Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 22 พ.ย.2549 นายเดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมคณะนักวิจัย แถลงข่าวเปิดตัวโครงการวิจัยธรรมาภิบาลระบบไฟฟ้าไทย ปีที่ 2 เรียกร้องให้สังคมไทยจับตาการวางแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (หรือแผน PDP2006) ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศเสนอให้กระทรวงพิจารณา เพื่อป้องการซ่อนเงื่อนและผลประโยชน์ทับซ้อนของธุรกิจพลังงาน และการลงทุนที่เกินจำเป็น


 


โครงการวิจัยธรรมาภิบาลระบบไฟฟ้าไทยเป็นโครงการวิจัยร่วมกันของ World Resources Institute Prayas Group มูลนิธินโยบายสุขภาวะ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย สถาบันพระปกเกล้า สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และกลุ่มพลังไท ซึ่งได้ดำเนินการต่อเนื่องมาจากปีก่อน โดยผลการวิจัยในปีที่ผ่านมา ได้ชี้ให้เห็นถึงความไม่โปร่งใส การมีผลประโยชน์ทับซ้อน และการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ และการกำกับดูแลระบบไฟฟ้าไทย จนมีส่วนนำไปสู่การล้มกระบวนการแปรรูป กฟผ. ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในที่สุด


 


โครงการวิจัยธรรมาภิบาลระบบไฟฟ้าไทยในปีที่ 2 จึงดำเนินการต่อยอดจากปีแรก โดยเน้นการประเมินธรรมาภิบาลในการตัดสินใจที่สำคัญของรัฐบาล เช่น การวางแผน PDP 2006 การตราพระราชบัญญัติประกอบกิจการพลังงาน ซึ่งจะเป็นพระราชบัญญัติที่ครอบคลุมทั้งไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ การกำหนดมาตรการสนับสนุนการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน และการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการโรงไฟฟ้าต่างๆ เป็นต้น


 


"การวิจัยในปีที่ 2 จะเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจกับภาคส่วนต่างๆ ในสังคมไทย โดยเฉพาะผู้มีอำนาจตัดสินใจเช่น กระทรวงพลังงาน ว่า การตัดสินใจในเรื่องต่างๆ นั้นควรมีกระบวนการอย่างไร จึงจะเอื้อให้เกิดธรรมาภิบาลในระบบไฟฟ้าไทย ก่อนที่จะทำการประเมินว่าได้มีการดำเนินการตามที่ทำความเข้าใจกันมากน้อยเพียงใด" นายเดชรัต กล่าว


 


นายเดชรัต ขยายความถึงการทำงานในปีที่สองว่า "สิ่งที่ต้องจับตามองในปัจจุบัน คือ การวางแผน PDP เพราะการวางแผน PDP จะเป็นตัวกำหนดขนาดและโครงสร้างการลงทุนของธุรกิจพลังงานในอนาคต ธุรกิจพลังงานต่างๆ ทั้งที่เป็นรัฐวิสาหกิจและเอกชน จึงพยายามเข้ามาแทรกแซงกระบวนการดังกล่าว เช่น มีการคาดการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติต่ำกว่าความเป็นจริง เพื่อให้มีการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้ามากๆ ในขณะเดียวกัน กระบวนการวางแผน PDP ที่ผ่านมาก็ไม่เคยเปิดให้ประชาชนเข้าร่วมพิจารณา และไม่เคยประเมินถึงผลกระทบต่อเนื่องทางสิ่งแวดล้อมเลย"


 


นางสาวสายรุ้ง ทองปลอน ผู้จัดการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค 1ในทีมนักวิจัย กล่าวว่า  ตามหลักธรรมาภิบาลกระทรวงพลังงานต้องจัดกระบวนการระดมความคิดเห็นอย่างเปิดกว้าง รอบด้านและทั่วถึงให้มากที่สุด ไม่ใช่การจัดเวทีเพียง 1 วัน 1ครั้ง 1ที่  และต้องไม่ใช่การปักธงคำตอบไว้ล่วงหน้าก่อนการจัดเวทีรับฟังความเห็น ไม่เช่นนั้นกระบวนการดังกล่าวจะเป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้น เช่น  ต้องมีกระบวนเข้าถึงข้อมูลจากภาครัฐ และข้อมูลจากฝ่ายอื่นๆ อย่างน้อย 1 เดือน ก่อนจากการจัดเวทีระดมความเห็นในการพิจารณาแผน PDP 


 


"สิ่งที่ผู้บริโภคเป็นห่วงมากที่สุดคือ การพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เกินกว่าความเป็นจริง ซึ่งในปีล่าสุดนี้ค่าพยากรณ์เกินกว่าความเป็นจริงไปเกือบ 900 เมกะวัตต์ ซึ่งเทียบเท่ามากกว่าโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ 1 โรง  และหากไม่ปรับแก้ ก็จะคลาดเคลื่อนไม่น้อยกว่า 6,000 เมกะวัตต์ในอีก 15 ปีข้างหน้า และภาระการลงทุนที่ล้นเกินไม่ต่ำกว่า300,000ล้าน ต้องถูกผลักมาอยู่ในค่าไฟที่เรียกเก็บกับผู้บริโภคในที่สุด" นางสาวสายรุ้ง  กล่าว


 


นายศุภกิจ นันทะวรการ จากมูลนิธินโยบายสุขภาวะ นักวิจัย กล่าวว่า การเตรียมการเปิดประมูลผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน หรือ IPP ตามแผน PDP โดยไม่มีการปรับระบบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ให้มีความเป็นธรรมเสียก่อน ก็รังแต่จะก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้นในพื้นที่ ซ้ำรอยเดียวกันกับกรณีบ่อนอก บ้านกรูด โดยเฉพาะเมื่อ กฟผ. เสนอให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินถึงร้อยละ 40 ของโรงไฟฟ้าใหม่ทั้งหมด ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้มีการประเมินความเหมาะสมของพื้นที่และการยอมรับของประชาชนเลย


 


 "ธรรมาภิบาลคือ หัวใจของความสมานฉันท์ และการพัฒนาระบบเศรษฐกิจพอเพียง เราจึงหวังว่ารัฐบาลนี้ โดยเฉพาะกระทรวงพลังงาน จะให้ความสำคัญกับหลักธรรมาภิบาล มากกว่าที่จะเร่งดำเนินการไป โดยไม่คำนึงถึงสิทธิและเสียงของภาคส่วนต่างๆ ในสังคม" นายเดชรัต สุขกำเนิด กล่าวสรุปปิดท้ายการแถลงข่าว


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net