Skip to main content
sharethis

วิทยากร บุญเรือง / วัชรพงษ์ หิรัญรัตน์


 



เครือข่ายผู้ปลูกและผู้ผลิตลำไยภาคเหนือ เรียกร้องให้ฝ่ายปกครองแก้ปัญหา


 


เครือข่ายผู้ปลูกและผู้ผลิตลำไยภาคเหนือ เตรียมยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาช่วยแก้ปัญหาลำไยอบแห้งที่คาราคาซังมานาน ภายหลังทราบว่ามีคนบางกลุ่มที่ส่อพิรุธ พยายามผลักดันให้รัฐบาลประมูลขายลำไยเก่า



เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2549 ที่ห้องประชุมคณะเกษตรศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ชาวสวนลำไยในจังหวัดเชียงใหม่และลำพูนกว่า 300 คน นำโดยนายประเทือง คงรอด ประธานองค์กรเครือข่ายผู้ปลูกและผลิตลำไยภาคเหนือ ได้จัดหารือร่วมกันเพื่อกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาลำไยอบแห้ง


 


โดยก่อนนี้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2549 ที่ผ่านมา ตัวแทนเครือข่ายผู้ปลูกและผลิตลำไยภาคเหนือเข้าพบนายธีระ สูตบุตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เสนอให้ทำลายลำไยเก่าทิ้ง เนื่องจาก เกรงว่าจะมีการนำมาปลอมปนลำไยที่จะให้ผลผลิตในปี 2550 ซึ่งคาดว่าไม่น้อยกว่า 6 แสนตัน  เรียกร้องให้รื้อโครงสร้างคณะกรรมการแก้ไขปัญหาลำไย ชุดเก่าทั้งหมด  และให้เร่งรัดจ่ายเงินชดเชยลำไยอบแห้งที่ขาดทุนเมื่อปี 2548 และจ่ายค่าอบแก่เกษตรกร  หลังได้ข้อสรุปจากการหารือครั้งนี้จะนำเสนอ พลตรี ชูชีพ ศรีสมบูรณ์ หัวหน้าฝ่ายข่าวกรอง กองพันทหารพัฒนา ภาค 3 เพื่อยื่นต่อรัฐบาล หากยังไม่ได้รับการแก้ไข ภายใน 15 วัน จะยื่นต่อศาลปกครอง เพื่อขอความช่วยเหลือต่อไป


 


ทั้งนี้ทางเครือข่ายได้ทราบถึงการเคลื่อนไหวของคนบางกลุ่มพยายามผลักดันให้รัฐเปิดประมูลลำไยอบแห้งที่ตกค้างตั้งแต่ ปี 2546 และ 2547 จำนวน 6.6 หมื่นตัน ซึ่งยังมีปัญหาทางคดีต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2545 และอาจจะส่งผลให้เกิดผลกระทบด้านลบดังนี้


 



  1. ลำไยอบแห้งปี 2546 ปี พ.ศ. 2546 ส่วนใหญ่เสื่อม ไม่มีคุณภาพ ในวงการผู้ประกอบการของจีนจะเสนอทางการจีนให้ระงับการนำเข้า
  2. ต้องรับผิดชอบต่อระบบตลาด เพราะผู้ประกอบการที่ซื้อลำไยอบแห้งปี 2548-2549 ยังจำหน่ายสู่ผู้บริโภคไม่หมดสต็อก
  3. ปี พ.ศ. 2550 คาดว่าผลผลิตจะมากกว่าปี 2549 ซึ่งราคาลำไยอบแห้งจะเป็นตัวชี้นำลำไยสด (รูดร่วง) จะทำให้เกิดภาวะลำไยสดตกต่ำ เกษตรกรจะเดือดร้อนและจะมีการเรียกร้องตามมา
  4. ลำไยอบแห้ง ปี 2546 ควรจะทำลายทั้งหมด หรือนำไปทำประโยชน์อย่างอื่น
  5. ลำไยอบแห้ง ปี 2547 ยังต้องควรเก็บไว้เพื่อพิสูจน์ผลคดีทางกฎหมาย

 


 


"ลำไย" บนเส้นทางที่อับเฉา



.. 1637 ฟองสบู่จากการเก็งกำไรดอกทิวลิปในประเทศฮอลแลนด์แตกสลาย  ผลของมันทำให้เศรษฐกิจของประเทศซบเซาติดต่อกันไปเป็นเวลาหลายปี


 


