Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 



 


 


ธุรกิจหนังสือที่แข่งขันกันมานานยังไม่ลดราวาศอกเรื่องการแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาด แต่สำนักพิมพ์หน้าใหม่ก็ยังเกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน


 


ขณะเดียวกัน ช่องทางในการเผยแพร่หนังสือหรือข้อมูลตามสื่อต่างๆ ก็เริ่มมีบทบาทมากขึ้น สำนักพิมพ์น้องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นมาได้สักพักทางฝั่งอเมริกา เริ่มอาศัยการตีข่าวของสื่อกระแสหลักกรุยทางเข้ามามีที่อยู่ที่ยืนในแวดวงคนรักตัวอักษรกันบ้างแล้ว


 


สำนักพิมพ์ที่ว่าคือเว็บไซต์หนังสือ lulu.com ซึ่งเปิดพื้นที่ให้นักเขียนหน้าใหม่ หรือไม่ก็ "นักอยากเขียน" ได้มีโอกาสฝากผลงานของตัวเองออกสู่สายตาสาธารณชน แต่การตีพิมพ์บนเวบไซต์ลูลู่.คอม แตกต่างจากการเขียนเรื่องราวลงในเวบไซต์หรือบล๊อกส่วนบุคคลแบบที่หลายๆ คนเลือกใช้ เพราะลูล่.คอมมีกองบรรณาธิการคอยคัดกรองต้นฉบับมากมายที่ส่งเข้ามา และตรวจดูถึงความน่าเชื่อถือหรือคุณภาพของงานเขียนแต่ละชิ้นอย่างละเอียดถี่ถ้วน จากนั้นจึงค่อยเขียนเนื้อหาย่อๆ ของหนังสือเพื่อให้คนอ่านได้รู้เรื่องราวพอสังเขป แล้วใครที่อยากอ่านต่อก็จะดาวน์โหลดหนังสือแต่ละเล่มไปอ่านกันเอง


 


กระบวนการคัดสรรผลงานและการมีบรรณาธิการรับผิดชอบต้นฉบับ ทำให้สถานะของหนังสือที่ตีพิมพ์กับลูลู่.คอม (ในสายตาของนักอ่านในไซเบอร์สเปซ) มีความน่าเชื่อถือมากกว่าข้อมูลในบล๊อกส่วนบุคคล ด้วยเหตุผลว่าอย่างน้อยที่สุด ถ้ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้นกับเนื้อหาในหนังสือ คนอ่านก็ยังมีสิทธิ์จะตามไปต่อว่าหรือถามหาคำอธิบายจากผู้รับผิดชอบได้ถูกคนแน่ๆ


 


นอกจากนี้ ความน่าสนใจของลูลู่.คอมยังอยู่ที่การสร้างรายได้ให้นักเขียนแต่ละคนจากการที่มีคนคลิกปุ่ม order เพื่อซื้อหนังสือมาอ่าน (แบบออนไลน์) ในราคาครั้งละ 1 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 38 บาท) ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่น้อยนิดเหลือเกินในการอ่านหนังสือ 1 เล่ม แต่หากเทียบกับการไม่มีลูลู่.คอมเป็นเวบท่าคอยรวบรวมผลงานและเป็นผู้สร้างมาตรฐานการตีพิมพ์ให้เกิดขึ้นในระดับหนึ่ง นักเขียนหน้าใหม่คงไม่มีโอกาสได้ต่อรองอะไรกับนักอ่านในโลกไซเบอร์เลย


 


ที่สำคัญก็คือลูลู่.คอมไม่คิดค่าบริการจากการแก้ไขหรือคัดเลือกต้นฉบับจากนักเขียนแต่อย่างใด และไม่คิดส่วนแบ่งจากจำนวนคลิกปุ่ม order ที่นักเขียนแต่ละคนได้ แต่ลูลู่.คอมใช้วิธีการขายโฆษณาและเป็นผู้จัดการเรื่องกฏหมายลิขสิทธิ์ ในกรณีที่สำนักพิมพ์ที่ตีพิมพ์หนังสือเป็นเล่ม ต้องการนำผลงานจากโลกออนไลน์ไปสู่โลกที่มีกระดาษรองรับงานเขียนที่จับต้องได้ในโลกจริง


 


วิธีการของลูลู่.คอม ถูกใจนักอ่านหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นนักอ่านสายกรีนที่อนุรักษ์ธรรมชาติ สนับสนุนแนวทางของลูลู่ เพราะไม่มีการตัดไม้ทำลายป่ามาทำหนังสือ ในขณะที่นักอ่านที่ชอบของถูกก็จะรู้สึกว่าราคาขนาดนี้กับหนังสือเล่มหนึ่ง เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลอย่างยิ่ง และขณะเดียวกัน นักเขียนหน้าใหม่ที่ไม่เคยมีผลงานที่ไหนมาก่อนก็มีช่องทางที่จะเผยแพร่งานของตัวเองได้ง่ายขึ้น และไม่ต้องพะวงกับต้นทุนที่ต้องจ่ายในกรณีที่อยากจะตีพิมพ์หนังสือของตัวเองให้คนได้อ่านในวงกว้าง


 


การตัดสินว่าหนังสือเล่มไหนดีหรือไม่ดีจึงตกอยู่ที่ผู้อ่านสถานเดียวเท่านั้น และถ้าหากจะมีคนนำผลงานไปวิจารณ์ ก่อนจะนำมาบอกต่อๆ กันในเวบ ก็ถือเป็นการโฆษณาหนังสือโดยทางอ้อม...


