Skip to main content
sharethis

เบญจา ศิลารักษ์


สำนักข่าวประชาธรรม


 


จากกรณีที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้หารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา   ทั้งนี้ภาคเอกชนได้เสนอให้รัฐบาลพิจารณาจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ภาคใต้  พร้อมกับแก้ไขกฎหมายบางฉบับนั้น  แม้ว่าขณะนี้รัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม นายโฆษิต  ปั้นเปี่ยมรัษฎ์  จะไม่ได้แสดงท่าทีใดๆ ว่าจะดำเนินอย่างไรชัดเจนนัก    แต่ก็น่าจับตามองว่าทิศทางของรัฐบาลชั่วคราวต่อการดำเนินกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจต่อไปจะเป็นเช่นไร ภายใต้สภานิติบัญญัติ ที่มีข่าวครึกโครมว่าคนที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คือนายมีชัย ฤชุพันธุ์  ผู้เคยยกร่างกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษมาก่อน   อันเป็นที่มาที่ทำให้เครือข่ายภาคประชาชนคัดค้านนายมีชัย ฤชุพันธ์ในการดำรงตำแหน่งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติในครั้งนี้


 


รสนา โตสิตระกูล กล่าวว่า ในสมัยรัฐบาลทักษิณ นายมีชัย   มีส่วนสำคัญในการร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ  ซึ่งถือเป็นกฎหมายอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  ทำลายหลักการขั้นพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ และทำลายบูรณภาพของอธิปไตย โดยการแบ่งแยกรัฐซ้อนรัฐ นายมีชัยเองเคยพูดว่า จะให้นักวิชาการให้ความเห็น  แต่พอนักวิชาการขอดูก็บอกไม่ทันแล้ว ทูลเกล้าฯไปแล้ว ทั้งที่จริงควรเป็นเรื่องเปิดเผย อีกทั้งเนื้อหาก็มีจุดหมกเม็ดจำนวนมาก


 


ดังนั้น จึงน่าจับตามองว่าประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะเป็นใคร?  จะเป็นนักกฎหมายในยุคทักษิณที่เคยยกร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือไม่ ?


 


เขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ภาคใต้  


 


ข้อมูลจากคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ระบุว่าโครงการพัฒนาเศรษฐกิจร่วม 3 ฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT)   ภาคเอกชนพยายามผลักดันมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2536  โดยได้รับการสนับสนุนจากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB)  เพื่อใช้เป็นกรอบหลักในการพัฒนาความร่วมมือเศรษฐกิจสามฝ่าย  ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2536  มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจัดทำ "แผนแม่บทเพื่อการพัฒนาพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้"  พร้อมทั้งจัดทำผลการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นสำหรับโครงการ


 


ปี 2536 - 2537 มีการดำเนินงานตามกรอบความร่วมมือส่งผลให้ปริมาณการค้าในพื้นที่ อินโดนีเซีย-มาเลเซีย และไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  มีการขยายเวลาการเปิดด่าน มีการปรับปรุงกฎระเบียบการอำนวยความสะดวกเพื่อสนับสนุนการค้า การลงทุน    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2538  อนุมัติให้คณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ให้ความเห็นชอบรายงานผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์และกรอบแผนงานโครงการตามข้อเสนอของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB)  และให้ใช้เป็นกรอบหลักการพัฒนาความร่วมมือภายใต้โครงการพัฒนาเศรษฐกิจสามฝ่าย 


 


แผนพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศมีทั้งสิ้น 10 สาขา ได้แก่ 1.สาขาท่องเที่ยว  2.สาขาการค้าระหว่างประเทศ และการค้าตามแนวชายแดน  3.สาขาพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการเคลื่อนย้ายแรงงาน 4.สาขาเกษตร  ประมงและการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ  5.สาขาพลังงาน 6.สาขาอุตสาหกรรม  7.สาขาโครงสร้างพื้นฐาน  8.สาขาคมนาคมและการขนส่งทางเรือ  9.สาขาบริการและการจัดการ 10.สาขาป้องกันและจัดการสิ่งแวดล้อม


 


ในส่วนของประเทศไทยมีสาขาย่อย เช่น ยุทธศาสตร์ความร่วมมือด้านการลงทุนขนาดใหญ่กับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนสะเดา-ปาดังเบซาร์   การพัฒนาทางเรือสงขลาเชื่อมกับท่าเรือปีนัง  และปรับปรุงนิคมอุตสาหกรรมฉลุง  เขตอุตสาหกรรมอื่นๆ และท่าเรือประมงปัตตานี 


 


นอกจากนี้ ยังมีโครงการพัฒนาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล การทำนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล  ที่จ.ปัตตานี   และอุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราแบบครบวงจร เป็นต้น


           


เงื่อนงำยกร่าง กม.เขตเศรษฐกิจพิเศษยุคทักษิณ


 


หากจะว่าไปแล้วเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้นี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจทั้งประเทศ   ในสมัยรัฐบาลทักษิณมีความพยายามในการยกร่างกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นมา  ทั้งนี้เพื่อเอื้ออำนวยให้การขยายโครงการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นไปด้วยความสะดวกยิ่งขึ้น


 


ทั้งนี้นายมีชัย ฤชุพันธ์  อดีตประธานวุฒิสภา และสมาชิกสภาสภานิติบัญญัติเป็นผู้ยกร่างนั่นเอง !


 


การยกร่างกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษในครั้งนั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการอย่างกว้างขวาง อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนมีความเห็นว่า   "เขตเศรษฐกิจพิเศษคือการดิ้นรนของนายทุนที่ทำงานไม่สะดวกในภาวะปัจจุบัน   และเป็นการยึดเอาทรัพย์สมบัติของสาธารณะมาให้กับนายทุน   โดยอ้างว่าเพื่อให้เกิดการแข่งขัน ซึ่งถือเป็นการแข่งขันอย่างประหลาด เพราะเป็นการแข่งขันด้วยทรัพย์สมบัติของคนอื่น"


 


แผนพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคที่จัดทำไว้แล้ว  ได้แก่บรรดาเหลี่ยมเศรษฐกิจทั้งหลาย  ซึ่งหากไม่มีกฎหมายก็จะดำเนินการอย่างล่าช้าเพราะติดขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ ต้องผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน  ดังนั้นรัฐบาลทักษิณจึงยกร่างกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นมาเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างรวดเร็ว


 


เนื้อหาสาระของร่าง กม.เขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ เช่น การให้ต่างชาติถือครองที่ดินได้ 99 ปี  การให้อำนาจการจัดการพื้นที่แบบเบ็ดเสร็จแก่ "คณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ" ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ  ขณะที่หน่วยงานท้องถิ่นกลับไม่มีอำนาจใดๆ  นั่นเท่ากับว่าเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนสามารถใช้ทรัพยากร ก่อปัญหามลพิษได้อย่างสะดวก


 


สิ่งที่น่าจับตาในรัฐบาลชุดนี้คือ สภานิติบัญญัติจะมีการรื้อฟื้น กม.เขตเศรษฐกิจพิเศษกลับมาอีกครั้งหรือไม่ ?  หากใช่  จะไปด้วยกันได้หรือไม่กับเศรษฐกิจพอเพียงที่รัฐบาลพยายามกล่าวอ้างถึงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net