Skip to main content
sharethis

โดย นิตยสารรายสัปดาห์พลเมืองเหนือ


 


 


เห่อบูมแหล่งท่องเที่ยวใหม่ในเขตทหาร  ททท.เข้าหนุนสร้างมาตรฐานและระบบท่องเที่ยว  เชียงใหม่ชู 2 แหล่งมีศักยภาพ ทหารหวังปรับปรุงห้วยตึงเฒ่าและศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงแต่ยังไร้งบ


 


           


เปิดพื้นที่ทหารให้เที่ยว


นายจุณพงศ์ สาระนาค ผู้อำนวยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ เขต 1 (ททท) เปิดเผยว่า ททท.มีการขยายพื้นที่และกิจกรรมต่างๆ หลากหลายมากขึ้น ขณะนี้กองทัพบกก็มีนโยบายจะส่งเสริมการท่องเที่ยวในเขตทหารเพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสใกล้ชิดและทำความรู้จักกับทหารมากขึ้น  ที่ผ่านมามีการประสานกับสำนักส่งเสริมการท่องเที่ยวของทหาร ผู้ประกอบการ จากสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวฯ โดยนำคณะฯ เข้าไปเยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวของทหารในจังหวัดเชียงใหม่   2 แห่งคือ ที่อ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่า และศูนย์ปรัชญาการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง คณะผู้ประกอบการลงความเห็นว่าสามารถพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ดีได้


 


นายจุณพงศ์กล่าวว่า ททท.จึงวางแผนประชาสัมพันธ์แหลท่องเที่ยวทั้ง 2 ด้วยการทำใบปลิว และเผยแพร่ทางเว็บไซต์ รวมไปถึงการจัดทัวร์เพื่อนำนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวทั้ง 2 แห่งนี้ และในวันที่ 14-15 .. 2549 จะมีการอบรมการท่องเที่ยวในเขตทหารให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทราบสถานการณ์ท่องเที่ยวในท้องถิ่น  การอนุรักษ์ทรัพยากรท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม  การต้อนรับและให้บริการนักท่องเที่ยว เทคนิคการนำชมและการฝึกปฏิบัติ รวมทั้งจรรยาบรรณของมัคคุเทศก์


 


ศูนย์เรียนรู้หวังทำโฮมเสตย์


พันเอกอิทธิพงศ์ ประเสริฐสันติ ผู้จัดการศูนย์ปรัชญาการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงฯ กล่าวว่า สำนักส่งเสริมการท่องเที่ยวทหารบก มีนโยบายให้ศูนย์การเรียนรู้ฯ เลี้ยงตนเองได้จึงจำเป็นต้องมีการเก็บค่าเข้าชมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของศูนย์ โดยในแต่ละปีจะต้องมีต้นทุนในการดูแลกว่า 3.6 ล้านบาท ส่วนรายได้ที่เข้ามาก็ขึ้นอยู่กับฤดูกาล โดยเฉลี่ยแล้วแต่ละปีทางศูนย์จะมีรายได้ประมาณ 6 ล้านบาท ซึ่งเมื่อหักค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้วเหลือเพียงแค่ 2.4 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้ในช่วงสิ้นปีก็จะแบ่งเป็นโบนัสให้แก่ทหารที่ประจำอยู่ที่ศูนย์ ฯ  ขณะนี้เปิดโอกาสเอกชนเข้ามาร่วมดำเนินโครงการ แต่ก็ยังยึดรูปแบบเดิมคือต้องเป็นศูนย์ปรัชญาการเรียนรู้ ซึ่งจะมีอัตราค่าใช้จ่ายในส่วนต่างๆ เท่าเดิม


 


"ผมมีแนวคิดว่าจะขยายศูนย์นี้ในพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ และเน้นทางด้านภูมิปัญญาชาวบ้าน ในเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจะเป็นในด้านของการทำการเกษตรกรรม วิถีชีวิตชาวบ้านในภาคเหนือในแต่ละวัน และพิธีกรรมต่างๆ มาจัดแสดงให้นักท่องเที่ยวดู ซึ่งเป้าหมายจะเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ คล้ายๆ กับพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่มีชีวิต เพื่อจะอนุรักษ์ประเพณีเหล่านี้เอาไว้ให้นักท่องเที่ยว และประชาชนรุ่นหลังได้ชม นอกจากนี้อาจมีการเพิ่มจำนวนบ้านพักแบบน๊อคดาวน์ ให้มากขึ้น รวมถึงการสร้างบ้านและเชิญชวนกลุ่มชาวบ้านที่อยู่ในบริเวณใกล้ๆ เข้ามาร่วมโครงการซึ่งจะเป็นเป็นโฮมสเตย์  แต่สิ่งที่เป็นปัญหาที่ต้องในการดำเนินโครงการก็คือเม็ดเงินที่จะเข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งตามนโยบายของการส่งเสริมการท่องเที่ยวกองทัพบก แล้วไม่มี เพราะเน้นที่จะให้มีการจัดการบริหารเรื่องรายได้กันเอง แล้วด้วยศูนย์นี้เป็นในรูปแบบเศรษฐกิจพอเพียงยิ่งไม่สามารถที่จะเก็บค่าเข้าชมเป็นในแง่ของธุรกิจได้"


 


พันเอกอิทธิพงศ์ กล่าวว่าในช่วงฤดูกาลการท่องเที่ยวในช่วงหน้าหนาวนี้มีผู้มาเยี่ยมชม และจองที่พักเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นผลมาจากการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก โดยตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายนเรื่อยไปจนถึงปลายเดือนกุมภาพันธุ์ มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่มาจองบ้านพักที่ทางศูนย์จัดไว้ให้ จนขณะนี้เต็มหมดแล้ว รวมทั้งในจุดกางเต้นท์ที่ทางศูนย์ ฯได้จัดบริการก็เต็มแล้วเช่นเดียวกัน


 


เที่ยวหลากหลายที่ห้วยตึงเฒ่า


พันโททวีศักดิ์ มณีวงศ์ รองผู้จัดการสำนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยวอ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่า เปิดเผยว่า ในพื้นที่ของห้วยตึงเฒ่าจะแบ่งเป็นการพักผ่อนแบบสบาย  การผจญภัย และค่ายพักแรม ทำให้ปัจจุบันที่ห้วยตึงเฒ่ารองรับนักท่องเที่ยวกว่า วันละ 10,000 คน นักท่องเที่ยวก็มีทั้งมากางเต้นท์ จองบ้านพัก และเที่ยวแบบมาเช้าเย็นกลับ  การพัฒนาของห้วยตึงเฒ่าจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยในส่วนแรกจะพัฒนาไปพร้อมๆ กับการดำรงไว้ในเรื่องหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง  


 


ส่วนที่ 2 ก็จะเป็นการพัฒนาในแง่ของการท่องเที่ยวก็จะเป็นการพัฒนาในเชิงอนุรักษ์ให้เป็นปอดของเชียงใหม่ ซึ่งจะปรับปรุง หรือเพิ่มเติมสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ  โดยปัจจุบันมีบ้านรับรองอยู่ 2 แห่ง รองรับนักท่องเที่ยวได้ 35 - 40 คน และจุดประสงค์ของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่มาพักแรมที่ห้วยตึงเฒ่าจะมาเป็นหมู่คณะเพื่อกางเต้นท์บริเวณริมอ่างเก็บน้ำ สำนักส่งเสริมฯ จึงได้พยามเพิ่มพื้นที่พักผ่อนให้มากขึ้น   


 


อย่างไรก็ตามในเรื่องของงบประมาณพัฒนาตามนโยบายของกองทัพบกนั้นระบุไว้ว่าให้บริการจัดการสถานที่เอาเอง แต่จากที่ผ่านมามีเพียงแค่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเท่านั้นที่เข้ามาช่วยเหลือ แต่ก็เป็นการช่วยเหลือในทางอ้อมอย่างเช่นการสร้างถนนให้เท่านั้น แต่หลักๆ แล้วห้วยตึงเฒ่าต้องหาเงินเลี้ยงตัวเองโดยผ่านรายได้หลัก 2 อย่างคือ การเก็บค่าบัตรผ่านเข้าชม และรายได้จากร้านค้าสวัสดิการที่เปิดให้บริการอยู่ภายในนั่นเอง


 


"การจะพัฒนาต่อไปในเชิงสิ่งปลูกสร้าง เราจะต้องดูว่ามีผลกับธรรมชาติที่จะเสียไปหรือไม่ แต่จะสร้างโดยการดึงดูดนักท่องเที่ยวโดยไม่ให้เสียธรรมชาติไป  ในการพัฒนานี้น่าจะเป็นการดึงนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเที่ยวชมได้มากขึ้นอย่างน้อย 20%"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net