Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 11 พ.ย. 2549 เมื่อวันที่ 10 พ.ย. มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน ร่วมกับคณะอนุกรรมการสิทธิแรงงาน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดการสัมมนาเรื่อง "สถานการณ์สิทธิแรงงานและการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเพื่อแรงงาน" ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยเวลา 10.00น. มีการอภิปรายเรื่อง"สถานการณ์สิทธิแรงงานหลังรัฐบาลทักษิณ เราจะก้าวไปทางไหน?"


 


ตัดพ้อไม่มีตัวแทนนายจ้างใน สนช.


นางสิริวัน ร่มฉัตรทอง ผู้อำนวยการสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากมองจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้แรงงานรวดเดียว 7 บาท ขณะที่ในอดีตกว่าจะขึ้นได้ 1-2 บาท ก็เถียงกันข้ามวันข้ามคืนแล้ว นับว่าแรงงานได้อานิสงส์จากการเมืองมากกว่าทุกครั้ง นอกจากนี้ สิทธิแรงงานก็แข็งมากขึ้น อันเป็นผลมาจากโลกาภิวัตน์ที่ทำให้ข้อมูลข่าวสารทั่วถึง ทำให้แรงงานมีเสียงและอำนาจในการต่อรองเพิ่มมากขึ้น


 


อย่างไรก็ตาม เธอเห็นว่า รัฐบาลไม่เคยให้ความสำคัญกับตัวแทนนายจ้างเลย หากดูจากรายชื่อสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จะพบว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติเลือกนายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย ในฐานะตัวแทนจากลูกจ้าง และเลือกตัวแทนจากอุตสาหกรรม โดยมองว่า อุตสาหกรรมเป็นตัวแทนของนายจ้าง จึงเสนอว่า นโยบายต่างๆ ของรัฐบาลควรเกิดจากไตรภาคี คือ นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐ เนื่องจากเห็นว่าแนวคิดของนายจ้างจะนุ่มนวลกว่าแนวคิดของอุตสาหกรรมที่เน้นแต่เรื่องการผลิต


 


นางสิริวัน กล่าวว่า แม้กฎหมายคุ้มครองแรงงานของประเทศไทยจะดีและครอบคลุมกว่าประเทศอื่น แต่การบังคับใช้กฎหมายและการปฏิบัติต่อลูกจ้างของนายจ้างบางคนกลับมีปัญหา เช่น การจ่ายค่าแรงแบบเหมาช่วง สุดท้าย ไม่อยากให้ลูกจ้างเคลื่อนไหวโดยแบ่งฝ่าย โดยยกตัวอย่าง ประเทศสิงคโปร์ที่นายจ้างขึ้นเวทีพร้อมลูกจ้างเพื่อขับไล่รัฐบาล และว่า "เคลื่อนพร้อมกันแล้วรัฐบาลจะฟังเรา"


 


สหภาพแรงงานทั่วโลกตกผลึกแล้วว่า ต้องต่อต้านรัฐประหาร   


นายประสิทธิ์ ค่ายกนกวงศ์ กรรมการบริหารสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) กล่าวว่า จากการเคลื่อนไหวของแรงงานทำให้นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน บอกว่าจะไม่แปรรูปในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่ง


 


ทั้งนี้ หากถามถึงสถานการณ์หลังรัฐประหารควรกลับไปมองที่เหตุก่อน ซึ่งคือการรัฐประหาร เขาเล่าว่า สหภาพแรงงานทั่วโลกได้ตกผลึกแล้วว่า จะต้องต่อต้านการรัฐประหารเนื่องจากการรัฐประหารอยู่ด้านตรงข้ามกับกระบวนประชาธิปไตย แต่ขบวนการแรงงานของไทยตอนนี้กลับยังรวมกันไม่ได้ คปค. เองก็ออกประกาศละเมิดสิทธิเสรีภาพต่างๆ ของประชาชน ทั้งห้ามชุมนุมทางการเมือง ห้ามแรงงานออกมาเคลื่อนไหว


 


ก่อนหน้านี้ แรงงานเรียกร้องให้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งสถาบันคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการมานานถึง 11 ปีและพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์อีกกว่า 5 ปี แต่เมื่อเกิดเหตุรัฐประหาร 19 กันยาและฉีกรัฐธรรมนูญ ทุกอย่างก็หยุดหมด เนื่องจากต้องรอดูกฎหมายแม่บท  


 


"ในสถานการณ์ที่ยังไม่รู้ว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร จะปฏิรูปความยุติธรรมเพื่อแรงงานได้ยังไง"


 


ขบวนการแรงงานไม่เคยได้อะไรหลังรัฐประหาร


นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า จากประวัติศาสตร์ หลังการรัฐประหาร ขบวนการแรงงานไม่เคยได้อะไร กลับถูกทำลายตลอดเวลา ตัวอย่างเช่น เมื่อปี2535 ที่รสช. ยึดอำนาจ ขบวนการแรงงานก็เสียทนง โพธิ์อ่าน ผู้นำแรงงานไป และยังถูกจำกัดสิทธิ์ต่างๆ เช่น ห้ามนัดหยุดงาน เป็นต้น


 


และแม้ว่าจะมีการขึ้นค่าแรงให้ แต่แรงงานก็ไม่ได้ประโยชน์ เนื่องจากรัฐบาลไม่มีนโยบายควบคุมราคาสินค้า หรือนโยบายค่าจ้างที่เป็นธรรมที่ชัดเจน


 


สำหรับการมีส่วนร่วมของแรงงาน จะเห็นว่า ใน สนช.มีตัวแทนมาจากสายทหารจำนวนมาก ตัวแทนอาชีพอื่นๆ มีจำนวนน้อย เธอจึงเสนอว่า ต้องมีเวทีร่างรัฐธรรมนูญคู่ขนานกับการเจรจากับ สนช. เพื่อผลักดันให้แรงงานได้สิ่งที่ต้องการ เนื่องจากสิทธิของแรงงานไม่เคยได้จากการเจรจาตกลง แต่ได้มาจากการเรียกร้องด้วยตัวเอง


 


แนะแรงงานบริหารเงินกองทุนประกันสังคมเอง


นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สิทธิของคนในระบบทุนนิยม คือ สิทธิที่จะอยู่รอดและทำให้ชีวิตดีขึ้น และสิทธิในการดูแลจัดการทรัพย์สินของตนเพื่อประโยชน์ของตัวเอง จึงตั้งคำถามว่า เป็นไปได้ไหมที่ลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกของกองทุนประกันสังคมซึ่งมีเม็ดเงินจำนวนมากจะมีส่วนในการจัดสรรเงินเพื่อประโยชน์ของตัวเองมากขึ้น


 


เขาเสนอให้กองทุนประกันสังคมแยกออกมาจากกระทรวงแรงงาน เป็นอิสระเช่นเดียวกับกองทุนบำเหน็จบำนาญ (กบข.) ของข้าราชการ แล้วให้นายจ้างและลูกจ้างเป็นคนกำกับดูแล โดยเสนอให้แบ่งเงิน 40,000 ล้านบาทเพื่อมาซื้อหุ้นในธนาคารพาณิชย์ และเปิดโอกาสให้ลูกจ้างกู้ได้คนละไม่เกิน 10,000 บาท ดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 8 และขอหักเงินจากผู้กู้ ร้อยละ10 เพื่อนำไปจัดตั้งธนาคารแรงงานให้นายจ้าง ลูกจ้าง และครอบครัวกู้ได้อีกทางหนึ่งด้วย



 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net