เรื่องของเรื่องมันก็มีอยู่ว่า  มีการค้นพบว่าเมื่อนำเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งเมื่อไปทำปฏิกริยากับหัวทิวลิปบางชนิด  จะทำให้ดอกของมันมีสีสันสวยแปลกออกไปจากดอกทิวลิปธรรมดาดาดๆ   ดอกทิวลิปเหล่านี้กลายเป็นของมีค่าของนักสะสม  ว่ากันว่าครั้งหนึ่งดอกทิวลิปเพียงดอกเดียวที่มีสีสันงดงามแปลกประหลาด ถูกประมูลไปด้วยราคาประมาณ 2400000 บาท (คิดตามค่าเงินปัจจุบัน)


 


จากนั้นก็เกิดการเห่อปลูกดอกทิวลิปขนานใหญ่ …. ใครที่มีที่ดินที่ปลูกผลผลิตอย่างอื่นก็หันมาปลูกทิวลิป  ใครไม่มีทุนก็ไปกู้หนี้ยืมสินมา ธุรกิจที่เกี่ยวข้องก็บูมขึ้นพร้อมๆกัน ไม่ว่าจะขายจอบ ขายเสียม ขายปุ๋ย มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ประเทศฮอลแลนด์ช่วงนั้นคึกคักมาวูบหนึ่ง


 


แต่อนิจจา …. หลังจากนั้นไม่นาน เมื่อมันล้นตลาด  ทุกคนที่ร่วมวงไพบูลย์เพื่อการเก็งกำไรครั้งนั้น ก็ต้องประสบชะตากรรมอันปวดร้าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้พร้อมกันถ้วนหน้า


 


นี่เป็นเรื่องที่ปวดใจในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของชาวฮอลแลนด์  พอๆ กับการเข้าชิงฟุตบอลโลก 2 ครั้งแต่ได้เพียงรองแชมป์ 2 สมัย … เมื่อมีการกล่าวถึง


 


เศรษฐกิจแบบฟองสบู่ (bubble economy) นั้นมักจะเกิดกับธุรกิจการแสวงหากำไรจากหลักทรัพย์ (capital gain) ซึ่งมันเมื่อมันระเบิด มันอาจจะเป็นตัวทำให้วัฏจักรธุรกิจ (business cycle) สู่ห้วงดำดิ่ง  และในทางกลับกันการหมุนเวียนของวัฏจักรธุรกิจก็อาจเป็นตัวหนุนให้ฟองสบู่ระเบิด  จะอย่างไรก็แล้วแต่  ถ้าวัฏจักรธุรกิจเริ่มถดถอย (Recession) หรือตกต่ำ (Through) ใครก็ตามที่นำตัวเองไปผูกติดกับการเก็ง กำไร  ค่าเงิน หุ้น  อสังหาริมทรัพย์ ที่เรียกว่า stock economy ย่อมจะเจ็บตัวหนักกว่าเพื่อน (ถ้ารัฐไม่เข้าไปอุ้ม…โดยเฉพาะคนรวย)


 


แต่ธุรกิจภาคการผลิตจริง (real economy) มีสิทธิ์จะกลายเป็นฟองสบู่ได้หรือไม่ ? ….. ได้แน่นอน  ถ้าภาคการผลิตนั้นมันมีลักษณะเชิงซับซ้อน (complex) และเกี่ยวโยง (relation) กับสิ่งอื่นๆ  เช่น การเก็งกำไรชั่วคราว , การเมือง  เป็นต้น  คุณค่าแท้จริงของผลผลิต (product) นั้นจะถูกปั่นให้เกินจริงในช่วงระยะเวลาหนึ่ง หลังจากนั้นคุณค่าของมันจะลดฮวบลงไป เมื่อนักเก็งกำไรและนักการเมืองจากไป (เพราะเก็บเกี่ยวได้เต็มที่แล้ว)  ภาระที่ตามมาก็จะตกไปเป็นของผู้ผลิตแต่เพียงผู้เดียว


 


000


 


... เกิดปรากฏการณ์คล้ายๆ กันเช่นนี้ในปัจจุบัน  และนอกจาก mass insanity แล้ว มันยังเคยมีปัจจัยการเมืองหนุนอีก  มันคือปรากฏการณ์ "ลำไย" นั่นเอง


 


