Skip to main content
sharethis

 

"ประชาไท" คุยกับที่ปรึกษาสหภาพแรงงานแห่งแรกของภาคเหนือว่าทุกวันนี้สหภาพแรงงานที่นั่นยังอยู่ดีหรือไม่ อย่างไร รวมถึงชวนคุยประเด็นฮอตเกี่ยวข้องกับปากท้องของแรงงาน เช่น ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มวันละ 3-7 บาท หรือจะเอาทีเดียววันละ 233 บาท

 

ตามที่เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา คนงานย่านนิคมอุตสาหกรรม จ.ลำพูน ได้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ จ.ลำพูน ขึ้นเป็นผลสำเร็จ นับเป็นสหภาพแรงงานแห่งแรกของภาคเหนือ และประสบกับความพยายามแยกสลายสหภาพแรงงานโดยฝ่ายนายจ้าง มีการเลิกจ้างกรรมการและสมาชิกสหภาพแรงงาน ตามที่ประชาไทได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

 

ล่าสุด เมื่อวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา ประชาไทมีโอกาสคุยกับ "สุชาติ ตระกูลหูทิพย์" ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ ย่านนิคมอุตสาหกรรม จ.ลำพูน ถึงสถานการณ์ของสหภาพแรงงานดังกล่าว พร้อมเปิดประเด็นว่ามีความพยายามสลายสหภาพแรงงานอย่างไร รวมทั้งทัศนะของที่ปรึกษาสหภาพแรงงานฯ ต่อประเด็นร้อนแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเรียกร้องเงินชดเชย 6 เดือนของสหภาพแรงงานจิน่าสัมพันธ์ และค่าแรงขั้นต่ำ 233 บาท ซึ่งพี่สุชาติเห็นว่า "อาจเป็นไปได้ยาก แต่ขึ้นอยู่กับคนงาน 10 ล้านคนว่าจะน้ำหนึ่งใจเดียวกันขนาดไหน"

 

อยากทราบถึงสถานการณ์ในปัจจุบันว่ายังมีความพยายามแยกสลายสหภาพแรงงานหรือไม่

สุชาติ ตระกูลหูทิพย์ - สถานการณ์ในช่วงปัจจุบันถ้าพูดถึงว่าถูกฝ่ายบริษัทกดดันบ้างไหม ถ้ามองภาพรวมถือว่าค่อนข้างจะเบาลงมาก

 

แต่ก่อนจะมีหัวหน้างานลงมาพูดทำลายความน่าเชื่อถือของสหภาพแรงงาน เช่น ปกติสหภาพแรงงานมีการเก็บค่าบำรุงสมาชิกสหภาพเดือนละ 30 บาท ก็มีการกล่าวหาว่ากรรมการสหภาพแรงงานเอาเงินไปใช้ส่วนตัว มาปล่อยข่าวมาพูดให้สมาชิกฟังว่ากรรมการสหภาพแรงงานเอาเงินไปซื้อทอง ไปเที่ยว ไปกินเหล้ากันบ้าง มีหัวหน้างานบางคนที่แสดงท่าทีเป็นฝ่ายบริษัทชัดเจน ไปคุยกับคนงานว่าไปเป็นสมาชิกสหภาพทำไม พวกนี้โง่เอาเงินไปให้เขากินฟรีๆ ซึ่งมีกรรมการสหภาพบางคนได้ยินกับหูตนเองว่ามีการพูดแบบนี้

 

มีการคุยระหว่างสหภาพแรงงานกับทางบริษัทว่าขอให้ดำเนินการเอาหัวหน้างานที่ทำแบบนี้ย้ายออกไป อย่าให้อยู่ในสายการผลิต อยู่แล้วจะเป็นปัญหา เพราะมาพูดให้ร้ายสหภาพแรงงาน

 

เมื่อเกิดปัญหานี้ขึ้น สหภาพแรงงานแก้ไขปัญหาอย่างไร

ก็พยายามลงไปคุยกับหัวหน้างานคนอื่นๆ ว่าทำแบบนี้จะเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์เรื่องทำลายสหภาพแรงงานที่ห้ามมิให้ใครมาบังคับหรือชักจูงคนไม่ให้เป็นสมาชิกสหภาพ หรือให้ออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพ

 

ทุกวันนี้ ก็มีการปรับปรุงในส่วนของหัวหน้างาน ไม่ได้บอกว่าไม่มีเลยนะเพียงแต่อาจจะพยายามปิดมิดชิดมากขึ้น เราไม่ค่อยรู้ข่าวว่ามีหัวหน้างานมาพูดแบบนี้อีก แต่ก็มีแบบกระเซ็นกระสายมาเรื่อยๆ ว่า เออ นี่ พวกนี้เอาเงินมาใช้ผิดประเภท เอาเงินไปใช้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสหภาพ ก็ยังมีออกมาอยู่บ้าง รวมทั้งมาพูดว่าคนงานว่า "เป็นไง ต้องจ่ายให้เขาทุกเดือนๆ ละ 30 บาท"

 

ตรงส่วนอื่นของสหภาพของบริษัทก็อาจดูไม่รุนแรงมากขึ้น แต่ส่วนที่เห็นชัดในสถานการณ์ปัจจุบันของบริษัทคือจะทำอะไรระวังมากขึ้น บางเรื่องก็ต้องถามสหภาพก่อน บางเรื่องก็ถามคนงาน ทั้งที่แต่ก่อนไม่เคยถามคนงาน ตอนนี้ต้องหันมาถาม อย่างล่าสุดเป็นวันหยุดของบริษัท คือเป็นวันสำคัญทางศาสนาของเจ้าของบริษัทชาวอิสราเอล เขาจะปิดงาน 1 วัน โดยมีข้อเสนอให้คนงานเลือก 3 ข้อคือ หนึ่ง ปิดงานโดยไม่จ่ายค่าจ้าง สอง ให้ย้ายวันแทน คือมาทำงานในวันอื่นแทนวันที่ปิดงาน สาม ปิดงานแต่จ่ายค่าแรง แต่ว่าไม่ให้ทำโอทีสองอาทิตย์

 

ทั้งสามข้อพูดกันตรงๆ ไม่ถูกเลย ผิดหมดเลย ทำไม่ได้ เขาเสนอให้คนงานลงมติ คนงานไม่เข้าใจ อาจจะกลัวด้วย บางส่วนก็เลยโหวต แต่กรรมการสหภาพฯ ก็ลงไปให้การศึกษา ให้ความรู้ว่าไม่จำเป็น เป็นเรื่องของบริษัทจะหยุด แล้ววันหยุดนี้ก็ไม่ได้อยู่ในวันหยุด 13 วันต่อปีตามกฎหมาย

 

ซึ่งถึงที่สุด บริษัทก็ต้องยอมปิดงานโดยจ่ายค่าจ้าง โดยไม่ได้ดำเนินการอะไร

 

คือแต่ก่อนบริษัทเคยชินจะทำอะไรกับคนงานก็ได้ จะสั่งยังไงก็ได้คนงานก็ต้องยอม เดี๋ยวนี้จะทำอะไรต้องฟังมากขึ้น

 

ความคืบหน้าในส่วนของกรรมการสหภาพแรงงานที่ถูกฝ่ายบริษัทเลิกจ้าง

อีกส่วนคือ แกนนำก็อยู่ในระหว่างขั้นตอนของการต่อสู้ คนหนึ่งที่เคยเป็นกรรมการสหภาพ นายจ้างยื่นคำร้องต่อศาลขอเลิกจ้าง ตอนนี้ก็รับกลับเข้ามาทำงานเหมือนเดิมแล้วในตำแหน่งคนทำงานเอกสารก็รับกลับเข้ามา เพราะว่าไม่มีเหตุผลในการเลิกจ้าง

 

และกรรมการสหภาพแรงงานฯ 2 คน คนที่ถูกบังคับให้เซ็นใบลาออกและก็อีกคนหนึ่งที่เป็นกรรมการก็ถูกเลิกจ้างโดยตรงพร้อมกับสมาชิกอีก 3 คน ตอนนี้ก็อยู่ในขั้นตอนการวินิจฉัยของ คตส. คาดว่าภายใน 1 เดือนข้างหน้าคงจะมีคำสั่งออกมา

 

