นายก อบต. นาโพธิ์กลาง โขงเจียม หวั่นวัฒนธรรมเก่าแก่สูญ

รายงานโดย ศูนย์ข่าวประชาสังคมอุบลฯ


 

 

นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาโพธิ์กลาง เผย วิถีชีวิตกว่าร้อยปีของคนลุ่มแม่น้ำโขง ขณะที่ผู้นำหมู่บ้านชูประเด็นร่วมอนุรักษ์ธรรมชาติริมฝั่งแม่น้ำโขง

 

สืบเนื่องจากการเสวนาเรื่องวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง ที่บ้านคันท่าเกวียน ตำบลนาโพธิ์กลาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2549 เวลา 11.00 น. ที่ผ่านมา เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมความเป็นอยู่ของคนลุ่มน้ำโขงให้ประชาชนทั่วไปได้รู้จัก รวมทั้งเป็นการหาแนวทางการอนุรักษ์วัฒนธรรมอันดีงามที่สืบทอดกันมากว่าหนึ่งร้อยปี ให้คงอยู่คู่ชุมชนลุ่มแม่น้ำโขงตราบนานเท่านาน การเสวนาในครั้งนี้ประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ องค์การบริหารส่วนตำบล ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และประชานในหมู่บ้าน

 

นายพิณโย บุญยง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาโพธิ์กลาง กล่าวในการเสวนาว่า ตำบลนาโพธิ์กลางเป็นตำบลที่มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติเอื้ออำนวย และได้รังสรรค์สิ่งที่งดงามไว้บริเวณนี้ อาทิ น้ำตก ภูเขา โดยเฉพาะแม่น้ำโขง ซึ่งถือเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวสนใจ นอกจากนั้นแล้วพื้นที่บริเวณนี้ยังมีธรรมชาติที่หลากหลาย และสวยงาม ที่สำคัญยังเป็นตำบลที่สามารถชมดวงอาทิตย์ขึ้นก่อนที่อื่นในประเทศไทย ที่ผาชะนะได และเมื่อกล่าวถึงวิถีชีวิตคนลุ่มแม่น้ำโขง อาจจะไม่เหมือนวิถีชีวิตของคนถิ่นอื่น ประการแรกพื้นที่บริเวณนี้ เอื้อให้ชาวบ้านแถบนี้ยึดอาชีพประมงเป็นหลัก สำหรับการทำการเกษตร และเลี้ยงสัตว์ จะมีเพียงส่วนน้อย เพราะมีพื้นที่ลาดชัน การเพาะปลูกจะเป็นไปตามฤดูกาล ขณะที่ผู้นำชุมชนมีความคิดที่จะให้ประชาชนที่ดำรงชีวิตอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ได้มีส่วนช่วยในการดูแลแม่น้ำโขงอีกทาง เพื่อเป็นการฟื้นฟูและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้มีอยู่ชั่วลูกชั่วหลาน

 

"ในฐานะที่ผมเป็นหนึ่งในประชาชนชาวลุ่มแม่น้ำโขง เราจะต้องช่วยกันดำรงรักษา และฟื้นฟูวัฒนธรรมอันดีงามของเราให้คงอยู่ต่อไป นอกจากนั้นยังจะต้องช่วยกันอนุรักษ์ธรรมชาติ ไม่ใช่ช่วยกันทำลาย"

 

สำหรับร้อยตำรวจโท สมคิด พวงพันธ์ ชาวบ้านนาโพธิ์กลาง กล่าวว่า ตามธรรมดาแล้วชาวบ้านริมฝั่งแม่น้ำโขงจะมีวิถีชีวิตแต่ละเดือน แตกต่างกันออกไป ตามฤดูกาล ว่าฤดูไหนควรจะทำอะไร เช่น การจับปลา ชาวบ้านจะดูว่าแต่ละฤดูจะใช้เครื่องจับปลาชนิดใด ถ้าฤดูที่น้ำหลากจะใช้จั่นดักจับปลา และถ้าเป็นช่วงที่น้ำในแม่น้ำโขงลดลง ชาวบ้านจะนำเอามันแกวที่เพาะในช่วงหน้าฝนมาปลูก และนอกจากมันแกวแล้วยังมีการปลูกข้าวโพด ปลูกฝ้าย ถือเป็นรายได้เสริม แต่ที่น่าแปลกก็คือ การปลูกพืชผักที่นี่ไม่มีการรดน้ำ เนื่องจากอยู่ใกล้น้ำอยู่แล้ว นอกจากนั้นชาวบ้านในหมู่บ้านยังมีการรวมกลุ่มกันทอผ้าฝ้ายเพื่อส่งขายตามตลาดนัดต่าง ๆ เพื่อเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่งที่นับว่าสร้างรายได้ให้ประชาชนแถบนี้อย่างเป็นกอบเป็นกำ โดยหน่วยงานราชการ และองค์การบริหารส่วนตำบลนาโพธิ์กลาง จะเป็นผู้ให้คำแนะนำในส่วนของการหาตลาด

 

"การดำรงชีวิตของคนที่นี่มีมานานกว่าร้อยปี ฉะนั้นจึงแฝงไปด้วยวัฒนธรรมเก่าแก่ที่ทรงคุณค่าอยู่ด้วย"

 

ขณะที่ชาวบ้านผู้ที่จับปลาในแม่น้ำโขงเป็นประจำ กล่าวว่าสัตว์น้ำต่าง ๆ อาทิ ปลาจะลดจำนวนลงอย่างน่าใจหาย ทำให้หาปลาได้จำนวนน้อยลง อาจเกิดจากประชากรเพิ่มมากขึ้น มีการหาปลามากขึ้น ซึ่งในสมัยก่อน หากจับปลามาได้จะแบ่งกันไปรับประทาน แต่ปัจจุบันจะจับปลาเพื่อขาย รวมทั้งเครื่องมือการจับปลาในปัจจุบันมีความทันสมัยขึ้น

 

อย่างไรก็ตามการสืบทอดประเพณี วัฒนธรรมของชุมชนลุ่มแม่น้ำโขงจะยังคงดำเนินต่อไปถึงแม้ว่าจะได้รับผลกระทบธรรมชาติบ้างบางส่วน หรือแม้กระทั่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทันสมัยในปัจจุบัน และที่สำคัญยิ่ง คือการสร้างเขื่อนของประเทศจีนซึ่งปัจจุบันกระทบต่อกลุ่มคนเหล่านี้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกระทบกับการเพาะปลูกริมฝั่งแม่น้ำโขง เนื่องบางปีประเทศจีนปล่อยน้ำออกจากเขื่อนหลายครั้ง ทำให้พืช ผัก ที่ชาวบ้านปลูกไว้ได้รับความเสียหาย รวมถึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ชาวบ้านแถบนั้นจับปลายากขึ้น เพราะปลาหลงฤดู

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท