กก.สิทธิจัดเสวนา ถอดประสบการณ์เว็บไซต์ล่อแหลมยุครัฐประหาร

ประชาไท - วานนี้ (7พ.ย.2549) อนุกรรมการสิทธิในการสื่อสารและเสรีภาพสื่อมวลชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดสัมมนา "เสรีภาพของสื่ออิเลคทรอนิกส์กับการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน" โดยเชิญผู้จัดทำเว็บไซต์ทั้งกลุ่ม 19 กันยาต้านรัฐประหาร, มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน, ประชาไท ตลอดจนสมาคมผู้ดูแลเว็บไซต์ไทย และบริษัททรู ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต เข้าร่วมแลกเปลี่ยน  แต่กระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร (ไอซีที) ซึ่งได้รับเชิญไม่ได้เข้าร่วมงาน

 

สมเกียรติ ตั้งนโม อาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้จัดทำเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน www.midnightuniv.org กล่าวว่า หลังจากถูกบล็อกเว็บไซต์เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ได้ฟ้องร้องกระทรวงไอซีทีในข้อหาละเมิดต่อศาลปกครองและขอความคุ้มครองชั่วคราว คาดว่าราวต้นเดือนธันวาคมจะมีการแถลงของศาลในเรื่องนี้

 

ผู้จัดทำเว็บมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกล่าวต่อว่า เจ้าหน้าที่กระทรวงไอซีทีได้ยื่นหลักฐาน 2 อย่างในการปิดเว็บไซต์ต่อศาลปกครอง คือประกาศฉบับที่5/2549 ของคณะปฎิรูปฯ หรือคปค.ที่ระบุให้ไอซีทีควบคุม ยับยั้ง สกัดกั้น ทำลาย การเผยแพร่บทความ ข้อความ คำพูดในระบบสารสนเทศที่มีผลกระทบต่อการปฏิรูปการปกครองของคณะปฏิรูปฯ ในขณะนั้น อีกอันหนึ่งคือคำสั่งกระทรวงไอซีทีที่ 82/2549 ในการแต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานอินเตอร์เน็ต 7 คน ทำให้หนาที่ชี้แจง-เสนอแนะผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (ไอเอสพี) และผู้ดูแลเว็บ (เว็บมาสเตอร์) ซึ่งน่าสังเกตว่าในหน้าที่ดังกล่าวไม่ได้ระบุให้ดำเนินการปิดเว็บ

 

"ผมคิดว่าประกาศฉบับที่ 5 นั้นขัดกับเสรีภาพขั้นพื้นฐานโดยสิ้นเชิงและกรรมการสิทธิควรฉีกประกาศนี้อย่างยิ่ง"สมเกียรติกล่าว

 

พร้อมกั้นนั้น เขายังระบุว่า สารวัตรอินเตอร์เน็ตจากไอซีทีได้ยื่นหลักฐานเท็จต่อศาลว่าเว็บไซต์มีการจาบจ้วงสถาบัน โดยใช้ข้อมูลที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการปิดเว็บครั้งนี้ และมีการอ้างบทความที่ 1048 ว่าไม่เหมาะสม ทั้งที่เป็นแถลงการณ์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนที่นำมาจากสื่อมวลชนและข่าวการฉีกรัฐธรรมนูญซึ่งนำมาจากการรายงานข่าวของเว็บไซต์ประชาไท

 

สมเกียรติระบุว่า เหตุการณ์ปิดเว็บไซต์นี้ เกิดขึ้นหลังจากมีการแถลงจุดยืนของมหาวิทยาลัยและมีการฉีกรัฐธรรมนูญชั่วคราวของคณะปฏิรูปฯ ด้วยเหตุที่มหาวิทยาเที่ยงคืนยืนยันจะเคารพกฎหมายที่เป็นธรรมและไม่ล้าหลังเท่านั้น ส่วนกระบวนการเซ็นเซอร์ นั้นเป็นเรื่องปกติและมีมาตั้งแต่สมัยกรีก แต่ปัญหาคือ กระทำโดยใช้วิจารณญาณขนาดไหนและกระทรวงไอซีทีมีความรู้เพียงใดในการคอยควบคุมปิดกั้นเว็บไซต์ต่างๆ

 

สมบัติ บุญงามอนงค์ จากเครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหาร หรือบก.ลายจุดผู้จัดทำเว็บไซต์ 19 sep.org ซึ่งถูกบล็อกเว็บทำให้เข้าไม่ได้อยู่หลายครั้งโดยบุคคลที่ไม่เปิดเผยตัวและต่อสู้จน www.19sep.org ใช้การได้กล่าวว่า การดำรงอยู่ของสิทธิมนุษยชนนั้นไม่ได้อยู่ภายใต้การอนุญาตของรัฐหรือรัฐธรรมนูญ แต่เกิดขึ้นทันทีที่มนุษย์นั้นเกิดและคุ้มครองจนกระทั่งหลังตาย ใครก็ตามที่อ้างการมีสิทธิที่จะคุมสิทธิคนอื่นนั้นยอมรับไม่ได้

 

สมบัติตั้งข้อเกตด้วยว่า มูลนิธิกระจกเงาของเขานั้นทำงานในสภาวะวิกฤต เป็นอาสาสมัครในเหตุการณ์สึนามิ โคลนถล่ม ฯ ทำให้ได้บทเรียนสำคัญว่า ในช่วงเวลาวิกฤตสิ่งสำคัญมากคือการแบ่งเป็นข้อมูลในสถานการณ์นั้นให้ทั่วถึงที่สุด ในวันที่ 19 กันยา แม้โทรทัศน์จะใช้การไม่ได้ สื่อหนังสือพิมพ์รายงานไม่ทันเหตุการณ์ แต่ประชาชนได้แบ่งปันข้อมูลกันเอง และสื่อไอทีก็ทำหน้าที่ได้อย่างน่าชื่นชม มันคือระบบสำรองที่กลายเป็นระบบหลักในภาวะวิกฤต อย่างไรก็ตาม เมื่อปรากฏชัดแล้วว่าใครเป็นผู้ยึดอำนาจก็จะขอยืนยันมาตรา 65 ของรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ระบุว่า บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใด ๆ ที่เป็นเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้

 

"ตอนนี้ปัญหาคือเราไม่รู้ว่าใครละเมิดกฎหมาย การโพสต์ข้อความต่อต้าน การปฏิเสธ ซึ่งเคยเป็นเรื่องปกติกลายเป็นเรื่องผิด แต่มันผิดอะไรหรือ ผู้ปิดเว็บไซต์ต้องรับผิดชอบ แสดงตัวอย่างสง่าผ่าเผย เพราะคุณเป็นรัฐไม่ใช่มาเฟีย แต่ที่เกิดขึ้นเหมือนมีคนเขวี้ยงของใส่หัวเราในเวลาเวลามืดแล้ววิ่งหนีไป" บก.ลายจุดกล่าว

 

เขาระบุว่าอีกว่า การรัฐประหารครั้งนี้ส่งสัญญาณชัดว่ามันจะเกิดได้อีกในครั้งหน้า ซึ่งเป็นเรื่องยอมรับไม่ได้ ดังนั้น การถอดบทเรียนของสื่ออินเตอร์เน็ต ต้องถอดอย่างเป็นวิชาการ และต้องมีการส่งเสริมความพร้อมของสังคมเตรียมไว้ เพราะสิทธิ เสรีภาพที่อยู่ในกฎหมายไม่ช่วยอะไร เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญก็ยังถูกฉีกได้ มีทางเดียวคือต้องรักษาสิทธิเสรีภาพโดยประชาชนเอง

 

ศุภสรณ์ รุ่งโรจน์วุฒิกุล ฝ่ายกฎหมายจากบริษัททรู ยืนยันว่าทางบริษัทไม่ได้ทำการบล็อกเว็บไซต์ของเครือข่าย 19 กันยาฯ และมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เพราะหากยึดหลักกฎหมายแล้ว กระทรวงไอซีทีไม่มีอำนาจกระทำการดังกล่าว ที่ผ่านมาไม่เคยมีคำสั่งอย่างเป็นทางการ แม้ว่าจะมีการขอความร่วมมืออย่างไม่เป็นทางการมาโดยตลอดโดยอ้างคำสั่งของ คปค. ให้ปิดเว็บไซต์หลายแห่ง เช่น อเมซอน ซีเอ็นเอ็น หรือเว็บไซต์ของออสเตรเลีย สหรัฐ ซึ่งบริษัทยืนยันว่าต้องทำหนังสืออย่างเป็นทางการมาเท่านั้น แต่กับผู้ให้บริการ (ไอเอสพี) รายเล็กๆ บางทีเมื่อมีการร้องขอจากรัฐก็จำเป็นที่จะต้องให้ความร่วมมือ เพราะเสี่ยงต่อการยกเลิกสัมปทาน

 

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายกล่าวด้วยว่า ในระดับปฏิบัติการนั้นสามารถยืนยันได้เต็มที่ว่าไม่มีการปิดเว็บไซต์ทั้งสองแห่ง แต่หากเรื่องนี้ถูกส่งเข้าสู่บอร์ดของบริษัทก็เป็นเรื่องเหนือการรับรู้และการตรวจสอบของผู้ปฏิบัติงาน

 

จีรนุช เปรมชัยพร ผู้จัดการเว็บไซต์ประชาไท กล่าวว่า คำถามแรกที่ต้องถามคือ จำเป็นหรือไม่ที่ต้องมีการเซ็นเซอร์ และหากคิดว่าต้องทำ ใครจะมีความชอบธรรมในการทำ กระบวนการจำเป็นต้องโปร่งใส ชัดเจน และคณะกรรมการสิทธิน่าจะมีบทบาทสำคัญในการให้ความรู้กับประชาชน หรือแสดงจุดยืนในการปกป้องสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร หรือการแสดงออกในความคิดเห็นอย่างมีความรับผิดชอบ แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะถูกฉีก แต่การรับรองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานเหล่านี้ของประชาชนยังถูกรับรองในระดับสากล

 

ปรเมศวร์ มินศิริ นายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย กล่าวว่า ทางสมาคมมีการร่างจริยธรรมในการให้ผู้ประกอบการเว็บไซต์ดูแลกันเอง และในการเรียกประชุมผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตและผู้ประกอบการเว็บไซต์ต่างๆ ของคปค.หลังยึดอำนาจนั้น ทางสมาคมฯ ก็ได้เรียกร้องให้คปค.ใช้วิจารณญาณสูงสุดหากจะต้องมีการเซ็นเซอร์ใดๆ พร้อมกับที่เรียกร้องให้ผู้ประกอบการทำตามจริยธรรม

 

อย่างไรก็ดี เขาแสดงความกังวลต่อร่างกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งไอซีทีระบุว่าจะผลักดันออกมาใช้ในเร็วๆ นี้ โดยระบุว่ามีบางมาตราที่อาจกระทบต่อสิทธิของผู้ประกอบการเว็บไซต์และผู้ใช้อินเตอร์เน็ต เช่น ไอซีทีสามารถยึด server ของผู้ให้บริการได้ 48 ชั่วโมงโดยไม่ต้องตั้งข้อหา หรือการ forward อีเมล์มั่วซั่ว ต่อไปก็อาจทำให้ผู้ส่งมีความผิดอาญา มีโทษสูงได้ ซึ่งเรื่องนี้ทางสมาคมได้มีการจัดทำร่างกฎหมายคู่ขนานกับของภาครัฐแล้วด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท