เอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น: ปีศาจมักอยู่ในรายละเอียดเสมอ

บทบรรณาธิการเว็บไซต์เอฟทีเอวอทช์

9 พฤศจิกายน 2549

จาก http://www.ftawatch.org/autopage1/show_page.php?t=34&s_id=23&d_id=23

 

ข่าวในหนังสือพิมพ์ฉบับวันที่ 9 พฤศจิกายน 2549 ระบุว่า ฝ่ายญี่ปุ่นกำลังรู้สึกกังวลอย่างมากต่ออนาคตของนโยบายเศรษฐกิจไทยจนเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นต้องขอเข้าพบ ม... ปรีดิยาธร เทวกุล  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในวันเดียวกัน ทางฝ่ายสหรัฐฯ ก็เข้าพบคุณเกริกไกร จิระแพทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นการใหญ่

 

หม่อมอุ๋ย ให้สัมภาษณ์ถึงการพบปะกับฝ่ายญี่ปุ่นว่า ภายในเดือนธันวาคมนี้จะนำเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่นเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี จากนั้นจะ "ทำประชาพิจารณ์"  และจะนำเข้าสู่สภานิติบัญญัติในเดือนมกราคมปีหน้า  "โดยพร้อมลงนามภายในรัฐบาลนี้"   โดยญี่ปุ่นยังคงยืนยันว่า พร้อมจะลงนามเอฟทีเอกับไทยเหมือนเดิมไม่มีเปลี่ยน

 

ถ้าไม่ใช่ปัญหาเรื่องการลงข่าวที่สั้นและกระชับจนเกินไป เป็นไปได้หรือไม่ว่าคนๆ เดียวกันจะพูดจาขัดขากันเองจนเกือบจะหกล้ม  ภายในเวลาไม่ถึง 5 วินาที!!!

 

คำถามก็คือว่า เมื่อเราพูดถึง "ประชาพิจารณ์" เราสามารถจะระบุคำตอบสุดท้ายจากการประชาพิจารณ์ได้หรือไม่ 

 

ถ้าหม่อมอุ๋ยบอกว่าได้  และตอบแล้วด้วยว่าจะทำเอฟทีเอ "ภายในรัฐบาลนี้" อย่างนั้นเรียกว่าเป็นประชาพิจารณ์หรอกหรือ 

 

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา คำว่า "ประชาพิจารณ์" หรือคำคล้ายๆ กัน เช่น "การมีส่วนร่วมของประชาชน" อาจเรียกได้ว่าขึ้นติดอันดับคำยอดฮิตที่ถูกบิดเบือนมากที่สุด ในสมัยรัฐบาลทักษิณ วิธีให้ประชาชนมีส่วนร่วม ในนโยบายเอฟทีเอ คือ การให้ส่งอีเมล เพื่อแสดงความเห็นไปยังกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งไม่ใช่ว่าทุกบ้านจะเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ และการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น ซึ่งเอาเข้าจริงก็เป็นการไปฟังการประชาสัมพันธ์ข้อดีของการทำเอฟทีเอมากกว่า แล้วสุดท้าย ทั้งหมดนี้ก็ตระหนักได้ว่า ไม่มีอะไรในนโยบายที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยยะสำคัญจากสิ่งที่ราชการเรียกว่า "กระบวนการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็น" เลย  

 

เอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น เริ่มต้นโดยความเห็นชอบของรัฐบาลทักษิณ แม้นเมื่อการเจรจาเกือบจะจบ แม้แต่ภาคธุรกิจที่มักได้รับอานิสงค์จากการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของรัฐมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ก็ยังบ่นเป็นหมีกินผึ้งว่าไม่ค่อยได้ประโยชน์อะไร และเมื่อรัฐบาลประกาศว่าการเจรจาจบสิ้นในตอนต้นปีที่ผ่านมา กำลังจะเซ็นอีกไม่กี่อาทิตย์ก็ยังไม่มีใครได้เห็นหน้าตาของข้อตกลงการเจรจาเลยว่ามันมีอะไรอยู่ในกอไผ่บ้าง แล้วอย่างนี้สมควรที่หม่อมอุ๋ยและรัฐบาลชุดนี้จะเดินหน้าลงนามหรือ

 

ขณะนี้ประเทศรอบบ้านเราทั้งที่เจรจากับญี่ปุ่นเสร็จแล้วและยังไม่เสร็จ กำลังตั้งคำถามอย่างหนักกับข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ (อีพีเอ) หรือก็คือเอฟทีเอ ว่ามีผลกระทบอย่างไรกับประเทศและประชาชนของพวกเขาบ้าง และยังมีเรื่องอะไรอีกที่รัฐบาลปิดบัง ไม่ยอมเปิดเผย และที่สำคัญ รัฐบาลและคณะเจรจาตระหนักรู้ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจริงๆ มากน้อยแค่ไหน

 

ในฟิลิปปินส์ หลังจากที่เซ็นเอฟทีเอกับญี่ปุ่นไปแล้ว มาพบในภายหลังว่ามีข้อตกลงที่ว่าด้วยการให้นำเข้าขยะและของเสียจากญี่ปุ่นโดยการลดภาษีเป็น 0% ซึ่งหมายถึงต่อไปในอนาคต ฟิลิปปินส์ก็เตรียมเป็นที่รองรับขยะและของเสีย (ที่ไม่อยู่ในสภาพจะเอาไปทำอะไรได้แล้ว นอกจากกำจัดหรือแยกวัตถุดิบออกมา)  ทั้งที่อาจมีพิษและไม่มีพิษจากอุตสาหกรรมและบ้านเรือนซึ่งจะถูกขนส่งมาจากญี่ปุ่นได้เลย แล้วถ้าไม่อนุญาตให้นำเข้าเสียดีๆ รัฐฟิลิปปินส์ก็มีสิทธิถูกลงโทษตามกลไกที่ระบุไว้ในข้อตกลง

