Skip to main content
sharethis

 

อธิการบดี มธ. สุรพลนิติไกรพจน์ ตอบคำถามกรณี ศิษย์ มธ. ล่ารายชื่อเพื่อให้เลือกระหว่างการดำรงตำแหน่งอธิการฯ กับ สนช. ระบุรอให้ฝ่ายคัดค้านมาพบปะพูดคุย พร้อมยันเชื่อมั่นในมโนธรรมสำนึกของตนเอง และยอมเปลืองตัวทำหน้าที่ สนช. ยึดภาษิตโกวเล้ง "ถ้าหากเรา ไม่ลงนรก แล้วผู้ใดจะลงนรก" 

 

คำสัมภาษณ์ดัง กล่าวปรากฏในเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ http://www.tu.ac.th/news/2006/11/01-rect.htm#rector

000

อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับการเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ บทสัมภาษณ์ : ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์

อาจารย์ มีความเห็นอย่างไรที่มีข้อเรียกร้องให้ลาออกจากการเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ แห่งชาติโดยศิษย์เก่าและนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวนหนึ่งผ่านทาง Website แห่งหนึ่ง

ผมได้ดูข้อเรียก ร้องและรายชื่อตลอดจนความเห็นต่าง ๆ ของผู้ลงชื่อแล้ว แต่ก็ยังรออยู่ว่าเมื่อไหร่จะมาพบหรือยื่นหนังสือ จะได้ถือโอกาสพูดคุยทำความเข้าใจกันว่าเหตุผลของแต่ละฝ่ายเป็นอย่างไรใน เรื่องนี้ แต่ก็ยังไม่เห็นนัดมาพบ ก็ยังคงทราบจาก Website เท่า นั้น แต่ก็ถือกันว่า เป็นเรื่องปกติธรรมดาในประชาคมธรรมศาสตร์ที่ต้องมีความเห็นในเรื่องการเมือง การปกครอง และมีแนวคิดที่แตกต่างกันไปในลักษณะอย่างนี้ ถ้าไม่มีปฏิกิริยาอะไรหรือทุกคนเห็นด้วยเหมือนกันไปหมด นั่นแหละจะเป็นเรื่องที่แปลกของธรรมศาสตร์

รู้สึก ประหลาดใจไหมที่มีอธิการบดีมหาวิทยาลัยของรัฐ ๑๔ คน ได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่มีคนเรียกร้องให้อธิการบดีธรรมศาสตร์คนเดียวลาออก

ผมก็ไม่ประหลาดใจ อะไรนะ เพราะเข้าใจอยู่แล้วว่าธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยทางการเมืองการปกครอง และเริ่มต้นมาอย่างนั้น ประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ผูกพันอยู่กับการต่อสู้เพื่อ ประชาธิปไตยและการเรียกร้องความเป็นธรรมในสังคมมาตลอด เพราะฉะนั้นตำแหน่งอธิการบดีธรรมศาสตร์จึงมีที่อยู่เฉพาะของมันในบริบททาง การเมืองของสังคมไทย พูดอย่างนี้ไม่ ได้หมายความว่า ดีเลิศหรือวิเศษกว่าอธิการบดีที่อื่น ๆ แต่ผมคิดว่าอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีพันธะและหน้าที่ต่อประชาคมธรรม ศาสตร์ และ ต่อการเมืองไทยที่หนักกว่าที่อื่น ๆ และจะต้องตอบคำถามและถูกมองในเรื่องระบอบประชาธิปไตย และจุดยืนทางการเมือง มากกว่าที่อื่น

คุณต้องไม่ลืมนะ ว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้เมื่อเริ่มสถาปนาขึ้นเมื่อ ๗๒ ปี ที่แล้ว มีชื่อดั้งเดิมเรียกว่ามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ และการเมือง และความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกือบทุกครั้งในประเทศนี้มีมหาวิทยาลัยธรรม ศาสตร์ หรือคนของมหาวิทยาลัยนี้ ไปเกี่ยวข้องโดยตลอด นี่ก็คงอธิบายตำแหน่งแห่งที่และ "ภาระต่อสังคม" ของอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อยู่บ้างตามสมควรว่ามันไม่เหมือนกับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ การถูกเรียกร้อง หรือถูกตรวจสอบในเรื่องจุดยืนทางการเมืองของคนที่อยู่ตรงนี้ ก็คงต้องถือว่า เป็นเหตุการณ์ปกติ

ถ้า อย่างนั้น อาจารย์จะปฏิบัติตัวอย่างไรต่อข้อเสนอและการเรียกร้อง

ผมเห็นว่าข้อเรียกร้องในจดหมายเปิดผนึกที่ผมได้อ่านจาก Website ฉบับนี้ก็มีเหตุมีผล และสามารถอธิบายข้อเสนอที่เรียกร้อง ให้ทำได้ แต่ก็ต้องเรียนด้วยว่าข้อเสนอ ความคิดและแนวทางต่อเรื่องนี้ของผมเองก็มีอยู่ และก็เชื่อว่ามัน ก็มีเหตุผลที่ควรรับฟังเช่นกัน นอกจากนั้น ก็มีข้อเสนอและความคิดของคนอื่น ๆ ที่แจ้งมาให้ผมทราบทั้งทางจดหมาย โทรศัพท์ และที่มาขอพบเป็นการส่วนตัว ซึ่งมีจุดยืนที่ตรงกันข้ามกับจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ก็มีอยู่มาก ผมฟัง ๆ เขาดูก็เห็นว่ามีเหตุมีผลรับฟังได้เช่นเดียวกัน เพียงแต่ไม่ได้มีคน เอาไป Post ใน Website หรือไม่ได้มีการเรียกร้องให้มาลงชื่อด้วยเท่านั้น เพราะงั้นผมคิด ว่าเรื่องสำคัญที่ควรให้ความสนใจก็คือ เหตุผลและคำอธิบายสำหรับจุดยืนของแต่ละคน นี่เป็นสาเหตุที่ผมบอกกับนักข่าวที่มาถามผมว่า ผมยังไม่มีความเห็นอะไรในเรื่องนี้ แต่จะรอให้มีคนมายื่นจดหมายแล้วเราได้นั่งคุยกัน และแลกเปลี่ยนความเห็นและเหตุผล ผมคิดว่าผมควรจะฟังเขาให้มากกว่าที่เขาเขียนมาในจดหมายสั้น ๆ นั้น และในทางกลับกันเขาก็ควรจะได้มีโอกาสฟังเหตุผลและจุดยืนของผมด้วย ว่าฟังได้หรือไม่ได้ เพราะอะไร ผมไม่คิดว่าการPost ความเห็นใน Website ข้างเดียวตาม ที่บางคนอยากจะพูด แล้วไม่ฟังใครอื่นเลยแม้แต่กระทั่ง คนที่เราไม่เห็นด้วยนั้นมันจะนำไปสู่การพัฒนาจิตวิญญาณแบบประชาธิปไตยหรือ แม้แต่ทำให้เกิดความงอกงามทางปัญญาอะไรขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้น นี่จึงเป็นเหตุผลที่ผมรอให้ผู้ที่เรียกร้องมายื่นจดหมาย แล้วจะได้พบตัวและคุยกันเพื่อแลกเปลี่ยน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องปิดห้อง คุยกันสองคนนะ จะมีนักข่าว จะมีใครมาฟังก็ยินดี เพราะผมก็เข้าใจว่านี่เป็นประเด็นสาธารณะ ตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ที่เขาเรียกร้องให้ลาออกจากการเป็น สมาชิกสภานิติบัญญัติ ก็เป็นตำแหน่งสาธารณะ เพราะเรื่องอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวระหว่างอธิการบดีกับนักศึกษาคนนั้น หรือคนนี้เป็นการเฉพาะอยู่แล้ว