สรุปก็คือสหภาพแรงงานยังอยู่

โดยตัวกรรมการสหภาพถือว่าแข็ง พยายามที่จะศึกษาหาความรู้ สมาชิกก็เกาะกลุ่มกันเหนียวแน่น แต่ก็มีจุดอ่อนบ้างในสหภาพที่เพิ่งเริ่มต้นคืออาจไม่ชัดเจนเรื่องหลักการต่อสู้ ก็ต้องศึกษาเรียนรู้ต่อไป หรือความไม่พร้อมในเรื่องของการจดบันทึก ตรงนี้เป็นจุดสำคัญในการเจรจากับนายจ้าง ถ้าเราอ่อนในการจดบันทึก บันทึกไม่ตรงใจความสำคัญจะเสียเปรียบได้

 

มีความเห็นอย่างไรกรณีสหภาพแรงงานจิน่าสัมพันธ์ ประท้วงให้บริษัทจ่ายค่าชดเชย หลังบริษัทปิดโรงงานกะทันหัน ตั้งแต่สมัยปลายรัฐบาลทักษิณ กระทั่งสมัย คมช. และรัฐบาลสุรยุทธ์กว่า 5-6 ครั้ง

การต่อสู้ของสหภาพแรงงานจิน่าฯ ทำให้เห็นชัดถึงอนาคตของแรงงานเหมือนกันนะ ถ้าสหภาพฯ จิน่าไม่สู้ สหภาพฯ จิน่ายอมง่ายๆ อนาคตการต่อสู้ของแรงงานก็ยาก ขนาดที่ว่าจิน่าเป็นสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งนะ ถึงวันหนึ่งบริษัทก็เลือกที่จะปิดโรงงาน ไม่ใช่เพราะขาดทุน ไม่แน่ใจว่าปิดเพราะจะย้ายหรือเปล่า เพราะเขามีบริษัทที่เขมรและจีน อาจไม่ปิดเพื่อเปิดการผลิตที่อื่น

 

ถ้าประเมินก็คือ สหภาพมันเข้มแข็งดีนักก็ปิดซะ เพราะตัวเองไม่ขาดทุนอยู่แล้วถ้าย้ายไปทำที่อื่น ทำไมต้องมาจ่ายเพิ่มที่จิน่า เขาอาจมองแบบนี้ เขาอาจปิดสักพักและเปิดใหม่อีกทีก็ไม่รู้

 

แต่เท่าที่รู้ ที่ปรึกษาจิน่ากับจิน่าเองเขามีแนวทางเรียกร้องเพื่ออนาคตของคนงานในอนาคตที่น่าสนใจคือเรียกร้องให้มีการตั้งกองทุนเหมือนกับเป็นกองทุนชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการปิดบริษัท

 

และตอนนี้สหภาพฯ จิน่าเรียกร้องค่าเสียหายจากการที่บริษัทปิดโรงงาน เป็นค่าเป็นเงินค่าแรง 6 เดือน และเงินชดเชยที่จะได้ตามกฎหมาย รวมทั้งสิทธิประโยชน์ที่ควรได้รับเช่น โบนัสเงิน โบนัสทอง แต่บริษัทจ่ายเงินเพียง 1 เดือน อีกตัวหนึ่งที่ปรึกษาเสนอคือกฎหมายกับแนวทางปฏิบัติของกระทรวงแรงงานให้มันไปด้วยกัน

 

สะท้อนให้เห็นว่า สหภาพแรงงานที่เกี่ยวกับสิ่งทอโดนหนักทุกที่เลยนะ รอเวลาเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นย่านอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ พระประแดงก็โรงงานไทยเกรียงก็โดนไปแล้ว แม้สหพันธ์สิ่งทอยังมีอยู่ แต่สหภาพที่เกี่ยวกับเรื่องสิ่งทอ เสื้อผ้า ก็มีแนวโน้มจะสลายลงไปทีละสหภาพแรงงาน เพราะบริษัทใช้วิธีปิดโรงงานแล้วย้ายฐานการผลิต ก็น่าเป็นห่วง

 

การพูดเรื่องสหภาพแรงงาน ยังมีอนาคต?

