Skip to main content
sharethis

ประชาไท - วานนี้ (21 พ.ย.2549)  ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐรวม 3 ฉบับ ที่เคยเสนอเข้าสู่การพิจารณา ของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอและจะให้ส่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไปดังนี้ 1. ร่าง พ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.. 2. ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยทักษิณ พ.ศ. 3. ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ พ.ศ....


 


ส่วนร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ยังไม่ผ่านความเห็นชอบเพราะยังมีอาจารย์คัดค้านอยู่ จึงถอนออกไปก่อน ทั้งนี้ ศธ.ชี้แจงว่า การปรับเปลี่ยนสถานภาพมหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ เพื่อกระจายอำนาจในการบริหารจัดการศึกษาให้มหาวิทยาลัยมีความคล่องตัว และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา ซึ่งได้ดำเนินการมานานเกือบ 9 ปี ก่อให้เกิดปัญหาในการบริหารมหาวิทยาลัย จึงเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนซึ่งจะต้องดำเนินการให้สำเร็จลุล่วงโดยเร็ว


 


ขณะที่ก่อนหน้านี้ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแห่งได้ยื่นหนังสือต่อ ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รมว.ศึกษาธิการ เพื่อขอให้ถอนร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ของมหาวิทยาลัย 4แห่งดังกล่าว เนื่องจากเรื่องการศึกษาของชาติมีความจำเป็นอย่างยิ่ง จึงควรมีการ ศึกษาถึงผลกระทบทั้งด้านดีและด้านเสียให้รอบครอบเสียก่อน ไม่ควรรีบร้อนดำเนินการขณะนี้ หากมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ จะทำให้ค่าหน่วยกิจแพงขึ้นแน่นอน และจะทำให้เกิด ช่องว่างระหว่างชนชั้นมากขึ้นด้วย


 


ทปอ.เสนอ 5 แนวทาง ดันมหา"ลัยนอกระบบ


ศ.ดร.ปรัชญา เวสารัชช์ อธิการบดี ม.สุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า ทปอ.ได้สรุปแนวทางส่งเสริมการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยในกำกับฯ เพื่อเสนอต่อ ครม.ได้แก่ 1.รัฐต้องจัดสรรงบฯ ให้อย่างเพียงพอในลักษณะของเงินอุดหนุนทั่วไปที่สามารถกำหนดรายละเอียดในการนำไปใช้จ่ายได้อย่างคล่องตัวภายใต้การตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน  2.ในกรณีปรับค่าตอบแทน หรือสิทธิประโยชน์ใด ๆ ให้แก่ข้าราชการโดยรวมก็ขอให้จัดสรรงบฯเพิ่มเติมให้แก่มหา วิทยาลัยเพื่อเพิ่มค่าตอบแทนให้แก่บุคลากรที่ยังมีสถานะเป็นข้าราชการด้วย 3.การคำนวณงบประ มาณสำหรับเป็นค่าตอบแทนบุคลากร ให้คิดจากฐานเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง ค่าตอบแทนและสวัสดิการอย่างอื่นของข้าราชการพลเรือน ดังนั้นหากมีการปรับเงินเดือนและเงินอื่น ๆ ของ    ข้าราชการพลเรือน ทางรัฐบาลก็ต้องจัดเงินอุดหนุนเพิ่มเติมให้แก่มหาวิทยาลัยในกำกับฯด้วย


         


ครม.ไฟเขียวปรับเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวการศึกษาขั้นพื้นฐาน


นอกจากนี้ ครม.ยังปรับเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปีและระดับอนุบาล 2 ปี พร้อมหาเงินอุดหนุนเพิ่มให้แก่โรงเรียนขนาดเล็กที่มีเด็กต่ำกว่า 120 คนระดับอนุบาลและประถมคนละ 500 บาทต่อปี ระดับม.ต้นและม.ปลายคนละ 1 พันบาทต่อปี ทยอยจ่ายในเวลา 3 ปีให้เต็มจำนวนที่ปรับเพิ่ม


         

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net