จำนวน คนที่ลงชื่อและที่จะมายื่นจดหมายมีผลหรือมีความสำคัญไหม

ไม่ ผมคิดว่าจะลงชื่อมาสามคนหรือสามร้อยคน หรือสามพันคนก็มีน้ำหนักเท่ากันสำหรับผม ความสำคัญขึ้นอยู่กับคำอธิบายกับเหตุและผลของเรื่อง ที่จริงก็ไม่ต้องรอจนกระทั่งมีคนมาลงชื่อมากๆ หรอก มาพบผมตอนนี้ก็ได้จะได้คุยกัน จะได้หารือ ถกเถียง เรื่องเหตุและผล และเรื่องความเหมาะสมของการดำรงตำแหน่งทางการเมืองแบบนี้ของคนเป็นอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กันเสียให้ชัดเจน แต่นี่ผมห่วงก็มีแต่เพียงว่าถ้าเกิดมาหลายร้อยหรือมาเป็นพัน ผมจะไม่มีที่ให้นั่งและไม่รู้ว่าจะอธิบายและแลกเปลี่ยนกับ คนไหนดี เท่านั้นล่ะ แต่ผมเรียนว่าผม อยากให้หลายคนที่ลงชื่อจริงและให้เหตุผลที่ดีน่าฟัง เช่น อาจารย์จอน หรือ อาจารย์ธงชัย หรือคุณวัฒนชัย มาด้วยน่ะ เพราะผมเคารพในความคิดเห็นของคนเหล่านี้ ที่ Post ไว้ และคิดว่ามีเหตุมีผลอยู่ ก็เลยอยากจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันในเรื่องเหล่านี้ให้มากขึ้นด้วย ว่าทำอย่างไรจึงจะดีที่สุดในสถานการณ์อย่างนี้

ใน เชิงเนื้อหาของการเรียกร้อง อาจารย์มีข้อชี้แจงอะไรที่คิดว่าควรจะอธิบายหรือตอบสำหรับผู้เรียกร้องในตอน นี้บ้างไหม

ถ้าให้ตอบตอนนี้ ก็เป็นการตอบผ่านสื่อหรือตอบผ่าน Website อยู่ดี มันไม่ได้มีโอกาส ซักไซ้ไล่เรียงหรือแย้งหรือค้านกันได้ แต่ผมคิดว่าหลักใหญ่ๆ ที่ผมจะอธิบายจุดยืนของผมในเรื่องนี้คงจะมีสัก ๓-๔ ประเด็นนี้คือ ข้อแรก ผมไม่เห็นด้วยและคัดค้านการใช้กำลังทำรัฐประหาร ล้มล้างรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตย ที่เป็นจุดยืนที่ชัดเจน ของผมมาโดยตลอด เชื่อหรือไม่เชื่อก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ผมคิดว่า ตลอดชีวิตทางวิชาการ ๒๕ ปีของผม ผมได้พูด ได้เขียน และได้เสนอ ความเห็นและจุดยืนของผมในแนวทางนี้มาตลอด ผมไม่คิดว่าคนจะเปลี่ยนกันได้ชั่วข้ามคืน ถ้ากลับไปเปิดดูสิ่งที่ผมคิดเขียนและ ให้สัมภาษณ์ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ที่มีอยู่ในที่ต่าง ๆ ไม่น้อยก็จะพบหลักฐานอย่างนี้ปรากฏอยู่ และถ้าเลือกได้ในวันนี้ ผมก็เลือกที่จะให้ไม่มีเหตุการณ์วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ และให้กลไกของระบบซึ่งอาจพิกลพิการไปบ้างค่อยๆ ปรับแก้ เยียวยาด้วยตัวมันเอง

แต่คำถาม ที่ต้องถามต่อไปก็คือ วันนี้ วันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๙ และเรากลับไปเปลี่ยนสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในอดีตได้หรือไม่ และจะทำให้ คปค. หรือคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หายไป รัฐบาลและสภารักษาการที่มีอยู่เมื่อ ๑๘ กันยายน ๒๕๔๙ กลับมาได้หรือไม่ มีรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ฟื้นคืนกลับมาได้หรือไม่ คุณก็รู้คำตอบอยู่แล้วว่าในชีวิตจริงมันคืออะไร

