Skip to main content
sharethis

โดย สุริชัย หวันแก้ว 23 ตุลาคม 2549


 


 


เหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 นอกจากทำให้หลายคนโล่งอกที่สถานการณ์บ้านเมืองที่กำลังเข้าสู่ภาวะสุกงอมเต็มที มีทางคลี่คลายโดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ แต่ก็ต้องยอมรับว่า ด้วยวิธีการรัฐประหารทำให้ใครหลายคนรู้สึกกระอักกระอ่วนยากที่จะยอมรับวิธีการที่อำนาจรัฐมาจากปากกระบอกปืนได้ ดังเช่นมีการจัดตั้งกลุ่มต่อต้านรัฐประหาร 19 กันยายน ซึ่งนอกจากออกจดหมายทางเวปไซต์แล้ว ยังมีการอภิปรายสาธารณะอีกด้วย



สำหรับผู้เขียนเอง รู้สึกยินดีที่สังคมไทยมีกลุ่มทวนกระแส เพราะทำให้สังคมต้องฉุกคิดถึงวิถีทางของการหาทางออกเยี่ยงสังคมอารยะ เพื่อไม่ให้เกิดรัฐประหารขึ้นอีกในอนาคต ขณะเดียวกัน สังคมไทยก็ควรได้ทบทวนตัวเองว่า ทำไมพลังภาคประชาสังคมไทย จึงขาดพลังในการจัดการกับอำนาจทุนการเมืองที่เข้าครอบงำการเมืองไทยได้จนเป็นช่องทางแก่วิธีการรัฐประหาร



การเกิดกลุ่มที่ยึดมั่นในหลักการอย่างมั่นคงเช่นนี้จึงมีคุณค่าต่อสังคมไทยอย่างไม่ต้องสงสัย

แต่การจะเลือกจุดยืนแบบต้านรัฐประหารมิติเดียว เริ่มต้นพูดคุยด้วยการถามว่า "คุณเห็นด้วยกับการรัฐประหารหรือไม่" คงไม่พอแน่ เพราะคงมีน้อยคนกระมังที่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร รวมทั้งผู้เขียนด้วย ที่ไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว


 


แต่ไม่เห็นด้วยแล้วจะทำอย่างไร ลำพังการบอกว่าควรบอยคอตการรัฐประหาร ไม่ร่วมมือต่างๆ โดยสิ้นเชิง
(รวมถึงการไม่ควรยอมรับการได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ ซึ่งผู้เขียนเองก็เป็นคนหนึ่งที่ถูกแต่งตั้งโดยไม่ทราบล่วงหน้านี้ด้วย) ไม่น่าจะเพียงพอ



เราควรมาทบทวนว่า ในสถานการณ์ที่การรัฐประหารเกิดขึ้นแล้วเดือนเศษ และกระบวนการต่างๆ กำลังเกิดขึ้นตามมามากมาย หากไม่มีเสียงของประชาชนทัดทานเลย แน่นอนว่า รัฐบาลและสภานิติบัญญัติ
ย่อมจะมีโอกาสถูกใช้ไปสร้างอุปสรรคแก่การเติบโตของภาคประชาชน และชักให้ถอยหลังไปสู่ระบอบอำมาตยาธิปไตยหรือเสนาธิปไตยได้ และถ้าไปในทางร้ายที่สุด ก็อาจจะเกิดความขัดแย้งซึ่งแปรเป็นความรุนแรงได้อีกในอนาคต

ดังนั้น เราควรจะหลุดจากกับดักของคำถามที่เรียวแคบว่า เห็นด้วยการรัฐประหารหรือไม่ ควรบอยคอตกับการรัฐประหารหรือไม่ มาสู่การตั้งสติว่า เราจะลดทอนความสูญเสียจากการรัฐประหารนี้ได้อย่างไรบ้าง



ผู้เขียนไม่ได้มองว่า การได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติจะรังสรรค์อะไรได้มากมาย หากแต่จะช่วยทำให้สถานการณ์ไม่แย่เกินไปนักได้อย่างไร



สังคมเสริมกำลัง หรือสังคมทอนกำลัง


แน่นอนว่า ลำพังผู้เขียนคนเดียวก็คงทำอะไรให้เกิดประโยชน์ได้ไม่มากนัก ดังนั้นเราต้องขบคิดกันว่า เราจะถักทอพลังของภาคประชาชน ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้ตั้งหลักร่วมกันให้เป็นขบวนที่มีพลังเข้มแข็งขึ้นอีกครั้งหนึ่งได้อย่างไร



โดยเฉพาะสำหรับประชาชนคนทุกข์ อย่างสมัชชาคนจน ประชาชนผู้ต้องตกเป็นเหยื่อของการพัฒนา
เหยื่อของการเจรจาเอฟทีเอ การค้าเสรีที่เอาเปรียบ เราจะทำให้เรื่องราวปัญหาของพวกเขาถูกนำเสนอให้มากที่สุดได้อย่างไร ไม่ใช่ให้กระแสความคิดปฏิรูปการเมือง การแก้ไขกฎหมายนำโดยแนวคิดเสรีนิยมแบบชนชั้นกลาง + อนุรักษ์นิยมเท่านั้น


รูปธรรมที่น่าจะขบคิดกัน เช่น เราจะประมวลสถานการณ์ของคนจน คนที่ถูกทำให้จน คนที่ถูกรังแก แปรปัญหาออกมาเป็นกฎหมายเร่งด่วนที่สภานิติบัญญัติต้องมีกฎหมายเพื่อสังคมที่เป็นธรรมได้อย่างไร


เราจะจะประมวลความเสียหายจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมที่ทำให้เกิดผลเสียหายแก่คนตัวเล็กตัวน้อยให้เป็นรูปธรรม พร้อมทั้งทางเลือกทางนโยบายที่สอดคล้องในโลกแห่งความเป็นจริงได้อย่างไร



นอกจากนี้ยังมีรูปธรรมกรณีต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นกรณีปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้ ปัญหาที่ดินของผู้ประสบภัยสึนามิ กรณีเหมืองแร่โปแตซอุดร กรณีปัญหาเร่งด่วนสมัชชาคนจน กรณีคุณสมชาย นีละไพจิตร กรณีพระสุพจน์ กรณีคุณเจริญ วัดอักษร และโรงไฟฟ้าบ่อนกหินกรูด ฯลฯ


พลังของสังคมที่คัดง้างอำนาจรัฐ และอำนาจเงินก็คือ พลังของข้อมูลข่าวสาร เราจะสร้างฐานข้อมูลภาคประชาชน เพื่อเชื่อมโยง เอาชนะในการถกเถียงทางสาธารณะ ในเวทีกำหนดนโยบายได้อย่างไร หากในภาคประชาสังคมเองยังจับจดกับโจทย์ที่เรียวแคบ เราจะตามไม่ทันสถานการณ์ที่ไปเร็วขึ้นทุกที


 


อีกไม่นานก็จะมีสรรหาสมาชิกสภาร่าง ฯ คน 2,000 คนจะมาจากไหนบ้าง หากไม่มีการคิดการณ์ล่วงหน้า
ภาคประชาชนจะกลายเป็นฝ่ายตั้งรับอย่างสินเชิง และท้ายที่สุดเราจะเป็นสังคมที่ทอนกำลังกันเอง เราทำลายรากฐานของขบวนการกันเองมากกว่าจะต่อยอดเสริมทุนทางสังคมที่ขบวนการได้เสริมกันมา

การวิพากษ์วิจารณ์ การอ้างอิงหลักการ เป็นสิ่งที่ถูกต้องแน่นอน แต่จะวิพากษ์วิจารณ์ด้วยบรรยากาศฉันท์มิตรได้อย่างไร



จะยังมีความแตกต่างบนเป้าหมายร่วมกันได้อย่างไร เพื่อประคับประคองพลังประชาชนให้เดินไปข้างหน้าได้ หรือจะต้องแหลกกันไปข้างหนึ่ง ณ วันนี้


ที่กล่าวเช่นนี้ ผู้เขียนเองก็ไม่ต้องการตั้งโจทย์ที่คับแคบว่า ใครจะบั่นทอนหรือใครจะเสริมกำลัง ผู้เขียน
เสนอให้เรามีการจินตนาการถึงภูมิทัศน์ภาคประชาชนที่มีความหลากหลาย


ไม่จำเป็นว่า ภาคประชาชนทุกกลุ่มจะต้องเชื่อมโยงกับคนที่อยู่ในรัฐบาลหรือสภานิติบัญญัติเสียหมด
การมีภูมิทัศน์ที่ยืนของกลุ่มบุคคลที่รักษาความเป็นอิสระ วิพากษ์วิจารณ์อยู่ภายนอกก็เป็นสิ่งจำเป็นและมีคุณค่าทำให้สมาชิกสภาและสังคมต้องฉุกคิดไตร่ตรอง


ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มคนที่สร้างฐานเครือข่ายของตัวเองเชื่อมโยงกับตัวแทนที่เข้าไปอยู่ในสภา ดังเช่น กรณีของสภานักหนังสือพิมพ์ แม้คนของสภาหนังสือพิมพ์ลาออกจากตำแหน่งวิชาชีพคงเหลือตำแหน่งสมาชิกสภา องค์กรวิชาชีพที่เป็นอิสระ ก็ควรทำหน้าที่ทั้งสนับสนุนข้อมูล เสนอข้อเรียกร้องผ่านคณะสมาชิก และในทางกลับกันก็เป็นการตรวจสอบตัวแทนเหล่านั้นไปในตัวด้วย



ตัวแทนที่อยู่ในสภา ก็ไม่ควรเลือกปกป้องเฉพาะผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม หากแต่ต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะด้วยเช่นกัน


 


การมองภูมิทัศน์ของกลุ่มองค์กรประชาชนต่างๆอย่างหลากหลายซึ่งกันและกัน มองเห็นคุณค่าและข้อจำกัดซึ่งกันและกัน ย่อมเป็นการเสริมพลังของสังคมได้ดีกว่าการมองเพื่อตัดสินใจว่าใครเป็นหรือไม่เป็น "ของแท้" อย่างง่ายๆ ที่สุดท้าย ก็กลายเป็นการทำร้ายกันเอง



สร้างพลังถ่วงดุล ไม่มองโลกร้ายเกินไป แต่ไม่ควรตายใจ
สังคมไทยปัจจุบันได้พัฒนาไปจากสังคมไทยพ.ศ.2534 ไม่มากก็น้อย หากเราไม่ดูถูกพลังของสังคมกันเองมากเกินไป จริงอยู่แม้จะมีรูปแบบการรัฐประหาร แต่การรัฐประหารเองก็มีการพัฒนาไประดับหนึ่ง เช่น ต้องประกาศว่าจะคืนอำนาจโดยเร็ว ต้องแต่งตั้งคนจากภาคประชาชนไปร่วมมากขึ้น (ไม่ใช่แต่งตั้งช่างตัดผมประจำตัวเป็นสมาชิกสภา เป็นต้น) แม้จะยังมีจำนวนน้อยและยังขาดความหลากหลายก็ตาม


แต่ควรมองอย่างเห็นแนวโน้มที่ก้าวหน้า มากกว่าบั่นทอนจนไม่เหลือความหวังอะไรเลย



แต่ทั้งนี้ไม่ใช่ว่า จะมองโลกแง่ดี ตายใจ จนไม่ต้องทำอะไรเลย สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ การเปิดพื้นที่
เปิดให้เสียงของภาคประชาชนเสนอปัญหา ข้อเรียกร้อง ทั้งระดับนโยบายและเฉพาะหน้าให้มากและกว้างขวางที่สุด



สภานิติบัญญัติเองก็ไม่ใช่ลอยอยู่ในสูญญากาศ แต่ย่อมต้องอยู่ในโลกของการถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยกระแสสังคม



คณะทหารเองก็ไม่สามารถปิดปากประชาชนในระยะยาวไดh ย่อมต้องอ่านความรู้สึกของกระแสสาธารณะว่าคิดเห็นอย่างไร



สังคมเองต้องช่วยกันจับตาอย่าให้กลายเป็นสภาตรายางเป็นอันขาด

ดังนั้น การนำเสนอปัญหาของประชาชน การรณรงค์ทางสาธารณะ ย่อมเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเกิดขึ้นใน
1 ปี ข้างหน้า พร้อมกับการเชื่อมโยงกับคนที่อยู่ในสภา เพื่อให้คนสภารู้ตัวว่าตัวเองนั้นถูกจับจ้องโดยกระแสสาธารณะ



จะทำตัวไม่รู้ร้อนรู้หนาวไม่ได้ และก็เป็นการพิสูจน์ตัวบุคคลว่า ใช้ช่องทางเพื่อประโยชน์สาธารณะหรือประโยชน์ส่วนบุคคลหรือพรรคพวก

ทั้งนี้ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมา กลุ่ม ส.ว.อิสระเพื่อการปฏิรูปการเมืองก็แสดงให้เห็นว่าท่ามกลางวังวนของกระแสอันทักษิณเชี่ยวกรากในหมู่ ส.ว.ส่วนใหญ่ กลุ่ม ส.ว.อิสระได้แสดงความสามารถในการใช้โอกาสช่องทางเพื่อเปิดพื้นที่สาธารณะให้เกิดประโยชน์มากที่สุดแก่สังคมได้

แต่หากภาคประชาชน เตะตัดขากันเอง ก็คงสะดุดจบเพียงเท่านี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net