แนวโน้มในอนาคตเรื่องสหภาพแรงงาน คนงานจะสนใจมากขึ้นก็อาจมีสหภาพเกิดขึ้นอีกในอนาคต เพราะคนงานเห็นข้อดีของการมีองค์กรเป็นของตนเองมีประโยชน์อย่างไร

 

เรามองว่า เราคงไม่ได้ต่อสู้กับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง อย่างสหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ก็สู้กับทั้งหมดของอุตสาหกรรม เพราะระบบอุตสาหกรรมเขาไม่อยากให้มีสหภาพแรงงานอยู่แล้ว เราจะรู้ได้อย่างไรว่าทั้งบริษัทและส่วนที่เกี่ยวข้องกับบริษัทเขาจะไม่ร่วมมือกัน หลังจากที่มีการตั้งสหภาพได้ ก็มีการฝึกอบรมให้กับฝ่ายบุคคลบริษัทต่างๆ เรื่องแรงงานสัมพันธ์โดยมีวิทยากรจากกระทรวงแรงงาน ซึ่งแต่ก่อนไม่เคยมี แต่พอเกิดสหภาพก็เริ่มมีกระบวนการจัดพูดคุย ชี้ให้เห็นสถานการณ์ของนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน

 

เราไม่แน่ใจว่าเขาแน่นขนาดไหน แต่ที่แน่ๆ คนงานก็ยังโดดเดี่ยวเหมือนเดิม

 

ความเห็นกรณีที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยมีข้อเสนอค่าแรงขั้นต่ำวันละ 233 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ขณะที่ตอนนี้ค่าแรงขั้นต่ำขึ้นเพียง 3-7 บาท ตามแต่อัตราของละจังหวัด

เรื่องค่าแรง โอกาสที่ค่าแรงจะขึ้นพรวดเดียว 233 บาท คงจะเป็นไปได้ยาก

 

แต่ข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยพอเข้าใจได้ เพราะเขาคิดตามมาตรฐานขั้นต่ำที่จะทำให้แรงงานอยู่ได้โดยไม่ต้องทำโอที เป็นข้อเสนอตามที่มีข้อมูล แต่ในความเป็นจริงผมเชื่อว่าเป็นไปได้ยากในการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในฐานเดียวกัน เป็นไปไม่ได้ในสายตาของกระทรวงแรงงานและนักเศรษฐศาสตร์สายกระทรวงแรงงานด้วย

 

นายทุนเขาไม่ยอมอยู่แล้วในการปรับค่าแรงขนาดนั้นและขึ้นเท่ากันทั้งประเทศ

 

คิดว่าถึงที่สุดแล้ว วันละ 233 บาท ไม่มีทางเป็นไปได้หรือ

ผมว่า ถ้าถามว่ามีแนวโน้มขึ้นได้ไหม ผมว่า "ขึ้นได้" สำคัญอยู่ที่คนงาน 10 กว่าล้านคนรวมมือกันได้หรือเปล่า ไม่ใช่แตกแยกกัน 10 กว่าสภาแรงงานแบบนี้ แล้วกลุ่มที่สู้ก็มีอยู่ไม่เท่าไหร่ ในขณะที่แรงงานกลุ่มอื่นๆ ไม่ออก ไม่แสดงความคิดเห็น มันก็เป็นไปได้ยากในทุกเรื่องที่มันมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับแรงงาน แต่ว่าแรงงานไม่เคยออกมาเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการเรียกร้อง

 

อย่างสถาบันคุ้มครองสุขภาพของแรงงาน ล่ารายชื่อแล้ว ล่ารายชื่อกันอีกก็ไม่ครบ 50,000 คนสักที เพราะคนงานเองก็ไม่เอา ผมไม่เข้าใจว่าทำไมเขาไม่เอา มันก็เลยเป็นช่องว่าง เป็นโอกาสให้กระทรวงแรงงานลากจูงและเอาใครไม่รู้มาผสม ทำให้สาระสำคัญที่มีประโยชน์ต่อคนงานถูกตัดทอนหายไป

 

เรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 233 บาท ถ้าแรงงาน 10 กว่าล้านคนออกมาเรียกร้อง ยังไม่นับแรงงานนอกระบบนะ ก็ไม่ต่างจากที่สมาชิกพรรคไทยรักไทยที่บอกว่ามี 10 ล้านคนหรอก แต่แรงงานมีตัวตนมากกว่าสมาชิกพรรคไทยรักไทยเสียอีก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net