(แทรก) แต่ก็มีคนบอกว่า แม้ย้อนอดีตไม่ได้ แต่เราก็มีทางเลือกที่จะไม่ร่วมสังฆกรรมหรือไปเกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนหรือ เป็นพวกกับฝ่ายที่ทำรัฐประหารเพราะนั้นก็คือการสนับสนุนการใช้กำลังล้มล้าง ระบอบประชาธิปไตยโดยปริยาย

มันคงขึ้นอยู่กับ สถานภาพของแต่ละคนในขณะนั้น ผมไม่ปฏิเสธว่าในสถานภาพของนักวิชาการหรือคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐ รัฐบาลหรือองค์กรของรัฐ จะสามารถแสดงจุดยืนได้ดีกว่า ที่จะไม่เกี่ยวข้อง ไม่ยอมรับ เรียกร้องให้คืนระบอบประชาธิปไตย ยกเลิกกฎอัยการศึก แต่ผมถามว่า ถ้าสมมุติว่าข้อเรียกร้องเหล่านี้ ซึ่งผมเห็นด้วยนะ ว่าให้เลิกกฎ อัยการศึกโดยเร็ว ยกเลิกคำสั่งห้ามชุมนุม ทางการเมือง ถ้ามันเป็นจริงแล้ว สเต็ปต่อไปคืออะไร มันก็คือเรียก ร้องให้มีรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยและประชาชนมีส่วนร่วมสร้างโดย เร็ว

ก็ต้องติดตามว่ารัฐธรรมนูญใหม่จะมีมาได้อย่างไร ก็ต้องมีคนทำยกร่าง จะไปเสกเป่าให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หายไป รัฐบาลคุณสุ รยุทธ์หายไป สนช. หายไป แล้วรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ฟื้นคืนชีพมาใหม่มันทำได้ไหมล่ะ

ผมว่าในระดับ หนึ่งเราต้อง ยอมรับ ความจริงว่า รัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ และระบอบการปกครองตามรัฐธรรมนูญนี้ถูกเลิกไปแล้วโดยการรัฐประหาร ซึ่งเป็นการประหารรัฐ และประหารรัฐธรรมนูญโดยใช้กำลัง ถ้าจะให้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย อย่างที่เราเรียกร้อง มันก็ต้องเขียนขึ้นใหม่ พิจารณายกร่างใหม่ทีนี้ใครจะเป็นคนทำ? จะให้คณะ รัฐประหารไปยกร่างกันเองเพื่อที่จะเอามาด่ากันต่อว่า ไม่เป็นประชาธิปไตยหรือ สืบทอดอำนาจเผด็จการหรือแล้วจากนั้นก็มีการต่อสู้เรียกร้อง มีความขัดแย้งแล้วก็นำไปสู่ความแตกแยกในชาติอีก ผมคิดว่าคนที่เชื่อเรื่องต้องไม่ไปเกี่ยวข้อง ไม่ไปสนับสนุนต้องคิดต่อต้านคณะรัฐประหารก็มีเหตุมีผลของเขา ผมเองก็มีความคิดอย่างนี้ แต่ถ้ามองประเทศ ชาติและมองสังคมไทยโดยรวม ผมคิดว่า ในสถานภาพของผมที่เป็นอยู่ทั้งในทางส่วนตัวที่ผมเป็นนักวิชาการ ทางกฎหมายมหาชน และในสถานภาพของอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งจะมากจะน้อยมันมีความ เป็นสัญลักษณ์ของอะไร บางอย่างอยู่เป็นเรื่องที่ผมควรจะต้องเข้าไปทำอะไรเพื่อสังคมไทยในวันพรุ่ง นี้ เพื่อให้มีกติกา ที่ดีขึ้นบ้าง ตามกำลังความสามารถ ที่จะผลักดันได้ ผมก็เข้าไปทำ ก็มีเท่านั้น

แต่คนตั้งคำถามว่าอธิการบดีธรรมศาสตร์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย ประชาธิปไตย ไม่ควรเอาสถาบันเข้าไปแปดเปื้อน และถึงเข้าไปก็ทำอะไรไม่ได้เท่าไหร่หรอก หรือว่าได้ไม่คุ้มกับที่เสีย

ผมไม่ปฏิเสธ หรอกว่าถึงแม้จะมีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผมเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติเป็นส่วนตัวเป็นชื่อนายสุรพล แต่อย่างไรก็ตาม ผมก็เป็นอธิการบดีธรรมศาสตร์และเวลาไปประชุมผมก็เป็นนายสุรพลซึ่งเป็น อธิการบดีธรรมศาสตร์ไปประชุมนั่นเอง แต่ขอเรียนว่า เมื่อวานนี้ (๓๐ ตุลาคม ๒๕๔๙) มีประชุมสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมีเรื่องที่ให้สภามหาวิทยาลัยเสนอชื่อ ตัวแทนไปเป็นสมาชิก สมัชชาแห่งชาติ ตามที่สกอ. แจ้งมาเป็นหนังสือ และมีคนตั้งประเด็นในเรื่องการเข้าร่วมสังฆกรรมกับคณะรัฐประหารหรือรัฐบาล ที่คณะรัฐประหารแต่งตั้ง ก็มีกรรมการสภามหาวิทยาลัยอภิปรายเรื่องนี้หลายท่าน ผมไม่อ้างถึงสิ่ง ที่กรรมการคนอื่นอภิปราย แต่ผมขอเรียนเฉพาะสิ่งที่ผมอภิปราย ในสภามหาวิทยาลัยว่า ประเด็นในเรื่อง ความเกี่ยวข้องกับคณะรัฐประหารหรือรัฐบาลคณะรัฐประหารแต่งตั้งนั้นมันอาจจะ อธิบายง่าย สำหรับนักวิชาการ คนหนึ่งหรือประชาชนคนหนึ่ง แต่เมื่อใดที่เราเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรของรัฐหรือมีภารกิจหน้าที่ที่ต้องทำ ตามกฎหมาย ความซับซ้อน ของเรื่องก็จะมีมากขึ้น ผมตั้งคำถามเพื่อให้เห็นประเด็นในสภามหาวิทยาลัยว่าการไม่ยอมรับคณะรัฐ ประหารจะรวมไปถึงการปฎิเสธ สภานิติบัญญัติที่คณะรัฐประหารตั้งหรือรัฐบาลที่มาจากคณะรัฐประหารด้วยหรือ ไม่ มหาวิทยาลัยธรรม ศาสตร์จะปฏิเสธการรัฐประหาร โดยการไม่ของบประมาณประจำปี 2550 ไปยังรัฐบาลที่มาจากคณะรัฐประหาร และจะไม่เสนอร่างกฎหมายออกนอกระบบที่ยังค้างอยู่ไปให้ สภานิติบัญญัติที่มาจากคณะรัฐประหารด้วยใช่ไหม หรือเราจะปฏิเสธรัฐมนตรีศึกษาหรือนายกที่มาจากการรัฐประหารและ ไม่ทำตามที่เขาสั่ง ไม่ของบประมาณ ไม่ขออัตรากำลัง ไม่ไปยุ่งเกี่ยวด้วยทั้งหมดเลย ได้หรือ ถ้าเราไม่ปฎิเสธรัฐบาล ถามว่าเราจะปฏิเสธ สภาไหม ออกกฎหมายอะไร ออกมาเราจะไม่ปฏิบัติใช่ไหม ในสภามหาวิทยาลัยก็ฟังประเด็นเหล่านี้กัน แล้วก็ไม่มีใครอภิปราย แย้งหรือคัดค้านอะไร เพราะผมเข้าใจว่าสภามหาวิทยาลัยก็ตระหนักถึงบทบาทและภารกิจในฐานะที่เป็นผู้ รับผิดชอบองค์กรของรัฐอย่างที่มหาวิทยาลัยมีสถานภาพอยู่

ประเด็นเรื่องของ เรื่องจริงๆ ที่ผมอยากจะบอกก็ คือว่า ผมแยกระหว่างสิ่งที่มันเกิดขึ้นและแก้ไขอะไรไม่ได้โดยที่เราไม่ได้เห็นด้วย กับมัน - กับผลที่ตามมาซึ่งเป็นปัจจุบันและอยู่ในวิสัยที่เราจะดัดแปลงหรือไปผลักดัน ให้มันออกมาในทางที่ดีและป้องกันไม่ให้สิ่งที่เราไม่ชอบหรือเห็นว่า ไม่ถูกต้องให้มีโอกาสเกิดขึ้นมาได้อีก

สำหรับประเด็นที่ ว่า เข้าไปแล้วจะทำอะไรได้ไหม และจะได้อะไรคุ้มกับการเอาตำแหน่งอธิการบดีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปเกี่ยวข้องด้วยไหม ผมขอเรียนว่าผมเชื่อโดยสุจริตหรือจะพูดให้เท่หน่อยก็ขอบอกว่า ผมเชื่อในมโนสำนึกของผมว่าทั้งในฐานะนักกฎหมายมหาชน และทั้งในตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะมีน้ำหนักและศักยภาพที่จะ ผลักดันเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ไม่มากก็น้อย ไปให้ไปในทิศทางที่ผมยึดถือและเชื่อมั่นได้ผมเป็นพวกชอบอ่านนิยายกำลังภายใน และเชื่อที่ โก้วเล้งเขียนไว้ในหลายเรื่องว่า " ถ้าหาก เราไม่ลงนรก แล้วผู้ใดจะลงนรก" ถ้าคนที่รู้เรื่อง เข้าใจการเมือง และพูดอะไรก็มีคนฟังอยู่บ้าง อย่างที่ผมและเพื่อนนักวิชาการหลายคนเป็นอยู่ไม่เข้าไปผลักดัน ไม่เข้าไปถากถางเส้นทางของระบบปกครองในระบอบใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น แล้วใครจะเข้าไปทำ เราจะไว้วางใจ ให้คณะทหารหรือคนที่ทำงานให้ทหารมาโดยตลอด เป็นคนกำหนดกติกา การปกครอง เป็นคนเขียนรัฐธรรมนูญ เป็นคนออกกฎหมายแต่ฝ่ายเดียวอย่างนั้นหรือ

ผมว่าสิ่งสุดท้ายที่จะใช้อธิบายกับผู้คนหลังจากยกตัวอย่างและอธิบายเหตุผลต่าง ๆทั้งหมดแล้วก็คือผมจะบอกว่า ผมสุจริตใจและเชื่อมั่นในมโนสำนึกของผมที่จะคอยเตือน ให้ทำในสิ่งที่ถูกและคิดว่าเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยแม้ว่าจะเห็นว่าการวาง เฉย การไม่ร่วมสังฆกรรมใด ๆ ทั้งสิ้นอย่างที่เพื่อนนักวิชาการหลายคนทำจะทำให้เราปลอดภัยสถานภาพของเรา ไม่ถูกกระทบกระเทือน และไม่ถูกใครมาด่า จะเป็นทางที่ง่ายที่สุด ในการรักษาภาพลักษณ์ รักษาหน้าตาของตัวเองและพูดได้ว่าเราได้รักษาหลักการที่น่าเชื่อไว้ก็ตาม

เมื่อกี้ อาจารย์พูดถึงเหตุผลและคำชี้แจง เพิ่งพูดไปได้ข้อเดียวมีอะไรที่จะใช้อธิบายจุดยืนของอาจารย์อีกบ้างไหม

ประเด็นแรก เมื่อกี้ผมพูดว่า ผมไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร แต่ความจริงที่ต้องยอมรับคือมันเกิดขึ้นแล้วและผ่านไปแล้วโดยแก้ไขอะไรใน อดีตไม่ได้ ข้อที่สอง ที่ผมอยากชี้แจงก็คือ เมื่อการรัฐประหารเกิดขึ้นแล้วก็จะต้องมีกติกาการปกครองใหม่ ถ้าเราเชื่อว่าเราจะผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้จริง เราก็ต้องไปทำและพยายามทำให้ได้ ผมขอเรียนว่าหลังรัฐประหาร ๑ สัปดาห์ คือเมื่อ ๒๕ กันยายน ๒๕๔๙ ผมได้รับการติดต่อจากนักกฎหมายที่กำลังยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ใช้อยู่นี้ให้ไปช่วยดูร่างรัฐธรรมนูญที่ยกร่างเบื้องต้นเสร็จแล้วที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ผมก็ตัดสินใจไป โดยความเชื่ออย่างที่ว่า และเมื่อเข้าไปก็ ได้เสนอความเห็นตามแนวทางที่ผมเชื่อหลายเรื่อง เช่น การตัดบทบัญญัติทำนองเดียวกับมาตรา ๑๗ ของรัฐธรรมนูญการปกครองสมัยจอมพลสฤษดิ์ ที่ให้อำนาจเกือบจะเด็ดขาด แก่คณะปฏิวัติเรื่องการห้ามไม่ให้สภาร่างรัฐธรรมนูญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ รวมตลอดไปถึงคณะรัฐประหารหรือ คปค. เข้ามามีบทบาททางการเมือง ในรัฐธรรมนูญถาวรต่อไปอีก โดยห้ามมิให้มาสมัคร สส. หรือดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา เรื่องการกำหนดโครงสร้างของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญซึ่งผมเสนอให้นำตุลาการใน ศาลปกครองสูงสุด เข้าไปร่วมกับผู้พิพากษาศาลฎีกาด้วยเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องหลัก ๆ ซึ่งพอเสนอเข้าไป ข้อเสนอเหล่านี้ก็ได้รับการยอมรับ และกำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ โดยกลุ่มของนักกฎหมายที่มาช่วยกันดูตัวร่าง แล้วพอเสนอคณะรัฐประหาร และอธิบายเหตุผลในเชิงหลักการ เขาก็ยอมให้กำหนดอย่างนี้ได้ แล้วหลายกรณีก็ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ใช้บังคับอยู่ นี่ก็เป็นสิ่ง ที่ทำให้ผมเห็นว่ามันมีโอกาสและ มีทิศทางในการผลักดันสิ่งที่เราเชื่อให้เป็นจริงได้ และเราจะทำอะไรได้ตามสมควรในการช่วยกันสร้างสังคมไทย ให้มีความเป็นประชาธิปไตยขึ้นได้ และปรากฎการณ์นี้ก็ทำให้คิดไปได้ว่าคณะรัฐประหาร ซึ่งกระทำรัฐประหารด้วยเหตุผลความจำเป็นใดก็ตามที่ผมไม่ทราบและไม่เห็นด้วยนั้น ไม่ได้คิดไปในทางที่อยากจะมีอำนาจ หรือสืบทอดอำนาจของตัวเองต่อไป อันนี้ผมย้ำว่าเป็น ความเชื่อส่วนตัวของผมเท่านั้นและทำให้ผมรู้สึกว่ามันมีความเป็นไปได้ในการที่จะเข้าไปผลักดันให้เกิดอะไรบางอย่างได้ ผมก็เข้าไปทำก็เท่านั้นเอง

ข้อที่สาม ที่ดูเหมือนไม่ใช่ประเด็นสำคัญมากนัก แต่เข้าใจว่าต้องชี้แจงด้วยก็คือข้อที่ว่า การไปทำหน้าที่สมาชิกสภานิติบัญญัติ ทำให้ผมทำงานให้ธรรมศาสตร์ได้น้อยลงและผิดไปจากพันธะที่ผมมีต่อมหาวิทยาลัย เมื่อเสนอตัวมาทำหน้าที่อธิการบดีข้อนี้ผมเรียนว่าการเป็นสมาชิกสภา นิติบัญญัติคงทำให้ผมต้องมีภาระมากขึ้น แต่ผมไม่คิดว่าจะเป็นปัญหาต่อการทำงานในฐานะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะผมคงต้องทุ่มเทกับการทำงานให้มากขึ้น ทุกวันนี้หลาย ๆวัน ผมก็อยู่มหาวิทยาลัย ถึงทุ่มสองทุ่ม และมาทำงาน ทุกวันรวมทั้งเสาร์หรืออาทิตย์ด้วยอยู่แล้ว ก็คงต้องทำอย่างนี้ต่อไป

งานบริหาร มหาวิทยาลัยเป็นงานที่หนัก และถ้าอยากจะบริหารมหาวิทยาลัย ให้ดี อย่างที่ผมเชื่อว่าผมกำลังทำอยู่ ก็ต้องทำงานให้หนักมากขึ้น แต่นี่คือสิ่งที่ผมเสนอตัว และอาสาเข้ามาทำเพื่อจะให้มหาวิทยาลัยนี้ดีขึ้น เพราะฉะนั้น เมื่อผมไปรับทำอะไรเพิ่มขึ้นอีกก็ต้องแน่ใจว่า ภารกิจหลักของเราไม่กระทบกระเทือน ผมยืนยันว่างานบริหารมหาวิทยาลัยจะเป็นไปได้ด้วยดีอย่างที่ผมได้ทำมาตลอดสองปีเศษที่ผ่านมา ในทางตรงกันข้าม หากผมไปเสนอตัวรับเป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติอย่างที่มีเพื่อนสมาชิก หลายคนเสนอและสนับสนุนต่างหากที่ผมคิดว่าจะทำให้งานในตำแหน่งอธิการบดีกระทบ และในกรณีเช่นนั้น ผมคงต้องพิจารณาลาออกจากการเป็นอธิการบดี

ผมเรียนกว่าผมมีความมั่นใจว่าวาระการปฏิบัติหน้าที่อธิการบดีมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ของผมซึ่งยังเหลืออยู่อีกไม่ถึงหนึ่งปีนี้ จะไม่มีการปฏิบัติงานใดได้รับผลกกระทบกระเทือนจากการเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติแน่นอนครับ

สุดท้าย อาจารย์จะตอบอย่างไรกับความเห็นที่ว่า อาจารย์เอาชื่อเสียงและเกียรติภูมิของธรรมศาสตร์ไปแปดเปื้อนกับ การรัฐประหาร

อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แต่ละคนมีบทบาทและระยะห่างจากการเมืองมากน้อยต่างกัน ตามสถานการณ์ทางการเมือง การปกครอง ในยุคสมัยนั้น ๆ สิ่งที่ผมเชื่อก็คือทุกท่านได้ใช้วิจารณญาณและการตัดสินใจอย่างรอบคอบในยุค สมัยของแต่ละท่านและสุดท้าย ประวัติศาสตร์ ก็จะตัดสินว่าแต่ละคนเป็นอย่างไร ผมคิดว่าผมมีเหตุและมีผล มีความเชื่อในสิ่งที่ผมยึดถือและสุจริตใจ ผมก็ทำตามสิ่งที่ผมเชื่อ แล้ววันข้างหน้าคนธรรมศาสตร์หรือสังคมไทยโดยรวมก็จะตัดสินและผมก็พร้อมที่จะ ยอมรับผล ที่มาจาก การตัดสินใจของผมเอง ผมคิดว่า ผมรับฟังความคิดเห็น ข้อวิพากษ์วิจารณ์และเหตุผลของคนอื่น แต่ผมก็จะตัดสินใจเอง และพร้อมที่จะรับผลของการตัดสินใจนั้น ผมหวังว่าคนธรรมศาสตร์ก็จะรับฟังความคิดเห็นและเหตุผลของผม ตลอดทั้งเคารพในสิทธิ ที่จะตัดสินใจของผมเช่นกัน

 

ร่วมแสดงความคิด เห็นได้ที่ http://b.bbznet.com/dome โดย งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๙

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net