Skip to main content
sharethis

นางบาร์บารา วีเซล ผู้ช่วยผู้แทนการค้าสหรัฐ ซึ่งอยู่ระหว่างการเยือนมาเลเซียเพื่อเจรจาเอฟทีเอกับมาเลเซีย กล่าวว่า สหรัฐได้ประกาศจุดยืนดังกล่าวอย่างชัดเจนและเชื่อว่ารัฐบาลไทยรับทราบและเข้าใจในเงื่อนไขนี้แล้ว โดยระงับการเจรจาเอฟทีเอชั่วคราว จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง


 


อีกทั้งในระยะ1 ปีข้างหน้านี้ ประเทศไทยก็ต้องใช้เวลาในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จัดเตรียมการเลือกตั้งทั่วไป ตลอดจนต้องใช้เวลาในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ภายหลังการเลือกตั้งด้วย ซึ่งรัฐบาลรักษาการของไทยชุดปัจจุบันให้คำมั่นว่า จะเร่งจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ภายในเดือนตุลาคมปีหน้า


        


นายการุณ กิตติสถาพร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การที่ผู้แทนการค้าสหรัฐ(USTR) ประกาศจะไม่เจรจา FTA กับไทยจนกว่าจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้นถือเป็นการชะลอการเจรจาออกไปโดยปริยาย โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งอย่างเป็นทางการอีก


 


"การเจรจาใดๆ ต้องเกิดจากความยินยอมสองฝ่าย ในกรณีนี้สหรัฐแสดงความต้องการชัดเจนไม่เจรจากับไทยก็สอดคล้องกับที่ไทยก็ยังไม่มีความพร้อมภายในที่จะเปิดการเจรจาเช่นกัน" นายการุณ กล่าว


     


ก่อนหน้านี้สหรัฐเคยนำเรื่อง GSP(เป็นชื่อย่อของ Generalized System of Preferences หมายถึง ระบบการให้สิทธิ พิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไปที่ประเทศที่พัฒนาแล้วให้แก่สินค้าที่มีแหล่งกำเนิดใน ประเทศที่กำลังพัฒนา โดยลดหย่อนหรือยกเว้นอากรขาเข้าแก่สินค้าที่มีอยู่ในข่ายได้รับสิทธิ พิเศษทางการค้าทั้งนี้ประเทศผู้ให้สิทธิพิเศษฯ จะเป็นผู้ให้แต่เพียงฝ่ายเดียวไม่หวังผลตอบ แทนใดๆทั้งสิ้น)


มาต่อรองให้ไทยเร่งเจรจา FTA แต่ขณะนี้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปแล้วก็ต้องติดตามดูการพิจารณาอีกครั้ง ขณะนี้ไทยได้ล็อบบี้ผู้ที่เกี่ยวข้องของสหรัฐไว้แล้วอย่างใกล้ชิด และหลังการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐที่จะเสร็จสิ้นต้นเดือน พ.ย.นี้ ก็จะมีการทบทวนการล็อบบี้ใหม่เพื่อให้ได้ผลมากที่สุด และในระยะยาวภาคเอกชนไทยควรจะเร่งปรับตัวสร้างความสามารถการแข่งขันให้ได้ด้วยตัวเองเพื่อจะได้ไม่ต้องพึ่ง GSP ต่อไป


 


อย่างไรก็ตาม กรณีที่กฎหมายการค้าที่สภาคองเกรสให้อำนาจฝ่ายบริหารของสหรัฐสามารถเจรจา FTAได้นั้น จะหมดอายุในเดือน ก.ค.50 ซึ่งกำหนดการเดิมจะต้องเจรจาให้เสร็จสิ้นในเดือน ก.พ.50 เพื่อให้ FTAสามารถผ่านความเห็นชอบของสภาคองเกรสได้ทันและมีผลบังคับใช้ถือเป็นความกดดันด้านเวลาที่จะทำให้ได้ข้อตกลงที่ไม่ดี ซึ่งเจตนารมณ์การเจรจาตั้งแต่เริ่มแรกคือจะไม่เจรจาบนเงื่อนไขกำหนดเวลาอยู่แล้ว แต่ต้องเจรจาแล้วได้ข้อตกลงที่ดีและเป็นธรรมที่สุดกับทุกฝ่าย


     


ด้านนายเดช พัฒนเศรษฐพงษ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า ผลกระทบจากการชะลอการเจรจา FTAไทย-สหรัฐออกไปอย่างน้อย 1 ปีคงยังไม่สามารถประเมินได้ขณะนี้ เพราะต้องพิจารณาผลกระทบจากการที่ประเทศคู่แข่งไทย ได้แก่ มาเลเซีย และเกาหลีใต้ จะสามารถบรรลุข้อตกลง FTA กับสหรัฐได้หรือไม่


 


นายอิทธิ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึง กรณีที่สหรัฐอเมริกาประกาศระงับการเจรจาเอฟทีเอกับไทยชั่วคราวว่าเชื่อว่า การที่สหรัฐชะลอการเจรจาเอฟทีเอกับไทยนั้น น่าจะส่งผลดีให้กับประเทศ ไม่ว่า จะเป็นการใช้เวลาปรับตัว หรือศึกษาข้อดีข้อเสียจากการทำเอฟทีเอของรัฐ รวมทั้งการใช้เวลาดังกล่าว มาศึกษาทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วนให้มากขึ้น ทั้งประชาชน ผู้ผลิต ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมทั้งเกษตรกรด้วย



นายอิทธิ ยังกล่าวถึง เหตุผลที่สหรัฐเลือกที่จะชะลอการเจรจา เอฟทีเอกับไทย อีกประการ 1 ว่า ที่ผ่านมา ได้มีการออกมาคัดค้านกรณีดังกล่าวจำนวนมาก รวมทั้งรัฐบาลในชุดปัจจุบัน ก็มีนโยบายหลักที่เน้นในเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งอาจะเป็นผลให้ไม่เน้นมีการเปิดประเทศอย่างเสรีมากนัก



สำหรับกระแสโลกต่อการเจรจาเอฟทีเอ (รายงานจากเอเอฟพี)หนังสือพิมพ์อาซาฮี ประเทศญี่ปุ่น รายงานเมื่อวันที่ 5 พ.ย.ว่า รัฐบาลสหรัฐ เตรียมยื่นข้อเสนอทำข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ที่กรุงฮานอย เวียดนาม ระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย.


 


อาซาฮีอ้างแหล่งข่าวรัฐบาลญี่ปุ่นว่า เมื่อเดือนต.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงต่างประเทศสหรัฐได้หารือกับกระทรวงต่างประเทศและการค้าของญี่ปุ่น พร้อมระบุว่า สหรัฐต้องการหารือถึงความเป็นไปได้ในการทำเอฟทีเอของกลุ่มเอเปค


                  


กระทรวงต่างประเทศสหรัฐยอมรับว่า เอฟทีเอพหุภาคีในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเป็นเรื่องสำคัญในฐานะเป้าหมายระยะกลาง และระยะยาว ซึ่งแนวคิดดังกล่าวอาจไม่สอดคล้องกับข้อเสนอของญี่ปุ่นที่ต้องการให้หารือแนวคิดทำข้อตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกรวม 16 ประเทศ คือ 10 ชาติสมาชิกสมาคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) บวกญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจของทั้ง 16 ประเทศได้จัดการประชุมอย่างไม่เป็นทางการเมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมา


 


ทั้งนี้มีกระแสข่าวว่า สหรัฐแสดงความไม่พอใจอย่างไม่เป็นทางการถึงแนวคิดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออก เพราะไม่ต้องการเห็นการแบ่งภูมิภาคแปซิฟิก อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา อาเซียนมีความคืบหน้าลดภาษีนำเข้าในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งสู่การรวมตัวเป็นตลาดเดี่ยวแบบยุโรป ภายในปี 2558 ขณะเดียวกันอาเซียนได้ข้อสรุปเอฟทีเอกับจีน และเกาหลีใต้ รวมถึงมีการเจรจาเอฟทีเอกับญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย



การเคลื่อนไหวนี้ทำให้สหรัฐเร่งหาลู่ทางทำข้อตกลงการค้าเอเชีย-แปซิฟิก ช่วงที่การเจรจาเปิดเสรีภายใต้องค์การการค้าโลกอยู่ในภาวะชะงักงัน


 


ส่วนทางเกาหลีใต้ ประธานาธิบดีโนมูเฮียนยืนยันหนักแน่นต่อรัฐสภาว่า รัฐบาลจะพยายามอย่างดีที่สุดในการเจรจาทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับสหรัฐฯ เพื่อหาข้อสรุปให้ก่อนกำหนด แต่ขณะเดียวกัน เกาหลีใต้จะไม่ยอมอ่อนข้อในประเด็นสำคัญๆ เพียงเพื่อให้ทันกับเส้นตายที่กำหนดไว้ ทั้งนี้เมื่อเดือน ต.ค. เกาหลีใต้และสหรัฐฯเพิ่งเปิดการเจรจาเอฟทีเอรอบที่ 4 ขึ้นบนเกาะเจจูในประเทศเกาหลี โดยคาดว่าการเจรจาจะยืดเยื้อออกไปถึงปีหน้า


 


ด้านประเทศจีน สำนักข่าวซินหัวของทางการจีน รายงานว่า รัฐบาลจีนกำลังคิดหาทางจัดการเจรจาเอฟทีเอกับอินเดีย ก่อนการเยือนอินเดียของประธานาธิบดีหู จิ่นเทา ผู้นำจีน โดยการค้าระหว่างจีนกับอินเดีย


 


นายฟู จื่อยิง ผู้ช่วยรัฐมนตรีการค้าจีน กล่าวว่า หลังเปิดจุดพรมแดนอินเดีย-จีนแล้ว รัฐบาลจีนกำลังพิจารณาที่จะเจรจาเอฟทีเอกับอินเดีย หากทำสำเร็จจะเป็นการรวมกันของประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลก โดยมีประชากรรวมกันถึง 2,400 ล้านคน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net