Skip to main content
sharethis

 


(ถอดความจาก "General Surayud Chulanont: A man and his contradictions" ของ Kevin Hewison นักวิชาการชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียศึกษาแห่ง Carolina Asia Center, University of North Carolina at Chapel Hill)


 


***


พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 24 (ภาพจาก Reuters)


 ภาพจาก Reuters


 


เมื่อ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ผู้เป็นทหารมานานถึง 4 ทศวรรษ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนล่าสุด สื่อในประเทศไทยและทั่วโลกต่างพากันรายงานว่า คณะทหารที่ทำการรัฐประหารได้คัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมแล้ว พล.อ.สุรยุทธ์ได้รับการบรรยายว่าเป็นทหารอาชีพที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการทุจริต มีแนวคิดก้าวหน้า เป็นอิสระจากทุกฝ่าย และไม่ฝักใฝ่ด้านการเมือง หรือถ้าพูดสั้นๆ ก็คงจะบอกได้ว่า - นี่แหละคือบุคคลที่ประเทศไทยต้องการ หลังจากที่การรัฐประหารผ่านพ้นไปแล้ว ภาพลักษณ์ที่ดีของ พล.อ.สุรยุทธ์เปล่งประกายยิ่งกว่าเดิมมาก เมื่อมีการเชื่อมโยงภาพเมื่อครั้งที่เขาได้ไปบวชเป็นพระสงฆ์ผู้สมถะในเวลาไม่นานมานี้ รวมถึงการเป็นองคมนตรีผู้น่าเชื่อถือของพระมหากษัตริย์ด้วย


 


สื่อต่างประเทศได้ตั้งข้อสังเกตถึงความย้อนแย้งเกี่ยวกับคุณสมบัติของ พล.อ.สุรยุทธ์ ว่าเป็นทหารอาชีพที่ประกาศตนว่าไม่สนใจจะเล่นการเมือง แต่ในที่สุดก็กลายเป็นตัวเลือกที่คณะทหารขอให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีชั่วคราว ซึ่งความขัดแย้งกันเองนี้ บางทีอาจจะมีผลมาจากการที่ พล.อ.สุรยุทธ์ มีชีวิตที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งกันเองอยู่ก่อนแล้ว โดยความขัดแย้งที่สำคัญและเป็นที่รู้กันทั่วไปก็คือข้อเท็จจริงว่า พล.อ.สุรยุทธ์เป็นผู้ที่อยู่ตรงข้ามกับบิดาของตนเองเมื่อครั้งที่เกิดสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่กินเวลายาวนานกว่าสองทศวรรษในระหว่างที่รัฐบาลทหารปกครองประเทศไทยอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ซึ่งพล.อ.สุรยุทธ์เข้าร่วมในสงครามนี้ในฐานะทหารประจำหน่วยรบต่อต้านคอมมิวนิสต์ แต่บิดาของเขากลับเป็นแกนนำคนสำคัญคนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย


 


หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจการต่อต้านคอมมิวนิสต์ พล.อ.สุรยุทธ์มีส่วนเกี่ยวพันกับกองกำลังลับๆ ของเขมร นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2512-2515 และความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเขมรเป็นประโยชน์มากเมื่อเขาเป็นผู้บัญชาการกองทัพที่ประจำการอยู่บริเวณชายแดนเขมร ซึ่งในเวลานั้น ประเทศไทยได้ให้การสนับสนุนอย่างเข้มแข็งแก่กองกำลังเขมรแดงของพลพตที่สังหารหมู่ชาวเขมรไปเป็นจำนวนมาก และปฏิบัติการภายใต้คำสั่งของ พล.อ.สุรยุทธ์เกี่ยวโยงไปถึงการฝึกและเสนออาวุธให้แก่กองกำลังเขมรแดงด้วย และความร่วมมือที่ไทยมีให้แก่เขมรแดงก็นำมาซึ่งเงินทุนนอกกฏหมายที่หลั่งไหลเข้าสู่กองทัพไทยที่ตรึงกำลังอยู่ตามชายแดน และเงินนอกกฎหมายจากเขมรแดงที่กองทัพไทยรับมาก็คือการสนับสนุนให้มีการสังหารโหดเกิดขึ้นในเขมรอีกทางหนึ่ง


 


ความขัดแย้งอีกประการของ พล.อ.สุรยุทธ์ เห็นได้จากเหตุการณ์นองเลือดของพลเรือนที่ออกมาประท้วงในเดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ.2535 โดยขณะนั้น พล.อ.สุรยุทธ์ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ และนายทหารที่สังกัดในหน่วยนี้ก็มีส่วนเกี่ยวพันกับการบุกเข้าปะทะอย่างรุนแรงกับประชาชนที่ออกมาชุมนุมประท้วงอย่างสงบเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ปฏิบัติการของหน่วยพิเศษดังกล่าวหมายถึงการสั่งยิง ทำร้าย และทุบตีผู้ชุมนุมด้วย ในเหตุการณ์นี้ มีผู้ถูกสังหารราว 50 รายเป็นอย่างน้อย และบาดเจ็บอีกราวๆ 100 ราย ในขณะที่ผู้คนอีกเป็นจำนวนมากหายสาบสูญ


 


ต่อมาภายหลัง พล.อ.สุรยุทธ์ได้ออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้ออกคำสั่งให้หน่วยของตนออกไปยิงผู้คนแต่อย่างใด พร้อมทั้งแสดงความเสียใจต่อหน้าสาธารณชนที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น พล.อ.สุรยุทธ์ยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกด้วยว่า เหตุการณ์พฤษภาทมิฬทำให้ทหารตระหนักว่า การรัฐประหารเป็นเรื่องที่เปล่าประโยชน์โดยสิ้นเชิง


 


ในปี 2540 ก่อนที่จะมีการเกษียณอายุ นายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย ได้ผลักดันให้ พล.อ.สุรยุทธ์ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารบก ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งนี้ พล.อ.สุรยุทธ์ได้ทำการปราบปรามเครือข่ายอำนาจและผู้มีอิทธิพลในกองทัพ จนได้รับความชื่นชมว่าเป็นนายทหารหัวก้าวหน้า มีความเป็นมืออาชีพ ทำให้ภาพลักษณ์ของทหารและกองทัพหลุดพ้นจากการเป็นผู้ที่จ้องแต่จะทำรัฐประหาร รวมทั้งเป็นการสร้างสถานะที่ดีของกองทัพในสังคมไทย หลังจากที่ภาพลักษณ์ของกองทัพตกต่ำลงตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี 2535 เป็นต้นมา


 


เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2544 ขณะที่ พล.อ.สุรยุทธ์ ดำรงตำแหน่งเดิม แต่ พ.ต.ท.ทักษิณและ พล.อ.สุรยุทธ์ มีความเห็นขัดแย้งกันอย่างรุนแรงในเรื่องของการวางนโยบายระหว่างประเทศของไทยและพม่า เห็นได้ชัดว่า พ.ต.ท.ทักษิณมีความกระตือรือร้นอย่างยิ่งที่จะเจรจาด้านธุรกิจการค้ากับพม่า แต่ทว่า พล.อ.สุรยุทธ์ ไม่สู้จะกระตือรือร้นนัก และสิ่งที่เป็นเรื่องตลกร้ายอย่างยิ่งก็คือความเข้าใจที่รู้กันไปทั่วว่ากองทัพไทยมีความสัมพันธ์เชิงธุรกิจ และมีผลประโยชน์ร่วมกับรัฐบาลทหารของพม่ามาเป็นเวลานาน รวมถึงการควบคุมกระบวนการค้าของเถื่อนระหว่างสองประเทศด้วย


 


ในที่สุด พล.อ.สุรยุทธ์ ก็ได้รับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด และมักมีความคิดเห็นที่ขัดแย้งกับนายกฯ ทักษิณต่อหน้าสาธารณชนในขณะนั้น เมื่อถึงเดือนมิถุนายนปี 2545 กองกำลังทหารพม่าที่ปราบปรามชนกลุ่มน้อยได้รุกเข้ามาในเขตแดนของไทย ครั้งนั้น พ.ต.ท.ทักษิณได้วิพากษ์วิจารณ์ว่าปฏิกริยาตอบสนองที่กองทัพไทยมีต่อพม่า เป็นการกระทำรุนแรงเกินกว่าเหตุ แต่ พล.อ.สุรยุทธ์ออกมาให้ความเห็นแย้งและปกป้องกองทัพ เป็นเหตุให้มีข่าวลือแพร่สะพัดว่า อาจมีการรัฐประหารเกิดขึ้น แต่ พล.อ.สุรยุทธ์ ยืนยันว่าทหารไม่มีทางก่อการรัฐประหารขึ้นมาอีกแน่นอน


 


เมื่อถึงวาระเกษียณ พล.อ.สุรยุทธ์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นองคมนตรีแทบจะในทันที และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงคัดเลือกด้วยพระองค์เอง พร้อมด้วยความสนับสนุนของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และด้วยตำแหน่งนี้เองที่ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในชีวิตของ พล.อ.สุรยุทธ์อีกครั้งหนึ่งในปี 2549 และแม้จะมีคำพูดที่ว่าพระมหากษัตริย์ไทยทรงอยู่เหนือการเมือง เช่นเดียวกับที่ พล.อ.สุรยุทธ์ ถูกมองว่าเป็นผู้ไม่ฝักใฝ่ในการเมือง แต่ในที่สุดเขาก็ต้องเข้าไปพัวพันกับการต่อสู้ทางการเมืองที่นำไปสู่การก่อรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง


 


เนื่องจากผู้ชุมนุมประท้วงต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณตามท้องถนนในกรุงเทพมีจำนวนมากขึ้นทุกที พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ร้องขอต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงพระราชทานผู้นำคนใหม่มาแทน พ.ต.ท.ทักษิณ โดยที่ชื่อของ พล.อ.สุรยุทธ์นำมาเป็นอันดับต้นๆ ของรายนามผู้ที่มีคุณสมบัติเป็นผู้นำคนใหม่ แต่พระมหากษัตริย์ไทยทรงปฏิเสธคำร้องดังกล่าว


 


ในขณะเดียวกันก็มีความเคลื่อนไหวจากข้าราชบริพารบางส่วนในสำนักพระราชวังที่ออกมาต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ แม้ว่า พล.อ.สุรยุทธ์จะไม่ได้ออกมาให้สัมภาษณ์หรือแสดงปาฐกถาในเชิงไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลมากเท่ากับที่ พล.อ.เปรม ได้แสดงออกในระหว่างนั้น แต่เมื่อ พล.อ.เปรม กล่าวยืนยันว่าทหารจะต้องจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ มิใช่ทำหน้าที่รับใช้รัฐบาล ทั้ง พล.อ.สุรยุทธ์ และ พล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร ต่างก็มิได้แสดงความเห็นขัดแย้งแต่อย่างใด


 


นายทหารระดับสูงทั้งสามนายมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน โดย พล.อ.สุรยุทธ์ เป็นผู้ใกล้ชิดกับ พล.อ.เปรม ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรี ในขณะที่ พล.อ.สุรยุทธ์ เคยเป็นผู้บังคับบัญชาของ พล.อ.สนธิ ด้วย เมื่อครั้งที่ทั้งสองเคยประจำอยู่ที่หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ จังหวัดลพบุรี และเป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่าทหารที่เคยประจำในหน่วยนี้มีส่วนเกี่ยวพันในคดีพยายามลอบสังหาร พ.ต.ท.ทักษิณ เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และทหารจากลพบุรีอีกเช่นกันที่มีบทบาทสำคัญในคืนรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549


 


พล.อ.สุรยุทธ์ สนับสนุนการทำรัฐประหารอย่างแข็งขัน เนื่องจากมีความเห็นว่าควรจะยุติปัญหาและข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเสียที เป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งที่เห็นได้ชัดเจนในขณะนี้ นั่นคือคำพูดที่ว่า พล.อ.สุรยุทธ์ ไม่คิดจะยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่นายทหารผู้ไม่ฝักใฝ่การเมืองกลับเป็นตัวเลือกสำคัญของฝ่ายทหารที่เข้ามามีบทบาททางการเมืองไทย จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะพูดว่า พล.อ.สุรยุทธ์เป็นผู้นำในรัฐบาล "พลเรือน" ทั้งที่เห็นกันอยู่ว่าเขาได้รับฐานสนับสนุนทั้งจากฝ่ายทหารและขั้วอำนาจจากสำนักพระราชวังที่ร่วมกันก้าวเข้ามามีส่วนในการควบคุมประเทศ


 


สำหรับประชาชนชาวไทยที่เฝ้าดูอยู่จะเห็นว่า คณะรัฐประหารพยายามพึ่งพาอาศัยชื่อเสียงและคุณสมบัติของ พล.อ.สุรยุทธ์ที่ไม่เคยปรากฏว่ามีการยุ่งเกี่ยวกับเรื่องทุจริตใดๆ รวมถึงความสัมพันธ์โยงใยในกองทัพและความใกล้ชิดกับ พล.อ.เปรม ทำให้ พล.อ.สุรยุทธ์เป็นตัวเลือกที่ได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่าย ซึ่งความสนับสนุนจากฝ่ายพระราชวังเป็นปัจจัยที่พรรคประชาธิปัตย์เองก็ลงความเห็นว่าเป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของ พล.อ.สุรยุทธฺ เพราะเขาได้รับความไว้วางใจอย่างยิ่งจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว


 


คณะรัฐประหารตระหนักดีว่า พล.อ.สุรยุทธ์ ไม่เป็นที่รู้จักมากนักในระดับสากล จึงมีการส่งเสริมภาพลักษณ์ของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ด้วยการส่งให้นักวิชาการและตัวแทนฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเดินทางไปยังประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา เพื่ออธิบายเหตุผลให้แก่สื่อมวลชนในต่างประเทศได้รับรู้ว่าเพราะเหตุใดจึงต้องมีการรัฐประหารในเมืองไทย และมีการโน้มน้าวให้เข้าใจว่า การทำรัฐประหารนั้นเป็นการดีต่อประเทศไทย และ พล.อ.สุรยุทธ์ ผู้นำรัฐบาลพลเรือนคนปัจจุบัน ได้รับความสนับสนุนจาก "ราล์ฟ บอยซ์" ผู้เป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย โดยอ้างถึงการที่นายราล์ฟ บอยซ์ เข้าพบ พล.อ.สุรยุทธ์ นับตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ และกล่าวว่าการเข้าพบดังกล่าวมีนัยยะที่สำคัญ ซึ่งสหรัฐฯ และจีน เป็นประเทศแรกๆ ที่แสดงความเห็นด้วยอย่างไม่เป็นทางการกับรัฐบาลที่มาจากความเห็นชอบของกองทัพไทย


 


การเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 24 ของ "พลเรือน" สุรยุทธ์ ที่สวมชุดพิธีการเต็มยศ และล้อมรอบไปด้วยคณะทหารผู้ทำการยึดอำนาจ จึงเป็นความขัดแย้งในตัวเองอีกประการหนึ่ง เช่นเดียวกับความเป็น "ประชาธิปไตย" ที่ถูกก่อร่างขึ้นมาจากคณะรัฐประหาร และการที่ "ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหาร" ซึ่งเคยมีบทบาทสำคัญในกองทัพถูกจับมาอยู่กลางเวทีการเมือง


 


ก็ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า พลเอกผู้ไม่เคยมีประสบการณ์ในการบริหารประเทศมาก่อนจะทำให้ประเทศไทยกลับไปตั้งต้นใหม่ในกระบวนการสร้างประชาธิปไตยได้หรือไม่ หรือว่านี่จะเป็นเพียงภารกิจที่ชวนให้หวั่นใจของขั้วอำนาจเก่าที่จะทำให้ประเทศไทยกลับสู่ระบบอุปถัมภ์และแนวทางอนุรักษ์นิยมแบบเดิมๆ กันแน่


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net