เมื่อก่อนลำไยเป็นผลไม้ที่ออกตามฤดูกาล  ผลผลิตที่ได้แล้วแต่สภาพธรรมชาติของแต่ละปีว่าจะเอื้อให้มันออกดอกออกผลมากน้อยเพียงใด  เมื่อผลผลิตมันให้ราคาดี ชาวไร่ชาวนาก็เริ่มทำสวนลำไยเป็นล่ำเป็นสัน … ถึงแม้จะมีการเพิ่มกำลังการผลิตโดยวิธีนี้แล้ว อุปทานของมันก็ยังไม่ค่อยเพียงพอกับอุปสงค์ เพราะมันเป็นผลไม้ตามฤดูกาลที่อิงกับเงื่อนไขธรรมชาติอยู่นั่นเอง


 


จุดเริ่มต้นการปฏิวัติเขียว (green revolution) ของลำไย  มีเรื่องปรัมปราเล่ากันว่า เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ชาวสวนคนหนึ่งสังเกตเห็นผลผลิตของต้นลำไยที่โดนดอกไม้ไฟลวก  ออกดอกออกผลงดงาม … และนั่นก็เริ่มมีการนำสารเคมีเข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมลำไยนี้อย่างเต็มตัว


 


การแผ้วถางไร่นา สวนผัก เพื่อทำการปลูกลำไยอย่างเป็นล่ำเป็นสัน สารเคมีเกี่ยวกับลำไย  การวางระบบน้ำในสวนลำไย  เตาอบลำไย  อุปกรณ์ เทคโนโลยีอันเกี่ยวเนื่องจากการปฏิวัติเขียวก็กลายเป็นธุรกิจเกี่ยวพ่วงกับลำไย


 


เนื่องจากลำไยสามารถนำไปกินเล่นได้แต่เพียงอย่างเดียว (มีบางสายรายงานมาว่าเป็นยาโด๊ปกระตุ้นเรื่องเพศได้) ไม่สามารถไปกลั่นทำน้ำมันเติมรถอีแต๋น  หรือนำไปผสมปูนซีเมนต์ในการก่อสร้าง  และลำไยก็ไม่สามารถนำไปทำชิบคอมพิวเตอร์ได้  เมื่อไม่ใช่ อุตสาหกรรมพลังงาน , อุตสาหกรรมหนัก , อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง  อนาคตของอุตสาหกรรมผลไม้กินเล่นมันจึงไม่ค่อยรุ่งเรืองเท่าไหร่ ในโลกแห่งธุรกิจคลื่นลูกที่ 3 เฉกเช่นในปัจจุบัน 


 


มันคงจะขึ้นสู่ระยะรุ่งเรือง (peak) ประเดี๋ยวประด๋าว หลังจากนั้นกลไกตลาด (market  mechanism) ก็จะทำหน้าที่ของมันเอง  ทำให้มันหายบูม  และเข้าสู่สภาพที่แท้จริงที่มันควรจะเป็นสำหรับอุตสาหกรรมผลไม้กินเล่น  และมันก็น่าจะเป็นอย่างนั้นไปหลายปีก่อนแล้ว  ถ้าหาก … ถ้าหากพลพรรคไทยรักไทยไม่ได้ขึ้นเป็นรัฐบาลและเข้าแทรกแซงตลาด


 


การล้นเฝือของลำไยจากปัจจุบันและจากนี้ไป เป็นเพราะผลพวงการบริหารงานที่ผิดพลาดของรัฐบาลไทยรักไทย ที่ใช้การตลาดนำเศรษฐศาสตร์


 


สำหรับนักเศรษฐศาสตร์ การจะผลิตอะไรซักอย่าง ต้องคำนึงถึงกฎขั้นพื้นฐาน - ผลิตอย่างไร , ผลิตแค่ไหน , ผลิตเพื่อใคร  แล้วก็วางแผนจัดสรรการผลิตให้เพียงพอ ใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่ามากที่สุด


 


แต่สำหรับนักการตลาด  ผลิตมาเหอะเดี๋ยวเอาไปขายให้  ทำให้มันขายได้  ถ้ามันขายไม่ได้แล้วก็ผลิตอย่างอื่นมา…เดี๋ยวเอาไปขายให้อีก  .. และในอดีต รัฐบาลไทยรักไทยก็เป็นรัฐบาลของนักการตลาด


 


หนึ่งในสัญญาประชาคมที่ไทยรักไทยทำไว้กับชาวเชียงใหม่นั่นก็คือเรื่องของลำไย  - ปลูกกันเหอะ เดี๋ยวอุดหนุนงบ  เดี๋ยวหาที่ขายให้  ถ้าราคาถูกก็เข้าไปพยุงหรือประกันราคาให้  …. แล้วก็อย่าลืมเลือกไทยรักไทย


 


ผมเองก็มิได้ปฏิเสธนโยบายพยุงราคาหรือการประกันราคาของรัฐ  ที่คอยเอาไว้ช่วยเกษตรกร  แต่ต้องใช้นโยบายนี้ให้ถูก ใช้ให้เป็น และต้องไม่มีสิ่งแอบแฝงที่นอกเหนือจากผลประโยชน์ของเกษตรกร


 


การพยุงราคาหรือประกันราคามีความหมายละม้ายคล้ายกัน   เพราะถ้าประกันราคาว่าราคาจะเป็นเท่าใดก็เท่ากับรักษาระดับราคา หรือ พยุงราคาไว้ที่ระดับราคานั้น ๆ อาจจะสูงกว่าหรือต่ำกว่าตลาดก็ได้  (แล้วแต่สถานการณ์ตลาด) ถ้าต่ำกว่ามักจะเรียกว่าราคาประกัน  คือจะให้ฝนตกแดดออกอย่างไรราคาก็จะไม่ถูกกว่านี้ไปอีกแล้วเกษตรกรอุ่นใจได้    แต่ถ้าพูดถึงราคาพยุงโดยทั่วไปหมายถึงรักษาระดับราคาไว้สูงกว่าราคาตลาด ช่วยเกษตรกรไม่ให้พ่อค้าหน้าเลือดรุมกดราคา   วิธีปฏิบัติจะแตกต่างกันในแต่ละประเทศหรือแม้ในประเทศเดียวกัน  สินค้าแต่ละชนิดที่อยู่ภายใต้โครงการพยุงราคาก็อาจจะมีวิธีเลือกปฎิบัติต่างกันแล้วแต่ความสำคัญของผลผลิตนั้นๆ


 


นโยบายการพยุงราคาหรือประกันราคา  หากทำสำเร็จจะทำให้ราคาสูงกว่าราคาทางด้านตลาด และจะทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น แต่ผู้บริโภคจะต้องซื้อสินค้าในราคาที่แพงกว่าราคาที่ควรจะเป็น (และแพงกว่าพ่อค้าคนกลางอย่างแน่นอน)  ทั้งนี้ผู้ผลิตจะมีการผลิตเพิ่มมากขึ้น จนรัฐบาลต้องมารับภาระในการซื้อสินค้าเก็บไว้มากขึ้น จนหลาย ๆ ปี จะมีสินค้ามากขึ้น และรัฐบาลต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บเพื่อไม่ให้สินค้าเสื่อมคุณภาพ มิฉะนั้นรัฐบาลจะต้องขาดทุน ทำให้รัฐบาลต้องมีแนวทางในการแก้ไข โดยใช้ 2 มาตรการ คือ


1. ทำการขยายตลาด ซึ่งต้องหาตลาดเพิ่มเติมที่จะได้ระบายสินค้าที่เก็บไว้
2. ทำการจำกัดปริมาณการผลิต หรือ ปริมาณการขายไม่ให้มีมากจนเกินไป


 


รัฐบาลไทยรักไทย เคยอ้างถึงการขยายตลาดให้อุตสาหกรรมลำไยโดยไม่ต้องวิตกอะไร … แต่ผมวิตกเพราะอย่างที่บอกไปแล้วว่ามันเป็นอุตสาหกรรมผลไม้กินเล่น  เมื่อไม่แปรรูปให้มันมีคุณค่ามากกว่าของกินเล่น (น่าจะนำไปทำ viagra) การตะบี้ตะบันทำสวนลำไย ผลิตกันทั้งนอกและในฤดู หลายแสนตัน  ผลผลิตที่ล้นเฝือมันก็จะไปทำลายความต้องการของผู้บริโภค … ต่อให้มีประเทศจีนซักสิบประเทศจีน กินลำไยทุกวันเขาต้องเบื่อบ้างแหละ  และไม่คิดหรือว่าเขาจะปลูกเองบ้าง!


 


ในกรณีนี้ลองกลับไปที่แบบเรียนเศรษฐศาสตร์-บริหารธุรกิจ-รายการทีวียอดนักบริหาร  ที่ดูดีโลกแห่งการตลาดมีสีชมพู … แน่นอนว่าผมจะต้องโดนตอกหน้าด้วยทฤษฎีเช่นว่า สร้างคุณค่าทางการตลาด , แปรรูปผลผลิตให้หลากหลาย ,  เอาทฤษฎีทางการตลาดมมาใส่ให้มันมีคุณค่าสิ ! ดูตัวอย่างเช่น  ไวน์องุ่นของฝรั่งเศส , มันฝรั่งทอดของอเมริกัน …. หลังจากนั้นก็ผลักภาระการแปรรูปไปให้กลุ่มแม่บ้าน , กลุ่มเตาอบลำไยเดนตาย(น้ำมันและแก๊สแพงมาก!) หรือหน่วยงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์เล็กๆที่ผลิตได้เพียงตัวอย่างสินค้า


 


ในยุคไทยรักไทย เราจึงเห็นผลลัพธ์ของการผลักภาระไปให้กลุ่มแม่บ้านและหน่วยงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ขนาดเล็ก  เราได้เห็นการแปรรูปอย่างหลากหลาย เช่น ทองม้วนรสลำไย , ชาเขียวรสลำไย , น้ำกระเจี๊ยบรสลำไย  หรืออาจจะเป็นสบู่ที่ทำจากลำไย (นี่คือความก้าวหน้าของวงการวิทยาศาสตร์ไทยอีกขั้นหนึ่ง) …. แต่ผลผลิตที่น่าเจ็บปวดรวดร้าวที่สุดคือ "ปุ๋ยใส่ลำไยที่ทำจากลำไย"


 


ไวน์เอย, มันฝรั่งแผ่นทอดกรอบเอย , ช็อกโกแล๊ต และของกินเล่นที่มีการผลิตซื้อขายบริโภคกันทั่วโลกนั้น  ไม่ใช่ว่าแค่ปีหรือสองหรือสิบปี จะทำให้มันได้รับความแพร่หลายถึงขั้นครอบโลกได้  ประวัติศาสตร์-บริบททางสังคม ระยะเวลาการสร้างความนิยมในการบริโภคนั้นมันมีมายาวนานอาจจะไล่ไปจนถึงยุคการล่าอาณานิคมโน่น … และวัฒนธรรมการบริโภคสิ่งแปลกใหม่คงเป็นเรื่องที่ฉาบฉวยหวังพึ่งพิงนักไม่ได้   เอาไวน์ลำไยไปแข่งกับไวน์องุ่นดูดิ …. หรือเอาทองม้วนรสลำไยไปแข่งกับมันฝรั่งทอดกรอบยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ


 


และที่สำคัญก็คือรากฐานมั่นคงของธุรกิจของกินเล่นในปัจจุบันมันเกือบถึงขั้นผูกขาด (monopoly) ไปแล้ว โครงสร้างตลาดมันคล้ายมีกำแพงแก้ว (glass barriers to entry) ขวางเอาไว้ …. นี่คือโลกแห่งความจริงไม่ใช่โลกสีชมพูที่ดูเหมือนอะไรๆก็ทำได้หมด  ถ้านักบริหาร-นักการตลาดมีสมองที่ปราดเปรื่อง


 


000


 


นั่นคือช่วงที่รัฐบาลไทยรักไทย มาทำให้วงการเกษตรสวนลำไยปั่นป่วน ... และจากนี้มันจะยิ่งปั่นป่วนอีก เมื่อเกิดการเปลี่ยนขั้วอำนาจ ซึ่งรวมถึงการพยายาม "สร้างภาพที่เลวร้ายที่สุดให้กับนโยบายของรัฐบาลชุดก่อน" --- ซึ่งนโยบายเกี่ยวกับลำไย คงจะหนีไปไหนไม่พ้น


 


ลำไยอาจจะเป็นพืชเกษตรอันดับแรกๆ ที่จะโดน "พิษการเมืองของชนชั้นนำ" --- จากเมื่อก่อน เคยเป็นพืชของเกษตรกรที่เป็นฐานคะแนนของคนเคยมีอำนาจ โดนปั่นราคา โดนทำให้มันมีราคาเกินจริง โดนนำไปผูกติดไว้กับการเมืองแบบประชานิยม แห่แหนกันปลูกอย่างบ้าระห่ำ ... แต่บัดนี้เมื่อขั้วอำนาจเปลี่ยนไป ฤดูเก็บเกี่ยวปีหน้า เกษตรกรผู้ปลูกลำไย พ่อค้านายหน้า ก็อาจจะต้องหนาวๆ ร้อนๆ กันบ้างล่ะครับ


 


เพราะมันเป็นพืชที่ "หมดความหมายทางการเมือง" เสียแล้ว ;-)



 


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net