 


กระบวนการของลูลู่.คอมออกจะแตกต่างจากบางสำนักพิมพ์ (ในบางประเทศ) ที่นำเรื่องราวต่างๆ จากอินเตอร์เน็ตไปตีพิมพ์โดยไม่ได้ตรวจสอบอย่างถ้วนถี่ จนกลายเป็นปัญหาเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาภายหลัง ซึ่งการเกิดขึ้นของลูลู่.คอม รวมถึงวิธีการจัดการระบบของเวบไซต์สำนักพิมพ์น้องใหม่แห่งนี้ก็ดูจะเป็นเรื่องที่น่าศึกษาอย่างยิ่ง


 


สำหรับนักเขียนที่โด่งดังจากลูลู่.คอม และมียอดขาย (ยอดคลิก order) สูงสุดในตอนนี้ก็คือ ฟรานซิส บาร์เทิล (Francis Bartels) ชายชาวกานา วัย 90 ปี ที่เป็นนักโทษผิวดำในแคมป์นาซีเยอรมันที่สามารถมีชีวิตรอดมาได้ และในเวลาต่อมา เขาได้กลายเป็นครูของโคฟี อันนัน วีรบุรุษของชาวกานาที่มีชื่อเสียงในฐานะนักการทูตและเลขาธิการใหญ่ขององค์การสหประชาชาติหลายสมัย


 


หนังสือที่บาร์เทลส์เขียนขึ้นชื่อว่า MAKING MEN IN GHANA เป็นอัตชีวประวัติของตัวเองที่บอกเล่าเรื่องราวในชีวิตที่เกี่ยวโยงกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ทั้งในสมัยที่อยู่ค่ายกักกัน และในสมัยที่เขาต้องปวดหัวกับการเป็นครูของนักเรียนกานาที่แสนจะแก่นกะโหลก


 


ในความเป็นจริงแล้ว บาร์เทลส์เป็นนักการศึกษาคนสำคัญของประเทศกานา และเป็นคนวางรากฐานระบบการศึกษาสมัยใหม่ด้วย แต่หนังสืออัตชีวประวัติที่เขียนขึ้นเมื่อตอนบั้นปลายชีวิต ไม่ได้รับความสนใจจากสำนักพิมพ์ไหน ด้วยความที่เขา "ไม่มีชื่อเสียง" ในแวดวงระดับโลก


 


สิ่งเดียวที่พอจะขายได้ก็คือการเป็นครูของโคฟี อันนัน แต่สำนักพิมพ์ต่างๆ ก็ไม่แน่ใจว่าการจะก้าวพ้นจากตำแหน่งเลขาฯ ยูเอ็น จะทำให้ค่านิยมในตัวอันนันลดลงไปหรือไม่ และถ้าเกิดว่าความนิยมนั้นลดลงจริงๆ หนังสือของบาร์เทลส์คงไม่ทำกำไรอะไรได้มากนัก จึงเป็นธรรมดาที่ไม่มีใครอยากเสี่ยงตีพิมพ์ให้เปลืองต้นทุนและเปลืองกระดาษ...


 


แต่ปัจจุบันนี้ ยอดคลิก order ของหนังสืออัตชีวประวัติของบาร์เทลส์ตกอยู่ที่ 2,000 คลิกต่อสัปดาห์ และคาดว่าถ้าจำนวนคนคลิกโดยเฉลี่ยยังเท่าเดิม จึงมีความเป็นไปได้ที่บาร์เทลส์จะได้เงินจากการขายหนังสือออนไลน์สูงถึง 1 ล้านเหรียญต่อปี


 


แม้ว่าการถือกำเนิดของลูลู่.คอมจะยังไม่ชวนให้แน่ใจในความยั่งยืนสักเท่าไหร่ แต่นี่อาจเป็นการอุดช่องโหว่ของแวดวงสำนักพิมพ์อีกทางหนึ่ง และช่วยให้มาตรฐานของข้อมูลหรือหนังสือที่ตีพิมพ์ในเวบไซต์มีความน่าเชื่อถือมากขึ้นอีกด้วย


 


 


ข้อมูลอ้างอิงจาก


http://stores.lulu.com/store.php?fAcctID=595806


http://books.guardian.co.uk/news/articles/0,,1945829,00.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net