Skip to main content
sharethis

3 พ.ย. 2549 น.พ.มงคล ณ สงขลา สั่งสธ.-สปสช.รวบรวมข้อมูลงบ30 บาทเตรียมนำเข้าหารือคลังอีกครั้ง เกรงหั่นงบประมาณ ด้านนักวิชาการทีดีอาร์ไอระบุ ยกเลิกเก็บ 30 บาท เป็น "ซูเปอร์ประชานิยม"ขณะที่โรงพยาบาลสังกัด สธ.บางแห่งเลิกเก็บ 30 บาทแล้ว


 


นายแพทย์มงคลณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการยกเลิกการจ่าย 30 บาทในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งตนจะลงนามอย่างเป็นทางการ เพื่อนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาอีกครั้ง แต่ในทางปฏิบัติมีผลบังคับใช้แล้ว อย่างไรก็ตาม ทาง น.พ.ปราชญ์บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข จะทำหนังสือแจ้งไปยังหน่วยบริการอีกครั้ง


 


น.พ.มงคลกล่าวว่า ส่วนการหารือเรื่องงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว กับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรเทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นการหารือเพื่อเสนอของบประมาณเหมาจ่ายรายหัว 2,089 บาทต่อคนต่อปีในปี 2550 ตามที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เสนอโดยเป็นตัวเลขที่รองรับอัตราเงินเฟ้อและการปรับเงินเดือนเจ้าหน้าที่ และยังเป็นตัวเลขที่คำนวณเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม ตัวเลขที่เสนอไปนั้นยังไม่สรุปและปรับเปลี่ยนได้ หากมีข้อมูลอื่นเพิ่มเติม


 


ผู้สื่อข่าวถามว่าภายหลังจากการหารือเมื่อวานนี้ ทางกระทรวงการคลัง ออกมาระบุว่า ไม่มีงบประมาณให้ตามที่เสนอขอเพิ่มอัตราเหมาจ่ายรายหัวที่ 2,089 บาทน.พ.มงคลกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ทราบ เราเพียงแต่มีหน้าที่นำเสนอข้อมูลตัวเลข และงบประมาณจำเป็นที่ควรได้รับ


 


"หากงบประมาณรายหัวไม่ได้ตามที่ขอ2,089 บาทคงต้องพิจารณาหาเงินจากแหล่งอื่นเพิ่ม เช่น การคิดอัตราเงินเดือน เนื่องจากงบประมาณที่ได้รับในปัจจุบันได้รวมเงินเดือนเจ้าหน้าที่เข้าไปด้วย เป็นสัดส่วนสูงถึง 79% ดังนั้นจึงเหลือค่ารักษาพยาบาลจริงๆเพียง 400- 500 บาทแต่หากปรับให้สัดส่วนเงินเดือนเหลือเพียง 60% ก็คงจะช่วยได้และที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ทำเรื่องการรักษาผู้ป่วยบัตรทองเพียงอย่างเดียว แต่ให้การรักษาผู้ป่วยประกันสังคม ข้าราชการ และผู้ที่มีกรมธรรม์ประกันสุขภาพของเอกชนด้วย" รมว.สธ. กล่าว


 


น.พ.มงคลกล่าวว่า ในการหารือทางกระทรวงการคลังให้ สปสช. และสธ. ไปหาข้อมูลมาสนับสนุนเพิ่มเติมว่าตัวเลขดังกล่าวมีพื้นฐานมาจากไหน ซึ่งทาง สปสช. มีตัวเลขรายงานสถานการณ์งบประมาณ การขาดทุนของโรงพยาบาลชุมชนกว่า 1,800 ล้านบาทพร้อมแล้ว และอยู่ระหว่างจัดทำเป็นรายงาน ซึ่งตนได้เตรียมพร้อมข้อมูลให้แน่น และหาข้อมูลจาก หลายๆ แหล่งมาสนับสนุน และยังคงต้องหารือกับกระทรวงการคลัง อีก 2- 3 ครั้ง


 


ดร.วิโรจน์ณ ระนอง นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่าหากไม่ได้งบประมาณตามที่เสนอ คือ 2,089 บาทนั้นต้องดูว่างบประมาณถูกปรับอยู่ที่เท่าไร หากตัวเลขใกล้เคียงกับอัตราเดิม คือ 1,659 บาทเชื่อว่าจะก่อให้เกิดวิกฤติศรัทธาขึ้นกับโครงการแน่นอน ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นต่อการบริการรักษา แต่หากได้งบที่ตัวเลขใกล้เคียงกับ 2,000 บาทก็ยังสามารถดำเนินโครงการต่อไปได้ 


 


ดร.วิโรจน์กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนการเก็บ 30 บาทในโครงการหลักประกันสุขภาพเป็น0 บาทนั้น เห็นว่าเป็นซูเปอร์ประชานิยม ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการตอบคำถามว่า หากไม่เก็บเงิน แล้วจะมีผู้ใช้บริการเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ ไม่มีใครรู้ สำหรับที่มีการเสนอแนวคิด การร่วมจ่ายนั้น ยอมรับว่าจะทำให้คนจนได้ประโยชน์ ซึ่งตนก็ไม่คัดค้าน


นายแพทย์อนุศักดิ์ตั้งไพบูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา กล่าวว่า ทางโรงพยาบาลได้เลิกเก็บเงิน 30 บาทจากผู้ป่วยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2549 โดยไม่รอหนังสือแจ้งจากกระทรวงสาธารณสุขซึ่งจากการสังเกตพบว่าผู้ป่วยก็ยังคงมาโรงพยาบาล ในอัตราปกติ คือ ประมาณ 2,000-3,000 คนต่อวันไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด


 


ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net