 

นอกจากนี้ ข้อตกลงเรื่องขยะนี้ยังไปละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศอย่างอนุสัญญาบาเซล (Basel Convention) ซึ่งห้ามไม่ให้มีการโอนส่งออกขยะและของเสียจากประเทศพัฒนาแล้วไปสู่ประเทศกำลังพัฒนาอีกด้วย ข้อค้นพบใหม่ชุดนี้ทำให้หลายต่อหลายกลุ่มในฟิลิปปินส์ ทั้งกลุ่มที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ แรงงาน เกษตรกร ฯลฯ ลุกขึ้นมาคัดค้านเอฟทีเอที่รัฐบาลเซ็นไปแล้วกับญี่ปุ่นอย่างหนัก แล้วพวกเขาก็ยังพบอีกด้วยว่าเนื้อหาทำนองเดียวกันก็อยู่ในข้อตกลงที่ญี่ปุ่นเซ็นไปแล้วกับมาเลเซียด้วย ภาคประชาสังคมในอินโดนีเซียเองก็เริ่มตั้งคำถามกับการเจรจาที่ปิดเป็นความลับกับประชาชนและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน 

 

แล้วเอฟทีเอของไทยกับญี่ปุ่นล่ะ … ทำให้เราได้เงินลงทุนจากญี่ปุ่นมากขึ้น ขาดดุลกับญี่ปุ่นมากขึ้นเพราะซื้อของเขามากขึ้น ทำให้ญี่ปุ่นขนเงินกำไรออกไปได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันก็จะทำให้ไทยเป็นแหล่งรองรับขยะและของเสียมีพิษจากครัวเรือนและอุตสาหกรรมในญี่ปุ่นในราคาถูกๆ โดยที่ญี่ปุ่นไม่ต้องกังวลเรื่องขยะในบ้านตัวเองอีกต่อไปด้วยหรือเปล่าไม่มีใครรู้ เพราะรัฐบาลไม่เคยเปิดเผยรายละเอียดข้อตกลง  แม้กระทั่งรัฐบาลชุดนี้ที่บอกว่าต้องการเศรษฐกิจที่เป็นธรรมนั้นก็ยังพูดถึงเพียงการนำเสนอรายงานการวิเคราะห์จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยถึงโอกาสและผลกระทบเท่านั้น แต่ไม่เคยเอ่ยปากถึงการเปิดเผยข้อมูลจริงของสิ่งที่จะนำมาผูกมัดคนไทยและลูกหลานของเราเลยแต่อย่างใด 

 

ใช่ คำถามคือ เอาเข้าจริง แม้แต่รัฐบาล คณะเจรจา และคณะนักวิจัยจะตระหนักและรอบรู้ถึงผลกระทบที่มีโอกาสเกิดขึ้นทั้งหมดแน่ละหรือ ในเมื่อข้อตกลงหนาเป็นร้อยๆ หน้า มีเป็นสิบยี่สิบบท และเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่เมื่อลงนามแล้วมีข้อผูกมัดที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติตาม ซึ่งจะมีผลถึงการต้องแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบภายในประเทศตามมาไม่รู้สักกี่ชุด 

 

ถ้ารัฐบาลชุดนี้ยังคงเชื่อในการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างที่ชอบอ้างถึงจริง การลงนามในข้อตกลงระหว่างประเทศใดๆ โดยเฉพาะที่จะส่งผลกระทบต่ออำนาจอธิปไตย สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคมอย่างกว้างขวางอย่างกรณีเอฟทีเอแล้ว นี่เป็นสิ่งแรกที่ "ไม่" ควรกระทำ 

 

การเปิดเผยข้อมูลต่างๆ เน้นความโปร่งใส และให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมถึงการปฏิรูปกระบวนการเจรจาข้อตกลงระหว่างประเทศ ให้ได้มากที่สุดต่างหากเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องตระหนัก 

 

ตราบใดที่กระบวนการเจรจาและข้อมูลการเจรจายังคงปิดบัง มุมมิบ และไม่โปร่งใส ตราบนั้น ความเป็นธรรมไม่มีทางเกิด โดยเฉพาะเอฟทีเอกับญี่ปุ่นซึ่งจากต้นถึงปลาย ประชาชนไม่เคยได้รับรู้เลยว่า มีสัตว์ประหลาดหรือปีศาจกี่ตัวที่แฝงอยู่ใน "รายละเอียด" ข้อตกลง อย่าลืมสำนวนที่ฝรั่งเขาว่าไว้ "ปีศาจ (มัก) อยู่ในรายละเอียด" เสมอ (The Devil is in the details) และรายละเอียดแบบที่ว่านั้นก็ไม่เคยตกถึงมือประชาชน  

 

ดังนั้น ถึงจะห่อเจ้าเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่นด้วยประชาพิจารณ์สักกี่รอบ แต่ถ้าหัวใจของการเจรจาและกระบวนการทำข้อตกลงยังไม่เคยเปลี่ยน ข้างในก็ยังเป็นเอฟทีเอฉบับปีศาจอยู่ดี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท