุข

 

สำหรับความร่วมมือในด้านพลังงาน รัฐบาลได้แจ้งกับทางการพม่าว่า กลุ่มปตท.ให้ความสนใจการลงทุนในแหล่งก๊าซและน้ำมัน โดยได้ยื่นข้อเสนอที่จะซื้อก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมจากแหล่ง A1 และ A3 ซึ่งทางรัฐบาลพม่าขอประเมินปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองก่อนว่ามีความเพียงพอหรือไม่

 

นอกจากนั้น บมจ.ปตท.สผ.ยังยื่นข้อเสนอที่จะขุดสำรวจแหล่งพลังงานในทะเล คือแหล่ง AD1 และ AD2 ซึ่งรัฐบาลพม่าจะนำเรื่องเข้าหารือในคณะรัฐมนตรีต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท