Skip to main content
sharethis

2 พ.ย. 49 - เมื่อวันที่ 2 พ.ย. สำนักงานสิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนา "สิทธิเสรีภาพภายใต้กฎอัยการศึก"ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา โดยมีภาคประชาชนจากภูมิภาคต่างๆมาเป็นผู้เล่าประสบการณ์ที่จริงเกิดขึ้นหลังการประกาศใช้กฎอัยการศึกในวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา


 


นายสมบัติ บุญงามอนงค์ เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร กล่าวว่า กฎอัยการศึกท้าทายต่อความเป็นธรรมตั้งแต่วินาทีแรกที่เกิดรัฐประหารในวันที่ 19 ก.ย. เราไม่รู้เลยว่าการมีทหารหรือรถถังออกมาวิ่งในเมืองหมายถึงอะไร เราไม่สามารถรับรู้ได้แม้แต่จากทางอินเตอร์เน็ตว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรได้ การไม่ได้รับรู้เป็นความรู้สึกที่ไม่มั่นคงเลย


 


ต่อมา แม้แต่สิทธิเสรีภาพบนเว็บไซต์ www.19sep.org  ก็ไม่มี พอเปิดไม่ทันถึงวันก็ถูกปิด แต่ก็เปิดขึ้นอีกในชื่อใหม่ จนกระทั่งมีคำสั่งจากคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(คปค.)สั่งไปที่เจ้าของเซิร์ฟเวอร์ให้ปิด และโดนปิดไปหมดกว่า 30 เว็บไซต์ในเซิร์ฟเวอร์นั้น เมื่อโทรศัพท์ไปถามกับทางกระทรวงไอซีที เขาบอกว่าว่าไม่ได้ปิดเว็บและให้ไปหาคำตอบเอาเอง  ความจริงก็คือเขาโกหก  จนกระทั่งในการปิดเว็บไซต์รอบที่ 5 มีการแฮ็กไปที่เครื่องโดยตรงและทำลายข้อมูลภายในเครื่อง มีการเปลี่ยนพาสเวิร์ดที่เคยใช้ เขาคงอายที่จะบอกว่าได้ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพคนอื่นเพราะเป็นเผด็จการสีชมพู


 


นอกจากนี้ ยังเคยมีทหาร 2 นาย มาที่ตึกและถามคนเฝ้าตึกเรื่องมูลนิธิที่ทำงานโดยไม่เคยมาติดต่อเองโดยตรง พอถามไปก็บอกไม่เกี่ยวไม่รู้เรื่อง


 


"ที่รู้สึกแย่ที่สุดคือไม่เคยได้ยินเสียงชาวบ้านเลย เรื่องน้ำท่วมที่ควรจะเลยมาถึงกรุงเทพฯ ชาวบ้านเขาคิดกันอย่างไร  ลองดูโทรทัศน์ตอนนี้เราไม่ได้ยินเสียงชาวบ้านมานานเท่าไหร่แล้ว การมีอัยการศึกหรือการทำรัฐประหารทำให้ไลฟ์สไตล์ของคนมีปัญหา แล้วยังทำการน็อคสมอง คิดว่าสำหรับนักเคลื่อนไหวสายก้าวหน้าบางคนพอตื่นขึ้นมาหลักการบางอย่างต้องผ่านการฟื้นฟูอย่างยาวนานหรือถูกตัดสิทธิในการพูดเรื่องที่เกี่ยวข้องเช่นสิทธิมนุษยชนหรือประชาธิปไตย" นายสมบัติกล่าว


 


นายนันทโชติ ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บอกเล่าประสบการณ์ว่าชาวบ้านไม่รู้จักกฎอัยการศึก แต่เมื่อคุยกับชาวบ้านที่ปากมูลเขารู้ว่าเป็นบรรยากาศแห่งความกลัว อึมครึม ทำให้ชาวบ้านไม่กล้าแสดงสิทธิตัวเอง และจะมีคนเอาอำนาจแห่งความไม่รู้นี้ไปรังแกชาวบ้านได้ ซึ่งเป็นเรื่องอันตราย


 


นายนันทโชติได้เล่าถึงประสบการณ์จากกฎอัยการศึกที่เคยเกิดกับชาวบ้านที่ปากมูลว่า ก่อนการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(รสช.) เป็นช่วงที่ชาวบ้านปากมูลที่คัดค้านเขื่อนปากมูลและเป็นผล เพราะการไฟฟ้าฝ่ายภูมิภาคไม่สามารถเข้าพื้นที่โครงการได้ แต่เมื่อมีกฎอัยการศึกโดย รสช. ชาวบ้านก็ไม่กล้าคัดค้าน และเมื่อมีนักศึกษารามคำแหงออกมาร่วมคัดค้านก็มีการจับนักศึกษาโดยไม่แจ้งข้อกล่าวหา เขื่อนปากมูลก็ถูกสร้างจนสำเร็จ วันนี้ชาวบ้านยังพูดกันว่าถ้าตอนนั้นไม่มียึดอำนาจเขื่อนก็ไม่มีมาสร้างปัญหาจนปัจจุบัน


 


หรือในตอนนี้ ชาวบ้านก็ไม่สามารถเคลื่อนไหวอะไรได้แต่ทางราชการเคลื่อนโครงการต่างๆได้ตามปกติ เช่น เรื่องการเปิดปิดประตูเขื่อน มันเป็นการรังแกชาวบ้าน ในพื้นที่เขื่อนราษีไสล นายอำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ บอกว่ามีกฎอัยการศึกช่วงนี้จึงไม่มีการประชุมที่ชาวบ้านร่วมเป็นกรรมการ


 


อีกกรณีที่น่าเป็นห่วงคือ การสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ตอนนี้คนในพื้นที่ไม่สามารถออกมาตอบโต้ได้ ถึงแม้กฎอัยการศึกจะไม่ทำโดยตรงแต่ก็มีส่วนคุกคาม หรือในเรื่องสิทธิในการแสดงความคิดเห็นคนต่างจังหวัดก็มีไม่เท่ากับคนกรุงเทพฯ ในวันประชุมสภานิติบัญญัติครั้งแรกได้ไปไฮปาร์กไปหน้าสภา ร่วมกับเครือข่าย 19 กันยาฯ ตรงๆว่า "กูจะไล่มึง" ทำได้ แต่ถ้าในต่างจังหวัดลำบากมาก แค่ไปฟังนายศิโรฒน์ คล้ามไพบูลย์ ไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ยังถูกระบุชื่อใน 35 คน ว่าเป็นคลื่นใต้น้ำ


 


ปัณณพร ไพบูลย์วัฒนกิจ เครือข่ายวิทยุชุมชนภาคเหนือ เล่าถึงบรรยากาศในเชียงใหม่ว่า สถานการณ์วิทยุชุมชนที่เป็นของชาวบ้านจริงๆเดิมทีก็ย่ำแย่อยู่แล้วในช่วงรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อีกทั้งยังมีกลุ่มธุรกิจกับการเมืองทำวิทยุชุมชนกันมากมายกว่า 100 สถานี แต่สำหรับชาวบ้านมีเพียง 50 สถานี ในเรื่องเนื้อหา เชียงใหม่เป็นพื้นที่เดิมของทักษิณจึงวิพากษ์รัฐบาลไม่ได้เลย ชาวบ้านก็ไม่กล้าพูดเรื่องการเมือง ลิ่วล้อก็จัดตั้งเชียร์ทุกวัน การคัดค้านก็โดนจัดตั้งม็อบโจมตี สิทธิเสรีภาพทางการเมืองโดนคุกคามมาตลอด


 


จากสถานการณ์ที่แย่อยู่แล้วเมื่อเกิดเหตุการณ์ 19 ก.ย. ชาวบ้านจึงให้ความร่วมมือในการปิดวิทยุชุมชนเพราะเบื่อการเมือง เบื่อความขัดแย้ง และมองว่ารัฐประหารจึงเหมือนทางออก แต่กลุ่มนักการเมืองท้องถิ่นและกลุ่มธุรกิจวิทยุชุมชนท้องถิ่นก็รวมเป็นสมาพันธ์ ร่างสัตยาบัน 24 ข้อ เพื่อเอาใจทหารและขอเปิดต่อไปเนื่องจากเกรงว่าบริษัทโฆษณาจะถอนสปอนเซอร์


 


"ชาวบ้านไม่ใช่ไม่รักสิทธิเสรีภาพแต่เป็นพื้นที่ที่แรง ถูกคุกคามมาตลอด ไม่ได้โดนเซ็นเซอร์จากภาครัฐอย่างเดียว มันโดนเซ็นเซอร์โดยคนในชุมชนด้วยซึ่งร้ายกว่ารัฐบาลเสียอีก วิทยุชุมชนมันเกิดจากชาวบ้าน การตรวจสอบจึงใกล้ชิดถึงขั้นบุกมาถึงสถานีและออกอากาศได้เลย"


 


ปัณณพร เล่าถึงข้อเสียของการปิดวิทยุชุมชนหลังการรัฐประหารว่า ทำให้การช่วยเหลือเหตุการณ์ฉุกเฉินเฉพาะหน้าของชาวบ้านลำบากขึ้น เช่น กรณีน้ำท่วมที่อำเภอฮอด ก็ไม่สามารถไม่นำเสนอข่าวสารและให้ความช่วยเหลือได้ ทั้งที่มีชนเผ่ากะเหรี่ยงติดอยู่ในพื้นที่หลายคนและมีวิทยุชุมชนอยู่แล้วแต่ถูกปิดในช่วงนั้น


 


นอกจากนี้ เมื่ออนุญาตให้เปิดวิทยุชุมชนอีกครั้ง ก็มีการห้ามพูดภาษาชนเผ่าในวิทยุชุมชน แต่บางแห่งทำไม่ได้ เช่น วิทยุชุมชนเหนือเขื่อนเพราะเป็นวิทยุชุมชนของกะเหรี่ยงที่ตั้งขึ้นเพื่ออุดมการณ์การสืบสานวัฒนธรรม ภาษา และดนตรี ทั้งนี้มีการให้เหตุผลในการห้ามใช้ภาษาเผ่าว่าก่อให้เกิดความไม่มั่นคงในประเทศ อีกทั้ง การยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ทำให้มาตรา 39 ,40, 41 ที่รองรับการตั้งวิทยุชุมชนถูกยกเลิกไปด้วย ชาวบ้านก็เริ่มกลัวว่าจะเป็นสถานีวิทยุเถื่อนเพราะไม่มีกฎหมายรองรับ ทั้งที่ชาวบ้านตั้งวิทยุบนอุดมการณ์ อยู่ด้วยตัวเอง ไม่มีโฆษณา บนความไม่แน่นอนนี้ชาวบ้านจะบอกกับสังคมอย่างไรว่าเขาไม่มีความแน่นอน


 


นอกจากนี้ยังมีสถานการณ์ที่กลุ่มวิทยุชุมชนธุรกิจและการเมืองพยายามจัดตั้งเป็นเครือข่ายเพื่อสถาปนาตัวเองให้มีอำนาจ โดยประสานวิทยุชุมชนไปหาผู้มีอำนาจ ชาวบ้านก็กลัวว่าจะตกเป็นเครื่องมือโดยเฉพาะในสถานการณ์แบบนี้


 


นางปริญญา บุญฤทธิฤทัยกุล องค์การแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย กล่าวว่า จากการทำงานในพื้นที่จังหวัดระนอง กฎอัยการศึกได้สร้างปัญหาแก่กลุ่มคนไทยพลัดถิ่นและมอแกนมากเพราะยังไม่ได้รับสัญชาติทั้งหมด แต่ก่อนหน้านี้ทางราชการก็ร่วมมือด้วยการให้บัตรสุขภาพและทางโรงพยาบาลก็รับรู้ ทำให้การเดินทางและไม่มีปัญหา แม้แต่มีการพาชาวบ้านมอแกนไปเรียนรู้วัฒนธรรมกะเหรี่ยงที่เชียงใหม่ก็ไม่มีปัญหา เพราะทางราชการรับรู้


 


แต่หลังจากมีกฎอัยการศึกทำให้ชาวบ้านเริ่มกลัว เคยพาชาวบ้านจะมาร่วมกิจกรรมที่กรุงเทพฯก็ถูกจับ เจ้าหน้าที่องค์กรก็ถูกลงบันทึกประจำวันว่ากำลังนำคนลักลอบเข้าเมือง ส่วนคนขับรถตู้ก็โดนข้อหาสมรู้ร่วมคิด ด้านนายอำเภอที่เคยรับรู้ตลอดก่อนหน้านี้ก็มีคำขอร้องมาว่าอย่าไปไหนเลย


 


"เรื่องกฎอัยการศึกชาวบ้านไม่ได้รับรู้ว่าคืออะไร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือทำให้ไม่กล้าไปไหน เพราะถูกยัดเยียดให้เป็นพม่า ก็ต้องมีการฟื้นฟูจิตใจทำความเข้าใจกับชาวบ้านใหม่ ว่ามันมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น"


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net